
ศาลฎีกาวินิจฉัยคำสัมภาษณ์ “ชาญชัย” ชี้ประเด็น “เลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ-ติดตั้ง POS ล่าช้า-เก็บแป๊ะเจี๊ยะ-จ่ายค่าตอบแทนไม่ครบ” เน้นสอบเจ้าหน้าที่ ทอท.เป็นหลัก ไม่เจตนาทำให้ “คิง เพาเวอร์” เสียหาย
ต่อสู้คดีกันมาเกือบ 4 ปี ระหว่างกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ประกอบด้วย บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด , บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นโจทก์ ฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการ และกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปท. เป็นจำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีจำเลยไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจน ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และกระทบต่อธุรกิจของโจทก์
คดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลย ผลัดกันแพ้ชนะ โดยศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ปรากฎว่าศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 , 393 ตัดสินจำคุกจำเลย 16 เดือน รวมทั้งสั่งให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาฉบับเต็มในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ 7 ฉบับ เป็นเวลา 15 วัน จากนั้นทั้งโจทก์ และจำเลยได้ยื่นฎีกาต่อศาล ล่าสุด ศาลฎีกาพิพากษากลับ ยกฟ้องคดี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564
แต่ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องคดี ได้หยิบยกประเด็นฟ้องของโจทก์ขึ้นมาวินิจฉัยที่สำคัญ ๆมีดังนี้
ประเด็นแรก กรณีนายชาญชัยให้สัมภาษณ์ว่าโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และภูมิภาคมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องปฏิบัติตามกระบวนการของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือ ดำเนินการในกิจการของรัฐ 2535 แต่มีความพยายามหลีกเลี่ยง ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยไปว่าจ้างสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาประเมินมูลค่าให้ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่ง ต่อมา ทอท.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง ฯ พบว่ามูลค่าโครงการที่สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาฯประเมินไว้ ไม่ถูกต้องหลายประเด็น อาทิ นำมูลค่าของสินค้าคงคลังแค่ 1 เดือน มารวมคำนวณ ซึ่งในความเป็นจริงต้องใช้ 100 วัน , นำค่าเสื่อมของอาคารในระยะเวลา 30 ปี มารวมคำนวณ ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่านำมาคำนวณรวมด้วยไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร อยู่ในรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ประเด็นนี้ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยว่า “การให้สัมภาษณ์ของจำเลยในประเด็นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีพยานหลักฐาน หรือ กล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่มีหลักฐานยืนยัน จนในที่สุด ทอท.ทำหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบ สัญญาที่ทำกันไว้เป็นการดำเนินการไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535 ไม่มีผลผูกพัน โจทก์จึงไปฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจาก ทอท. ซึ่งในคำฟ้องต่อศาลแพ่งนั้น ระบุว่าได้มีการลงทุนในโครงการมากกว่า 1,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าเรื่องที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปนั้น เป็นเรื่องที่มีข้อมูลเกิดขึ้นจริงนั่นเอง”
ประเด็นที่ 2 จำเลยไปให้สัมภาษณ์ว่าโจทก์ติดตั้งติดตั้งระบบรับรู้ยอดขายแบบเรียลไทม์ หรือ Point of Sale (POS) ล่าช้า ซึ่งตามสัญญาฯ ระบุว่าผู้รับอนุญาตต้องนำส่งข้อมูล และรายได้ของโครงการให้กับ ทอท. ซึ่งทำสัญญากันไว้ตั้งแต่ปี 2548 ปรากฏว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจพบว่ายังไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลตามสัญญาฯ แต่อย่างใด ทำให้ไม่สามารถควบคุมเกี่ยวกับการทำธุรกรรมขายสินค้าปลอดอากรให้เป็นไปอย่างถูกต้องได้ ซึ่งจำเลยมีเอกสารยืนยัน ทอท.เพิ่งจะเริ่มติดตั้งระบบ POS ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ทอท.มาแจ้งต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ ฯว่าระบบ POS อยู่ระหว่างทดสอบระบบ และได้เริ่มออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2559
ประเด็นนี้ ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า “คำสัมภาษณ์ของจำเลยก็อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่มีพยานหลักฐานเป็นเอกสารยืนยันชัดเจนเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยแต่งขึ้นมา เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด”
ประเด็นที่ 3 จำเลยให้สัมภาษณ์ว่ากลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ (โจทก์) จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท.อาจจะไม่ครบถ้วน ซึ่งตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กำหนดให้ผู้รับอนุญาตจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน 15% ของรายได้จากการขายสินค้า โดยบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ขออนุญาต ทอท.ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ดำเนินการแทน ซึ่งต้องจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท. 15% เช่นเดียวกัน
แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท.ในอัตรา 15% ของค่าบริการ 3% ที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิเวลลอปเม้นท์ เรียกเก็บค่าบริการจากบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากการนำสินค้าจากถนนรางน้ำมาส่งที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็นการผิดสัญญา ซึ่งในประเด็นนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เคยแจ้งผลการตรวจสอบให้ ทอท.รับทราบว่า ทอท.ความได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทน 15% ของรายได้จากการขายสินค้า
ประเด็นนี้ ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า “ข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นข้อเท็จจริง และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีพยานหลักฐานยืนยันชัดเจน โดยจำเลยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบสัญญาฯของ ทอท. เมื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็มาแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบเท่านั้น ไม่ได้มีข้อเท็จจริงใดที่จะแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งให้โจทก์ได้รับความเสียหาย”
ประเด็นที่ 4 จำเลยให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการจัดเก็บเงินส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้าของร้านค้า ซึ่งตามสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ทำไว้กับ ทอท. กำหนดให้เรียกเก็บเงินส่วนแบ่งรายได้จากร้านค้าได้ไม่เกิน 20% ของรายได้ ปรากฎว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตรวจพบโจทก์เรียกเก็บเงินค่าสิทธิในการประกอบกิจการ (แป๊ะเจี๊ยะ) จากธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง แห่งละ 100 ล้านบาท ซึ่งค่าสิทธิดังกล่าวนี้ ตามสัญญาฯที่ทำไว้กับ ทอท.ไม่มีข้อตกลงให้เรียกเก็บแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อสัญญา
ประเด็น 5 จำเลยให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิของ ทอท.ได้มีการประชุมเป็นการภายใน แต่กลับไปเชิญตัวแทน บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด มาร่วมประชุมด้วย เพื่อร่วมเสนอแนวความคิดในการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดเผยข้อมูล ทำให้บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ทราบข้อมูลมากกว่าผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น จนในที่สุดบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็ชนะการประมูล
ทั้ง 2 ประเด็นหลังนี้ ศาลฎีกา วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยให้สัมภาษณ์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นมาลอย ๆ เพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ฯ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาในการตรวจสอบ มุ่งหาข้อเท็จจริงไปที่เจ้าหน้าที่ของ ทอท.ที่กระทำการโดยไม่สุจริต มากกว่าที่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อาทิ การทำสัญญาสัมปทานฯต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 หรือไม่ เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ ทอท.ต้องพิจารณาดำเนินการเองเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องของโจทก์โดยตรง รวมไปถึงกรณีการติดตั้งระบบ POS ล่าช้า และกรณีการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอนแทนไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทานฯ กรณีที่กล่าวมานี้เป็นหน้าที่ของ ทอท.จะต้องบังคับให้เป็นไปตามสัญญา หรือ ดำเนินการฟ้องศาล แต่ข้อเท็จจริง กลับปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว กลับปล่อยปละละเลย รวมถึงกรณี ทอท.เชิญกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เข้าร่วมประชุมเป็นการภายในของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จนทำให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ได้เปรียบผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น ทั้งหมดก็เป็นเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ ทอท.กระทำการโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ยื่นคำร้องต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้พิจารณาสอบสวนการทุจริตภายใน ทอท.แล้ว
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้น สุดท้ายศาลฎีกา วินิจฉัยว่า ประเด็นที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปนั้นเป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเกี่ยวข้องกับงานของจำเลยโดยตรง (คณะอนุกรรมาธิการ ฯ) เป็นประโยชน์สาธารณะ ในฐานะที่ ทอท.เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ ต่อมามีการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ก็เท่ากับว่าหน่วยงานของรัฐ หรือประเทศชาติ ได้รับความเสียหายไปด้วย การร่วมกันรักษาปกป้องประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองดีโดยทั่วไป ข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ เป็นข้อเท็จจริงที่มีเหตุให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ข้อมูลที่จำเลยเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมากลั่นแกล้งโจทก์ โดยที่ไม่มีมูลความจริง
การให้สัมภาษณ์ของจำเลยจึงอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปจะติชมด้วยความเป็นธรรมได้ เป็นการกระทำโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ทั้งยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) จำเลยยอมได้รับความคุ้มครอง การให้สัมภาษณ์ของจำเลย ไม่เป็นความผิดหมิ่นประมาท สุดท้ายศาลฎีกา กลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่สั่งลงโทษจำคุกจำเลย 16 เดือน พิพากษายกฟ้องคดี…
อ่านรายละเอียด คำพิพากษาศาลฎีกา เพิ่มเติมที่นี่!