ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.เคาะงบฯ ปี ’65 ลดลงทั้งรายรับรายจ่าย แต่กู้ชดเชยขาดดุลชนเพดาน 7 แสนล้าน

ครม.เคาะงบฯ ปี ’65 ลดลงทั้งรายรับรายจ่าย แต่กู้ชดเชยขาดดุลชนเพดาน 7 แสนล้าน

6 มกราคม 2021


นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ครม.เห็นชอบงบฯปี 2565 วงเงินลดลง ทั้งรายรับ-รายจ่าย ตั้งวงเงินกู้ชดเชยขาดดุลชนเพดาน 7 แสนล้านบาท – จัดงบฯใช้คืน “เงินคงคลัง-เงินทุนสำรองจ่าย” รวม 25,597 ล้าน สั่งสำนักงบฯทำรายละเอียดเสนอ ครม.อีกครั้ง 16 มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 185,962.5 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 5.66 โดยการจัดทำงบประมาณปีนี้อยู่ภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0-4.0 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7 สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายในปี 2565 ประกอบด้วย

    1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,354,403.3 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 75.95 ของวงเงินงบประมาณ

    2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596.7 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 0.02 ของวงเงินงบประมาณ

    3) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 25,000 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 0.81 ของวงเงินงบประมาณ

    4) รายจ่ายลงทุน จำนวน 620,000 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 20.00 ของวงเงินงบประมาณ

    5) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 3.22 ของวงเงินงบประมาณ

  • นายกฯเคาะงบฯปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน กู้ 7 แสนล้าน
  • นายอนุชากล่าวต่อว่า แม้รายจ่ายเพื่อการลงทุนในปี 2565 จำนวน 620,000 ล้านบาท จะมีจำนวนเงินลดลงจากปีก่อน 29,310.2 ล้านบาท แต่ยังมีสัดส่วนอยู่ร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณ 2565 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ไปพิจารณาการลงทุนให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ทั้งจากเงินงบประมาณของรัฐ, การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP), การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และการลงทุนโดยใช้เงินจากกองทุน เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund: TFF) และการลงทุนจากต่างประเทศ

    “ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ครม. ยังได้กำชับเรื่องการใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เช่น การให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง หรืออยู่ระหว่างหางานทำ ต้องเน้นฝึกอบรมทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการหางานทำต่อไป รวมทั้งชะลอรายจ่ายประจำที่สามารถดำเนินการได้และเน้นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนมากขึ้น เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย” นายอนุชากล่าว

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 กำหนดให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐจัดทำรายละเอียดคำขอใช้งบประมาณส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณาภายในวันที่ 15 มกราคม 2564 โดยให้สำนักงบประมาณจัดทำรายละเอียดของงบประมาณปี 2565 พร้อมแนวทางปรับปรุงเสนอที่ประชุม ครม. เห็นชอบรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 16 มีนาคม 2564

    อนึ่ง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายในปี 2565 วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท มีข้อสังเกตที่สำคัญๆ ดังนี้

      1. หากเปรียบเทียบโครงสร้างของงบประมาณรายจ่ายปี 2565 กับปีก่อนแล้ว งบฯ ปีนี้ปรับตัวลดลงทั้งในส่วนของรายจ่ายและประมาณการรายได้ ขณะที่วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มสูงขึ้น โดยงบประมาณรายจ่ายปีนี้มีวงเงินอยู่ที่ 3,100,000 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 185,962 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 5.66 ประมาณการรายได้ของรัฐบาลในปีนี้ 2,400,000 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 277,000 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 10.35 ส่วนวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 700,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 91,038 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.95

      2. หากคำนวณวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลสูงสุดที่รัฐบาลสามารถกู้ได้ ตามหลักการของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 และ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ 2548 ซึ่งกำหนดให้ “การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปีต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี (3.1 ล้านล้านบาท) กับอีกร้อยละ 80 ของงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนต้นเงินกู้ (1 แสนล้านบาท) ” ในงบประมาณในปี 2565 จะมีวงเงินกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลสูงสุดประมาณ 700,000 ล้านบาท เท่ากับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลตามที่ ครม. มีมติพอดี

      3. ในวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2565 จะมีรายจ่ายพิเศษเพิ่มมา 2 รายการ คือ รายการแรก รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 25,000 ล้านบาท ตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เห็นชอบแนวทางการใช้จ่ายเงินจาก “เงินทุนสำรองจ่าย” ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 ระบุว่า วงเงิน 50,000 ล้านบาท ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ เพื่อนําไปจ่ายในกรณีงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น มีไม่เพียงพอ ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 มีการเบิกจ่ายงบฯในส่วนนี้ไปประมาณ 25,000 ล้านบาท จึงต้องตั้งบประมาณรายจ่ายมาชดใช้ตามกฎหมายในปีนี้ และ รายการที่ 2 เป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง อีก 596.7 ล้านบาท