ThaiPublica > เกาะกระแส > สร.ยาสูบบุกคลัง ยื่นหนังสือถึง “อภิศักดิ์” ทบทวนภาษีบุหรี่ หากไม่ได้คำตอบ ร้องศาลปกครอง-คุ้มครองชั่วคราว

สร.ยาสูบบุกคลัง ยื่นหนังสือถึง “อภิศักดิ์” ทบทวนภาษีบุหรี่ หากไม่ได้คำตอบ ร้องศาลปกครอง-คุ้มครองชั่วคราว

23 พฤศจิกายน 2017


เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 นายคณุตม์ ฤทธิสอน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ (สร.ยาสูบ) ออกแถลงการณ์ด่วน เรื่องขอความเป็นธรรมจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยนายคณุตม์เปิดเผยว่าจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 เป็นต้นมานั้น ขณะนี้ได้ส่งผลกระทบกับยอดการจำหน่ายบุหรี่ของโรงงานยาสูบในปีงบประมาณ 2561 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 41% เนื่องจากบทบัญญัติและหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับนี้ เปิดช่องให้บริษัทบุหรี่ต่างชาติปรับลดราคาบุหรี่จากเดิม เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของบุหรี่ไทย และทำให้การบริโภคบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถซื้อบุหรี่ต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลง รวมทั้งมีการเชิญชวนให้ซื้อด้วยแคมเปญ ลด แลก แจก แถม

ขณะเดียวกัน อัตราการจับกุมบุหรี่ผิดกฎหมายก็เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้นเพราะราคาถูกกว่าบุหรี่ถูกกฎหมายหลายเท่าตัว ซึ่งมีสาเหตุมาจากฐานการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมีการจัดเก็บภาษีทั้งด้านปริมาณและด้านมูลค่ารวมกัน ด้านมูลค่ากำหนดให้ใช้เกณฑ์ “ราคาขายปลีกแนะนำ” แต่บทบัญญัติดังกล่าวกลับไม่รัดกุม ทำให้บริษัทบุหรี่ต่างประเทศตัดสินใจลดราคาลงมาขัดกับเจตนารมณ์และกลไกตลาด ในอนาคตจะส่งผลให้ธุรกิจบุหรี่ของรัฐอย่างโรงงานยาสูบได้รับผลกระทบ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของโรงงานยาสูบลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีข้างหน้า

“สำหรับบุหรี่ที่กำหนดราคาขายปลีกแนะนำเกินซองละ 60 บาทตามโครงสร้างอัตราภาษียาสูบในปัจจุบัน กำหนดให้เสียภาษีในอัตรา 40% ของราคาขายปลีกแนะนำ ส่วนบุหรี่ที่กำหนดราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 60 บาทต่อซอง เสียภาษีในอัตรา 20% ของราคาขายปลีกแนะนำ เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นให้เสียภาษีที่อัตรา 40% ของราคาขายปลีก สรุปคือ ในอีก 2 ปีข้างหน้า บุหรี่ทุกยี่ห้อต้องเสียภาษีในอัตรา 40% เท่ากันทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลทำให้บุหรี่ต่างประเทศสามารถครอบงำตลาดบุหรี่ภายในประเทศ และสามารถยืนอยู่เหนือธุรกิจของรัฐได้” นายคณุตม์กล่าว

นายคณุตม์กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์เช่นนี้จะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานต่างๆ ของโรงงานยาสูบ เช่น การย้ายโรงงานผลิตยาสูบไปยังสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การส่งมอบพื้นที่สำหรับสร้างสวนป่า “เบญจกิตติ” ในประเด็นความคุ้มค่าในการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ รวมทั้งผลกระทบกับพนักงาน 2,950 คน ลูกจ้างกว่า 1,000 คน เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ 20,000 ครัวเรือน ผู้ประกอบการค้ายาสูบประเภทต่างๆ ของโรงงานยาสูบ 500,000 ราย เกษตรกรผู้ผลิตใบยาอีก 100,000 ราย จากการที่ยอดขายบุหรี่ของโรงงานยาดสูบลดลง คาดว่าในปีงบประมาณ 2561 โรงงานยาสูบจะนำส่งรายได้เข้ารัฐและภาษีต่างๆ ลดลงจากปีก่อน 13,267 ล้านบาท และประสบภาวะขาดทุนประมาณ 1,575 ล้านบาท หากสถานการณ์ยังเป็นอยู่เช่นนี้ต่อไป คาดว่าโรงงานยาสูบจะประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่มาภาพ: www.mof.go.th

“ปีงบประมาณ 2560 โรงงานยาสูบมีกำลังการผลิต 27,000 ล้านมวน นำส่งรายได้ให้กระทรวงการคลัง 13,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 9,344 ล้านบาท แต่จากการที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีจากฐานราคาขายปลีกแนะนำ ทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลง 41% ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2561 ทางโรงงานยาสูบจึงจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลง 10,000 ล้านมวน และลดการรับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกร คงเหลือกำลังการผลิต 17,000 ล้านมวน ไม่สามารถนำส่งรายได้ให้กระทรวงการคลัง และขาดทุน 1,575 ล้านบาท” นายคณุตม์กล่าว

นายคณุตม์กล่าวว่า ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจโรงงานยาสูบ พร้อมกับพนักงานยาสูบ 300 คน เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบจำนวน 120 คน จะเดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในเวลา 9.30 น. เพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และเดินทางไปยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสรรพสามิต เวลา 11.00 น. เพื่อขอให้ทบทวนการบังคับใช้กฎหมาย และหามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบจะนำรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว