ThaiPublica > คอลัมน์ > อะไรคือทางออกวิกฤติการณ์ไต้หวัน-จีน

อะไรคือทางออกวิกฤติการณ์ไต้หวัน-จีน

7 กันยายน 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ปัจจุบันไต้หวันได้กลายเป็นบริเวณที่สามารถปะทุเป็นสงครามใหญ่ได้ทุกเวลา และสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวออกมาอย่างชัดเจนว่า

“ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และรัฐบาลจีนจะดำเนินการทุกอย่างที่จะนำไต้หวันกลับเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของจีนอีก แม้ว่าจะต้องใช้กำลังทหารก็ตาม”

คำพูดของประธานาธิบดีสีมิใช่เป็นเพียงคำขู่ ทหารจีนนับล้านพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ชุมนุมกันอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามกับไต้หวัน พร้อมที่จะเดินทางข้ามช่องแคบยกพลขึ้นบกได้ตลอดเวลา อีกทั้งน่านน้ำบริเวณนี้ยังคลาคล่ำไปด้วยกองเรือของจีน และเกือบทุกวันเครื่องบินรบของจีนบินผ่านไปรอบๆ เกาะไต้หวัน นี่ยังไม่รวมเหตุการณ์บ่อยครั้งที่กองทัพอากาศไต้หวันต้องส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นประกบบีบบังคับให้เครื่องบินของจีนต้องเบี่ยงเบนเส้นทางออกไป ในน่านน้ำบริเวณนี้เองกองทัพของจีนมีการซ้อมรบบ่อยครั้งจนเกือบจะเป็นกิจวัตรก็ว่าได้

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไต้หวันได้เพียรพยายามที่จะได้รับความช่วยเหลือจากมหามิตรของตนคือสหรัฐอเมริกามาตลอด รัฐบาลของอเมริกาให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ต้นโดยผลักดันให้เป็นตัวแทนจีนเดียวในองค์กรสหประชาชาติ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1971 ซึ่งที่ประชุมใหญ่มีมติให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นตัวแทนถาวรแทน หากไม่มีสหรัฐฯ สนับสนุนป่านนี้ไต้หวันคงตกเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ไปแล้วเป็นแน่ แม้ประธานาธิบดี Dwight D. Eisenhower ประธานาธิบดีคนที่ 34 ของอเมริกา ได้เดินทางมาเยี่ยมไต้หวันอย่างเป็นทางการมาแล้วเมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้นใหม่ๆ อเมริกาเห็นว่าไต้หวันนั้นคือแนวป้องกันการรุกคืบของลัทธิคอมมิวนิสต์มาตลอด

วัตถุประสงค์หลักของการสนับสนุนไต้หวัน คือ ต้องการให้ไต้หวันเป็นกำแพงต่อต้านเผด็จการลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้น รัฐบาลสหรัฐฯ จึงดำเนินการทุกอย่างทั้งทางการทูตระหว่างประเทศ เงินอุดหนุนทางอาวุธยุทโธปกรณ์ เพราะเล็งเห็นว่าหากไต้หวันตกเป็นคอมมิวนิสต์อีก ก็จะเป็นภัยต่อญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ อำนาจของสหรัฐอเมริกาจะลดน้อยถอยลง

อันที่จริงจอมพลเจียง ไคเช็ก นั้นไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอะไรเลย สมัยที่ปกครองจีนอยู่นั้น ได้สั่งฆ่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไปกว่าแสนคนเมื่อตนเองยึดเมืองเซี่ยงไฮ้ได้ และเมื่อบุกเข้ายึดเกาะไต้หวันใหม่ๆ นั้นยังได้สั่งประหารประชาชนไต้หวันกว่าแสนคน เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง แผ่นดินจีนได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ระหว่างพรรคกั๋วหมิน (หรือพรรคชาตินิยม ซึ่งก่อตั้งโดยนายแพทย์ซุน ยัดเซน) ซึ่งนำโดยนายพลเจียง ไคเช็ก และพรรคก้งฉาน (หรือพรรคคอมมิวนิสต์) ซึ่งนำโดยประธานเหมา เจ๋อตุง สงครามนั้นยาวนานถึง 4 ปี และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจอมพลเจียง ไคเช็ก เมื่อเห็นว่าฝ่ายพรรคชาตินิยมจะพ่ายแพ้แน่นอน จอมพลเจียง ไคเช็ก ได้ให้กองทหารและสมัครพรรคพวกขนสมบัติของชาติกว่า 700,000 ชิ้นซึ่งไม่อาจประเมินมูลค่าได้ จากวังจักรพรรดิในกรุงปักกิ่ง (The Forbidden City) สุสานของจักรพรรดิจีนพระองค์ต่างๆ และทองคำแท่งอีกว่า 120 ตัน ขึ้นเรือบรรทุกสินค้าข้ามไปยังเกาะไต้หวัน เพื่อเป็นต้นทุนในการสร้างชาติใหม่ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1949

สมบัติซึ่งหาค่ามิได้เหล่านี้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ซึ่งทางรัฐบาลไต้หวันนำมาออกแสดงในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จนทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งที่แสดงศิลปะโบราณที่มีมูลค่าสูงที่สุดของโลก ศิลปวัตถุที่รัฐบาลไต้หวันนำมาหมุนเวียนแสดงในพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของสมบัติทั้งหมด ซึ่งทางรัฐบาลได้นำไปเก็บรักษาไว้ในที่ลับสูงสุด รักษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และกองทัพของไต้หวัน

รัฐบาลของจีนแผ่นดินใหญ่ ในสมัยของประธานเหมา เจ๋อตุง และเติ้ง เสี่ยวผิง ได้เคยติดต่อมาให้ไต้หวันส่งคืนศิลปวัตถุเหล่านี้บางส่วนให้กลับคืนแผ่นดินจีน แต่รัฐบาลไต้หวันทุกยุคทุกสมัยปฏิเสธมาตลอด

ในทัศนะของชาวจีน จอมพลเจียง ไคเช็ก คือโจรปล้นสมบัติของชาติดีๆ นี่เอง แต่ในมุมมองของชาวไต้หวันเจียง ไคเช็ก คือวีรบุรุษที่ปกป้องความเป็นจีน และสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของพวกคอมมิวนิสต์

ในอดีตประธานาธิบดี หม่า ยิ่งเจียว ของไต้หวันพยายามดำเนินนโยบายทางการทูตเพื่อสานสามัคคีกับจีนแผ่นดินใหญ่ (Cross-Strait Service Trade Agreement) แต่ก็พบกับแรงต้านจากนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยนับหมื่นออกมาประท้วง ซึ่งเรียกเรียกว่าขบวนการทานตะวัน (Sunflower Movement) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 18 มีนาคมถึง 10 เมษายน พ.ศ. 2557 จนเป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนนโยบาย ถอยห่างจากจีน และพรรคอิสรภาพ (Independence) ของนางไช่ อิงเหวิน ต่อมาได้ชัยชนะ นางได้พยายามปลีกตัวห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่มาตลอด เพื่อให้ไต้หวันเป็นประเทศเอกราช

ขณะนี้ประชาชนไต้หวันส่วนใหญ่ชอบที่จะเองเรียกตนเองว่า “ชาวไต้หวัน” (Taiwanese) และหลีกเลี่ยงที่จะเรียกตนเองว่า “ชาวจีน” (Chinese) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 รัฐบาลไต้หวันได้สร้างความแตกต่างให้ชัดเจนจากจีนโดยการออกกฎหมายให้ชายรักชาย และหญิงรักหญิงแต่งงานกันเองได้ โดยมีการแถลงข่าวเพศเดียวกันกอดจูบกันในที่สาธารณะเป็นข่าวไปทั่วโลก ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่ออกกฎหมายเสรีนิยมในลักษณะเช่นนี้ เป็นเงื่อนไขทางสังคมอีกประการหนึ่งที่จีนยอมไม่ได้

ฝ่ายจีนแผ่นดินใหญ่ในปี พ.ศ. 2548 ได้ตอบโต้ทางกฎหมายโดยสภาประชาชนแห่งชาติ (National People Congress) จีนได้มีมติเอกฉันท์ 2896 ต่อ 0 ออกกฎหมายยกเลิกการสืบทอดอำนาจ ซึ่งหมายถึงการสืบทอดอำนาจการปกครองของไต้หวัน ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนจีน 1.4 พันล้านกับประชาชนไต้หวัน 24 ล้านคนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ไต้หวันจึงเป็นหนามยอกอกประชาชนจีนทุกคนนับตั้งแต่สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1949

ในปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐได้ให้ฐานะกับไต้หวันว่าเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ของอเมริกาอีกด้วย และได้ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยให้แก่ไต้หวันเพื่อเป็นการต่อกรกับจีนโดยตรง และทุกครั้งที่มีกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้น หรือเมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐเดินทางมาเยือนไต้หวัน จีนก็ออกมาประณามอย่างรุนแรงทุกครั้ง ด้วยถ้อยคำที่ว่า “เข้ามาแทรกแซงกิจกรรมภายในของจีน” แต่โดยทั่วไปโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนไม่เคยเอ่ยชื่อประเทศว่า “ใคร” เข้ามาแทรกแซง ถือว่าสาธารณะชนเป็นที่เข้าใจได้เอง

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี นโยบายของสหรัฐต่อจีน เป็นการ “เหยียบเรือสองแคม” ไม่มีความชัดเจน ในขณะที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่ามี “จีนเดียว” แต่ก็ยังให้การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ไต้หวันมาตลอด และไต้หวันเองก็ไม่พอใจกับจุดยืนนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเป็นนโยบายที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้เช่นเดียวกัน ในโลกนี้มีเพียง 15 ประเทศเท่านั้นที่ยอมรับสถานภาพการเป็นประเทศที่ถูกต้องและมีสถานทูตในไต้หวัน ในยุโรปมีนครรัฐวาติกันเพียงประเทศเดียวเท่านั้น และมีประชากรเพียง 845 คนเท่านั้น ประเทศที่เหลือใน EU รับรองจีนแผ่นดินใหญ่ว่าเป็นจีนเดียวเท่านั้น เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลสาธารณรัฐเช็กได้ส่งตัวแทนของกระทรวงยุติธรรมไปเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ ทำให้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมาประกาศกร้าวว่า “จะได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง” ตั้งแต่นั้นมาไม่มีประเทศในยุโรปประเทศใดที่กล้าส่งตัวแทนไปไต้หวันอีกเลย

จีนได้ดำเนินนโยบายปิดล้อมไต้หวันทางการทูตมาตลอด ตัดสิทธิ์ไต้หวันที่จะมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศทุกเวที แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก ซึ่งไต้หวันเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจีนยังคงยืนยันเงื่อนไขให้ไต้หวันในการรวมชาติว่าให้อิสระในการปกครองประเทศของไต้หวันให้อยู่ในระบอบเดิมได้ เป็นหนึ่งประเทศสองระบบ กระนั้นเองไต้หวันก็ไม่มีความไว้วางใจจีน เพราะได้เห็นตัวอย่างการปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเด็ดขาดมาแล้ว ทำให้ไต้หวันถูกโดดเดี่ยวทางการทูตมาตลอด และดูเหมือนจะไม่มีคำตอบว่าจะยาวนานอีกเพียงไร

ที่แน่นอนที่สุดไม่มีประเทศใดที่จะเป็นสรณะของไต้หวันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย หากเกิดความรุนแรงขึ้น ไม่ว่าอเมริกาหรือมหาอำนาจในยุโรปก็ไม่อาจออกตัวส่งกำลังทหารออกมาปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของกองทัพจีนได้

ผู้สันทัดกรณีในเรื่องความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน ล้วนมีความเห็นคล้องจองกันเป็นเอกฉันท์ว่า การรวมชาติจะเกิดขึ้นแน่นอนก่อนปี ค.ศ. 2049 อันเป็นการฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีที่สงครามกลางเมืองของจีนสิ้นสุดลง แต่การเฉลิมฉลองครั้งใหญ่นี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจีนได้เข้าครอบครองไต้หวันเรียบร้อยแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ปี ด้วยเหตุนี้เองระยะเวลาที่วิกฤติของเหตุความขัดแย้งครั้งนี้จึงน่าจะเกิดได้ระหว่างปี 2021-2029 อาจเรียกได้ว่าเป็น 9 ปีที่อันตรายที่สุดของโลก ซึ่งอาจปะทุขึ้นเป็นสงครามนิวเคลียร์ขึ้นได้ง่ายๆ

ปัญหาที่ชาวโลกถามกันในขณะที่คือ “อะไรจะเกิดขึ้นกับไต้หวัน” เมื่อเวลานั้นมาถึง สถานการณ์ที่เป็นไปได้อันจะเกิดกับไต้หวันมีอยู่ด้วยกัน 4 ประการดังนี้คือ

1.เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ของไต้หวัน โดยพรรคชาตินิยม (กั๋วหมิน) ที่มีนโยบายจีนเดียวได้รับเลือกตั้งขึ้นมาเป็นรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นผลจากการข่มขู่จนทำให้ให้ชาวไต้หวันกลัวการใช้กำลังของจีนในการใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการยึดประเทศ หรือเกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ในไต้หวันจนทำให้รัฐบาลไร้เสถียรภาพ หรือไม่จีนได้ดำเนินการ “ซื้อ” สื่อมวลชนของไต้หวัน หรือใช้ “สายลับ” จีนปฏิบัติการทางจารกรรมข้อมูลจนทำให้รัฐบาลไต้หวันสูญเสียเสถียรภาพ ประชาชนไต้หวันลงประชามติให้ไต้หวันเข้าไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่

2.เกิดการปฏิบัติการทางทหารของจีนตามรูปแบบที่รัสเซียใช้ในการผนวกคาบสมุทรไครเมีย อันเป็นที่รู้จักกันนามของไครเมีย โมเดล (Crimea Model) โดยปรากฏกองกำลังทหารติดอาวุธไม่ระบุสัญชาติซึ่งสื่อมวลชนตั้งชื่อว่าเป็นคนใส่ชุดเขียวตัวเล็ก (The Little Green Men) เดินลาดตะเวนกระจายไปทั่วกรุงไทเปและเมืองใหญ่ๆ ของไต้หวัน หรือ ส่งกองทัพของเรือประมงเข้าจับปลาในเขตน่านน้ำของไต้หวันแล้วขึ้นบกรุกคืบไปในเมืองใหญ่ๆ ของไต้หวัน ก่อนที่จะดำเนินการเข้าไปยึดอำนาจในสถานที่ราชการของไต้หวันทั่วประเทศในรูปแบบเดียวกันกับที่รัสเซียเข้าไปยึดคาบสมุทรไครเมีย ทำให้เกิดการลงประชามติของประชาชนจนรวมคาบสมุทรนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียได้สำเร็จ แต่กระนั้นสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปไม่ยอมรับการทำประชามติครั้งนี้ เป็นเหตุให้รัสเซียถูกอเมริกาและสหภาพยุโรปคว่ำบาตรมาจนถึงทุกวันนี้

3.จีนใช้กำลังทหารบุกไต้หวันอย่างสายฟ้าแลบ โดยใช้จรวดที่มีความแม่นยำสูงหรือเครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ทั่วเกาะไต้หวัน ตามด้วยการยกพลขึ้นบก ยึดสถานที่สำคัญของประเทศและเข้าครอบครองไต้หวันทั้งหมด เริ่มจากทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งจีนได้มีการเผยแพร่คลิปการซ้อมรบเป็นประจำของทหารจีนอยู่แล้ว โดยมีฉากหลังเป็นอาคารใหญ่รูปร่างภายนอกเหมือนทำเนียบประธานาธิบดีของไต้หวัน แม้ขณะนี้ยุทธการณ์นี้เป็นสิ่งที่สื่อมวลชนทั่วโลกกำลังจับตาอยู่ และมีความวิตกอย่างมากว่าจะเกิดเป็นสงครามใหญ่ได้ก็ตาม แต่กว่า 70 % ของชาวไต้หวันเองไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นหรือโอกาสที่จะเกิดขึ้นน้อยเหลือเกิน ความเป็นไปได้ที่จะเกิดจะมีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ คะแนนนิยมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลดลงฮวบฮาบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจเกิดจากดำเนินนโยบายบริหารประเทศที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ และ/หรือสหรัฐอเมริกาเกิดภาวะแตกสามัคคีอย่างมาก เช่น เกิดจลาจลครั้งใหญ่ในหลายรัฐ จนอเมริกาไม่สามารถให้ความสำคัญในเรื่องวิกฤตการณ์ของไต้หวันนี้ได้อีกต่อไป

4.ใช้กลไกทางการทูตระหว่างประเทศ พูดคุยกับนักการเมืองและรัฐบาลไต้หวัน ให้เห็นผลประโยชน์ร่วมกันที่จะเกิดขึ้นเมื่อไต้หวันผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจีน ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อและนำมาซึ่งความรอมชอมของประชาชนไต้หวันและจีน เพราะทั้งจีนและไต้หวันเองเคยสร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นมาแล้ว ปัจจุบันจีนเป็นอภิมหาอำนาจใหญ่อันดับสองของโลก ในขณะที่ไต้หวันเองเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว และมีเทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างรายได้จำนวนมากแก่ประเทศ และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพป้อนตลาดใหญ่ของโลก กระนั้นเองกระบวนการทางการทูตนี้เป็นกระบวนการที่ยากที่สุดอาจเรียกได้ว่า “เป็นสิ่งเพ้อฝัน” เพราะอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้นำสหรัฐฯ ยังคง “หลงยุค” คิดว่าโลกใบนี้ยังอยู่ในยุค “สงครามเย็น” และแยกแยะไม่ออกว่า จีนในยุคศตวรรษที่ 21 นี้แตกต่างจากจีนในยุคสงครามเย็นแล้วอย่างไร ผู้นำอเมริกาจึงดำเนินนโยบายกีดกันจีนในทุกรูปแบบ เป็นต้นว่า สร้างกำแพงภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าจีน ประณามรัฐบาลจีนในที่ประชุม G7 และที่ประชุม NATO ยังผลให้เกิดการแข่งขันทางอาวุธเพิ่มความเสี่ยงให้กับโลกบีบให้จีนกับรัสเซียหันมาผนึกกำลังกันอีกเหมือนในสมัยสงครามเย็น สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามใหญ่อย่างง่ายดาย

แทนที่อเมริกาจะเล่นบทผู้นำทางการทูต เพื่อลดความขัดแย้ง นำมาซึ่งการสมานฉันท์ ทำให้ประเทศที่เป็น “บ้านพี่เมืองน้อง” ซึ่งมีวัฒนธรรมเดียวกันได้คืนดีกัน ทั้งรัฐบาลจีนและไต้หวัน ประชาชนจีนและไต้หวันจะมีทัศนะที่กตัญญูต่อการกระทำอันสร้างสรรค์ของอเมริกา แต่อเมริกากับทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเสียเอง เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันจึงดูไม่มีวันสิ้นสุด

แม้ว่าพี่เบิ้มใหญ่คือสหรัฐอเมริกาไม่อาจเป็นสรณะให้แก่ชาวโลกได้ ก็มิได้หมายความว่ากลไกทางการทูตนั้นจะเป็นสิ่งที่ล้มเหลวไปเลย เพราะโลกยังมีองค์การสหประชาชาติซึ่งยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพของโลกอยู่ และยังมีสหภาพยุโรป (EU) และประชาคมอาเซียน (ASEAN) ซึ่งหากรวมตัวกันได้ ก็สามารถมีน้ำหนักทางการเจรจาทางการทูตกับรัฐบาลจีน และไต้หวันได้

ทั้งสหภาพยุโรปและอาเซียนต่างยังคงดำเนินนโยบายการทูต “เชิงรับ” มาตลอด คือเต้นไปตามสถานการณ์โลกโดยเฉพาะในกำกับของสหรัฐฯ ซึ่งสร้างภาพว่าโลกยังอยู่ในยุคสงครามเย็น ฝ่ายประชาธิปไตยยังคงต้องต่อสู่กับลัทธิคอมมิวนิสต์ แทนที่จะดำเนินการทูต “เชิงรุก” และมุ่งที่จะเข้าไปแก้ไขวิกฤติของโลกเป็นเป้าหมาย เอาสันติภาพและภารดรภาพของชาวโลกเป็นผลลัพธ์ และการทูตที่สอดประสานกัน พูดคุยกับทั้งรัฐบาลจีน และไต้หวัน จนนำตัวแทนของทั้งสองประเทศสู่โต๊ะเจรจาได้สำเร็จ และการประชุมนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่อาจเกิดขึ้นได้หลายครั้ง การประชุมสุดยอดผู้นำจีน-ไต้หวัน โดยไม่ต้องมีอเมริกาเข้ามาร่วมโต๊ะเจรจาด้วยนั้นเป็นความสำเร็จในตัวของมันเองอยู่แล้ว

กุญแจสำคัญของความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นี้คือการผนึกกำลังของสหภาพยุโรปกับประชาคมอาเซียน ซึ่งหากเป็นไปได้ คือ โดยการนำเสนอของกระทรวงการต่างประเทศไทยนั่นเอง