ดร. นพ.มโน เลาหวณิช
ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต
ในการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้กล่าวต่อที่ประชุมใหญ่ว่า…
“ถึงเวลาแล้วที่จีนต้องปรับภาพลักษณ์ให้ดีขึ้น เป็นประเทศที่น่ารัก มีไมตรีจิตกับทุกประเทศ ไม่เป็นประเทศที่ก้าวร้าวไม่ใช้ความรุนแรง และทำให้สายตาชาวโลกมองจีนด้วยความชื่นชม”
สุนทรพจน์ครั้งนี้สร้างความประหลาดใจกับสื่อมวลชนต่างชาติอย่างมาก นักข่าวสำนักต่างๆ นึกไม่ถึงว่าประธานาธิบดีจะกล่าวเช่นนี้
ภาพลักษณ์ของจีนในสายตาชาวตะวันตกนั้น เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ไม่เคารพในสิทธิมนุษยชน มีการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงอย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้คำพูดว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ซึ่งเป็นสำนวนที่เริ่มต้นใช้โดยรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เรื่อยมาจนถึงรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
นอกจากนั้นจีนยังถูกโจมตีเรื่องการคุกคามสิทธิมนุษยชนของชาวทิเบต ชาวฮ่องกง ซึ่งออกมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ให้ฮ่องกงถูกรัฐบาลแผ่นดินใหญ่เข้ามาครอบงำ ยังผลให้เยาวชนและประชาชนชาวฮ่องกงถูกจับกุมจำนวนมาก
ยิ่งไปกว่านั้น กรณีของไต้หวันนั้นเป็นเรื่องพิเศษ ซึ่งประธานาธิบดีสีเองประกาศอย่างเป็นทางการว่า ไต้หวันต้องเข้ามาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจีนในไม่กี่ปีนี้ กรรมวิธีที่จะได้ไต้หวันมานั้นรวมทั้งการใช้กำลังทหารด้วย สิ่งที่ประธานาธิบดีสีพูดนั้นมิใช่เกิดขึ้นเฉพาะวาทกรรม บริเวณฝั่งตรงข้ามกับไต้หวันทหารจีนจำนวนนับล้านประจำการอยู่ตลอดเวลา
น่านน้ำระหว่างจีนกับไต้หวันมีกองเรือของจีนลาดตะเวนอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน กองเรือนี้ประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือพิฆาต เรือดำน้ำ แม้บริเวณรอบไต้หวันก็มีเครื่องบินรบของจีนบินวนเวียนตรวจการอยู่เสมอ นานๆ ทีก็มีการซ้อมรบของของกองกำลังเหล่านี้ สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลไต้หวันอย่างมาก
นอกจากนี้ จีนยังได้ทำการบุกรุกเข้าไปสร้างฐานทัพในหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีพรมแดนทับซ้อนกับประเทศในแถบนี้หลายประเทศ อันได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไนอีกด้วย นับครั้งไม่ถ้วนที่รัฐบาลในประเทศเหล่านี้แถลงข่าวถึงการล่วงละเมิดน่านน้ำของตน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการปะทุของความรุนแรงในดินแดนนั้นๆ
หรือแม้แต่กับอินเดียก็ตาม ทหารจีนกับทหารอินเดียปะทะกันรุนแรงที่บริเวณพรหมแดนในเทือกเขาหิมาลัย จนทหารหลายสิบนายของทั้งสองประเทศเสียชีวิตมาแล้วในปีที่ผ่านมา แม้จะไม่มีรายงานว่ามีการใช้อาวุธสงครามประหัตประหารกันก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ปรากฏในรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักข่าวของยุโรปและอเมริกาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีท่าทีที่จะสงบลง
สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือการตอบโต้ทางสื่อของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนต่อข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ผู้นำตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรืออเมริกากล่าวหา การโต้ตอบนั้นรวดเร็วฉับไว และรุนแรงเพียงพอกับคำกล่าวหานั้นๆ ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นกลางวันจีนก็จะตอบโต้กลางวัน ถ้าเป็นกลางคืนก็กลางคืนในลักษณะที่เรียกว่าเป็นการ “แลกหมัด” ระหว่างจีนกับประเทศคู่กรณีทุกประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ปรากฏชัดเจนในสื่อ
ความรุนแรงที่ไม่ปรากฏในสื่อยังมีอีก เช่น การโต้ตอบของจีนต่อประเทศที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์กับจีน โดยเฉพาะในสงครามการค้า ซึ่งมิได้จำกัดวงอยู่เฉพาะระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ปัจจุบันธุรกิจจำนวนมากในออสเตรเลียเป็นต้นว่าบริษัทการค้าเนื้อวัว ค้าไวน์ ค้าข้าวบาร์เลย์ ค้าอาหารทะเล ค้าผลไม้ ซึ่งเมื่อสองปีที่ผ่านมาและก่อนหน้านั้นได้สร้างผลกำไรอย่างมหาศาล แต่ในปัจจุบันบริษัทและเกษตรกรที่ผลิตสินค้าทางเกษตรเหล่านี่ล้มละลายหรือสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะถูกรัฐบาลจีนขึ้นภาษีบ้าง ถูกสั่งห้ามเข้าประเทศบ้าง ถูกยึดเพื่อไปตรวจสอบด้วยข้อหาว่าหน่วยงานของจีนสงสัยว่ามีสารปนเปื้อน จนเป็นเหตุให้สินค้าเหล่านี้เสียหาย ต้องนำไปทิ้งหรือทำลาย เพราะมาตรการเหล่านี้ ซึ่งตรงกับถ้อยแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนว่า
“หากท่านเห็นเราเป็นศัตรู เราก็จะเป็นศัตรูของท่าน”
ลักษณะของปฏิกิริยาโต้ตอบในแบบที่เรียกว่า “หนึ่งมาสองไป” นี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะจากกระทรวงการต่างประเทศของจีนเท่านั้น ผู้ที่เคยสัมผัสกับข้าราชการหรือนักการเมืองในจีน จะพบว่าอยู่ในรูปแบบเดียวกันหมด แม้กระทั่งหน่วยงานภาคเอกชน หรือบริษัทห้างร้านต่างๆ
ไม่ว่าจะใหญ่โตหรือมีขนาดเล็กเพียงใดก็ตาม ชนชั้นกลางในจีนมีลักษณะพื้นเพทางอารมณ์เหมือนกันหมด คือ “ทนไม่ได้ต่อข้อกล่าวหาของชาติตะวันตก” เมื่อแรงมาก็ต้องแรงกลับและต้องโต้ตอบกลับอย่างรวดเร็วและรุนแรงเสมอ มิเช่นนั้นชาวจีนเหล่านี้จะรู้สึกทันที่ว่า “ไม่ยุติธรรม”
พื้นเพทางอารมณ์ของชนชั้นกลางในจีนนี้ไม่แตกต่างอะไรกับอารมณ์ของ “ลูกโทน” ซึ่งเติบโตขึ้นมาในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของความรักและความสนใจของพ่อแม่ ทุกคนต้องหันมาเอาอกเอาใจพ่อหนูหรือแม่หนูคนนี้ตั้งแต่เกิด ชนิดที่เรียกว่า “มดไม่ให้ไต่ ไรไม่ให้ตอม” อยากได้อะไรพ่อแม่หรือคนเลี้ยงหามาประเคนให้ทั้งหมด ใครขัดใจไม่ได้ เมื่ออยากได้อะไรต้องได้มาทันที หากไม่ได้ทันทีก็จะเกิดความไม่พอใจ เกิดอารมณ์โกรธออกมานอกหน้า หากผิดใจมากๆ ก็อาจถึงกับอาละวาดใส่คนเลี้ยงหรือบิดามารดาได้อีกด้วย
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นโยบาย “หนึ่งครอบครัวลูกหนึ่งคน” (One-child Policy) ซึ่งจีนได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 สมัยท่านเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำนั้น ส่งผลให้คนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ขึ้นมาบริหารและขับเคลื่อนประเทศจีนในขณะนี้ มีพื้นเพทางอารมณ์และความคิดในลักษณะเช่นเดียวกันหมด
นโยบายนี้เพิ่งได้รับการผ่อนคลายเป็น “หนึ่งครอบครัวลูกสองคน” (Two-child Policy) ในปี ค.ศ. 2015 และเพิ่งเปลี่ยนเป็น “หนึ่งครอบครัวลูกสามคน” (Three-child Policy) ในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง
ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเองอาจจะได้ตระหนักถึงผลร้ายของนโยบาย “หนึ่งครอบครัวลูกหนึ่งคน” ก็เป็นได้ แต่การแก้ไขที่จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของประเทศจีนหรือชาวจีนในสายตาคนทั้งโลกนั้นคงไม่ง่าย ลำพังการใช้สื่อสำนักต่าง ๆ สร้างภาพลักษณ์ใหม่นั้นอาจง่ายเกินไป และที่สำคัญคือปัญหานี้ต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะแก้ไขได้ ถ้าดำเนินการอย่างจริงจัง
แม้จะมีการผ่อนปรนนโยบายเป็นลูกสามคนต่อครอบครัวแล้วก็ตาม หนุ่มสาวชาวจีนส่วนใหญ่ก็ไม่มีความสนใจที่จะมีลูกถึงสามคนตามนโยบายใหม่ของรัฐ ส่วนใหญ่ตระหนักถึงภาระการหาเงินในสังคมจีนสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ไหนจะค่านมลูก ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียน ฯลฯ เพราะเหตุที่รัฐมีมาตรการผ่อนปรนนี้ แต่รัฐบาลจีนมิได้ให้สวัสดิการใดๆ แก่ครอบครัวชาวจีนเลย
ความเข้าใจที่มาของพื้นเพทางจิตใจของชาวจีนชนชั้นกลางนี้ เป็นเรื่องจำเป็นในการติดต่อทางการต่อทางการค้าขายกับคนจีนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่การดำเนินนโยบายทางรัฐประศาสนศาสตร์ระหว่างประเทศกับจีนประเทศสังคมนิยมที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก มีความมั่นคงทางการทหารและทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก และมีอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ซึ่งมีการสืบต่อกันมากว่าห้าพันปี
การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศที่เป็นไปในทางลบ เช่น การตำหนิติเตียน การประจาน การประณาม รัฐบาลจีนย่อมจะไม่เกิดผลดีแต่ประการใดเลย เพราะนอกจากที่จะไม่ได้รับความร่วมมือใดๆ แล้ว ผลลัพธ์คือความโกรธและเกลียดชังอย่างรุนแรงเสมอ ดังเช่น เกษตรกรชาวออสเตเลียได้รับชะตากรรมอย่างแสนสาหัสในขณะนี้ อันเป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากนโยบายของรัฐที่เข้าข้างอเมริกาอย่างชัดแจ้ง ประณามจีนในหลายสาเหตุ เกิดเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างเป็นระบบในทุกรูปแบบ จากทุกหน่วยงานของจีนทุกหน่วยพร้อมๆ กัน
ในทางตรงกันข้าม การทำให้รัฐบาลจีน ชาวจีนชนชั้นกลาง หรือหน่วยงานอันเป็นที่รู้จักกันดีของจีนพึงพอใจ ชาวจีนก็จะเห็นว่าเป็น “ปิยะมิตร” ที่ชาวจีนจะไม่ยอมละทิ้ง แม้จะอยู่ในภาวะที่ยากลำบากสักเพียงใด โดยที่กระแสตอบรับจะรวดเร็ว รุนแรง และคาดไม่ถึง แม้ไม่ได้ร้องของความช่วยเหลือมา ชาวจีนก็ยินดีที่จะช่วยเหลืออยู่เสมออย่างไม่เกี่ยงงอน
จะเห็นได้ว่านโยบายที่สหรัฐอเมริกาใช้กับจีน ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรื่อยมาถึงโจ ไบเดน นั้นผิดพลาดมาอย่างมาก ยิ่งวันความเป็นมิตรระหว่างทั้งสองประเทศยิ่งห่างไกลกันไปทุกที เห็นได้จากการประชุมข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐและจีน ที่รัฐอะแลสกา เป็นความล้มเหลวในกระบวนการทูตอย่างสิ้นเชิง ตัวแทนของทั้งสองฝ่ายนั่งประจันหน้ากัน และกล่าวโทษกันไปมา ไม่มีสาระใด ๆ อันเป็นรูปธรรมที่สรุปออกมาจากการประชุมนั้นอีกเลย
ทั้งที่โลกทั้งใบกำลังตกอยู่ในวิกฤติการณ์ครั้งสำคัญมากมาย เป็นต้นว่า ภาวะโลกร้อน การแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 การแข่งขันทางการพัฒนาอาวุธ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ การพัฒนาเศรษฐกิจของโลกภายหลังการแพร่ระบาดใหญ่สิ้นสุดลง และยุติสงครามการค้า วิกฤติการณ์เหล่านี้สามารถสร้างความระส่ำระสายให้เกิดขึ้นกับประชากรโลกหลายพันล้านคนพร้อมๆ กันหากไม่ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม
สหรัฐอเมริกาน่าจะเรียนรู้กระบวนการทางการทูตของประธานาธิบดีเรแกน ซึ่งเข้ากันได้อย่างดีกับผู้นำสูงสุดของจีนและรัสเซีย จนทำให้เกิดสนธิสัญญาการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ และสงครามเย็นสงบลงอย่างเป็นทางการ ทำให้โลกเข้าสู่ภาวะสันติสุขได้ยาวนานที่สุดยุคหนึ่ง