ThaiPublica > เกาะกระแส > นายก ฯปัดข่าว“ปฏิวัติ-รัฐประหาร”ชี้แค่หาเรื่องระดมคน-มติ ครม.เคาะแผนกู้เงินฟื้นฟู ศก.เฟส 2 กว่า 1.5 แสนล้าน

นายก ฯปัดข่าว“ปฏิวัติ-รัฐประหาร”ชี้แค่หาเรื่องระดมคน-มติ ครม.เคาะแผนกู้เงินฟื้นฟู ศก.เฟส 2 กว่า 1.5 แสนล้าน

23 พฤศจิกายน 2020


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายก ฯปฏิเสธข่าว “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” ชี้แค่หาเรื่องระดมคน ยังไม่เคาะแผนลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว-มติครม. ผ่านแผนกู้เงินฟื้นฟู ศก.เฟส 2 กว่า 1.5 แสนล้าน เห็นชอบ MOU ไทย-ญี่ปุ่น ปั้น “บางซื่อ” เป็นเมืองอัจฉริยะ

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน

หลังการประชุม ครม. พลเอกประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว เรื่องการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 หลายฝ่ายคาดว่าผู้ชุมนุม 2 กลุ่มที่เห็นต่างอาจจะมาเผชิญหน้ากันว่า รัฐบาลพยายามป้องกันไม่ให้มีการตีกันอยู่แล้ว ไม่ว่าใครก็ต้องเคารพกฎหมาย จะตีกัน ขวางปากัน ก็ให้เจ้าหน้าที่เก็บหลักฐานจากกล้องวีดีโอทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกฎหมายเช่นเดียวกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีเลือกปฏิบัติ หลายคนบอกว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพ ใช่ แต่ก็ต้องไม่ก่อเหตุปะทะกัน รัฐบาลพยายามให้เกิดความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องคำนึงถึงเจ้าหน้าที่บ้าง เนื่องจากเจ้าหน้าที่เองก็ถูกกระทำมากเหมือนกัน ซึ่งเขาก็มีครอบครัว มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน เขาจึงไม่ทำอะไรมาก เว้นแต่ว่าถ้ามีการฝ่าฝืนมากเกินไป จนเขารับไม่ได้ยอมไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่วันนี้ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ทำอะไรก็ผิดไปทั้งหมด ถามว่าถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่แล้ว ใครจะทำงาน

ปัดข่าวสมช.ออกคำสั่งสกัดม็อบเข้ากรุง

ส่วนเรื่องสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกคำสั่งให้ระมัดระวังการระดมมวลชนจากต่างจังหวัดเข้ามาร่วมชุมนุมในกรุงเทพ พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า เรื่องการระดมคนจากต่างจังหวัดเข้ามาชุมนุม หลายๆเรื่องเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเข้ามาทางโซเชียลมีเดีย ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันตรวจสอบว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ อย่างไร ข้อมูลส่วนใหญ่บิดเบือนเกือบทั้งหมด ถามว่าเกิดอะไรขึ้น มันมีการสร้างความขัดแย้งกันไปเรื่อย ๆ โดยสร้างให้อีกฝ่ายออกมาต่อต้าน สู้กัน ผมไม่เห็นด้วย ผมขอให้ทุกฝ่ายช่วยติดตามสถาณการณ์ และหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะกัน แต่บางครั้งก็เหมือนต้องการให้มีการปะทะกัน ไม่ปะทะกับเจ้าหน้าที่ ก็ปะทะกับอีกฝ่ายหนึ่ง เราเคยมีบทเรียนมาแล้ว ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้นใครที่เป็นแกนนำต้องรับผิดชอบ ดูแลให้ได้ ควบคุมให้ได้

ปฏิเสธข่าว “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” ชี้แค่หาเรื่องระดมคน

ถามถึงกรณีที่มีการวิเคราะห์ว่ามีความพยายามนำคนเสื้อเหลืองออกมาเคลื่อนไหว ม็อบชนม็อบ เพื่อสร้างเงื่อนไขนำไปสู่ “รัฐประหาร” พลเอกประยุทธ์ ตอบว่า เรื่องพยายามนำคนเสื้อเหลืองออกมา คงไม่ต้องพยายาม ทุกคนสามารถคิดเองก็ได้ กลุ่มนี้มาได้ กลุ่มนี้มาไม่ได้ ก็ต้องไปตรวจสอบดูว่าทั้ง 2 ฝ่าย เดินทางมาได้อย่างไร ไม่ว่าการการใช้เครื่องเสียง และเครื่องแสง อุปกรณ์ต่าง ๆ มาอย่างไร ก็ต้องไปดูกันทั้ง 2 ฝ่าย ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ม็อบชนม็อบ เพื่อสร้างเงื่อนไขช่วยผมเป็นรัฐบาล ผมก็ไม่อยากให้ใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดฯแบบนี้ เศรษฐกิจก็มีปัญหาอยู่แล้ว หลายเรื่องเราก็กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ แต่คนไทยก็มีหลายกลุ่ม แต่จะทำอย่างไรให้ทุกกลุ่มมีความสงบเรียบร้อย มีความพึงพอใจในการทำงาน รัฐบาลจะคิดเอาเองไม่ได้ ต้องอาศัยกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าจะทำอย่างไรคิดเองไม่ได้

นายกรัฐมนตรี ตอบคำถาม กรณีแกนนำราษฎรประกาศว่าจะจัดการเข้าไปใกล้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้มากที่สุดว่า ก็กลับไปถามกับเขาก็แล้วกัน ผมไม่ตอบหรอก เรื่องนี้ต้องไปดูวัตถุประสงค์เขาทำไปเพื่ออะไร ก็ไปดูกันเอาเอง ส่วนเรื่องจะปฏิวัติ หรือ ประกาศกฎอัยการศึกมีใครประกาศได้บ้างไหม ถ้าผมไม่ประกาศแล้วใครจะประกาศ หรือ คนที่มากล่าวอ้างจะประกาศเองได้ ก็ชอบหาเรื่องมาเพื่อระดมคนมาอยู่นั่นแหละ

ยังไม่เคาะแผนลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ผู้สื่อข่าวถามมีการรายงานความคืบหน้าสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนต่อขยาย เสนอที่ประชุม ครม.วันนี้หรือไม่ พลเอกประยุทธ์ตอบว่า วันนี้ยังไม่มีการหารือเรื่องนี้ แต่เรื่องนี้ผมยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ขอฝากถึงคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ช่วยดูด้วยว่า โครงการนี้มีกี่ช่วง ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ปัญหาคือถ้าไม่ทำและใครจะทำ ไปจ้างใคร งบประมาณของกทม.มีหรือไม่ ที่ผ่านมาขาดทุน ต้องถามว่าขาดทุน เพราะอะไร ระยะที่ 1 และ 2 ไม่ได้ทำในสมัยผม แต่รัฐบาลก็ต้องพิจารณาตลอดสาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และประชาชนได้ประโยชน์จากค่าโดยสารที่ถูกลง แต่ถ้าไปเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่นก็คนละแบบกันอีก คือ มันต้องดูหลักเกณฑ์ และหลักการในการพิจารณา ควรจะต้องทำอย่างไรในการแก้ปัญหา ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยใช้วิธีนี้วิธีเดียว แล้วเอาไปใช้แก้ปัญหาวิธีอื่นด้วย อันนี้ต้องดูความเป็นมา เหตุผล

“วันนี้ยังไม่มีการหารือในเรื่องนี้ ยังอยู่ระหว่างการหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.) , กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปัญหาสำคัญของรถฟ้าสายสีเขียว คือ หนี้สินของโครงการในระยะที่ 1 ที่ยังค้างอยู่ ทุกวันนี้ถ้าให้ทำไปตลอดสาย หนี้ก็จะพอกไปเรื่อย ๆ แล้วจะแก้ปัญหากันอย่างไร ช่วยคิดหน่อย ถ้ามีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่า ก็เสนอขึ้นมาเลย รัฐบาลพร้อมจะพิจารณา หลายปัญหารัฐบาลชุดนี้ ก็รับแก้มาโดยตลอด เห็นใจรัฐบาลชุดนี้กันหน่อยแล้วกัน” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

ปลื้มวันหยุดยาว คนเที่ยวเยอะ เตือนปีใหม่ระวังอุบัติเหตุ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ผมก็ดีใจที่มีประชาชนไปเที่ยวกันเยอะ แต่ก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของอุบัติเหตุให้ดี ช่วงนี้อากาศก็เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน เดือนหน้าก็จะมีวันหยุดอีก 4 วันในช่วงก่อนปีใหม่ พอถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ก็หยุด 4-5 วัน ฉะนั้นก็เตรียมตัวไปเที่ยวในช่วงนั้นให้ดี วางแผนให้ดีจะได้ปลอดภัย แต่ข้อสำคัญ คือ คนขับรถ รถขนส่งสาธารณะ การดื่มสุรา การใช้ความเร็ว ต้องเคารพกฎกติกา หรือ กฎจราจร ในเรื่องของความปลอดภัยของรถยนต์ตัวเอง เช่น ระบบเบรก ระบบส่งกำลัง วันนี้หลายคนยังขับรถไม่แข็งเหมือนกัน บางคนเคยขับรถเกียร์ธรรมดา วันนี้มาขับเกียร์ออโต้ ก็ต้องไปศึกษาเกียร์ออโต้ ต้องปรับไปเลขไหน เวลาลงเขา ไปศึกษาดูแล้วกัน จะเชนเกียร์อย่างไร ไม่ใช่ขับไปทั้งขึ้นและลงเขา ใช้เกียร์เดียวตลอด นี่คือปัญหา เราต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ หรือ สูญเสีย ซึ่งผมก็เสียใจกับคนทุกคน

ร.10 พระราชทานที่ดินให้ส่วนราชการ 9 แห่ง

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากจะให้ทุกคนได้รับทราบ คือ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 ผมและหัวหน้าส่วนราชการ 9 แห่ง ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโฉนดที่ดินจำนวนมากให้กับส่วนราชการ หรือ สถาบันศึกษา หลายแห่ง ซึ่งใช้ประโยชน์จากที่ดินเดิมอยู่แล้ว ก็ให้ใช้ต่อไป และยังทรงพระราชทานพื้นที่ให้เพิ่มเติม ผมขอให้ส่วนราชการทุกแห่งใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด ยืนยันไม่มีการย้ายส่วนราชการออกจากพื้นที่ แล้วเอาที่ดินใหม่มาให้ ยังคงให้ใช้ที่ดินเดิมอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสูงมาก

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เห็นชอบ 3 มาตรการแก้ฝุ่นพิษ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” (พ.ศ. 2563) และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เน้น 3 มาตรการหลัก คือการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ป้องกัน-ลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง เป็นกลไกหลักในการกำกับดูแลและรับมือสถานการณ์

ร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” (พ.ศ. 2563) ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่

    มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินการ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง/จังหวัด/พื้นที่เสี่ยง สามารถพิจารณากำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของพื้นที่ และสามารถสั่งการได้ทันทีในพื้นที่วิดฤต เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคเหนือ 17 จังหวัด
    มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง ได้แก่ ยานพาหนะ อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้างและผังมือง และภาคครัวเรือน
    มาตรการที่ 3 พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศเสริม เและฐานข้อมูลสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง

ส่วนแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองมี 12 ข้อ ได้แก่ 1. การประชาสัมพันธ์ 2. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง 3. การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า 4. สร้างเครือข่ายอาสาสมัครและจิตอาสา 5 เร่งขับคลื่อนโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป้า 6. ถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้อปท. 7. พยากรณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 3 วัน 8. ประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการรายงานปริมาณฝุ่นละอองเชิงพื้นที่ 9. พัฒนาระบบคาดการณ์ 10. บริหารจัดการเชื้อพลิงโดยใช้แอปพลิเคซันลงทะเบียนจัดการเชื้อเพลิง 11. ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่าไม้ และลดการเผาป่าผ่านการจัดที่ดินทำกิน และ 12. เจรจาสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และระดับพื้นที่ชายแดน

ตั้งคณะทำงานยกร่าง กม.ลดความเหลื่อมล้ำ-ช่วยคนติดเอดส์

นายอนุชา กล่าวว่า ครม.รับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกรณีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการรับเข้าทำงานกับบริษัทเอกชน รายละเอียด ดังนี้
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. …. ฉบับประชาชน และมีมติเห็นชอบในหลักการและเห็นควรยกร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. …. และแต่งตั้งคณะทำงานยกร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. ….

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน มีหนังสือถึงสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดและในกรุงเทพมหานคร เพื่อให้นายจ้างปฏิบัติตามประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อไม่ให้นายจ้างเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีของลูกจ้างโดยไม่ได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง และพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้มีการคุ้มครองสิทธิและไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ที่ชัดเจนขึ้น

กระทรวงสาธารณสุข แจ้งแนวปฏิบัติให้สถานบริการรับทราบแนวปฏิบัติเรื่องการปกปิดข้อมูลความลับด้านสุขภาพของผู้ป่วย รวมถึงให้ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการปกปิดข้อมูลตนเอง เว้นแต่ผู้ป่วยจะให้ความยินยอม

ตั้ง สทร. ศึกษาระบบขนส่งทางราง

นายอนุชา กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เป็นองค์การมหาชน หรือ “สทร.” เพื่อศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยีระบบรางในการวางแผนวิจัยด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เสนอแนะนโยบายและแผนงานในการกำหนดทิศทางงานวิจัย ภายใต้กำกับดูแลการดำเนินกิจการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในอนาคตระบบการขนส่งทางรางจะกลายเป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศ ทำให้จัดตั้งองค์กรเจ้าภาพในการบริหารจัดการด้านการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งยังต้องเตรียมการในด้านการวิจัยและพัฒนาใน 5-10 ปีข้างหน้า

เคาะแผนกู้เงินฟื้นฟู ศก.เฟส 2 กว่า 1.5 แสนล้าน

นายอนุชา กล่าวว่า ครม.รับทราบกรอบแนวคิดการจัดทำแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ รอบที่ 2 วงเงิน 152,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 กลุ่มแผนงาน ได้แก่

    1 กลุ่มแผนงานโครงการส่งเสริมการจ้างงานและพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและวางรากฐานการพัฒนาในระยะต่อไป อาทิ โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ของกระทรวงแรงงาน (19,462.0019 ล้านบาท) และกลุ่มโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพ
    2 กลุ่มแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก (45,000 ล้านบาท)
    3) กลุ่มแผนงาน/โครงการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคเพื่อฟื้นฟูตลาดและเศรษฐกิจทุกระดับ เช่น โครงการคนละครึ่ง (30,000 ล้านบาท)
    4 กลุ่มแผนงาน/โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มโครงการเพื่อพัฒนาและบริการจัดการทรัพยากรน้ำ

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินเบื้องต้นว่าโครงการทั้งหมดจะช่วยให้ GDP ไทยขยายตัวประมาณร้อยละ 0.2 ในปี 2563 และร้อยละ 0.25 ในปี 2564 และมีผลลัพธ์อื่นๆ เช่นมีการจ้างงานใหม่รวมกว่า 310,000 ราย ยกระดับแรงงาน 160,000 ราย ช่วยให้ประชาชนจำนวน 10 ล้านคนลดภาระค่าใช้จ่าย สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนอย่างน้อย 100,000 ร้านค้า เพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 60,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ แผนงานที่ 1 ได้รับการอนุมัติวงเงินไปแล้ว 92,400 ล้านบาท

อนุมัติ 3 โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้น OTOP สมุนไพร-นวดแผนไทย

นายอนุชา กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโอทอปไทย สู้ภัยโควิด -19 , โครงการพลิกวิกฤต COVID-19 สู่การสร้างเศรษฐกิจจาก OTOP สมุนไพรในชุมชนอย่างยั่งยืน และโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ด้วยการนวดไทยในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีรายละเอียดแต่ละโครงการดังนี้

โครงการโอทอปไทย สู้ภัยโควิด -19 โดยกระทรวงมหาดไทย วงเงินรวม 95 ล้านบาท มีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3-5 ดาว ทั้ง 76 จังหวัด โดยกิจกรรมจะจ้างเหมาดำเนินการจัดงานโอทอปไทยสู้ภัยโควิด -19 จำหน่ายสินค้า OTOP/อาหารชวนชิม/บริการท่องเที่ยวชุมชน/สาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น/นิทรรศการ เป็นต้น

โครงการพลิกวิกฤต COVID-19 สู่การสร้างเศรษฐกิจจาก OTOP สมุนไพรในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 8.32 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมเกษตรสมุนไพรวนเกษตร 10 แห่ง (จ.เชียงราย จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.อุทัยธานี จ.อุตรดิตถ์ จ.นครราชสีมา จ.ปราจีนบุรี จ.นครพนม จ. ชุมพร และ จ. พัทลุง) ผู้ประกอบการ OTOP 250 ราย วิสาหกิจชุมชนและประชาชน 2,500 คน

โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ด้วยการนวดไทยในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 9.2 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 1,000 คน โดยเปิดหลักสูตรอบรมนวดไทยเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง จำนวน 20 รุ่น รุ่นละ 40 และหลักสูตรนวดเท้าเพื่อสุขภาพ 60 ชั่วโมง จำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 40 คน

สั่ง กต.พิจารณาข้อเสนอ CPTPP ใน 30 วัน

ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. รับทราบข้อสังเกตของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรเสนอ โดยมีข้อเสนอแนะ 3 ประเด็น ดังนี้

    1) ด้านการเกษตรและพันธุ์พืช โดยสร้างความเข้าใจให้เกษตรกรยอมรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV และเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และจัดทำกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
    2) ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ให้มีกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนยา ที่มีส่วนประกอบของจุลชีพหรือจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับจุลชีพ, ศึกษาและวิจัยต่อยอดเพิ่มเติมในลักษณะบูรณาการ และให้มีการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอ
    3) ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เช่น ให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า, เจรจาเพื่อจัดทำภาคผนวกของข้อบทลงทุนที่ประเทศไทยมีสิทธิ์ในการเจรจาข้อสงวน และให้กรมบัญชีกลางดำเนินการศึกษากฎหมายกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐที่ไม่สอดคล้องกับความตกลง CPTPP

ทั้งนี้ ครม.มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศรับข้อสังเกตไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำหนดให้ส่งผลการพิจารณาให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป

เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วม ฯเขตเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย

ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 26 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

    1) เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยสนับสนุนการดำเนินการร่วมกันของประเทศสมาชิกเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 และเตรียมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
    2) แสดงผลการดำเนินงานและร่วมยินดีกับความสำเร็จของโครงการใน 7 สาขาคณะทำงานภายใต้แผนงาน IMT-GT ในปีที่ผ่านมา เช่น โครงการก่อสร้างสนามบินเบตง จังหวัดยะลา ประเทศไทย โครงการก่อสร้างทางด่วนเปกันบารู-ดูไม ประเทศอินโดนีเซีย การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างกันในระดับอนุภูมิภาค การกำหนดบทบาทความรับผิดชอบรายสาขาของสภาเทศมนตรีเมืองสีเขียว ฯลฯ
    3) กำหนดแนวทางแต่ละสาขาความร่วมมือ ได้แก่ พัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมฮาลาลให้เข้มแข็ง สร้างความร่วมมือระหว่างเมืองยางพาราของประเทศสมาชิก พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาและเสริมทักษะใหม่สำหรับแรงงานในอนุภูมิภาค
    4) ยืนยันที่จะพัฒนาความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (IsDB) ศูนย์ยุทธศาสตร์สังคมสิ่งแวดล้อมโลกของสถาบันภายใต้ความร่วมมือกับโครงการสหประชาชาติด้านสิ่งแวดล้อม (IGES/CCET) เป็นต้น

โดยประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับการจากเข้าร่วมประชุมครั้งนี้คือจะเน้นไปที่สร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การจัดทำแนวทางปฏิบัติร่วมกันสำหรับธุรกิจการ เร่งรัดความร่วมมือด้านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย และการพัฒนาศักยภาพผู้ฝึกอบรมด้านการตลาดดิจิทัล เป็นต้น

อนุมัติกรอบการหารือประชุม กมธ.แม่น้ำโขง ครั้งที่ 27

ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติกรอบการหารือการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 27 และการประชุมร่วมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 25 จะจัดขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เพื่อหารือและกำหนดนโยบายความร่วมมือในการบริหารองค์กรของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

กรอบการหารือฯ มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน พ.ศ.2563 2) แผนยุทธศาสตร์การจัดการสินทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อมของลุ่มแม่น้ำโขง 3) ตำแหน่งผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 4) แผนแม่บทการเดินเรือของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 5) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขง พ.ศ.2564 – 2573 และแผนยุทธศาสตร์องค์กรคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พ.ศ.2564 – 2568 และ 6) แผนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปี พ.ศ.2564 -2565

ยกระดับบริการคนต่างด้าว ขอใบอนุญาตทำงาน

ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบนโยบายยกระดับคุณภาพการให้บริการด้านการรับคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ที่มีข้อจำกัด อาทิ ผู้รับบริการยังต้องเข้ารับบริการด้วยตัวเองเฉพาะในเวลาราชการ กระบวนการยื่นแบบคำขอพร้อมเอกสารใช้เวลาในการดำเนินการหลายวัน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลดิจิทัล

ผศ.ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบายวิธีปฏิบัติและควบคุมการดำเนินงานของเอกชน เช่น การพิจารณาอนุญาตจะเป็นอำนาจของนายทะเบียนแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้มอบหมายให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ มีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อไม่ให้เอกชนเข้าถึงหรือนำไปใช้

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวครอบคลุมในเรื่องต่างๆ เช่น การจ้างเหมาเอกชนดำเนินการให้บริการรับคำขออนุญาตทำงาน การออกใบอนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (e-WorkPermitOS) ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงจัดหาและพัฒนาระบบสาระสนเทศในการปฏิบัติงาน ได้แก่ ระบบที่ให้บริการ (เช่น ระบบนัดหมาย ระบบติดตามผลการอนุญาต) ระบบสนับสนุนการปฎิบัติงาน (เช่น ระบบตรวจสอบยืนยันหรือรับรองบุคคล) ระบบที่ใช้งานโดยเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน (เช่น ระบบเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล ระบบฐานข้อมูลการอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว) โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปีหรือกำหนดตามจำนวนใบอนุญาตทำงานที่ออกให้คนต่างด้าวจำนวน 15 ล้านใบอนุญาต

เห็นชอบ MOU ไทย-ญี่ปุ่น ปั้น “บางซื่อ” เป็นเมืองอัจฉริยะ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบางซื่อระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่น และอนุมัติให้ปลัดกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองระหว่างฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1 การคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ มีเครือข่ายทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างสถานีกลางบางซื่อกับโซนต่างๆ 2 การบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ และ 3 การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ โดยจะพัฒนาพื้นที่สีเขียวบริเวณรอบสวนจตุจักร เน้นการรีไซเคิลและลดการทิ้งขยะที่เป็นของแข็ง ให้บริการขนส่งคมนาคมด้วยรถ EV

นางสาวไตรศุลี กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยจะจัดส่งข้อมูลทรัพย์สินและข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเมืองให้แก่กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่น ขณะที่กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองของญี่ปุ่นก็จะส่งข้อมูลนโยบายและการพัฒนาเมือง กฎหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง แผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนและวิธีการดำเนินโครงการให้กับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย

ไฟเขียวกฎกระทรวงออกแบบอาคาร รับมือแผ่นดินไหว

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวและกำหนดประเภทอาคารที่การออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารให้มีการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว

สำหรับการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยได้แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามดังนี้ คือ “บริเวณที่ 1” หมายความว่า บริเวณหรือพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ จ.กระบี่, ชุมพร, ตรัง, นครพนม, นครศรีธรรมราช, บึงกาฬ, ประจวบคีรีขันธ์, พิษณุโลก, เพชรบุรี, เลย, สงขลา, สตูล, สุราษฎร์ธานี, และหนองคาย “บริเวณที่ 2” หมายความว่า บริเวณหรือพื้นที่ผลกระทบระดับปานกลางที่มีความเป็นไปที่จได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบทางด้านความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพในระดับปาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร,กำแพงเพชร, ชัยนาท, นครปฐม, นครสวรรค์, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, พังงา, ภูเก็ต, ระนอง, ราชบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สุพรรณบุรี และอุทัยธานี ส่วน “บริเวณที่ 3” พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในระดับสูง ได้แก่ จ.กาญจนบุรี, เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, น่าน, พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ลำพูน, สุโขทัย และจังหวัดอุตรดิตถ์

เห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานด้านสิทธิเสนอ UN

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ฉบับที่ 3 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วย สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยแบ่งสาระสำคัญออกเป็น 5 ด้าน ดังนี้

ด้านการบังคับใช้แรงงาน รัฐบาลได้ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์พ.ศ. 2562 โดยกำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดฐานบังคับใช้แรงงานและกำหนดอัตราโทษให้เหมาะสม รวมถึง เพิ่มช่องทางในการดำเนินคดีกับนายจ้างที่บังคับใช้และละเมิดสิทธิแรงงาน

สิทธิด้านสุขภาพนั้น ในปีงบประมาณ 2561 มีประชากรลงทะเบียนสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพของรับครอบคลุมร้อยละ 99.94 และได้มีการพัฒนากลไกการจัดการเพื่อคุ้มครองสิทธิสำหรับคนด้อยโอกาส หรือคนที่มีปัญหาการเข้าถึงบริการอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ร่วมมือกับกรมการปกครอง ทำให้กลุ่มคนดังกล่าวเข้ารับบริการสาธารณสุขที่หน่วยงานบริการสุขภาพของรัฐได้ทุกแห่ง

สิทธิด้านการศึกษา ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติวันที่ 15 มิ.ย. 2559 ให้รัฐจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวมถึงเด็กที่อยู่ในพื้นที่ตามแนวชายแดนและถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญด้วย

ด้านสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ ป้องกันไม่ให้กลุ่มที่ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายต่างๆ และส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนที่ได้รับผลกระทบและผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์

ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รัฐบาลถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้สอดแทรกไว้ในแผนระดับชาติหลายฉบับ และได้มีคำสั่งให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐจัดทำมาตรการหรือแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต

เก็บค่าใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม โดยสาระสำคัญของกฎหมายเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม สาขาธรณีวิทยาและสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดให้ทั้ง 2 สาขา เป็นวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมเพิ่มเติม

ทั้งนี้ได้กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมสาขาธรณีวิทยาฉบับละ 1,000 บาท และสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อมประเภทผู้ชำนาญการฉบับละ 3,000 บาท และประเภทผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ฉบับละ 1,000 บาท

ตั้ง “นิสิต จันทร์สมวงศ์” นั่งประธานบอร์ด กปน.

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติการแต่งตั้งข้าราชการ ดังนี้
1. แต่งตั้ง นางทิวาวรรณ ปิยกุลมาลา นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2563
2. แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร รวม 8 คน ดังนี้

    2.1 แต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ราย ได้แก่ นายโอฬาร พิทักษ์ นายอภิชาต จงสกุล นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา และนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย
    2.2 แต่งตั้งผู้แทนเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร 4 ราย ได้แก่ นายพรชัย ชั้นสกุล นายอัษฎางค์ สีหาราช นายทวิวัส เหลี่ยมดี และนายสิทธิพร บุรณนัฏ
    ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป

3. แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการประปานครหลวง 15 คน ดังนี้

    1. นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ เป็นประธานกรรมการ
    2. พลเอก สิงห์ทอง หมีทอง เป็นกรรมการ
    3. นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา เป็นกรรมการ
    4. นายกฤษฎา กวีญาณ เป็นกรรมการ
    5. นายชัยทัต แซ่ตั้ง เป็นกรรมการ
    6. นายวรายุทธ เย็นบำรุง เป็นกรรมการ
    7. นายประสิทธิ์ สืบชนะ เป็นกรรมการ
    8. นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา เป็นกรรมการ
    9. หม่อมราชวงศ์ศศิพฤนท์ จันทรทัต เป็นกรรมการ
    10. นายหร่อหยา จันทรัตนา เป็นกรรมการ
    11. นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ เป็นกรรมการ
    12. นายนิทัศน์ มณีศิลาสันต์ เป็นกรรมการ
    13. นายวีรวัฒน์ ยมจินดา เป็นกรรมการ
    14. นายจำเริญ โพธิยอด เป็นกรรมการ
    ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป

4. แต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. นายณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
    2. นายวารุจ ศิริวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563เพิ่มเติม