ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “พบแล้ว ชิ้นส่วนกระดูก ‘บิลลี่ พอละจี’ DSI ชี้ ฆาตกรรมโดยทรมาน-บังคับสูญหาย ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง” และ “ม็อบฮ่องกงไม่เชื่อถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “พบแล้ว ชิ้นส่วนกระดูก ‘บิลลี่ พอละจี’ DSI ชี้ ฆาตกรรมโดยทรมาน-บังคับสูญหาย ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง” และ “ม็อบฮ่องกงไม่เชื่อถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน”

7 กันยายน 2019


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 31 ส.ค. – 6 ก.ย. 2562

  • พบแล้ว ชิ้นส่วนกระดูก “บิลลี่ พอละจี” DSI ชี้ ฆาตกรรมโดยทรมาน-บังคับสูญหาย ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง
  • ปล่อยตัวแล้ว “สินธิ ลิ้มทองกุล” เข้าเกณฑ์พระราชทานอภัยโทษ
  • ศาลสั่งจำคุก “ชาญชัย” 16 เดือน กรณีให้สัมภาษณ์สื่อ – ซื้อพื้นที่ นสพ. 7 ฉบับ ลงคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท “คิงเพาเวอร์” 15 วัน
  • จำนวนผู้ประกันตนว่างงานเดือน ก.ค. 2562 ทะลุช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2552
  • ม็อบฮ่องกงไม่เชื่อถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

พบแล้ว ชิ้นส่วนกระดูก ‘บิลลี่ พอละจี’ DSI ชี้ ฆาตกรรมโดยทรมาน-บังคับสูญหาย ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

ภรรยาบิลลี่(ถือภาพ) และปู่คออี้ (ไม่ใส่เสื้อ) ถ่ายภาพร่วมกับมูลนิธิวัฒนธรรม แอมเนสตี้ ประเทศไทย และสื่อมวลชน ในกิจกรรมลงพื้นที่ส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ณ บ้านโป่งลึกบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 31 มี.ค.-1 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา

จากกรณีที่นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอยที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 โดยในวันนั้นนายพอละจีถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมในระหว่างนำน้ำผึ้งออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวอ้างว่าได้ปล่อยตัวนายพอละจีพร้อมรถจักรยานยนต์และนำผึ้งของกลางไปโดยไม่ได้ดำเนินคดี แต่นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ “มึนอ” ภรรยาของนายพอละจี และญาติ เชื่อว่านายพอละจีหายสาบสูญไปโดยถูกบังคับ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ต้องสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547

ที่มาภาพ: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

  • คดีที่หายไป – 3 ปีคดีบิลลี่ “พอละจี รักจงเจริญ” ภรรยาระบุไม่มีความผิดอะไรที่จะต้องกลัว มั่นใจระบบยุติธรรมแต่คนไม่ปฏิบัติ
  • คดีที่หายไป – 4 ปีคดีบิลลี่ “พอละจี รักจงเจริญ” ครอบครัวยังคงรอคอยความยุติธรรม
  • คดีที่หายไป: 5 ปีคดี “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ ภรรยาเขียนจดหมาย “ยังรอคอยความยุติธรรมให้กับครอบครัวของฉัน”
  • ล่าสุด วันที่ 3 ก.ย. 2562 ดีเอสไอแถลงว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 และเมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2562 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้เครื่องยานยนต์สำรวจใต้น้ำ ตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน สามารถตรวจพบชิ้นส่วนกระดูก จำนวน 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร จำนวน 1 ถัง เหล็กเส้น จำนวน 2 เส้น ถ่านไม้ จำนวน 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน ซึ่งเมื่อส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์พบว่า “วัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200-300 องศาเซลเซียส ตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายพอละจี รักจงเจริญ”

    ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุและพยานหลักฐานในสำนวนอื่นประกอบ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงเชื่อว่า วัตถุดังกล่าวเป็นกระดูกของนายพอละจี ที่เสียชีวิตแล้วโดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี ส่วนถังน้ำมัน เหล็กเส้น ถ่านไม้ และเศษฝาถังน้ำมัน ได้ส่งศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ทำการตรวจพิสูจน์หาร่องรอยการผ่านความร้อนและการผุกร่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์

    นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28-30 สิงหาคม 2562 ได้มีการตรวจหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม ณ พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน และพบชิ้นส่วนกระดูกเพิ่มเติมอีกจำนวน 20 ชิ้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ

    ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่า พฤติการณ์ของกลุ่มคนร้ายที่กระทำผิดครั้งนี้เข้าข่ายลักษณะเป็นการฆาตกรรมโดยทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) และคดีเป็นที่สนใจของประชาชน สื่อมวลชนในประเทศและระหว่างประเทศ จึงแถลงความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนให้ทราบ ซึ่งหลังจากนี้ จะเร่งรัดสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มองค์กรที่กระทำความผิดโดยเร็ว หากผลการสอบสวนมีความคืบหน้าจะแถลงให้ทราบโดยทันที

    ปล่อยตัวแล้ว “สินธิ ลิ้มทองกุล” เข้าเกณฑ์พระราชทานอภัยโทษ

    นายสนธิ ลิ้มทองกุล
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์ (https://www.matichonweekly.com/scoop/article_6438)

    วันที่ 4 ก.ย. 2562 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 15.00 น. ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ทำการปล่อยตัว นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 72 ปี ผู้ต้องขังชั้นเยี่ยมที่ต้องคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และอื่นๆ ซึ่งรับโทษมาแล้ว 3 ปี 1 เดือน โดยขณะที่นายสนธิอยู่ภายในเรือนจำมีความประพฤติดี ช่วยเหลืองานของทางราชการหลายอย่าง และมีความก้าวหน้าในเรื่องการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ของกรมราชทัณฑ์ครบถ้วนเรียบร้อย ประกอบกับเป็นผู้ที่มีอายุเกินกว่า 70 ปี และมีโรครุมเร้าหลายอย่าง ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วนายสนธิน่าจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 เนื่องจากเป็นผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเข้าข่ายจะต้องได้รับการปล่อยตัวไปตามมาตรา 6 (2)(จ) แต่มีการตีความทางกฎหมายว่านายสนธิกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ตามบัญชีแนบท้าย จึงเข้าข้อยกเว้นไม่ปล่อยตัว เพียงแค่ลดโทษลงแทน ต่อมาได้มีนักโทษชายรายหนึ่งยื่นอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการอภัยโทษ โดยโต้แย้งว่าตนเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมิใช่สถาบันการเงิน ดังนั้น จึงไม่เข้าองค์ประกอบตามที่ระบุไว้ในบัญชีแนบท้าย

    พ.ต.อ. ณรัชต์ กล่าวอีกว่า กรมราชทัณฑ์จึงได้ยื่นเรื่องขอหารือการตีความข้อกฎหมายดังกล่าวต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และในวันที่ 3 ก.ย. 2562 เวลา 13.30 น. ได้มีการประชุมสามฝ่าย ประกอบด้วย รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทั้งสามท่าน หัวหน้าผู้พิพากษาแผนกคดีค้ามนุษย์หัวหน้าผู้พิพากษาแผนกคดียาเสพติด ผู้แทนอัยการสูงสุด และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผลปรากฎว่ายืนยันการตีความทางกฎหมายเป็นคุณกับผู้ร้อง คำร้องของผู้ร้องฟังขึ้น และเมื่อนำมาเทียบเคียงกับกรณีของนายสนธิแล้ว พบว่าข้อเท็จจริงเป็นลักษณะเดียวกัน ดังนั้น นายสนธิจึงเข้าข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ขอเรียนว่าการปล่อยตัวในครั้งนี้เป็นเรื่องของความคลาดเคลื่อนในการตีความทางกฎหมายโดยแท้ได้มีการหารือกับผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ มิได้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือมีใบสั่งจากผู้ใดรวมทั้งไม่ได้เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น

    แหล่งข่าวจากระทรวงยุติธรรมยืนยันว่า กรณีการปล่อยตัวนายสนธิ ไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง และนายสนธิเองก็ไม่ใช่ผู้ที่ยื่นคำร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แต่เมื่อมีการตีความว่าคดีของบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่สถาบันการเงิน ทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว และส่งผลให้นายสนธิได้รับอานิสงค์ปล่อยตัวไปด้วย

    ขณะที่หน้าทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังมีความชัดเจนเรื่องการปล่อยตัวนายสนธิ นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชายของนายสนธิ และนายปานเทพ วงศ์พัวพันธุ์ อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้มารอรับตัวนายสนธิที่ด้านหน้าทัณฑสถานฯ โดยมีสื่อมวลชนไปเฝ้ารอจำนวนมาก แต่ไม่พบมวลชนกลุ่มพันธมิตรมาร่วมรอรับนายสนธิ

    ศาลสั่งจำคุก “ชาญชัย” 16 เดือน กรณีให้สัมภาษณ์สื่อ – ซื้อพื้นที่ นสพ. 7 ฉบับ ลงคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท “คิงเพาเวอร์” 15 วัน

    นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์

    ศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก “ชาญชัย” 16 เดือน – ซื้อพื้นที่ นสพ. 7 ฉบับ ลงคำพิพากษาคดี “คิง เพาเวอร์” ฉบับเต็ม 15 วัน

    เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 เวลา 9.00 น. ศาลอุทธรณ์ นัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 192-193/2562 คดีหมายเลขแดงที่ 7314-7315/2562 ระหว่างบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นโจทก์ ฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานอนุกรรมาธิการของคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นจำเลย ข้อหาหมิ่นประมาท กรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนกล่าวหาโจทก์ทั้งสามได้รับสัญญาสัมปทานในสนามบินมาโดยมิชอบ หลีกเลี่ยงการนำส่งค่าผลประโยชน์ตอบแทนแก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ทำให้โจทก์ทั้งสามเสื่อมเสียชื่อเสียง

    โดยคดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้เคยมีคำพิพากษายกฟ้องคดี ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ล่าสุดศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พิพากษากลับว่า “จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 393 รวม 2 กระทง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ซึ่งมีบทลงโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี แต่การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงเหลือโทษจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 2 กระทง ลงโทษจำคุก 16 เดือน และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับเต็มในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด มติชน เดอะเนชั่น สยามรัฐ และคมชัดลึก เป็นเวลา 15 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย” หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาเสร็จ นายชาญชัย ให้ทนายความนำหลักทรัพย์ประกันตัว เพื่อต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป

  • ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษา ยกฟ้องคดี “คิง เพาเวอร์” กล่าวหา “ชาญชัย” หมิ่นประมาท
  • คดีนี้ศาลอุทธรณ์มีความเห็นต่างจากศาลชั้นต้น (ศาลอาญากรุงเทพใต้) กล่าวคือ กรณีนายชาญชัยให้สัมภาษณ์ทั้ง 2 ครั้ง ถือเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งสามได้รับสัมปทานในสนามบินมาโดยมิชอบ หลีกเหลี่ยงการส่งผลประโยชน์เข้ารัฐ ทำให้รัฐเสียหายได้ผลประโยชน์ตามสัญญาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสามเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แม้ข้อความตามคำสัมภาษณ์ของนายชาญชัยจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น การให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุและอินเทอร์เน็ตเพื่อเผยแพร่ข้อความต่อสาธารณชน ย่อมถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 และ 393 แต่จะได้รับยกเว้นความผิด ตามมาตรา 329 หรือไม่นั้น ประเด็นนี้ ศาลอุทธรณ์ได้มีการวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทั้งในส่วนของคณะ กมธ.สามัญและวิสามัญ รวมทั้งข้อบังคับของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2558

    ผลการวินิจฉัยของศาลปรากฏว่า คณะ กมธ.เหล่านี้มีอำนาจเพียงแค่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแผนปฏิรูป ข้อเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปประเทศ และมีอำนาจขอเอกสาร หรือเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบถามเท่านั้น ประกอบกับข้อบังคับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2558 ข้อ 81 วรรคที่ 4 ห้ามไม่ให้อนุกรรมาธิการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน การแถลงข่าวนั้นเป็นหน้าที่ของประธาน กมธ., โฆษก กมธ. หรือสมาชิก กมธ.ที่เกี่ยวข้องตามรายละเอียดในข้อบังคับ สปท. ข้อ 81 และ 83

    ส่วนประเด็นที่โจทก์ทั้งสาม (กลุ่มคิงเพาเวอร์) ได้รับสัมปทานในสนามบินโดยมิชอบ มีการทุจริต และกระทำผิดหรือไม่ ศาลอุทธรณ์มีความเห็นว่า “เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ หาใช่จำเลยไม่ และไม่ปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร, กรมศุลกากร, ทอท. ได้ดำเนินคดีต่อโจทก์ทั้งสาม โดยเฉพาะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มีมติยกคำร้อง ซึ่งจำเลยก็ทราบว่ามติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังมีผลบังคับอยู่ และจากการเบิกความ จำเลยก็ยอมรับว่าเมื่อปี 2550 เคยได้รับแต่งตั้งเป็นคณะอนุ กมธ.ตรวจสอบสัญญาระหว่าง ทอท.กับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ แสดงว่าจำเลยทราบเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่จำเลยก็ยังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสามหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระตามที่ปรากฏในคำฟ้อง ทั้งที่จำเลยมีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ อีกทั้งระเบียบข้อบังคับของ สปท.ก็ห้ามไม่ให้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ตามที่กล่าวข้างต้น

    ดังนั้น การกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง ให้ร้ายโจทก์ทั้งสาม จึงไม่เข้าข่ายได้รับยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) กล่าวคือ ไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตตาม (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือ ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม (3) ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง กรณีศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสาม ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย คำอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 393 รวม 2 กระทง

    อนึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ เคยวินิจฉัยประเด็นที่นายชาญชัยออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนหน้านี้หลายประเด็น เช่น สัญญาสัมปทานระหว่างกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์กับ ทอท.เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 หรือไม่, การติดตั้งระบบตรวจสอบยอดขายแบบเรียลไทม์ (Point OF Sale – POS) ล่าช้า, เรื่องการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนของ ทอท.จากบริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร เป็นไปตามสัญญาหรือไม่, การเรียกเก็บเงินกินเปล่าจากผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้พื้นที่

  • คำถามที่นายกรัฐมนตรี-ทอท. ไม่ตอบ (ตอน 3): “ทอท.-คิงเพาเวอร์” ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่? …ถามถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้ง คสช. ชี้มติ ป.ป.ช.ไม่ชอบ
  • คำถามที่นายกรัฐมนตรี-ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 8): POS สำคัญไฉน คู่สัญญา “คิงเพาเวอร์-AOT” ติดตั้งช้า 9 ปี ยอดขายเรียลไทม์ตรวจสอบอย่างไร ใครรับผิดชอบ?
  • คำถามที่นายกรัฐมนตรี-ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 6): ทวงเงินคิงเพาเวอร์ 14,290 ล้านคืนรัฐ เหตุปรับค่าสัมปทาน “Pick-up Counter”จาก 15% เก็บแค่ 3%?
  • โดยศาลอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นว่า ทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 70 จึงถือเป็นทรัพย์สินของประเทศ จำเลย (นายชาญชัย) ให้สัมภาษณ์โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบ ของคณะกรรมการและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมาย หรือได้รับแต่งตั้งโดยชอบ การกระทำของจำเลยจึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะกระทำได้เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง อันเป็นการสะท้อนความเป็นไปในสังคม และช่วยเป็นหูเป็นตาแทนประชาชน ในการทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริต ประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้อง อันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเตือนผู้ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และหาทางป้องกันมิให้เกิดขึ้นในอนาคต มิใช่เรื่องที่จำเลยแต่งเติมเรื่องราวขึ้นมา เพื่อใส่ร้ายโจทก์ทั้งสาม

    แม้จะมีข้อบังคับของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2558 ข้อ 81 วรรคท้าย ห้ามมิให้อนุ กมธ.แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในกิจการงานของ กมธ.ก็ตาม ศาลอาญากรุงเทพใต้เห็นว่า เป็นเรื่องที่ประธาน กมธ.ในคณะนั้นๆ จะไปดำเนินการตามข้อบังคับกับจำเลยต่างหาก หามีผลต่อการวินิจฉัยในคดีไม่

    การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม และยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1), (3) และมิใช่เป็นการดูหมิ่น ตามมาตรา 393 ศาลอาญากรุงเทพใต้วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น พิพากษา ยกฟ้อง

    จำนวนผู้ประกันตนว่างงานเดือน ก.ค. 2562 ทะลุช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2552

    วันที่ 3 ก.ค. 2562 เว็บไซต์ประชาไทรายงานว่า จากข้อมูลรายงาน เศรษฐกิจแรงงาน ประจำเดือน ก.ค. 2562 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าจากข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 2562 พบว่าจากข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 2562 มีลูกจ้างที่มีนายจ้างในระบบประกันสังคม (ม.33) จำนวน 11,629,684 คน มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.35 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน ก.ค. 2561) ซึ่งมีจำนวน 11,475,042คน หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลง (%YoY) ของเดือน ก.ค. 2562 เมื่อเทียบกับอัตราการเปลี่ยนแปลง (%MoM) ของเดือน มิ.ย. 2562 พบว่าในเดือน ก.ค. 2562 มีอัตราเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 1.35 โดยเพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.19 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การจ้างงานมีอัตราขยายตัวมากกว่าร้อยละ 1 จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ

    สถานการณ์การว่างงาน (ผู้ว่างงาน หมายถึง ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม : SSO) จากข้อมูล ณ เดือน ก.ค. 2562 มีผู้ว่างงานจำนวน 191,657 คน มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 13.13 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน ก.ค. 2561 ซึ่งมีจำนวน 169,418 คน) และมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.76 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (เดือน มิ.ย. 2562 ซึ่งมีจำนวน 179,515 คน) ซึ่งหากคิดเป็นอัตราการว่างงานจากตัวเลขผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทุกกรณี (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง) ในเดือน ก.ค. 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.65 มีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราการว่างงานของเดือน มิ.ย. 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.55 ทั้งนี้จากข้อมูลอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือน ก.ค. 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.9

    อนึ่งเมื่อไล่ย้อนข้อมูลไปตั้งแต่ปี 2552 พบว่าตัวเลขว่างงาน 191,657 คน ของเดือน ก.ค. 2562 นี้เป็นตัวเลขสูงสุดทำลายสถิติช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 ไปแล้ว | ปี 2552 ผู้ประกันตน ม.33 ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสูงสุดในเดือน มิ.ย. 2552 ที่ 188,986 คน | ปี 2553 สูงสุดในเดือน มิ.ย. 2553 ที่ 128,071 คน | ปี 2554 สูงสุดในเดือน ส.ค. 2554 ที่ 114,657 คน | ปี 2555 สูงสุดในเดือน เม.ย. 2555 ที่ 130,717 คน | ปี 2556 สูงสุดในเดือน ก.ค. 2556 ที่ 116,975 คน | ปี 2557 สูงสุดในเดือน ก.ค. 2557 ที่ 128,510 คน | ปี 2558 สูงสุดในเดือน ส.ค. 2558 ที่ 138,189 คน | ปี 2559 สูงสุดในเดือน ส.ค. 2559 ที่ 161,012 คน | ปี 2560 สูงสุดในเดือน ส.ค. 2560 ที่ 157,883 คน | ปี 2561 สูงสุดในเดือน ก.ค. 2561 ที่ 169,418 คน | ปี 2562 (7 เดือน) สูงสุดในเดือน ก.ค. 2562 ที่ 191,657 คน (ดูเพิ่มเติม)

    ม็อบฮ่องกงไม่เชื่อถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

    เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2562 แครี่ แลม ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประกาศถอนร่าง พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนซึ่งเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงรุนแรงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อมานานกว่า 1 เดือน พร้อมเสนอมาตรการ 4 ขั้นเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ในฮ่องกง ได้แก่

  • การถอนร่าง พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยรัฐบาลจะยื่นญัตติถอนร่างกฎหมายนี้ออกจากวาระการพิจารณาทันทีที่มีการประชุมสภานิติบัญญัติ
  • สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมาธิการอิสระตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของตำรวจ และรัฐบาลจะพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการอย่างจริงจัง
  • เธอและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจะพบปะประชาชนทุกฝ่าย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตการณ์
  • เชิญผู้นำชุมชน นักวิชาการและผู้แทนองค์กรวิชาชีพทุกภาคส่วนมาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาที่ฝังรากลึกในฮ่องกง และร่างข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหานั้น
  • แต่การประกาศของเธอดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เมื่อแกนนำผู้ชุมนุมอย่างโจชัว หว่อง ออกมาตอบโต้ทันควันว่าสิ่งที่นางแลมทำนั้น “น้อยเกินไปและสายเกินไป” โดยระบุในทวิตเตอร์ว่า “แครี แลม ประกาศถอน ร่าง พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนหลังจากที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 7 คน และมีผู้ชุมนุมถูกจับกุม 1,200 คน ในจำนวนนี้หลายคนได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างถูกคุมตัวที่สถานีตำรวจ”

    นายหว่องบอกด้วยว่าขณะนี้ประชาชนไม่เชื่อในสิ่งที่นางแลมพูดอีกแล้ว เพราะหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนซึ่งชี้ให้เห็นว่านางแลม “ไม่มีความจริงใจ” กับผู้ประท้วง

    “เราขอเรียกร้องสังคมโลกว่าอย่าได้เชื่อคำพูดของผู้บริหารฮ่องกงและทางการจีน และเราเชื่อว่าพวกเขากำลังเตรียมการปราบปรามการชุมนุม” นายหว่องกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้นางแลมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อของผู้ชุมนุม ซึ่งนอกจากการถอนร่าง พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว ข้อเรียกร้องอีก 4 ข้อ คือ หยุดดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม, หยุดการป้ายสีผู้ชุมนุมว่าเป็น “ผู้ก่อการจลาจล”, ตั้งกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนตำรวจที่ใช้กำลังกับผู้ชุมนุม และจัดการเลือกตั้ง