ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์ปักหมุดอยู่กับโควิด

ASEAN Roundup สิงคโปร์ปักหมุดอยู่กับโควิด

12 กันยายน 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 5-11 กันยายน 2564

  • สิงคโปร์ปักหมุดอยู่กับโควิด
  • รัฐสภากัมพูชาให้สัตยาบัน RCEP-ผ่าน FTA จีน
  • ลาวเปิดโครงการท่าบก-ท่านาแล้ง/เขตโลจิสติกส์เวียงจันทน์
  • สิงคโปร์ปักหมุดอยู่กับโควิด

    นายอ๋อง เย กุง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/singapore/covid-19-circuit-breaker-monitor-situation-singapore-1373786

    สิงคโปร์กำลังเดินหน้าตาม ยุทธศาสตร์การใช้ชีวิตอยู่กับไวรัสโคโรนาในระยะยาวด้วยไม่ใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวด แม้ไวรัสเดลต้าที่แพร่กระจายได้ง่ายทำให้จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

    นายอ๋อง เย กุง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าว ในการแถลงข่าวกับสื่อเมื่อวันที่ 10 กันยายนว่า ก่อนหน้านี้ที่คณะทำงานเฉพาะกิจได้นำเสนอแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศที่รับมือกับโควิด ได้คาดไว้อยู่แล้วว่าจำนวนผู้ติดเชิ้อจะเพิ่มขึ้นทั้งผู้ป่วยหนักและจำนวนผู้เสียชีวิต แต่จะควบคุมให้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระดับที่จัดการได้คือราว 100-200 ราย และจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในช่วง 18 วันที่ผ่านมาก็ไม่ได้นอกเหนือความคาดหมายเพียงแต่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่ประเมินไว้

    “การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและทวีคูณของการติดเชื้อรายวันที่เรากำลังประสบอยู่ในขณะนี้ เป็นจุดที่ทุกประเทศที่พยายามจะอยู่กับโควิด-19 จะต้องเจอ”

    อย่างไรก็ตามนายอ๋องกล่าววว่า สิงคโปร์ต้องการที่จะผ่านพ้นไปด้วยแนวทางที่ต่างจากประเทศอื่นๆ คือ หนึ่ง ต้องมีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะดูจากช่วงเปลี่ยนผ่านของประเทศอื่นนั้นระบบโรงพยาบาลล่มสลายและมีผู้เสียชีวิตสูงมาก ซึ่งหากสามารถบรรลุเป้าหมายแรกได้ ก็จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่สองคือ ไม่ต้องกลับไปสู่ “การล็อกดาวน์สูงสุดและยาวนาน”

    ประเด็นหลักคือ การฉีดวัคซีน วัคซีนมีประสิทธิภาพมากในการปกป้องจากการเจ็บป่วยที่รุนแรง การป่วยหนัก และการเสียชีวิต ดังจะเห็นจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นแต่จำนวนผู้ป่วยหนักที่รักษาในห้องไอซียู และจำนวนการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ

    จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข สิงคโปร์มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดย 81% ของประชากรทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน

    รัฐบาลจะไม่เปิดเศรษฐกิจเพิ่มเติมในตอนนี้ เพื่อลดการเสียชีวิตจากโควิด และหลีกเลี่ยงผู้เข้ารับการรักษาล้นโรงพยาบาล

    “เราไม่ต้องการที่จะย้อนกลับไปสู่แบบเดิมในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ เราจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์การติดเชื้อและการเสียชีวิตที่รุนแรงอย่างใกล้ชิดในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า รวมทั้งเราต้องประเมินการระบาดรอบนี้ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการขั้นต่อไปในการเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ดังนั้น เราจะไม่ย้อนกลับ เรายังต้องเดินหน้าในการเส้นทางการเปลี่ยนผ่านของเรา แต่เราไม่ได้เร่งรีบ เราตอบสนอง เฝ้าสังเกต และติดตามอย่างแข็งขัน

    นายอ๋องกล่าวว่า สิ่งสำคัญในช่วงนี้ คือการแนวปฏิบัติด้านการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว เพราะจำนวนติดเชื้อรายวันมีมากขึ้น และวิธีการแบบเดิมใช้ไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากประเมินว่าผู้ป่วยรายวันอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจาก 800 เป็น 1,600 และจาก 1,600 เป็น 3,200 ระดับสูงสุดก่อนที่จะเริ่มลดลงและทรงตัว

    สำหรับแนวปฏิบัติใหม่ที่ได้ปรับเปลี่ยน คือ หนึ่ง แทนที่จะสอบสวนโรคเป็นรายๆเพื่อหาผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือกลุ่มคลัสเตอร์ ก็จะเน้นไปที่พื้นที่เปราะบางและกลุ่มคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ และให้กักตัวที่บ้าน พร้อมจัดทำรายชื่อผู้สัมผัสที่ใกล้ชิด เพื่อให้ส่งคำเตือนถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการเข้ารับการตรวจหาเชื้อและกักตัวเองจนกว่าจะมีผลตรวจเป็นลบ

    สอง ลดระยะเวลากักกันจาก 14 วันเป็น 10 วัน เนื่องจากไวรัสเดลตามีระยะฟักตัวสั้นลงเฉลี่ยประมาณ 4 วัน เพื่อให้มีผลกระทบต่อคนน้อยลง แต่ยังสามารถตรวจพบการติดเชื้อส่วนใหญ่ได้

    สาม จะมีการปล่อยให้ออกจากโรงพยาบาลได้หากผลการตรวจเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด เพราะถือว่าไม่เป็นผู้ติดเชื้ออีกต่อไปโดยอาจจะให้กลับในวันที่ 7 จากปัจจุบันที่กำหนดเป็นวันที่ 10 แนวทางนี้จะมีการประเมินข้อมูลและปรับเปลี่ยนไปตรงตามสถานการณ์

    สี่จะให้มีการพักฟื้นที่บ้าน เพื่อให้โรงพยาบาลมีเตียงสำหรับกรณีที่จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น ปัจจุบันมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งอยู่ในโรงพยาบาลเพียงเพื่อเฝ้าสังเกตอาการและออกจากโรงพยาบาลไปได้โดยไม่มีเกิดอาการ

    สำหรับแนวทางการพักฟื้นที่บ้านนั้นจะอนุญาตให้กับผู้ที่อายุน้อยได้รับการฉีดวัคซีน และเด็กที่ติดเชื้ออายุระหว่าง 5 ถึง 11 ปี

    แนวทางใหม่นี้คาดว่าจะช่วยให้สถานพยาบาลสามารถรับมือผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยที่ต้องดูได้กว่า 1,000 รายต่อวัน

    นายอ๋องกล่าวว่า แนวปฏิบัติไม่ต่างจากแนวปฏิบัติกับที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร หรือในยุโรป ที่มีจุดเริ่มต้นจากแนวปฏิบัติสำหรับไข้หวัดใหญ่ แต่ของสิงคโปร์มาจากโรค SARS แต่ในแง่ความรุนแรงและการแพร่เชื้อ โควิด-19 อยู่ระหว่าง SARS และไข้หวัดใหญ่ จึงนำทั้งสองแนวมาผสมผสานกัน

    แม้สิงคโปร์มีการฉีดวัคซีนสูง แต่ก็จะมีการฉีดเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน โดยการฉีดกระตุ้นนั้นอาจเป็นวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาก็ได้ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ให้วัคซีนซิโนแวคให้กับผู้ที่แพ้วัคซีนชนิด mRNA ด้วย

    นายอ๋องกล่าวว่า การที่จะอยู่กับโควิด-19 ไม่มีประเทศใดรอดพ้นจากการแพร่ระบาดแบบที่สิงคโปร์กำลังประสบอยู่ไปได้ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนดูแลตัวเองด้วยการสวมหน้ากาก ลดการพบปะหรือรวมตัวกัน ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น และฉีดวัคซีน

    รัฐสภากัมพูชาให้สัตยาบัน RCEP-ผ่าน FTA จีน

    ที่มาภาพ :https://www.khmertimeskh.com/50933284/national-assembly-endorses-draft-competition-law/

    สภานิติบัญญัติแห่งชาติกัมพูชา ได้ให้สัตยาบัน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership:RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก (FTA) ซึ่งประกอบด้วย 15 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก

    สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 93 คนซึ่งเข้าร่วมการประชุมรัฐสภาเมื่อวันพุธ(8 ก.ย.) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับรองข้อตกลงนี้ ซึ่งจะได้นำเสนอต่อวุฒิสภาก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนโรดม สีหมุนี เพื่อลงพระปรมาภิไธย

    RCEP ได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 เป็นข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน (บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) และพันธมิตรข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

    นายพัน สรสัก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่ารัฐบาลคาดการณ์ว่าข้อตกลง RCEP จะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศขึ้น 2% ส่งออกจะขยายตัว 7.3% และการลงทุนเพิ่มขึ้น 23.4%

    “ข้อตกลง RCEP จะเป็นรากฐานหลักสำหรับการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ขยายห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาคต่อไป และสร้างโอกาสการจ้างงานและการตลาดมากขึ้นสำหรับประชาชนและธุรกิจในภูมิภาค” นายพันชี้แจงต่อรัฐสภา “รวมทั้งยังสนับสนุนระบบการค้าเสรีพหุภาคีของโลก”

    เจียม ยีป ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงิน การธนาคาร และการตรวจสอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติกัมพูชากล่าวว่า RCEP จะมีผลบังคับใช้ 60 วันหลังจากประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศและประเทศที่ไม่ใช่อาเซียน 3 รายให้สัตยาบัน

    “ข้อตกลงนี้จะสร้างบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างสำหรับภูมิภาคนี้ และจะนำไปสู่การเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจโลกในท้ายที่สุด”

    ข้อตกลง RCEP ครอบคลุมภูมิภาคที่มี GDP รวม 26.2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 30%ของ GDP โลก RCEP เป็นข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ ทันสมัย ครอบคลุม มีคุณภาพสูง และเป็นข้อตกลงแลกเปลี่ยนการค้าใหญ่ระดับภูมิภาคซึ่งเอื้อต่อผลประโยชน์ เงื่อนไข ที่สำคัญของแต่ละประเทศ

    เมื่อมีผลบังคับใช้ ข้อตกลง RCEP จะมีผลให้ยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่ซื้อขายระหว่างประเทศที่ลงนามถึง 90% ในอีก 20 ปีข้างหน้า

    เมื่อวันที่ 10 ก.ย. รัฐสภาได้มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติร่าง ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ระหว่างกัมพูชาและจีน หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศลงนามมาประมาณหนึ่งปีแล้ว

    ร่างข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ในปีหน้า มีความสำคัญสำหรับกัมพูชาในการกระจายตลาดส่งออกสำหรับผลิตภัณฑ์ในประเทศ

    ความคิดริเริ่มของการเจรจา FTA ระดับทวิภาคีเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2562 และคณะทำงานของทั้งสองประเทศได้เริ่มการเจรจาหลายรอบ
    ทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปในเดือนกรกฎาคม และมีการลงนามในร่างข้อตกลงอย่างเป็นทางการเพื่อการสรุปขั้นสุดท้ายในเดือนตุลาคม ระหว่างการเยือนกัมพูชาของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน

    ข้อตกลงฉบับร่างมี 16 บทและ 140 มาตรา และจะถูกส่งไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป

    เมื่อเดือนสิงหาคม นายพัน สรสัก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวว่า กัมพูชามีข้อตกลงการค้าทวิภาคีและพหุภาคีที่จะส่งเสริมและเปิดตลาดที่กว้างขึ้นสำหรับสินค้าจากประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

    กัมพูชาสามารถผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานของจีน และฝึกอบรมพนักงานที่มีทักษะสูงเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคบริการของประเทศ

    “เมื่อมีผลบังคับใช้ กัมพูชาจะมีตลาดสำหรับสินค้าของประเทศมากขึ้น” กัมพูชาและจีนมุ่งมั่นที่จะเพิ่มการค้าทวิภาคีเป็น 10 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2566 จาก 8.1 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

    นอกจาก FTA แล้ว รัฐสภายังได้อนุมัติร่างข้อตกลงและกฎหมายอีก 7 ฉบับ

    ลาวเปิดโครงการท่าบก-ท่านาแล้ง/เขตโลจิสติกส์เวียงจันทน์

    ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/vientianetimesonline/photos/pcb.4520354034698681/4520353748032043/

    เมื่อวันที่ 7 ก.ย. โครงการพัฒนาท่าบก-ท่านาแล้ง Thanaleng Dry Port (TDP) และเขตโลจิสติกส์ นครหลวงเวียงจันทน์ Vientiane Logistics Park (VLP) ได้ เปิดตัวการเปิดอย่างไม่เป็นทางการเพื่อทดลองระบบระบบปฏิบัติการสถานี (TOS) เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งและบริการด้านลอจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องที่ไซต์งานได้ ดียิ่งขึ้น

    การทดสอบระบบ TOS ซึ่งเป็นระบบงานดิจิทัลนั้นมีก่อนการเปิดโครงการที่มีมูลค่า 727 ล้านดอลลาร์อย่างเป็นในเดือนพฤศจิกายน
    นายสาคอน พิลางาม กรรมการผู้จัดการ TDP กล่าวว่า ท่าบกเรือ-ท่านาแล้งตั้งอยู่ในหมู่บ้านดงโพสี อำเภอ หาดทรายฟอง นครเวียงจันทน์เป็นท่าบกระหว่างประเทศชั้นนำและให้บริการที่หลากหลาย

    ท่าบกเรือ-ท่านาแล้งตั้งอยู่ใกล้สะพานมิตรภาพแม่น้ำโขงลาว-ไทยแห่งแรก และยังทำหน้าที่เป็นจุดตรวจชายแดนที่คล้ายกับบริเวณท่าเรือหรือสนามบิน หรือเขตขาเข้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีการปรับปรุงขั้นตอนเพื่อให้รถบรรทุกและสินค้าสามารถผ่านแดนได้สะดวก โดยสามารถให้ข้อมูลการขนส่งล่วงหน้าได้ 24 ชั่วโมงก่อนการขนส่งสินค้า ซึ่งจะช่วยเร่งขั้นตอนการดำเนินการที่ชายแดน และประหยัดเวลาเมื่อข้ามพรมแดน

    นอกจากนี้ได้มีการนำระบบข้อมูลดิจิทัลมาใช้เพื่อเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและการขนส่งตลอดจนผู้ให้บริการตู้คอนเทนเนอร์ จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งและโลจิสติกส์

    ท่าบกและเขตโลจิสติกส์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Lao Logistics Link (LLL) และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์แห่งชาติของลาวประจำปี 2559-2573 ซึ่งจะสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในการเปลี่ยนลาวจากที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้กลายเป็นประเทศเชื่อมโยงทางบก

    ท่าบกเชื่อมกับทางรถไฟสายลาว-ไทยอยู่แล้ว โดยมีสถานีอยู่ภายในบริเวณท่า จะเชื่อมโยงหลายเส้นทางการค้าที่มุ่งหน้าไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและที่ไกลออกไป

    หนึ่งในเส้นทางเชื่อมโยงเหล่านี้คือ เส้นทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งมีกำหนดจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม ด้วยเส้นทางนี้ สินค้าที่ขนส่งโดยรถไฟสามารถไปถึงเยอรมนีได้ในเวลาเพียง 10 วันเท่านั้น

    ท่าบกยังถูกกำหนดให้เชื่อมโยงกับทางรถไฟที่วางแผนไว้ ซึ่งเชื่อมต่อเวียงจันทน์กับท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างในจังหวัดห่าติ๋ญตอนกลางของเวียดนาม ด้วยเส้นทางนี้ ตู้คอนเทนเนอร์สามารถเข้าถึงประเทศและภูมิภาคต่างๆ เช่น จีนตอนใต้ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

    นายสาคอนกล่าวว่า ท่าบกจะเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งหลายทางของลาว และสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้มากถึง 1,000 -3,000 ตู้ต่อวัน

    นอกจากนี้ยังได้นำ TOS มาใช้ เพื่อจัดการและดำเนินการท่าบกและเขตโลจิสติกส์ควบคู่ไปกับระบบปัจจุบัน

    ผู้พัฒนาท่าบกเชื่อว่าการใช้ TOS จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการขนส่งทางถนนและทางราง เนื่องจากสามารถรองรับสินค้าขนส่งปริมาณมากได้อย่างสะดวกและด้วยต้นทุนที่ลดลง ค่าขนส่งข้ามพรมแดน โดยเฉพาะที่จุดผ่านแดนมิตรภาพเวียงจันทน์-หนองคาย คาดว่าจะลดลง 40% จากราคาปัจจุบันภายในปี 2568

    ท่าบกนี้สนับสนุนความหวังของลาวในการเป็นห่วงโซ่อุปทานระดับโลกแห่งใหม่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยต้นทุนการขนส่งที่ต่ำผ่านการใช้ทางรถไฟ ผู้พัฒนาท่าบกรายนี้กล่าวว่า ลาวสามารถคาดหวังว่าจะสร้างรายได้มหาศาลจากท่าบกจากค่าบริการต่างๆ

    ในขั้นต้น มีเป้าหมายว่า จะมีตู้คอนเทนเนอร์อย่างน้อย 300,000 ตู้จากลาว ส่วนใหญ่มาจาก TDP เพื่อส่งผ่านทางรถไฟลาว-จีนไปยังยุโรปผ่านจีนในแต่ละปี จากนั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นระหว่าง 1.2- 1.8 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี

    ทั้งนี้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ 90% ภายในเวลาเพียง 9 เดือน โดยทั้ง TDP และ VLP ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่ 382 เฮกตาร์ คาดว่าจะเป็นปลายทางการลงทุนใหม่เมื่อประเมินจากสิ่งจูงใจที่เสนอ ซึ่งรวมถึงการลดหย่อนภาษีและต้นทุนโลจิสติกส์ที่ต่ำลง

    โครงการประกอบด้วย 5 โซนที่เปิดโอกาสให้นักลงทุน โซนต่างๆ ดังนี้
    1. ท่าบก-ท่านาแล้ง (TDP) – ศูนย์กลางการค้านำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศ กับ พิธีการศุลกากรทุกประเภท
    2. Tank Farm – คลังน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศลาว กระจายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงออกไปทั่วประเทศ
    3. Logistics Park – ศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า
    4. เขตการค้าเสรี
    5. เขตแปรรูปส่งออก