ThaiPublica > คอลัมน์ > สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำทางจิตวิญญาณของโลกคนใหม่

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำทางจิตวิญญาณของโลกคนใหม่

13 เมษายน 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำคริสจักรโรมันคาทอลิก เสด็จเยือนประเทศอิรัก ที่มาภาพ : http://www.vatican.va/content/francesco/en/travels/2021/outside/documents/papa-francesco-iraq-2021.html

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำทางจิตวิญญาณของโลกคนใหม่

เดือนมีนาคมที่ผ่านไปแล้วนี้มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของวงการศาสนาโลก คือการเสด็จเยือนประเทศอิรักของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ผู้นำคริสจักรโรมันคาทอลิก ผู้ซึ่งเสด็จไปเยือนประเทศที่กำลังคุกกรุ่นไปด้วยภัยสงครามและการก่อการร้าย ในช่วงเวลาที่กำลังมีการแพร่ระบาดขอโควิด-19 อย่างรุนแรงในประเทศนี้ แน่ละ การเสด็จเยือนอิรักครั้งนี้เป็นพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ซึ่งสวนทางกับคณะที่ปรึกษาเกือบทุกคน เนื่องด้วยความกังวลภัยก่อการร้ายและโรคระบาดจากเชื้อไวรัสมรณะโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ใครจะเป็นผู้ให้หลักประกันได้ว่าพระองค์จะปลอดภัย

กรณียกิจพระสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นี้ นอกจากจะเป็นการเยือนครั้งแรกของผู้นำศาสนาโรมันคาทอลิกแล้วยังเป็นประโยชน์การการสร้างสรรค์สันติภาพให้เกิดขึ้นในดินแดนนี้อย่างมากด้วย แม้ว่าจะเป็นการเสด็จเยือนอิรักอย่างเป็นทางการเพียง 4 วันก็ตาม ความจริงคือในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีสันตะปาปาพระองค์ใดเคยเสด็จเยือนประเทศนี้เลย แม้สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่สอง ผู้ซึ่งได้รับการสรรเสริญจากชาวโลกว่าเป็นผู้นำที่มีความกล้าหาญ และเคยได้รับการทูลเชิญเสด็จไปยังประเทศนี้มาแล้วถึงสองครั้ง ในที่สุดก็ทรงปฏิเสธถึงสองครั้ง เหตุผลทั้งหมดมาจากปัญหาในการรักษาความปลอดภัยให้พระองค์นั่นเอง การเสด็จเยือนประเทศอิรักของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจึงเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายของประชาคมโลก ท่ามกลางภัยพิบัติทั้งการก่อนการร้ายและโรคระบาดใหญ่ แต่ก็ทรงยืนยันที่จะเสด็จตามคำเชิญของรัฐบาลอิรักและชาวคริสเตียนในประเทศนั้น ซึ่งตั้งตารอคอยการเสด็จของพระองค์อย่างมาก

ปัญหาสำคัญที่คณะของสมเด็จพระสันตะปาปาทั้งหมดต้องเผชิญคือการป้องกันการติดเชื้อไวรัสนี้ ด้วยเหตุนี้คณะผู้ติดตามพระองค์ซึ่งมีรวมทั้งสิ้น 74 คน (ซึ่งรวมทั้งผู้สื่อข่าวด้วย) ได้รับการฉีดวัคซีนคนละสองเข็ม แต่ละเข็มห่างกันสองสัปดาห์ก่อนเดินทางจากกรุงโรมไปยังกรุงแบกแดด

อิรักนั้นเป็นอู่ของอารยธรรมโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นที่รู้จักกันในนามของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย อันเป็นดินแดนระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ดินแดนอันเก่าแก่นี้เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การประดิษฐ์ตัวอักษรที่เรียกกันว่าคูนิฟอร์มเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่นี่ อักษรที่ต้องมีการผสมเป็นอักขระมีทั้งสระและพยัญชนะเกิดขึ้นที่นี่ รวมทั้งรูปแบบการปกครองเมือง การเกิดขึ้นของการสถาปัตยกรรม การทูต ระบบกฎหมาย การทหารและพาณิชย์

นับเป็นเวลากว่าสี่ทศวรรษที่ประเทศนี้ได้รับภัยพิบัติจากสงครามมาตลอด ตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งกรีฑาทัพบุกประเทศอิหร่าน เป็นสงครามยืดเยื้อถึง 8 ปี ซึ่งต่อมาคือการบุกโจมตีประเทศคูเวต อันนำมาสู่สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่หนึ่ง ซึ่งตรงกับสมัยประธานาธิบดีจอร์ช บุช ผู้พ่อแห่งสหรัฐอเมริกา และจบลงด้วยสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่สองซึ่งทำให้ประเทศอิรักย่อยยับอย่างมาก ประชากรเสียชีวิตไปนับล้าน แม้ทุกวันนี้ยังมีการต่อสู้ด้วยกำลังทหารในเมืองใหญ่น้อยทั่วประเทศ และการก่อนการร้ายเป็นกิจวัตรประจำวันของประเทศนี้

การเดินทางครั้งประวัติศาสตร์นี้เริ่มขึ้นเช้าวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงออกเดินทางจากท่าอากาศยานฟูมิชิโน (Fiumicino) กรุงโรม โดยเครื่องบินพระที่นั่ง “Alitalia” A330 มุ่งสู่กรุงแบกแดด ก่อนออกเดินทางทรงพบกับผู้ลี้ภัยชาวอิรักราวสิบสองคนซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากทางศาสนจักรอย่างดีมาตลอด และถึงสนามบินนานาชาติกรุงแบกแดดเวลาบ่ายสองโมงตามเวลาท้องถิ่น

ที่มาภาพ : https://www.bbc.com/news/world-middle-east-56309779

ผู้บังคับบัญชาทหารอิรักสั่งเป็นวันหยุดยิงในขณะที่พระสันตะปาปาเริ่มออกเดินทาง กลุ่มนักรบชีอะห์ที่ทำการต่อสู้ในประเทศอิรักประกาศหยุดยิงชั่วคราวฝ่ายเดียว ในช่วงที่พระสันตะปาปาเสด็จเยือนประเทศอิรัก และหน่วยทหาร “Guardians of Blood Brigade” ประกาศว่าพวกเขาจะหยุดการปฏิบัติการทางทหารทุกชนิดในช่วงการเยือนของพระสันตะปาปาเพื่อแสดงความเคารพ

เมื่อเสด็จมาถึงกรุงแบกแดดนายกรัฐมนตรีมุสตาฟา อัล-คาดีมี (Mustafa al-Kadhimi) เข้าเฝ้าแบบส่วนพระองค์ จากนั้นทรงเสด็จไปเยี่ยมประธานาธิบดีบาร์ฮัมซาลีห์ (Barham Salih) และคณะทูตานุทูตเวลาบ่ายที่วังประธานาธิบดี หลังจากนั้นพระองค์จะเสด็จไปยังอาสนวิหารซีโรคาทอลิก “พระมารดาแห่งความรอด” จะพบกับบรรดาบิชอปบาทหลวง นักบวช เณร และครูสอนคำสอน เพื่อให้กำลังใจแก่ชาวคริสเตียน

วันเสาร์ ที่ 6 มีนาคม โดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังเมืองนาจาฟ (Najaf) และเมืองอูร์ (Ur) อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านนักบุญอับราฮัมผู้ที่เป็นที่นับถือของศาสนายูดาย คริสต์ศาสนา และศาสนาอิสลาม และที่เมืองนาจาฟ (Najaf) นั้น พระองค์เสด็จไปพบกับมหาอยาตอลลาห์ ซายิด อาลี อา-ฮุเซนี อัล-ซิสตานี (Grand Ayatollah Sayid Ali a-Husayni al-Sistani) ซึ่งถือกันว่าเป็นผู้นำฝ่ายจิตวิญญาณของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ที่สำคัญที่สุดของชาวอิรักถึงที่บ้านของเขาอย่างไม่ถือพระองค์และให้ความเป็นกันเองอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นการให้เกียรติท่านอยาตอลลาห์ท่านนี้อย่างมาก

ที่เมืองอูร์นี่เองที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเทศนาและนำอธิษฐานผู้นำศาสนาต่างๆ ที่ประชุมกันและมีความเคารพนับถือท่านอับราฮัม เหมือนดังที่พระผู้เป็นเจ้าให้ท่านอับราฮัมมองขึ้นสู่ท้องฟ้าเห็นดวงดาวอันระยิบระยับ ทรงเปรียบผู้นำศาสนาทั้งหลายราวกับดวงดาวนับพันอันระยิบระยับในท้องฟ้า เพื่อให้ศาสนาต่างๆ มองข้ามความขัดแย้งและสร้างความรักความสามัคคี มีความเมตตากรุณาต่อกันให้เกิดขึ้นในหมู่มนุษยชาติ เพื่อให้โลกฟันฝ่าภัยสงครามและการประหัตประหาร เป็นการเทศนาที่จะอยู่ในจิตใจของผู้นำศาสนาทั้งหลายที่มาประชุมกันต่อไปอีกนานเท่านาน ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างมากของพระองค์ท่านในภาระกิจที่เสด็จมาประเทศนี้

จากนั้นพระองค์จะเสด็จกลับกรุงแบกแดด เพื่อประกอบวจนพิธีที่อาสนวิหารนักบุญโยเซฟแห่งจารีตตะวันออกคาลเดียน (Chaldean) วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคมซึ่งเป็นวันที่สามในประเทศอิรักพระสันตะปาปาจะทรงเดินทางไปยังเมืองอัรบีล (Erbil), เมืองโมซูล (Mosul) และเมืองการากอซ (Qaraqosh) ที่นั่นเองที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงพบปะกับผู้นำชาวเคร์ทอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นอีกชนเผ่าหนึ่งซึ่งต้องการแยกดินแดนออกเป็นประเทศเอกราชไม่ขึ้นกับอิรัก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความอ่อนไหวอย่างมากในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ

ในวันอาทิตย์นั้นเองทรงเทศนาในกีฬาสถานซึ่งมีประชาชนเข้าฟังนับหมื่นและทรงสรุปด้วยคำพูดเหล่านี้

ที่มาภาพ : https://english.alarabiya.net/News/middle-east/2021/03/05/Pope-Francis-arrives-in-Iraq-s-capital-Baghdad-on-first-Papal-visit

“บัดนี้เวลาการเยือนดินแดนแห่งนี้ใกล้จะจบแล้ว ข้าพเจ้าต้องเดินทางกลับกรุงโรม ทว่าขอให้มั่นใจประเทศอิรักจะคงอยู่ในความทรงจำและในดวงใจของข้าพเจ้าเสมอ ขอให้ทุกคนร่วมใจกันทำงานอย่างเป็นเอกภาพเพื่ออนาคตที่จะมีแต่สันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และไม่มีการแบ่งชนชั้นกัน ขอให้มั่นใจได้ว่าข้าพเจ้าจะภาวนาสำหรับประเทศนี้ ข้าพเจ้าจะภาวนาให้เป็นพิเศษสำหรับบรรดาสมาชิกแห่งชุมชนศาสนาต่างๆ ซึ่งพร้อมกันกับชายหญิงผู้มีน้ำใจดีจะได้ช่วยกันทำงานเพื่อสานสายสัมพันธ์แห่งความเป็นพี่น้องกัน และความเอื้ออาทรต่อกันในการบริการรับใช้เพื่อความดีงาม คุณประโยชน์ส่วนรวมและเพื่อสันติสุขทั่วหน้ากัน ซาลาม ซาลาม ซาลาม สุกราน [ขอบคุณ] ขอพระเจ้าอวยพรทุกคน ขอพระเจ้าอวยพรประเทศอิรัก อัลลาห์ มา-อากุม (Allah ma’akum!) – ขอพระเจ้าสถิตอยู่กับท่าน”

การเสด็จเยือนอิรักในครั้งนี้แม้ใช้เวลาเพียงสี่วันก็ตาม แต่เป็นช่วงเวลาที่ประเทศนี้ปลอดจากความรุนแรงและภัยก่อการร้าย เป็นความสำเร็จขั้นแรกและเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจอย่างมากแก่คริสตชนซึ่งในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงสามแสนคนเท่านั้นในอิรัก อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีระหว่างศาสนิกต่างศาสนาให้เห็นภัยของสงครามและเห็นคุณค่าของความเมตตาต่อกัน ในยามที่บ้านเมืองเกือบอยู่ในภาวะวิกฤติ ถือได้ว่าการเสด็จเยือนอิรักครั้งนี้เป็นมงคลอันสำคัญของประเทศที่หมอกควันของสงครามยังไม่จางหายไป และแน่นอนที่สุดการเยือนอิรักครั้งนี้ทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่แท้จริงของศตวรรษที่ 21 นี้

ข่าววงในแจ้งมาว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะไม่ทรงหยุดการเดินทางไปยังดินแดนแห่งความขัดแย้งเพียงนี้

กำหนดการของพระองค์ต่อไปคือการเสด็จไปเยือนประเทศเลบานอนและประเทศในตะวันออกกลางซึ่งสถานการณ์ในประเทศนั้นเลวร้ายกว่าอิรักอีกมาก!!