ThaiPublica > สัมมนาเด่น > มุมมองภาคธุรกิจไทยกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจและปัญหาคอร์รัปชัน

มุมมองภาคธุรกิจไทยกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจและปัญหาคอร์รัปชัน

25 พฤศจิกายน 2012


ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

ในแวดวงวิชาการ และวงเสวนาปัญหาคอร์รัปชันส่วนใหญ่ของประเทศไทย ตัวเลขดรรชนีที่ใช้ชี้วัดปัญหาคอร์รัปชัน ที่มักจะถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงทุกครั้งในการเสวนาเรื่องนี้คงหนีไม่พ้น ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) ที่จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International: TI) ซึ่งประเทศไทยในปี 2011 มีคะแนนจากการจัดอันดับอยู่ที่ 3.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 80 จากการจัดอันดับทั้งหมด 183 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 10 จาก 26 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย

แต่ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา ในวงเสวนา “สกัดภัยคอร์รัปชันเสริมสร้างศักยภาพธุรกิจไทย” ที่จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาคือ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัททุนภัทร จำกัด(มหาชน)และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) และ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยมีผู้ดำเนินการเสวนาคือ ดร.ชัยพัฒน์ สหัสกุล ประธานกรรมการนโยบายวิจัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้มีการพูดถึงดัชนีชี้วัดอีกตัวหนึ่ง ที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาการคอร์รัปชัน แต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงกันในวงกว้าง นั่นคือ “ดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ” (Index of Economic Freedom)

สิงคโปร์ ฮ่องกง ตัวอย่างเสรีภาพทางเศรษฐกิจ กับการเติบโต และการแก้ไขคอร์รัปชัน

ในงานเสวนา ดร.นิพนธ์ได้พูดถึงการศึกษาทางวิชาการในต่างประเทศว่า เสรีภาพทางเศรษฐกิจ และระดับการพัฒนาประชาธิปไตยภายในประเทศ มีผลสำคัญต่อการลดปัญหาคอร์รัปชัน โดยนายบรรยงได้เสริมว่า เสรีภาพทางเศรษฐกิจในที่นี้ไม่ใช่การที่เอกชนจะสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจ แต่เป็นการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจตราบที่ยังอยู่ในกรอบกติกา

สอดคล้องกับความเห็นของนายประมนต์ ที่ได้ยกตัวอย่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย คือ สิงคโปร์และฮ่องกง ที่ได้ชื่อว่ามีปัญหาการคอร์รัปชันน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยมีปัจจัยสำคัญคือการมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลสำคัญให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต (ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันในปี 2011 สิงค์โปร์อยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก มี 9.5 คะแนน ส่วนฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 12 มี 8.4 คะแนน )

จากข้อเท็จจริงของมูลนิธิ Heritage Foundation ที่เป็นผู้จัดอันดับดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ พบว่า จากผลการจัดอันดับในปี 2012 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 60 ของจากประเทศที่เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งหมด 179 ประเทศทั่วโลก เป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง ขณะที่ประเทศฮ่องกงอยู่ในอันดับที่ 1 และสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 2 เป็นประเทศที่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจสูงที่สุดของโลก

(จากนิยาม เสรีภาพทางเศรษฐกิจ คือ สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ในการควบคุมหรือเป็นเจ้าของสินทรัพย์หรือแรงงานของตนเองได้อย่างเสรี โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ และประชาชนมีสิทธิที่จะทำงาน ผลิต ลงทุน หรือบริโภคได้ตามความพึงพอใจ และเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายปัจจัยได้อย่างเสรี)

คะแนนดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจของไทย เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ (ไทย: สีแดง, ฮ่องกง: สีเขียว, สิงคโปร์: สีฟ้า, ค่าเฉลี่ย: สีดำ) ที่มา: Heritage Foundation
คะแนนดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจของไทย เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ (ไทย: สีแดง, ฮ่องกง: สีเขียว, สิงคโปร์: สีฟ้า, ค่าเฉลี่ย: สีดำ) ที่มา: Heritage Foundation

ผลกระทบของการคอร์รัปชันกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เจริญแล้วค่อยแก้ หรือแก้แล้วค่อยเจริญ?

ขณะที่ประเด็นสำคัญในวงเสวนาคือ ผลกระทบของการคอร์รัปชันกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยวิทยากรทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า การคอร์รัปชันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

นายบรรยงได้พูดถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ของประเทศอื่นในโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาการคอร์รัปชันว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะมีระดับการคอร์รัปชันที่ต่ำกว่าประเทศที่ยังไม่พัฒนาและประเทศที่กำลังพัฒนา คำถามก็คือ ต้องรอให้ประเทศเจริญก่อน คอร์รัปชันถึงจะลดลง หรือต้องลดปัญหาคอร์รัปชันก่อน ประเทศจึงจะเจริญ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วนายบรรยงเชื่อในอย่างหลัง และย้ำว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่พัฒนา

เนื่องจากความได้เปรียบในประเทศไทย สามารถซื้อหาได้จากการคอร์รัปชัน ทำให้ความจำเป็นที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองลดลง ขณะที่ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพไหลเข้าไปอยู่ในภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมด้านคอร์รัปชันสูงมาก

โดยการคอร์รัปชันที่พบมี 2 ลักษณะ คือ การซื้อความได้เปรียบ ทำให้ไม่ต้องแข่งขัน ซึ่งเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ และการซื้อความสะดวก ซึ่งพบเป็นจำนวนมากที่สุด เนื่องจากการทำงานต่างๆ มีความติดขัด จึงต้องมีการ “หยอดน้ำมัน” หรือมีค่า “น้ำร้อนน้ำชา” เพื่อให้งานเดินต่อไปได้

สอดคล้องกับความเห็นของนายประมนต์ที่เชื่อว่า ปัญหาการคอร์รัปชันจะทำให้การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น หากประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้ การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันต้องมาก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคต ที่ประเทศไทยจะมีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศอีกกว่า 2.5 ล้านล้านบาท หากมีการคอร์รัปชันเพียง 10% ก็จะเป็นเม็ดเงินมหาศาล ทำให้ต้นทุนการแข่งขันสูงขึ้น

เหมือนกับความเห็นของ ดร. นิพนธ์ที่ยืนยันว่า การคอร์รัปชันส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทส่วนใหญ่ที่ทำงานกับภาครัฐ มีการใช้อำนาจผูกขาดและเส้นสาย ทำให้ธุรกิจอื่นๆ เติบโตขึ้นมาแข่งขันไม่ได้

เพราะระบบเส้นสาย หรือระบบอุปถัมภ์ เป็นลักษณะนิสัยของประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคนี้ ที่มักจะไม่ทำอะไรอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากมีความเกรงอกเกรงใจกัน จึงไปสอดคล้องกับสมการคอร์รัปชันของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อ โรเบิร์ต คริตการ์ด (Robert Klitgaard) ที่ว่า คอร์รัปชัน = การผูกขาด + ดุลยพินิจ – ความพร้อมรับผิด (Corruption = Monopoly + Discretion – Accountability)

นายประมนต์ สุธีวงศ์
นายประมนต์ สุธีวงศ์

บทบาทภาครัฐกับการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน

ซึ่งการจะจัดการปัญหาคอร์รัปชันได้ วงเสวนาเห็นตรงกันว่า ภาครัฐถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลแก้ปัญหา โดยนายประมนต์มองว่า ถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เรื่องนี้ก็จะสำเร็จ จากประสบการณ์ของหลายประเทศ การแก้ไขปัญหานี้จะไม่สำเร็จเลยหากภาครัฐไม่เอาจริง

ขณะที่นายบรรยงเห็นว่า ในการแก้ไขปัญหานี้ ภาครัฐจะต้องวางบทบาทของตนเองให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่เข้าไปแทรกแซงตลาด เนื่องจากทั่วโลกมีการยอมรับว่า ภาครัฐไม่มีรัฐบาลที่แสนดี ไม่มีรัฐบาลที่มีความสามารถในการทำงานเท่ากับการทำงานของตลาด เพราะรัฐมีปัญหาในการทำงานที่ต้นทุนสูง คุณภาพต่ำ และไม่เพียงพอ ปัญหาการคอร์รัปชันจึงขึ้นอยู่กับขนาดของภาครัฐด้วย

ด้าน ดร.นิพนธ์ ยกตัวอย่างเรื่องนโยบายจำนำข้าว ที่ภาครัฐเข้าไปแทรกแซงเสรีภาพทางเศรษฐกิจ จากเดิมที่การซื้อขายข้าวเป็นเรื่องระหว่างเอกชนกับเอกชน ชาวนากับโรงสี การมีโครงการที่เข้าไปจัดการเรื่องการจดทะเบียน จัดการชาวนา โรงสี และโกดัง จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจในทุกขั้นตอนของการผลิต ทำให้เกิดการคอร์รัปชันที่เรียกว่า “บิลต์อินคอร์รัปชัน (built-in corruption)” ที่ไม่สามารถขยับได้ ทำได้วิธีเดียวคือการยกเลิกการจำกัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ

ปัญหาและทางออกของการคอร์รัปชันในประเทศไทย

จากความคิดเห็นในงานเสวนาทั้งหมด จึงนำไปสู่ทางแก้ที่วิทยากรแต่ละคนได้เสนอวิธีการในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันแตกต่างกันไป

นายประมนต์เสนอว่า การจะแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องมีความโปร่งใสในการทำงาน ในแต่ละโครงการต้องมีการเปิดเผยตัวเลขให้ชัด เพื่อการตรวจสอบโดยภาคส่วนต่างๆ จะได้เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน จะต้องมีการแก้ไขทัศนคติของคนในสังคม เพื่อทำให้คนไม่ยอมรับและตระหนักว่า ปัญหาการคอร์รัปชันทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ โดยภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนในด้านการเปิดโปงและสนับสนุน ส่วนหน้าที่ในการปราบปรามต้องเป็นของภาครัฐ

ส่วน ดร.นิพนธ์ เสนอให้ทำให้คนรับรู้ว่า สิ่งที่ได้จากการคอร์รัปชันมีน้อยกว่าต้นทุนที่จะเกิดขึ้นหากโดนจับได้ ขณะเดียวกันจะต้องมีการให้การศึกษาคนไปด้วย โดยยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ที่คณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ไม่ได้มีอำนาจมาก แต่สามารถจับประธานาธิบดีเข้าคุกได้เพราะมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งมาก มีภาคเอกชนลุกขึ้นมาต่อต้าน ซึ่งเหมือนเป็นการให้การศึกษากับสังคมไปในตัว

นายบรรยง พงษ์พานิช
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัททุนภัทร จำกัด (มหาชน)

และสุดท้ายคือนายบรรยง ที่เสนอให้มีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ และลดบทบาทอำนาจของภาครัฐในด้านเศรษฐกิจลง ขณะที่ในเรื่องของการปราบปราม จากประสบการณ์ของประเทศที่ทำแล้วสำเร็จ ภาครัฐจะต้องเป็นผู้ทำ และที่สำคัญ ต้องปรับทัศนคติของคนในสังคมให้ไม่ยอมรับคอร์รัปชัน แม้ในบางครั้งเรื่องนี้อาจจะมีประโยชน์ แต่คำถามคือ จะมีประโยชน์กับใคร เป็นประโยชน์ในระยะสั้นหรือระยะยาว

ซึ่งนายบรรยงเชื่อว่า แนวทางป้องกันมี 2 เรื่องที่สำคัญ คือ การปรับกระบวนการทำงาน เนื่องจากมีกระบวนการจำนวนมากที่สามารถทำให้ง่าย โปร่งใส และชัดเจนได้ การกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนจะทำให้ไม่มีการเตะถ่วงเพื่อรอการหยอดน้ำมัน และอีกแนวทางคือการ “เอาท์ซอร์ส” เช่น งานศุลกากร ที่เอาท์ซอร์สได้จะช่วยได้มาก หลายคนอาจกังวลว่าเอกชนจะไปคอร์รัปชันเอง แต่ก็มีวิธีแก้ที่ง่ายคือการล่อซื้อและปรับให้สูง ภาคเอกชนก็จะไปสร้างระบบจนไม่มีทางรั่วไหลได้เอง เหมือนอย่างเรื่องการทำหนังสือเดินทางที่เราเอาท์ซอร์สและพบว่าได้ผลดี

(ข้อเสนอเพิ่มเติมของนายบรรยง พงษ์พานิช: “บรรยง พงษ์พานิช” มายาคติ คอร์รัปชัน อนาคตประเทศไทย–ปัญหาและทางออก)