ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ฮานอยพัฒนา 43 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมในปี 2564

ASEAN Roundup ฮานอยพัฒนา 43 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมในปี 2564

28 มีนาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 22-27 มีนาคม 2564

  • ฮานอยพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 43 แห่งภายในปี 2564
  • เวียดนามเตรียมเก็บภาษีอี-คอมเมิร์ซ
  • สิงคโปร์-มาเลเซียเตรียมใช้ใบรับรองวัคซีนสำหรับเดินทางเมษายนนี้
  • มาเลเซียจุดหมายปลายทางอันดับสองของบริษัทยุโรป-สหรัฐฯ
  • บาหลีเปิดนักท่องเที่ยวต่างชาติก.ค.นี้
  • ฟิลิปปินส์ใช้ระบบศุลกากรไฮเทคระดับโลกในปี 2567
  • ประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ลงนามบังคับใช้กฎหมาย CREATE
  • อาเซียนมุ่งยกระดับการขนส่งในภูมิภาค
  • ฮานอยพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 43 แห่งภายในปี 2564

    ที่มาภาพ: https://vietnamtimes.org.vn/construction-of-43-industrial-clusters-are-planned-to-build-by-hanoi-in-2021-29759.html

    ฮานอยจะเริ่มการพัฒนา กลุ่มอุตสาหกรรมหรือคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 43 แห่งโดยจะเริ่มในปี 2564 ตามแผนที่ได้วางไว้ในช่วงปี 2561-2563 คณะกรรมการประชาชนของกรุงฮานอยจะเริ่มพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 1 กลุ่มในไตรมาสที่ 1 จากจะพัฒนา 23 กลุ่มในไตรมาสที่ 2 พัฒนา 13 กลุ่ม ในไตรมาสที่ 3 และ 6 กลุ่มในไตรมาสที่ 4

    ฮานอยกำลังมุ่งมั่นที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคให้สมบูรณ์สำหรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอย่างน้อย 20 แห่ง ขณะที่ดึงดูดการลงทุนไปยัง 10-15 คลัสเตอร์แล้ว

    คลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ดำเนินการทั้งหมดจะมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคที่สอดคล้องกับ ซึ่งจะได้รับการจัดการตามกฎระเบียบในปัจจุบัน นอกจากนี้สวนอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดจะมีสถานีบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน

    นอกจากการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิคแล้ว ฮานอยจะกำหนดเงื่อนไขที่ดีสำหรับนักลงทุนเพื่อการลดขั้นตอนการลงทุน

    ฮานอยได้พัฒนากลไกเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและออกกฎระเบียบเกี่ยวกับราคาบริการในคลัสเตอร์อุตสาหกรรม รวมทั้งจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนโดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีผู้เข้าลงทุนเต็มในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ หน่วยงานที่มีอำนาจจะพยายามปรับปรุงการบริหารจัดการในกลุ่ม และเฝ้าระวังการใช้ที่ดินและการก่อสร้างที่ผิดกฎหมายในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ตลอดจนจะเข้มงวดในการตรวจสอบการจัดตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมใหม่ตามกฎระเบียบที่มีอยู่

    คลัสเตอร์อุตสาหกรรมคือปัจจัยสำคัญสำหรับกลยุทธ์การดึงดูดการลงทุนโโยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ที่มีประสิทธิภาพ

    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และภายใต้สถานการณ์ที่อาจเห็นแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตอันเป็นผลมาจากผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในช่วงการระบาดของโควิด -19 รวมทั้งแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ – จีน เวียดนามจึงมีโอกาสครั้งใหญ่ที่จะดึงดูด “การย้ายฐานการผลิต “ทุนต่างประเทศ

    เวียดนามพลาดโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศหลังจากวิกฤตการเงินในเอเชียในปี 2540-2541 แต่ต่อมาด้วยข้อตกลงการค้าทวิภาคีเวียดนาม – ญี่ปุ่น และความริเริ่มเวียดนาม – ญี่ปุ่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2550 คลื่น FDI ลูกใหม่ได้เข้ามายังเวียดนาม

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเติบโตเฉลี่ยที่มากกว่า 20% ต่อปี นับว่าเงินทุนจากการลงทุนจากต่างประเทศได้มีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของเวียดนาม สัดส่วนใน GDP เพิ่มขึ้นจาก 2.1% ในปี 2532 เป็นประมาณร้ 20% ในปี 2561 การส่งออกของภาคการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคิดเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

    เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เป็นครั้งแรกหลังจากเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมา 30 ปี ได้ออกมติเลขที่ 50-NQ/TW เกี่ยวกับการวางแนวทางเพื่อปรับปรุงนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของการลงทุนจากต่างประเทศภายในปี 2573 โดยคาดว่ามติดังกล่าวจะเปิดศักราชใหม่ ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ช่วยให้เวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูงขึ้น

    เขตอุตสาหกรรมหลายร้อยแห่งและเขตเศรษฐกิจชายแดนหลายสิบแห่งมีการจัดตั้งขึ้นทั่วเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนสำคัญในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตามยังไม่ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเติบโตของเวียดนามได้นัก

    แม้ยังมีประเด็นหลายข้อที่เป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับคลัสเตอร์อุตสาหกรรม แต่แนวทางที่ยึดการพัฒนาคลัสเตอร์เป็นวิธีการสร้างเครือข่ายการผลิตและห่วงโซ่คุณค่า พัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และยกระดับการใช้กำลังการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของประเทศในระดับโลก การบูรณาการและการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่มีคุณภาพ

    การพัฒนาคลัสเตอร์จะสร้างความแตกต่างในเชิงบวก เนื่องจากการกระจายของเทคโนโลยี การจัดสรรแรงงานที่ดีขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการสร้างแบรนด์คลัสเตอร์ได้ดีขึ้น ผลประโยชน์จะทวีคูณด้วยเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามคลัสเตอร์ก็สามารถก่อให้เกิดผลเสียเช่น “สภาพการณ์ที่จำใจอยู่ต่อ” การขัดขวางการแข่งขัน การพึ่งพาเทคโนโลยีที่มีอยู่และขัดขวางนวัตกรรม

    ในเวียดนาม หมู่บ้านหัตถกรรม เขตอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจที่มีการผลิตเฉพาะด้านร่วมกัน และกิจกรรมทางธุรกิจหลายแห่งเกิดขึ้นตามเงื่อนไขบางประการ (ประวัติศาสตร์ สถานที่ตั้ง) และพัฒนาขึ้น โดยไม่มีการแทรกแซงโดยเจตนาของรัฐบาลหรือหน่วยงานท้องถิ่น คลัสเตอร์ที่สำคัญบางกลุ่ม ได้แก่ น้ำมันและก๊าซในตะวันออกเฉียงใต้ การท่องเที่ยวในภาคกลาง การผลิตทางการเกษตรในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ศูนย์กลางการผลิตสิ่งทอ รองเท้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รอบๆ เมืองโฮจิ มินห์ ซิตี้ และกลุ่มอุตสาหกรรมหนักในภาคเหนือ

    อย่างไรก็ตามคลัสเตอร์ที่มีอยู่ขาดความยั่งยืน เพราะการเชื่อมต่อระหว่างกันที่จำกัด ทั้งภายในและภายนอกคลัสเตอร์ นอกจากนี้การสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง การก่อตัวทางอุตสาหกรรม ห่วงโซ่คุณค่า และเครือข่ายการผลิตยังไม่ได้รับความสนใจและการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากหน่วยงานและสมาคมอุตสาหกรรม คลัสเตอร์เหล่านี้ยังขาดโครงการระยะยาวและยั่งยืนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร

    เวียดนามเตรียมเก็บภาษีผู้ขายอี-คอมเมิร์ซ

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2021/03/26/vietnam-out-to-collect-taxes-from-e-commerce-sellers

    กระทรวงการคลังได้ขอให้ธุรกิจดิจิทัลและ บริษัทผู้ให้บริการจัดส่ง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขายอี-คอมเมิร์ซที่ใช้แพลตฟอร์มและบริการของธุรกิจดิจิทัลและ บริษัทผู้ให้บริการจัดส่ง เพื่อให้สามารถเรียกเก็บภาษีได้

    หน่วยงานด้านภาษีได้ขอให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซรับผิดชอบการจดทะเบียนภาษี การจัดทำหนังสือรับรองการเสียภาษีและการชำระภาษีของผู้ขายผ่านอี-คอมเมิร์ซและแพลตฟอร์มดิจิทัลมาแล้วหลายครั้ง

    กระทรวงกำลังจัดทำร่างหนังสือเวียนเพื่อให้คำแนะนำโดยละเอียดสำหรับกฎระเบียบนี้ซึ่งเพิ่งเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็น

    ทา ธิ เฟือง ลัน รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารภาษีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางและในครัวเรือน ในสังกัดกรมสรรพากรกล่าวว่า จากหนังสือเวียนนี้ หน่วยงานจัดเก็บภาษีจะปรับเปลี่ยนการจัดการธุรกิจในครัวเรือนและรายบุคคล โดยแทนที่จะติดต่อโดยตรงกับทุกครัวเรือน และแต่ละบุคคล หน่วยงานด้านภาษีจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขาจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และตรวจสอบกระแสเงินสดของการชำระเงินผ่านธุรกรรมออนไลน์ และภายใต้หนังสือเวียนฉบับนี้ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซต้องประกาศข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขายที่อยู่ในแพล็ตฟอร์ม

    เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซเช่น Tiki, Shopee, Lazada หรือ Sendo และ บริษัทผู้ให้บริการจัดส่ง มีหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขายแก่หน่วยงานด้านภาษี แต่ร่างหนังสือเวียนฉบับนี้ไม่ได้ใช้กับซัพพลายเออร์ต่างประเทศ

    การดำเนินการนี้คาดว่าจะช่วยให้หน่วยงานด้านภาษีสามารถประเมินรายได้ที่แท้จริงของผู้ขาย

    สำหรับบุคคลทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจบนโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก หน่วยงานด้านภาษีท้องถิ่นจะรวบรวมข้อมูลจากเพจของพวกเขาเพื่อยืนยันตัวตนจากนั้นจะเก็บภาษีผู้ขาย

    เหงียน ธิ คัก ประธานสมาคมที่ปรึกษาด้านภาษี กล่าวว่า การหลีกเลี่ยงภาษีในรูปแบบธุรกิจดิจิทัลที่มีผลกำไรสูงกว่าและต้นทุนต่ำกว่าธุรกิจแบบดั้งเดิมนั้นไม่ยุติธรรม แต่หนังสือเวียนฉบับใหม่นี้จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างธุรกิจแบบดั้งเดิมและธุรกิจที่ใช้ดิจิทัล

    ร่างหนังสือเวียนยังกำหนดวิธีการจัดเก็บภาษีใหม่สำหรับธุรกิจครัวเรือนขนาดใหญ่

    ที่ผ่านมาครัวเรือนธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมดต้องเสียภาษีเป็นก้อน อย่างไรก็ตามร่างหนังสือเวียนจะกำหนดให้จ่ายภาษีแบบประเมินตนเองจากสมุดบัญชี

    ปัจจุบันครัวเรือนธุรกิจขนาดใหญ่มีสัดส่วนประมาณ 6-7% ของครัวเรือนธุรกิจทั้งหมดที่มี 2 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

    หน่วยงานด้านภาษียังกำหนดให้ธนาคารต้องให้ข้อมูลของผู้ที่มีบัญชีกับธนาคารเพื่อช่วยในการจัดการจัดเก็บภาษี

    สิงคโปร์-มาเลเซียเตรียมใช้ใบรับรองวัคซีนเมษายนนี้

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/singapore-malaysia-covid-19-vaccine-certificate-border-travel-14470648

    สิงคโปร์และมาเลเซียจะดำเนินการ เพื่อยอมรับใบรับรองวัคซีนโควิด-19 เพื่อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดน

    สิงคโปร์และมาเลเซียยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อยอมรับใบรับรองวัคซีนโควิด-19 ของกันและกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามพรมแดนในอนาคต

    “รายละเอียดการดำเนินงานของใบรับรองการรับวัคซีนซึ่งกันและกันระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมถึงข้อกำหนดโดยละเอียด กระบวนการด้านด้านสุขภาพ และขั้นตอนการยื่นขอที่เกี่ยวข้องกับการเข้าและออกมาเลเซียและสิงคโปร์ จะได้รับการพิจารณาและสรุปโดยทั้งสองฝ่ายต่อไป” กระทรวงการต่างประเทศทั้งสองประเทศระบุในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม

    ดร.วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ได้พบกับนาย ฮิชามุดดิน ฮุสเซนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียที่เมืองปุตราจายาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม

    “รัฐมนตรีทั้งสองมีการหารืออย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับแผนการเปิดตัวการฉีดวัคซีนทั่วประเทศของแต่ละฝ่าย ที่กำลังดำเนินการอยู่ในมาเลเซียและสิงคโปร์ และแนวทางการอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างทั้งสองประเทศในอนาคตอันใกล้นี้”

    ทั้งสองประเทศยืนยันความมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดวัคซีนผู้พำนักระยะยาว รวมถึงชาวมาเลเซียที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์และชาวสิงคโปร์ที่อาศัยอยู่ในมาเลเซีย

    นอกจากนี้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองยังคงมุ่งมั่นที่จะเร่งฟื้นฟู สำหรับนักเดินทางกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากการเดินทางภายใต้ข้อตกลงเปิดให้เดินทางระหว่างกัน(Reciprocal Green Lane:RGL) และการจัดการเดินทางเป็นระยะ (Periodic Commuting Arrangement :PCA)

    สิงคโปร์และมาเลเซียจะประเมินสถานการณ์โควิด-19 ของทั้งสองฝ่ายและสร้างความมั่นใจในสุขภาพของประชาชนและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในทั้งสองประเทศ รัฐมนตรีทั้งสองประเทศยังได้หารือเกี่ยวกับการประชุมผู้นำครั้งที่ 10 ซึ่งสิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพในปีนี้และตกลงที่จะทำงานเพื่อเริ่มการนัดหมายทวิภาคีแบบตัวต่อตัวอีกครั้ง

    ในการแถลงข่าวร่วมกันหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองพบกันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ดร. บาลากริชนันกล่าวว่า รายละเอียดการดำเนินงานเกี่ยวกับการรับรองใบรับรองวัคซีนร่วมกันที่เสนอ จะได้รับการสรุปในเร็วๆ นี้ก่อนการประชุมผู้นำคนครั้งต่อไป

    “ขณะนี้เรากำลังหาวิธีการยอมรับการรับรองร่วมกัน ตลอดจนการทดสอบเพื่อให้เราสามารถรับรองซึ่งกันและกันได้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามพรมแดน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการทดสอบและฉีดวัคซีนและสามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย”

    ด้านนายฮิชามุดดินได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการรับรองวัคซีนเช่นกัน โดยกล่าวว่า ดร. บาลากริชนันจะเข้าพบกับนายไครี จามาลุดดินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมาเลเซียเพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายด้านต่างๆ

    “ เรามีความเข้าใจในด้านการปฏิบัติงาน แต่เราจำเป็นต้องประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เราจำเป็นต้องพูดคุยกับรัฐบาลของแต่ละรัฐเกี่ยวกับการเดินทางระหว่างยะโฮร์และสิงคโปร์ แต่เท่าที่กระทรวงการต่างประเทศมีความเกี่ยวข้อง เราได้บรรลุข้อตกลงที่จะก้าวไปข้างหน้าในเชิงบวก” รัฐมนตรีมาเลเซียกล่าว

    ดร. บาลากริชนันยังกล่าวอีกว่า สิงคโปร์จะทบทวนการระงับข้อตกลง RGL กับมาเลเซีย

    “เราต้องคิดอย่างรอบคอบว่าเราจะกลับมาเปิดเศรษฐกิจใหม่ (และ) พรมแดนระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซียอย่างปลอดภัยได้อย่างไร

    “เมื่อปีที่แล้วเราได้เจรจาเกี่ยวกับ RGL และ PCA ระหว่างกันแล้ว และแม้ RGL จะถูกระงับ แต่เราจะทบทวนละจะพิจารณาข้อตกลงดังกล่าว เราอาจจะสามารถดำเนินการได้ (อีกครั้ง) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม” เขากล่าว

    เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ประกาศเมื่อวันที่ 30 มกราคม ว่าได้ระงับ RGL กับมาเลเซียเป็นเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์

    ดร. บาลากริชนันยังกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวร่วมว่า ข้อตกลงการเดินทางที่มีความเข้าใจระหว่างกันของสองประเทศจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน

    มาเลเซียจุดหมายปลายทางอันดับสองของบริษัทยุโรป-สหรัฐฯ

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/asia/malaysia-covid-19-kuala-lumpur-conditional-mco-first-day-12700132
    บริษัทในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ให้ มาเลเซียเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดเป็นอันดับสองสำหรับโอกาสในการจัดตั้งหรือขยายการจัดหา การขาย หรือการดำเนินงานในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า

    จากการศึกษาของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในหัวข้อ “ธุรกิจไร้พรมแดน หรือ Borderless Business” ประธานคณะเจ้าหน้าที่การเงิน(CFO) (CFO) และฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ในสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส ระบุว่า แม้จะมีความไม่แน่นอนที่เกิดจากการระบาดทั่วโลกและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง แต่ตลาดต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโต

    การศึกษายังเผยให้เห็นถึงการตอกย้ำที่เพิ่มขึ้นในการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล ปลดล็อกเงินสดที่ค้างอยู่ และเพิ่มความสนใจไปที่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและห่วงโซ่อุปทาน

    ผลการสำรวจยังพบว่า กฎข้อบังคับที่เป็นข้อกังวลอันดับหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามที่ต้องการขยายไปต่างประเทศ อาจเป็นโอกาสสำหรับมาเลเซียในการเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านการตระหนักถึงความง่ายในการทำธุรกิจในประเทศมากขึ้น”

    การสำรวจมีขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2563 โดยมี CFO และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอาวุโสกว่า 1,000 คนของ บริษัทที่มียอดขายเกิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศสเข้าร่วม แต่ละประเทศมีตัวแทนของผู้ตอบแบบสอบถาม 25% เท่า ๆ กัน

    ในปี 2563 หน่วยงานพัฒนาการลงทุนของมาเลเซีย (MIDA) รายงานว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในมาเลเซียมีมูลค่า 64.2 พันล้านริงกิต

    แผนแม่บทเศรษฐกิจดิจิทัล (MyDigital) ที่เพิ่งเปิดของรัฐบาล พร้อมที่จะเร่งเป้าหมายของมาเลเซียในการเป็นเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยสนับสนุนการสนับสนุนโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียงซึ่งรวมถึง บริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 ในภาคการผลิตและบริการ ทั้งหมดจะคิดเป็นมูลค่าการลงทุนที่เป็นไปได้รวมกันที่ 81.9 พันล้างริงกิต

    เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตที่สำคัญ (โดยกว่า 85% มีการดำเนินงานและดำเนินการในเอเชียหรือพิจารณาเพื่อกิจกรรมทางธุรกิจ) แอฟริกาและตะวันออกกลางก็เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (เพิ่มขึ้น 4%) ในฐานะตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า

    แม้จะมีความต้องการที่จะขยายธุรกิจไปต่างประเทศ แต่การทำความเข้าใจข้อกำหนดด้านกฎระเบียบในตลาดต่างประเทศยังคงเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุด (35%) สำหรับ บริษัทที่ต้องการขยายหรือเสริมสร้างการดำเนินงานระหว่างประเทศ

    ตามมาด้วยความจำเป็นในการสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้า และการปรับโลจิสติกส์ซัพพลายเชน (21%)

    ในขณะที่ บริษัทต่างๆมองไปข้างหน้าในสภาพแวดล้อมหลังการระบาด ความสำคัญ 3 อันดับแรกที่ผู้ตอบแบบสอบถามได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากปัญหาต่างๆ รวมถึงความล้มเหลวของห่วงโซ่อุปทาน (50%) และความต้องการสภาพคล่อง (47%) เพื่อเพิ่มการลงทุนในรูปแบบดิจิทัลเพื่อระดมสภาพคล่อง (66%) และ ESG (23%)

    บาหลีเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก.ค.นี้

    ที่มาภาพ: https://www.aa.com.tr/en/asia-pacific/indonesia-bali-set-to-welcome-tourists-in-july/2189701

    อินโดนีเซียกำลังวางแผนที่จะเปิดจังหวัดบาหลี รับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม และรัฐบาลเตรียมเส้นทางการเดินทางร่วมกับประเทศต่างๆเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว

    นายลูฮุต บินซาร์ ปันด์จาอิตัน รัฐมนตรีประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุน กล่าวว่า รัฐบาลจะเตรียมเส้นทางการเดินทางหรือ travel bubbles กับประเทศอื่น ๆ เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว

    “ เราต้องตั้งค่าตัวชี้วัดเดียวกันเพื่อสร้างการเดินทาง travel bubbles กับประเทศอื่นๆ ” นายลูฮุตกล่าวในการแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ ในงาน Bali Investment Forum ปี 2021

    อินโดนีเซียปิดพรมแดนเมื่อปีที่แล้วเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา แต่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากกระทรวงหรือสถาบันของชาวอินโดนีเซีย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 75% ในปี 2020

    บาหลีอยู่ในแถวหน้าของการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูการเดินทางและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางการได้เสนอแผนฟื้นที่ปลอดโควิด หรือ COVID-19 green zones ในบาหลี ให้เป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมและพำนักได้

    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แองเจลา ทาโนอิโซอิดิโจ กล่าวว่าแจะมีข้อกำหนดสำหรับประเทศที่ต้องการสร้างเส้นทางการเดินทางกับอินโดนีเซีย โดยประเทศต่างๆจะต้องสามารถควบคุมอัตราการติดเชื้อได้ ภายใต้การควบคุมและมีความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีน

    นอกจากนี้อินโดนีเซียจะพิจารณาความพร้อมของเที่ยวบินตรงที่เชื่อมต่อบาหลีไปยังประเทศเหล่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

    “เราจะจัดลำดับความสำคัญของคุณภาพของนักท่องเที่ยว ในแง่ของระยะเวลาการพำนักที่ยาวนานขึ้นและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น” เธอกล่าว

    บาหลีเป็นพื้นที่ที่ได้รับความสำคัญสูงสุดสำหรับโครงการฉีดวัคซีน

    ไอ วายัน คอสเตอร์ ผู้ว่าการบาหลีขอให้รัฐบาลกลางเร่งโครงการฉีดวัคซีนเพื่อสนับสนุนการเปิดการท่องเที่ยวบาหลีอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมโดยมีประชาชนประมาณ 3 ล้านคนจาก 4.3 ล้านคนที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

    “อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้มีเพียง 300,000 คนในบาหลีเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนโควิด-19”

    บาหลีซึ่ง 54% ของประชากรมาจากการท่องเที่ยว มีการสูญเสียงานและรายได้อย่างมากนับตั้งแต่ปิดพรมแดนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

    ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เศรษฐกิจหดตัว 12.21% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ฟิลิปปินส์ใช้ระบบศุลกากรไฮเทคระดับโลกในปี 2567

    ที่มาภาพ:https://business.inquir er.net/320178/world-class-high-tech-customs-systems-seen-ready-by-2024

    นายคาร์ลอส โดมิงเกซ ที่ สาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ฟิลิปปินส์จะนำ ระบบศุลกากรระดับโลกและเทคโนโลยีขั้นสูงจะถูกนำมาใช้ในภายในปี 2567 ด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนของธนาคารโลกเพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงสำนักงานศุลกากรให้ทันสมัย

    ในระหว่างการเปิดตัวโครงการเสมือนจริง นายโดมิงเกซ กล่าวว่า การปฏิรูปจะเปลี่ยนศุลกากรให้เป็นหน่วยงานระดับโลกโดยการปรับปรุงระบบและกระบวนการผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

    นายโดมิงเกซกล่าวว่า การปรับปรุงศุลกากรให้ทันสมัยไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มการจัดเก็บรายได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย

    “ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการสนับสนุนของธนาคารโลก เราตั้งใจอย่างเต็มที่ ที่จะทำโครงการนี้ให้เสร็จในเวลาที่สั้นที่สุด เราคาดว่าโครงการจะดำเนินการบางส่วนภายในปี 2566 และดำเนินการเต็มรูปแบบภายในปี 2567” นายโดมิงเกซกล่าว

    เอกสารล่าสุดของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า โครงการเริ่มการจัดซื้อจัดจ้างเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในเดือนตุลาคมปีที่แล้วธนาคารโลกได้เห็นชอบ ในการจัดหาเงินทุนมูลค่า 88.28 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการปรับปรุงสำนักงานศุลกากร 104.38 ล้านดอลลาร์

    “เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้น เราคาดว่าจะได้เห็นการดำเนินงานของท่าเรือที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการคอร์รัปชั่นในหน่วยงานได้อย่างมาก และปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โครงการนี้จะช่วยให้เราอยู่ในระดับแนวหน้าในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อประสิทธิภาพการสร้างรายได้ที่ดีที่สุด ทั้งหมดนี้จะสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนและระยะยาวของเศรษฐกิจของเรา” นายโดมิงเกซกล่าว

    นายโดมิงเกซกล่าวว่า การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างการณ์เนื่องจากการระบาดของโควิด -19 ได้นำไปสู่ความปกติครั้งใหม่ ที่ทำให้การปรับปรุงระบบของประเทศให้ทันสมัยมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อการเติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่

    “ปัจจุบันเราต้องการรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นเงินทุน ไม่เพียงแต่การรับมือกับโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเราด้วย ดังนั้นระบบศุลการกรที่มีประสิทธิภาพสูงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เราฟื้นตัวจากการระบาดครั้งนี้ได้อย่างแข็งแกร่ง”

    ประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ลงนามบังคับใช้กฎหมาย CREATE

    ที่มาภาพ:h ttps://www.manilatimes.net/2021/03/27/news/national/duterte-signs-create-bill-into-law-2/855940/

    ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ลงนามใน กฎหมาย Republic Act (RA) 11534 หรือ CREATE Act ที่มุ่งการปฏิรูประบบภาษีเงินได้นิติบุคคลและสิทธิประโยชน์จูงใจ เพื่อดึงการลงทุน รักษาวินัยทางการคลังและเสถียรภาพ

    ก่อนหน้านี้วุฒิสภาได้ผ่านร่าง กฎหมายการฟื้นฟูธุรกิจและสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับวิสาหกิจ หรือ Corporate Recovery and Tax Incentives for Enterprises(CREATE)

    กฎหมาย RA 11534 ได้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 25% จากปัจจุบัน 30% และมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563

    “โดยมีเงื่อนไขว่า บริษัทที่มีรายได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีไม่เกิน 5 ล้านเปโซและมีสินทรัพย์รวมไม่เกิน 100 ล้านเปโซ ไม่รวมที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงาน แผนและอุปกรณ์ขององค์กรธุรกิจใดองค์กรหนึ่งตั้งอยู่ในช่วงปีภาษี ที่มีการเรียกเก็บภาษี จะต้องเสียภาษี 20% ” กฎหมายระบุ

    ในกรณีของบริษัทที่ใช้รอบระยะเวลาบัญชี ตามปีงบประมาณ รายได้ที่ต้องเสียภาษีจะถูกคำนวณโดยไม่คำนึงถึงวันที่ที่ระบุ เมื่อมีการขายการซื้อและธุรกรรมอื่นๆที่เฉพาะเจาะจงเกิดขึ้น รายได้และค่าใช้จ่ายของบริษัทที่มีปีบัญชีตามปีงบประมาณจะถือว่าได้รับและใช้จ่ายเท่าๆ กันในแต่ละเดือนของรอบบัญชี

    “อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจะใช้กับจำนวนเงินที่คำนวณ โดยการคูณจำนวนเดือนที่ครอบคลุมด้วยอัตราใหม่ภายในปีบัญชีด้วยรายได้ที่ต้องเสียภาษีของบริษัทสำหรับช่วงเวลานั้นหารด้วย 12” กฎหมายกล่าว

    ภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 2% ของรายได้รวม ณ สิ้นปีที่ต้องเสียภาษีจะเรียกเก็บจาก บริษัทที่ต้องเสียภาษี โดยเริ่มในปีที่ต้องเสียภาษีที่สี่ทันที หลังจากปีที่บริษัทดังกล่าวเริ่มดำเนินธุรกิจ

    บริษัทต่างชาติตามพระราชบัญญัติ CREATE จะต้องเสียภาษีเงินได้เท่ากับ 25% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีที่ได้รับในปีที่ต้องเสียภาษีก่อนหน้านี้จากแหล่งที่มาทั้งหมดในฟิลิปปินส์

    ภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 2% ของรายได้รวมจะถูกเรียกเก็บจาก บริษัทต่างชาติที่ตั้งในฟิลิปปินส์

    ในแถลงการณ์ที่ส่งถึงผู้สื่อข่าวของทำเนียบประธานาธิบดี นายแฮร์รี่ โรเก้ โฆษกของประธานาธิบดียืนยันว่า ประธานาธิบดีดูเตอร์เต คัดค้านบางรายการที่ระบุไว้ในกฎหมาย CREATE แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับบทบัญญัติที่คัดค้านของกฎหมายที่ได้ลงนาม

    กฎหมาย RA 11524 มีผลบังคับใช้ 15 วันหลังจากการประกาศฉบับสมบูรณ์ในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการหรือในหนังสือพิมพ์ทั่วไป

    อาเซียนมุ่งยกระดับการขนส่งในภูมิภาค

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/asean-countries-pledge-to-upgrade-regional-transport-amidst-pandemic/198145.vnp

    ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ให้คำมั่นที่จะปรับปรุงการขนส่งในภูมิภาค หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในภาคส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง

    ความมุ่งมั่นร่วมกันเกิดขึ้นในการประชุมการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งอาเซียนครั้งที่ 40 (40th ASEAN Transport Facilitation Meeting) ซึ่งจัดขึ้นผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อวันที่ 23-24 มีนาคมโดยกัมพูชา

    นายกง โสพล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกของกัมพูชาซึ่งเป็นประธานการประชุมกล่าวว่า การประชุมได้มุ่งเน้นไปที่กรอบข้อตกลงอาเซียน 4 ข้อที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูการขนส่งในภูมิภาค

    ข้อตกลงเหล่านี้เริ่มดำเนินการทีละขั้นตอน แต่เนื่องจากปัญหาการระบาด ทำให้ข้อตกลงต่างๆสะดุดลงอย่างมาก คณะผู้แทนได้หารือเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการขนถ่ายสินค้าที่ชายแดนและวิธีอำนวยความสะดวกในการขนส่ง

    ในการประชุม ผู้แทนของประเทศกลุ่มอาเซียนได้เห็นชอบในเอกสารสองฉบับ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูหลัง COVID-19 และการจัดทำเส้นทางพิเศษสำหรับผู้ค้าที่ต้องเดินทางออกและเข้าประเทศ

    นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงปัญหาเกี่ยวกับศุลกากร การประกันภัย ระบบเฝ้าระวังการขนส่ง และการพัฒนากรอบกฎหมายเพื่อรองรับการขนส่งทุกรูปแบบ