ThaiPublica > เกาะกระแส > รวมข้อโต้แย้งนักวิชาการ ต่อคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งไม่ฟันคุณสมบัติ “ธรรมนัส พรหมเผ่า”

รวมข้อโต้แย้งนักวิชาการ ต่อคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งไม่ฟันคุณสมบัติ “ธรรมนัส พรหมเผ่า”

10 พฤษภาคม 2021


หมายเหตุ : ภาพนิ่งดังกล่าวไม่ใช่ภาพในขณะที่ศาลกำลังปฏิบัติหน้าที่อ่านคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด หากแต่เป็นภาพที่ได้มีการบันทึกไว้ในวาระอื่น และนำมาใช้เฉพาะวัตถุประสงค์สำหรับประกอบการถ่ายทอดทีวีวงจรปิดในช่วงเวลาที่ทำการตัดภาพการถ่ายทอดให้มีเฉพาะเสียงการอ่านคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ในการนี้จึงขอเรียนให้ทราบว่า ในขณะที่ศาลทำการอ่านคำวินิจฉัยอยู่นั้น คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกท่านได้สวมหน้ากากอนามัย ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดตลอดเวลา จนภารกิจดังกล่าวเสร็จสิ้นในเวลา 15.30 น.

รวมข้อโต้แย้งนักวิชาการ ต่อคำวินิจฉัย ศาล รธน. “ไม่กระทบอธิปไตย-มองข้ามเจตนารมย์ กม.-กีดกันข้อเท็จจริง-เสียมาตรฐาน-กระทบศรัทธากระบวนการยุติธรรม” พร้อมเทียบความเห็นกฤษฎีกาปี 2525 ปี 2563

จากกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่วินิจฉัยว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ขาดคุณสมบัติส.ส.-รัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (10) เนื่องจากคำพิพากษาที่ ร.อ.ธรรมนัส ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เป็นคำพิพากษาของศาลแขวงเครือรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลียไม่ใช่ศาลไทย จึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายไทย

“…หากตีความว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดหมายรวมถึง คำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วยอาจทำให้ไม่สามารถกลั่นกรองหรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบานการพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว และขัดต่อหลักการต่างตอบแทน กล่าวคือ ศาลต่างประเทศไม่ต้องบังคับหรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า ร.อ.ธรรมนัส เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงนิวเซาท์เวล เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนลงสมัคร ส.ส.แต่มิใช่คำพิพากษาของศาลไทย ร.อ.ธรรมนัสจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(10) สมาชิกสภาพสส.ของร.อธรรมนัสจึงไม่สิ้นสุดลงตามมาตร 101 (6) ประกอบมาตร 98(10) รวมทั้งความเป็นรัฐมนตรีก็ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1( 4) ประกอบมาตรา 160(6)ด้วย”

(อ่านรายะละเอียดเพิ่มเติม เอกสารสรุปคำวินิจฉัยฯ )

***หมายเหตุ: คำวินิจฉัยที่ถูกเผยแพร่ขณะนี้ยังมิใช่คำวินิจฉัยฉบับเต็มแต่อย่างใด

4 ข้อโต้แย้งใหญ่ ต่อคำวินิจฉัยศาล รธน.

ภายหลังจากคำวินิจฉัยดังกล่าวเผยแพร่สื่อต่างประเทศได้รายงานข่าวในด้านลบต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย และนักวิชาการทั้งด้านกฎหมาย รวมถึงรัฐศาสตร์ของไทยหลายท่านได้ออกมาแสดงความเห็นแย้ง โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

  • กรณีนี้ไม่ใช่กรณี “บังคับตาม” คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ แต่เป็นการ “รับรู้” หรือ “ยอมรับ” คำพิพาษาของศาลต่างประเทศในฐานะ “ข้อเท็จจริง” ที่จะนำมาพิจารณาประกอบการปรับใช้กฎหมาย ไม่มีกรณีที่จะกระทบอำนาจอธิปไตยอีกต่อไป เพราะไม่ใช่การบังคับหรือยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ เนื่องจากคำพิพากษาลงโทษนั้นสิ้นสุดไปแล้ว จึงไม่กระทบอำนาจอธิปไตยของไทยแต่อย่างใด

โดยได้มีการอ้างอิงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 276/2525 ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521มาตรา 96 บัญญัติให้คนที่ต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปโดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้งต้องห้ามไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ได้มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่งต้องโทษจำคุกในคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาลงสมัครจะสามารถสมัครได้หรือไม่ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคำพิพากษาของศาลไทยเป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ได้ “…ถ้าต้องห้ามเฉพาะการกระทำผิดในประเทศ ไม่เกี่ยวกับการกระทำผิดในต่างประเทศ ก็จะเกิดการลักลั่นไม่เป็นธรรม และขัดกับเหตุผล…” 

(อ่านรายละเอียด ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 276/2525 เพิ่มเติม)

และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 1271/2563 ซึ่งข้อหารือนี้เป็นข้อหารือเรื่องวินัยทหาร ที่พลตรีนายหนึ่งต้องคำพิพากษาและได้รับโทษจำคุกในสหรัฐอเมริกาคดียาเสพติด เมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว เขาได้ร้องขอสิทธิประโยชน์จากการถูกสั่งพักราชการจากต้นสังกัดคืน รวมทั้งขอให้เพิกถอนคำสั่งพักราชการได้หรือไม่นั้น คณะกรรมการกิฤษฎีกาการพิจารณาให้ความเห็นว่า

“ข้อหารือนี้มิใช่ข้อหารือเกี่ยวกับการดําเนินคดีอาญาแต่เป็นข้อหารือเรื่องวินัยทหาร และการพิจารณาให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นกรณีที่ใช้ผลของคําพิพากษาของศาลต่างประเทศมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในฐานะข้อเท็จจริงในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการทหาร ซึ่งเป็น การรับฟังคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในฐานะข้อเท็จจริง ไม่ใช่การรับคำพิพากษาของ ศาลต่างประเทศมาบังคับโทษในประเทศไทย “เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว” ตามข้อ 7 วรรคสอง แห่งข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการทหารพักราชการ พ.ศ. 2528 จึงรวมถึงคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลสหรัฐอเมริกาด้วย”

(อ่านรายละเอียด ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 1271/2563 เพิ่มเติม)

รศ. มานิตย์ จุมปา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ว่า “โดยหลัก การรับผลของคำพิพากษาศาลในต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทยมี 2 ระดับ 1. การรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศมาบังคับโทษในประเทศไทย ซึ่งกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศไทย จึงจำต้องมีกฎหมายหรือความตกลงระหว่างประเทศยกเว้นไว้ ดังเช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 10 2. การรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในฐานะข้อเท็จจริงที่มีผลในประเทศไทย ไม่จำต้องมีกฎหมายหรือความตกลงระหว่างประเทศกำหนดไว้

ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวในวันเดียวกัน ว่า “การบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ (Enforcement of foreign judgements) ต่างจากการรับรู้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ (Recognition of foreign judgements) ในฐานะข้อเท็จจริงที่ศาลและหน่วยงานทางปกครองของไทยสามารถนำมาพิจารณาประกอบการปรับใช้กฎหมายไทยได้  โดยไม่กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของไทย แต่อย่างใด ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ความเห็นกฤษฎีกาที่ 1271/2563…”

(อ่านความคิดเห็นฉบับเต็ม)

  • ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาคดี แต่กลับใช้เรื่อง “อำนาจอธิปไตย” มากีดกันคำพิพากษาต่างประเทศ โดยในคำวินิจฉัยนั้นเองก็ยอมรับข้อเท็จจริงอยู่ในตัวว่า “…ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า ร.อ.ธรรมนัส เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงนิวเซาท์เวล เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนลงสมัคร ส.ส. …” เมื่อรับฟังข้อเท็จจริงได้ดังนี้แล้วปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาจึงหมดไป เหลือเพียงการตีความให้อยู่ในวัตถุประสงค์ และเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ

โดย ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ว่า “…ศาลมิได้เข้าไปวินิจฉัยใน ‘เนื้อหา’ (Substantive) ของคดี ตามที่มีการร้องมาเสียด้วยซ้ำไปว่า ความเป็นรัฐมนตรีของคุณธรรมนัสสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ หรือไม่อย่างไร… ทั้งๆ ที่มี ‘ข้อเท็จจริง’ ว่าเกิดการกระทำความผิดตามกฎหมายขึ้นแล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญเองก็ ‘ตระหนักรับทราบ’ (Recognition) ผ่านคำวินิจฉัยศาลเองในประโยคที่ว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์”

(อ่านความคิดเห็นฉบับเต็ม)

เช่นกันรศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้โพสข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันเดียวกัน ซึ่งข้อความตอนหนึ่ง ระบุว่า

“…การตีความคำว่า ‘คำพิพากษาอันถึงที่สุด’ มาตรา 98 (10) ของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่การให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญ…เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ ศาลอ้างอำนาจอธิปไตยทางศาลเป็นเหตุผลหลักในการปฏิเสธคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ ทั้งๆ คนทั่วไปต่างก็ทราบว่าประเทศไทยเป็นรัฐอธิปไตยที่มีอิสรภาพทางการศาลที่สมบูรณ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ในขณะที่นักกฎหมายต่างก็ทราบดีว่ารัฐอธิปไตยสามารถยอมรับและบังคับกฎหมายต่างประเทศและคำพิพากษาต่างประเทศได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ที่ยอมให้มีการพิสูจน์เพื่อบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศและแนวคำพิพากษาของศาลยุติธรรมที่ยอมให้มีการพิสูจน์เพื่อบังคับคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลต่างประเทศเป็นเครื่องยืนยันข้อความจริงนี้ได้เป็นอย่างดี…”

(อ่านความคิดเห็นฉบับเต็ม)

  • การตีความของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการตีความตามตัวอักษรที่มองข้ามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการผู้แทนที่ปราศจากมลทิน ซึ่งความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติด โดยเฉพาะ ความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติด ซึ่งเป็นความผิดที่เป็นสากลไม่มีอาณารยะประเทศใดยอมรับได้ รวมถึงขัดต่อหลักความไว้เนื้อเชื่อใจสาธารณะ ทั้งที่รัฐธรรมนูญพยายามคัดคนดีเข้าสู่การเมือง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (7)นั้นบัญญัติห้ามแม้แต่ผู้รอการลงโทษ หรือผู้ที่อยู่ระหว่างอุธรณ์-ฎีกา ยังต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า “ความผิดนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็น Double Criminality (เป็นความผิดของทั้งสองประเทศ และไม่ยากในการที่จะพิสูจน์องค์ประกอบความผิดว่าตรงกันหรือไม่) และความผูกพันและพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อนานาประเทศในการต่อต้านยาเสพติดที่ยอมรับว่าเป็นความผิดร้ายแรงข้ามชาติและเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนญที่ต้องการจะได้บุคคลที่มือสะอาด ปราศจากมลทิน โดยเฉพาะในข้อหาร้ายแรง มาทำหน้าที่ในองค์กรหลักฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่ถูกเอ่ยถึง”

ส่วนดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันเดียวกัน โดยข้อความตอนหนึ่ง ระบุว่า “…ถ้าตุลาการมีทัศนคติกว้างขวางกว่าการดูลายลักษณ์อักษร และมองจากกรอบของความเป็นชาติ อธิปไตย ไปสู่การตีความที่เห็นว่าความผิดอาญาบางฐานนั้นเป็นความผิดสากล การค้าเฮโรอีนนั้นไม่มีอารยประเทศที่ไหนยอมรับได้แน่ จึงอาจเลือกตีความตามเจตนารมณ์…”

(อ่านความคิดเห็นฉบับเต็ม)

สำหรับความเห็นบางส่วนจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า

“…การต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิด ฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า เป็นลักษณะต้องห้ามประการหนึ่งของผู้ที่เป็น ส.ส. และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะการเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวถือได้ว่าเป็นผู้มีมลทินและไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม หากพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ดังกล่าวข้างต้น การตัดสินว่ากระทำความผิดโดยศาลของไทยหรือศาลของต่างประเทศคงไม่ใช่สาระสำคัญยิ่งไปกว่าความมีมลทินด่างพร้อยของบุคคลดังกล่าวซึ่งไม่เหมาะสมที่จะเป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี …เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว เราจึงวินิจฉัยได้ว่า ‘คำพิพากษาอันถึงที่สุด’ นั้นควรตีความหมายรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย…การตีความให้หมายรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ จึงไม่ใช่ที่เรื่องกระทบอธิปไตยของประเทศ หากแต่เป็นการปกป้องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุด…”

(อ่านความคิดเห็นฉบับเต็ม)

ข้อความส่วนหนึ่งจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า “…รัฐธรรมนูญ มาตรา 160(7) พยายามที่จะคัดสรรคนดีเข้าสู่การเมือง แม้ศาลพิพากษาจำคุกแต่รอการลงโทษ (คือไม่ได้ติดคุกจริง) หรือแม้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก แต่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา  ก็ยังต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งๆที่ขณะอุทธรณ์เขายังได้รับสิทธิสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์   มาตราดังกล่าวน่าจะสะท้อนเจตนารัฐธรรมนูญได้ดี”

(อ่านความคิดเห็นฉบับเต็ม)

  • ส่งผลเสียด้านมาตรฐานทางจริยธรรม และกระทบความเชื่อมันของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม

ด้านรศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ต่อกรณีดังกล่าวว่า เป็นอีกครั้งที่เราเห็นการใช้อำนาจรัฐในนามของการตีความกฎหมาย ที่อาจบั่นทอนศีลธรรมและจริยธรรมของสังคมอย่างประมาณไม่ได้ เป็นการวินิจฉัยที่ อ้างหลัก “อำนาจอธิปไตย” ที่เลื่อนลอย ไม่สอดคล้องกับบริบท แต่ละเลยต่อหลัก “จริยธรรมของการเป็นผู้บริหารประเทศ” ที่เราพยายามอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในการทำให้สิ่งนี้กลายเป็นสถาบันทางสังคมขึ้น นัยของการวินิจฉัย อาจทำให้นักการเมืองและผู้บริหารประเทศ ละเลยและละทิ้งบรรทัดฐานจริยธรรมทางการเมืองมากขึ้นไปเรื่อย ๆ

และในวันเดียวกัน นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ โดยให้ความเห็นว่า ตนเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะเกิดแรงกระเพื่อมในทางการเมือง เพราะลักษณะความผิดที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณา ดังนั้นในทางการเมืองต้องถูกไปเปรียบเทียบ หากเกิดกรณีเดียวกันกับบุคคลอื่น

อย่างไรก็ตาม ต่อมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อชี้แจงต่อประเด็นต่างๆ และมีการเผยแพร่ความเห็นส่วนตนอย่างไม่เป็นทางการ ของศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564

อ่านต่อ

  • รวมความเห็นโต้กลับนักวิชาการ – เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน “ทวีเกียรติ” กรณีคุณสมบัติ “ธรรมนัส พรหมเผ่า”