ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > 4 ปี “อีอีซี” รวบงบ 8.2 หมื่นล้าน ดันโปรเจกต์ยักษ์

4 ปี “อีอีซี” รวบงบ 8.2 หมื่นล้าน ดันโปรเจกต์ยักษ์

22 พฤศจิกายน 2021


“อีอีซี” โชว์ผลงาน 4 ปี รวบงบบูรณาการ 12 กระทรวง 32 หน่วยงาน 8.2 หมื่นล้านบาท ขับเคลื่อน “เมกะโปรเจกต์” 1.6 ล้านล้านบาท

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลต้องกู้ยืมเงิน 1.5 ล้านล้านบาทมาใช้ในการป้องกัน รักษา เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ และเมื่อรวมกับหนี้ที่เกิดจากการทำงบประมาณขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2550-2565 ส่งผลทำให้หนี้สาธารณะของประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จนต้องมีการแก้กฎหมายวินัยการเงินการคลัง ขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ของ GDP เพิ่มเป็น 70% ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพื้นที่ทางการคลัง (fiscal space) รองรับการกู้ยืมเงินมาใช้ในการฟื้นฟูประเทศในระยะต่อไป

ผลพวงจากการที่รัฐบาลมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้การจัดทำงบประมาณของประเทศจากนี้ไปในอนาคตมีข้อจำกัดมากขึ้น ทั้งการจัดเก็บรายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากรายจ่ายประจำแล้ว (งบประจำ) รัฐบาลยังมีภาระที่จะต้องจัดสรรงบประมาณมาชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลมาจากกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลและเยียวยาโควิดฯ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เหลืองบลงทุนไม่มากนัก

อย่างในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลคาดว่าจะมีรายได้สุทธิประมาณ 2,400,000 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายประจำ (รวมงบชำระหนี้, ชดใช้เงินคงคลัง และเงินทุนสำรองจ่าย) รวมทั้งสิ้น 2,475,600 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเต็มเพดานตามที่กฎหมายกำหนด 700,000 ล้านบาท เพื่อนำมาตั้งเป็นงบลงทุน 624,400 ล้านบาท รักษาระดับของงบลงทุนให้เป็นตามกฎหมาย โดยมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรายจ่ายปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท แต่ก็ยังน้อยกว่าปี 2564 อยู่ประมาณ 24,910 ล้านบาท

  • ครม.เคาะงบฯ ปี ’65 ลดลงทั้งรายรับรายจ่าย แต่กู้ชดเชยขาดดุลชนเพดาน 7 แสนล้าน
  • นายกฯยันขยายเพดานหนี้ 70% เพิ่มพื้นที่การคลัง-ไม่กู้เต็มพิกัด-มติ ครม. จัดงบฯ 2.7 หมื่นล้าน เยียวยา “บัตรคนจน”
  • และจากการที่งบลงทุนมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้รัฐบาลต้องปรับกลยุทธ์การบริหารงบประมาณของประเทศใหม่มี 2 รูปแบบ คือ 1. ดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาลโดยใช้รูปแบบของ Public Private Partnerships หรือ “PPP” และ 2. การจัดสรรงบประมาณให้กับส่วนราชการเข้าไปลงทุนร่วมกับภาคเอกชน ให้ใช้รูปแบบของ “งบบูรณาการ” โดยให้ส่วนราชการที่ไม่ได้อยู่ในกระทรวงเดียวกัน ตั้งแต่ 2 หน่วยงานขึ้นไป มาร่วมกันจัดทำแผนการใช้จ่ายเงินร่วมกัน โดยกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานให้มีความเชื่อมโยง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ และสนับสนุนซึ่งกันและกัน ลดปัญหาความช้ำช้อน ซึ่งต่างจากการจัดสรรงบประมาณรูปแบบเดิมที่มีลักษณะ “ต่างคนต่างทำ”

    การจัดสรรงบประมาณตามแผนบูรณาการผ่านส่วนราชการต่างๆ ที่ผ่านมาก็มีอยู่หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นแผนบูรณาการบริหารจัดทรัพยากรน้ำ หรือการสร้างรายได้จากแหล่งท่องเที่ยว แต่ที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ การจัดสรรงบบูรณาการผ่าน 12 กระทรวง 32 หน่วยงาน มาลงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นเจ้าภาพร่วมกันขับเคลื่อนโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมลงทุน ร่วมพัฒนา” โดยตั้งเป้าหมายผลักดันโครงการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งจะส่งผลทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเติบโตเต็มศักยภาพที่ร้อยละ 4.5-5 ต่อปี และหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางภายในปี 2572

    ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.

    ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เฉพาะ สกพอ. เพียงหน่วยงานเดียวได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณรวมทั้งสิ้น 2,304 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 576 ล้านบาท แต่ถ้ารวมกับงบบูรณาการที่มาลงในพื้นที่อีอีซีผ่าน 12 กระทรวง 32 หน่วยงาน จะมีวงเงินรวมกัน 82,000 ล้านบาท สามารถผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนในพื้นที่อีอีซี คิดเป็นมูลค่าการลงทุนสูงถึง 1,605,241 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94 ของเป้าหมายทั้งหมดที่กำหนดไว้ ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (PPP) จำนวน 4 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท และการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ “BOI” อีก 889,840 ล้านบาท ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณภายใต้แผนบูรณาการจึงเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่

    โดย “เฟสแรก” สกพอ. จะเน้นความสำคัญในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (EEC Project List) การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์อย่างไร้รอยต่อ ทั้งทางอากาศ-บก-ราง-น้ำ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและการเดินทาง เชื่อมพื้นที่อีอีซีกับกรุงเทพฯ และพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็น “ทุนมนุษย์” ภายใต้หลักการ Demand Driven Education Development ตามรูปแบบ “EEC Model” เพื่อรองรับความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรมในพื้นที่ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยกำหนดเป้าหมายแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย 1) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซีไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาทต่อปี 2) อัตราขยายตัวของ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 รวมทั้งเกิดผลสัมฤทธิ์ “ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนา และการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน เกิดการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซีไม่น้อยกว่า 30,000 คน”

  • “คณิศ” แจง 4 ปี อนุมัติการลงทุนในอีอีซีเข้าเป้าฯก่อนกำหนด- ชงนายกฯผ่านแผน 5 ปี 2.2 ล้านล้านบาท ต.ค.นี้
  • บอร์ดอีอีซีผ่านแผน 5 ปี 2.2 ล้านล้าน-สั่งทำแผนดึงดูดนักลงทุนให้เสร็จ พ.ย. นี้ เตรียมโรดโชว์หลังโควิดฯคลี่คลาย
  • หลังจากที่ สกพอ. ใช้งบบูรณาการผลักดันโครงการร่วมลงทุน เฟสแรก ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ก็ได้มีมติเห็นชอบแผนขับเคลื่อนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี เฟสที่ 2 (ปี 2565-2569) โดยตั้งเป้าหมายต่อยอด และเร่งรัดการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิจัยพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 600,000 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนทั้งสิ้น 2.2 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

      1) ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก โดยการพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินอู่ตะเภาในรัศมี 30 กิโลเมตร วงเงิน 100,000 ล้านบาท และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (TOD) อีก 100,000 ล้านบาท
      2) ดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายปีละ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) วงเงิน 40,000 ล้านบาทต่อปี 2. การลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์วงเงิน 50,000 ล้านบาทต่อปี 3. การลงทุนด้านการแพทย์สมัยใหม่วงเงิน 30,000 ล้านบาทต่อปี 4. การขนส่งและโลจิสติกส์วงเงิน 300,000 ล้านบาทต่อปี เกษตรสมัยใหม่และอาหาร ภายใต้บริบทเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) รวมปีละ 150,000 ล้านบาท
      3) ยกระดับชุมชนและประชาชน โดยเร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด และ e-commerce สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ยกเครื่องการศึกษา สาธารณสุขขั้นพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายให้กับชุมชน

    สำหรับการขับเคลื่อนแผนงานบูรณาการ ในปีงบประมาณ 2566 สกพอ. ได้กำหนด 4 แนวทาง ตามภารกิจที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงส่งต่อการดำเนินงานร่วมกันในลักษณะ “ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ” อันได้แก่

      1) ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค และระบบดิจิทัล เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับพื้นที่เศรษฐกิจอย่างไร้รอยต่อ ควบคู่การวางโครงข่ายดิจิทัลเพื่อดึงทุนเอกชน รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
      2) พัฒนาและยกระดับบุคลากร การศึกษา วิจัย และนวัตกรรม หลอมรวมการศึกษา พัฒนาทักษะบุคลากร สู่การปฏิบัติงานจริงในภาคอุตสาหกรรม และพัฒนาพื้นที่นวัตกรรม รองรับการวิจัยชั้นนำ พร้อมขยายผลเชิงพาณิชย์
      3) พัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน พลิกฟื้นเศรษฐกิจ สร้างระบบนิเวศเมืองด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เกษตรอัจฉริยะ สาธารณสุข เมืองน่าอยู่ และสิ่งแวดล้อม
      4) ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการลงทุนเศรษฐกิจหมุนเวียน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระยะยาว

    ดังนั้น การจัดสรรงบบูรณาการมาลงในพื้นที่อีอีซี จึงถือเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการงบประมาณของประเทศแนวใหม่ โดยดึงภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่จัดทำแผน, บริหารทรัพยากรร่วมกัน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ผ่านโครงการลงทุนในพื้นที่อีอีซีภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมลงทุน ร่วมพัฒนา” โดยใช้งบประมาณของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับพื้นที่และในภาพรวมของประเทศ