ThaiPublica > คอลัมน์ > ถึงเวลาหรือยังสำหรับกฎหมายการุณยฆาตในประเทศไทย?

ถึงเวลาหรือยังสำหรับกฎหมายการุณยฆาตในประเทศไทย?

5 เมษายน 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐสภาประเทศสเปนได้ลงมติให้มีกฎหมายอนุญาตการุณยฆาต ซึ่งในภาษาอังกฤษว่า Euthanasia (คำว่า euthanasia เป็นศัพท์ในภาษาอังกฤษอันมีรากศัพท์จากภาษากรีกโบราณ แปลว่า “การตายที่ดี”) หรือ Mercy Killing ด้วยคะแนนท่วมท้น 202:141 ก่อนลงประชามตินั้นได้มีการโต้เถียงกันอย่างมากมายในสื่อแต่ละสำนัก แม้ในขณะที่รัฐสภาของสเปนกำลังจะลงมติ ก็มีประชาชนจำนวนหลายพันคนเดินขบวน มีทั้งฝ่ายสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้และคัดค้านอย่างรุนแรง การประกาศกฎหมายฉบับนี้เป็นข่าวเกรียวกราวกันในสื่อมวลชนทั่วโลก เพราะเป็นสิ่งที่สวนทางกับความคาดหมายของประชาคมโลกที่ประเทศที่เต็มไปด้วยชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ศาสนาที่ต่อต้านเรื่องนี้ตลอดมาจะยอมให้กฎหมายฉบับนี้คลอดออกมาได้! ทำให้สเปนเป็นประเทศที่ 4 ในยุโรปที่ยอมรับสิทธิการทำการุณยฆาต ต่อจาก เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม และลักเซมเบิร์ก ทั้งสามประเทศเหล่านี้ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่งยอมรับการุณยฆาตง่ายกว่ามาก

อันที่จริงการฆ่าด้วยความกรุณาหรือการุณยฆาต นั้นผิดคำสอนของเกือบทุกศาสนาและเกือบทุกกรณี ในศาสนาที่นับถือพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวอันได้แก่ศาสนายูดาย คริสตศาสนาและศาสนาอิสลามนั้น การทำการุณยฆาตเป็นการขัดต่อบัญญัติแรกของพระผู้เป็นเจ้า (Thou shall not kill!) และยังเป็นการสวนทางกับกฎข้อแรกของบิดาของแพทย์แผนปัจจุบัน Hippocrates ที่ว่า Do no harm! อีกด้วย

กระนั้นก็ตามแนวคิดเรื่องการุณยฆาตนั้นเกิดขึ้นมากว่าห้าทศวรรษแล้วในโลกตะวันตก เริ่มต้นด้วยคดีความที่พ่อแม่ของหญิงสาวที่รอดมาได้จากการจมน้ำตาย แต่อยู่ในอาการโคม่ามาตลอด ต้องการให้แพทย์ยุติการรักษาแก่ลูกสาว แต่แพทย์ไม่ยอมด้วยเหตุผลของจริยธรรมทางการแพทย์หรือเวชจริยศาสตร์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำให้ วงการแพทย์มีเครื่องมือมากมายที่ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตต่อไปได้อีกยาวนานมาก ไม่ใช่เป็นวัน ๆ แต่เป็นปี ๆ หรือเป็นสิบปี

การที่ผู้ปกครองของหญิงคนดังกล่าวมาเฝ้าดูลูกที่อยู่ในอาการเจ้าหญิงนิทรา เห็นแขนขาที่หดตัวลงคดงอเข้าไปเรื่อย ๆ กล้ามเนื้อทั้งร่างกายลีบลงไปทุกวี่ทุกวัน แม้หายใจได้เองก็มีชีวิตอยู่ได้เพราะได้อาหารจากสายยางที่ให้สอดผ่านจมูก เพราะผู้ป่วยกลืนเองไม่ได้ อาหารที่ถูกฉีดเข้าไปก็เป็นอาหารเหลว ที่ผู้ช่วยพยาบาลกรอกลงสู่กระเพาะอาหารผ่านท่อยางนั้นวันละสามครั้ง แม้ผู้ป่วยจะลืมตาได้แต่ไม่อาจตอบสนองใด ๆ ได้ เป็นผู้ป่วยติดเตียง แม้หายใจได้ก็ไม่สามารถโต้ตอบใด ๆ ได้เลย ซึ่งวงการแพทย์มีคำศัพท์พิเศษว่าเป็นชีวิตผัก (vegetative state) หากนึกถึงตัวเองต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ ท่านคิดอย่างไร?

ศาสนาของสังคมสมัยใหม่นั้นคือศาสนาของสิทธิมนุษยชน ศาสนานี้ไม่มีพระผู้เป็นเจ้าอีกต่อไป เป็นศาสนาที่มนุษย์ทุกคนที่สิทธิเท่าเทียมกันในการมีชีวิต (Right to Life) นักปรัชญายุคใหม่จึงได้ขยายความของสิทธิมนุษยชนในประการต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ระบุถึงสิทธิในการแสวงหาความสุข และยังมีสิทธิพื้นฐานทางสังคมอีกมากมายแม้สิทธิในการครอบครองอาวุธปืนและพกพาอาวุธปืน ยังไม่มีใครระบุได้ว่ามนุษย์มีสิทธิอะไรบ้าง เพราะขณะที่สังคมพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ สิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะจึงเกิดขึ้น แม้ในปัจจุบันการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต เป็นสิ่งที่สังคมโลกถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐานอีกแบบหนึ่งไปแล้ว

ท่ามกลางการถกเถียงถึงสิทธิมนุษยชนพื้นฐานว่าน่าจะรวมสิทธิในการตายโดยสงบเข้าไปด้วยหรือไม่ โลกตะวันตกได้เห็นอุบัติการณ์ขึ้นสองอย่าง นั่นคือการเกิดขึ้นของการแพร่หลายของหนังสือชื่อ Final Exit (ทางออกสุดท้าย) ของนาย Derek Humphry ซึ่งในเนื้อหาสาระแล้ว หนังสือเล่มนี้ทั้งหมดคือ คัมภีร์การฆ่าตัวตายนั่นเอง และบอกถึงการฆ่าตัวตายวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกินยานอนหลับชนิดต่าง ๆ ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ เรื่อยไปจนถึงวิธีการสูดดมไอเสียจากรถยนต์ ซึ่งผู้เขียนแนะนำว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะในไอเสียนั้นมีก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซึ่งเมื่อจับตัวกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงแล้วจะไม่ยอมปล่อย ทำให้ฮีโมโกลบินไม่สามารถจับกับออกซิเจนได้ ทำให้ถึงแก่ความตายในที่สุด แล้วผิวจะเป็นสีชมพูสวยงาม ไม่น่าเกลียดเหมือนการโดดตึกตายหรือผูกคอตาย

หนังสือเล่มนี้ได้ก่อให้เกิดสมาคมเพื่อผลักดันให้มีกฎหมายการุณยฆาตเกิดขึ้น เพราะถือว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะตายอย่างมีศักดิ์ศรี (Death with Dignity) และตั้งชื่อสมาคมนี้ว่า Hemlock Society ตามชื่อยาพิษที่ทำจากเปลือกไม้ที่โซเกรติสถูกศาลพิพากษาให้ฆ่าตัวตายโดยการดื่มยาพิษนี้ และถือกันว่าเป็นการตายอย่างมีศักดิ์ศรี สมาคมนี้ได้โฆษณาให้รัฐออกกฎหมายให้ประชาชนมีสิทธิร้องขอต่อแพทย์ให้จบชีวิตตนเองได้ โดยการฉีดยา ใช้คำขวัญว่า “Let me die like a dog! ” เพราะในสหรัฐนั้นเมื่อสัตว์เลี้ยงตัวใดป่วยหนักรักษาไม่ไหวแล้ว เจ้าของก็จะให้สัตวแพทย์ฉีดยาให้ตายนั่นเอง คำขวัญดังกล่าวอยู่บนเสื้อยืดที่สมาคมนี้จัดทำขายแก่สาธารณะชน

อีกท่านหนึ่งคือนายแพทย์ Jack Kevorkian ผู้เป็นแพทย์นิติเวช ผู้ที่ได้ทำการชันสูตรพลิกศพคนตายมามาก และได้เขียนจดหมายถึงสภาคองเกรสของสหรัฐ ให้ยกเลิกวิธีการประหารชีวิตนักโทษด้วยการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า แต่ให้ใช้วิธีฉีดยาให้ตายแทน เพราะการประหารชีวิตด้วยวิธีแรกทำให้อวัยวะต่าง ๆ เช่นหัวใจ และไต เสียหาย ส่วนวิธีใหม่นี้เป็นการถนอมอวัยวะเหล่านี้ สามารถนำไปปลูกถ่ายให้ผู้อื่นได้ รัฐสภาของสหรัฐเห็นชอบด้วย และทั่วประเทศได้เปลี่ยนวิธีประหารจากการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้าเป็นการฉีดยาให้ตายแทนแล้ว

แต่นายแพทย์ผู้ที่ไม่หยุดเพียงเท่านี้ เขายืนยันว่าเป็นสิทธิของมนุษย์ที่จะตายโดยให้แพทย์เป็นผู้ช่วยทำให้ตาย โดยแกได้ประดิษฐ์เครื่องมือฆ่าตัวตายโดยการฉีดยา และนำไปให้บริการแก่ผู้ป่วยถึงบ้าน ผู้ที่เรียกร้องการบริการของแพทย์ผู้นี้หลายรายไม่ใช่ผู้ป่วยมะเร็ง แต่ไม่อยากมีชีวิตอยู่เพราะความเจ็บป่วยเรื้องรัง เช่น ป่วยด้วยโรคข้ออักเสบเป็นต้น เงื่อนไขในการบริการของคุณหมอท่านนี้คือผู้ป่วยต้องกดปุ่มฉีดยาด้วยตัวเอง คุณหมอเป็นผู้แทงเข็มฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำต่อกับกระปุกยาให้ ขบวนการยุติธรรมในสหรัฐไม่สามารถทำอะไรกับแพทย์ท่านนี้ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งแกถ่ายคลิปขึ้นอินเทอร์เน็ตซึ่งตนเองเป็นผู้กดปุ่มฉีดยาให้ผู้ป่วยเอง และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ยังผลให้คุณหมอท่านนี้ติดคุกหลายปี ออกจากคุกมาไม่นานก็เสียชีวิต แต่แม้กระนั้นชื่อของนายแพทย์ผู้นี้ได้กลายเป็นตำนานไปแล้วและยังคงเป็นกรณีศึกษาในแวดวงเวชจริยศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้

ในตะวันตก การุณยฆาตนั้นมิใช่เกิดขึ้นง่าย ๆ จำเป็นต้องมีการร้องของโดยตรงจากผู้ป่วยและเป็นผู้ที่รู้ตัวเองดี มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์รู้ว่าตนเองป่วยด้วยโรคอะไร และเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และสร้างความทุกข์ทรมานให้ตนเองอย่างมาก จนผู้ป่วยเองไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ผู้ที่เห็นชอบจำเป็นต้องมีแพทย์ไม่ต่ำกว่า 3 คน หนึ่งในนั้นต้องมีจิตแพทย์อยู่ด้วย และทั้งสามคนมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการุณยฆาตเป็นทางเดียวที่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้น ๆ แพทย์ที่พิจารณานี้ทุกคนต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ กับการมีชีวิตอยู่หรือการตายของผู้ป่วย ขบวนการนี้ทั้งหมดอาจเรียกได้ว่าเป็น active euthanasia คือแพทย์เป็นผู้ลงมือมีวินิจฉัยและให้ยาฉีดแก่ผู้ป่วยจนเสียชีวิต

อีกวิธีการหนึ่งเรียกว่า passive euthanasia คือแพทย์ยุติการรักษา เพราะมีความเห็นว่าการให้การรักษาต่อไปไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เป็นต้นว่า ถอดเครื่องช่วยหายใจออกให้ผู้ป่วยเสียชีวิตไปตามธรรมชาติ ไม่เป็นการทำให้ชีวิตตามธรรมชาติของผู้ป่วยสั้นลง แต่อนุญาตให้ธรรมชาติเข้ามาทำหน้าที่แทน ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องทรมานจากการยืดอายุ โดยใช้เครื่องมือแพทย์อันทันสมัย

อีกวิธีหนึ่งอาจเรียกว่าเป็นทางสายกลาง คือ การฆ่าตัวตายโดยแพทย์เป็นผู้ช่วย (physician assisted suicide) ซึ่งมีรัฐโอเรกอนในสหรัฐเป็นผู้ประเดิม กรรมวิธีคล้ายคลึงกับวิธีแรก แพทย์อย่างน้อยสามคนมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการฆ่าตัวตายเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยรายนี้ แล้วก็จะเขียนใบสั่งยาให้ ผู้ป่วยกลับไปกินเองที่บ้าน ในเชิงปฏิบัติผู้ป่วยที่ได้รับยามาแล้วก็จะประชุมญาติทั้งหมด สั่งเสียต่าง ๆ มอบมรดกที่ตนมีแล้วก็กินยาตายตามที่ตนปรารถนา

หากถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐสภาในประเทศไทยจะมีการนำกฎหมายแบบนี้เข้าพิจารณาแล้วตราออกมาเป็นพระราชบัญญัติการุณยฆาต? จะเป็นไปได้ไหมที่รัฐสภาไทยจะมีมติให้สิทธิในการของให้แพทย์ฉีดยาให้ตนตายอย่างสงบนั้นเป็นหนึ่งในสิทธิของประชาชน?

คำตอบคือ ยากมาก อาจเรียกได้ว่า “เป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ” แม้จะนำเสนอเป็นกระทู้ในรัฐสภาไม่ว่าโดย ส.ส.หรือ ส.ว. ก็ตามทั้งหมดไม่เคยมีการพิจารณาเรื่องนี้อยู่ในใจเลย เชื่อได้ว่าไม่มีสมาชิกรัฐสภาหรือวุฒิสภาผู้ใดกล้า เพราะสังคมไทยยังเป็นสังคมจารีตนิยม ศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ยังมีอิทธิพลต่อจิตใจของประชาชนอย่างมาก แม้เพียงคิดก็ไม่กล้าแล้วจ้า!!