ThaiPublica > คอลัมน์ > พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.๒๔๗๘ “มือเล็กอุดตูดใหญ่”…ปิดยังไงก็ไม่อยู่

พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.๒๔๗๘ “มือเล็กอุดตูดใหญ่”…ปิดยังไงก็ไม่อยู่

16 มีนาคม 2021


ธนากร คมกฤส

พระราชบัญญัติการพนันของบ้านเราถูกวิจารณ์มากในแง่ของความเก่าแก่ เพราะถูกตราขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 นับเป็นเวลากว่า 80 ปี แม้จะถูกปรับปรุงแก้ไขบ้างในระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ก็มักจะเป็นการปรับแก้ในรายละเอียดที่ไม่ใช่สาระหลัก

แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครตั้งข้อสังเกต คือ พ.ร.บ.การพนัน 2478 เป็นกฎหมายที่มีขนาดเล็กมาก มีทั้งหมดเพียง 17 มาตรา เทียบกับภารกิจ “รับมือกับการพนัน” ซึ่งถือเป็นอบายมุขมวลใหญ่ จึง เปรียบเสมือนการเอามือเล็กที่ต้องไปปิดตูดใหญ่ ซึ่งไม่น่าเพียงพอจะรับมือได้

หากลองเทียบกับกฎหมายอบายมุขตัวอื่น เช่น เหล้า บุหรี่แล้ว ขนาดของพ.ร.บ.พนัน มีขนาดที่ต่างกันมากกับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งมีความใหม่กว่า มีแนวคิดที่ชัดเจนกว่า มีบทลงโทษที่รุนแรงกว่า มีมิติการทำงานที่หลากหลายกว่า และมีโครงสร้างกฎมายที่แข็งแรงกว่า (แสดงดังตาราง)

จากตารางขอจะขยายความให้เห็น “จุดอ่อน” ของพ.ร.บ.การพนันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้

หนึ่ง พ.ร.บ.พนัน = “มือเล็ก”

ความเล็กของพ.ร.บ.การพนัน 2478 นอกจากจะอยู่ที่การมีเพียง 17 มาตรา ขณะที่พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มี 45 มาตรา และพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มี 74 มาตรา (เนื่องจากเป็นการแก้ไขปรับปรุงเพื่อควบรวมกฎหมายสองฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2535 และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ 2535 เข้าไว้เป็นฉบับเดียวกัน)

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ พ.ร.บ.ทั้งสองต่างมีฐานคิดที่ชัดเจนในการจะ “ควบคุม” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ จึงกำหนด “กลไกการควบคุม” ไว้อย่างแข็งแรง คือ

    ก) คณะกรรมการกำหนดนโยบายระดับชาติ เป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์และกำกับทิศทาง
    ข) คณะกรรมการควบคุม เป็นผู้กำกับดูแลความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ และกำกับการทำงานของหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย
    ค) สำนักงานคณะกรรมการ เป็นมือไม้ในการลงมือทำ โดยมีกลไกผู้รับผิดชอบลงไปถึงระดับจังหวัด ที่สามารถตรวจสอบความรับผิดชอบไปได้ตลอดสาย “เป็นมือไม้ที่มีขนาดใหญ่”

ขณะที่พ.ร.บ.การพนันมีมือที่ขนาดเล็กมาก ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นจริง ทำให้การพนันจำพวกต้องห้ามทั้งหลายลักลอบเล่นกันเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมืองอย่างที่รู้ ๆ กันอยู่

สอง พ.ร.บ.พนัน = “มือเดียว”

อีกความแตกต่างหนึ่งของ พ.ร.บ.การพนัน 2478 กับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ คือ การมีมิติการทำงานด้านการปกครองเพียงด้านเดียว คิดเพียงแค่ “ห้าม” หรือ “ให้” เล่นการพนันเท่านั้น โดยไม่ได้คิดจะทำงานกับการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพนันเลย

ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับอีกสองพ.ร.บ.ที่กล่าวมา จะเห็นว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีหมวดที่ว่าด้วย “การบำบัดรักษาหรือฟื้นฟู” และพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบมีหมวดที่ว่าด้วย “การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่” อันเป็นการเติมมิติการทำงานด้านสุขภาพลงไปด้วย

เพราะในความเป็นจริงการพนันไม่ว่าจะเป็นการพนันประเภท “ต้องห้าม” หรือ “ไม่ห้าม” ล้วนสามารถส่งผลมากกว่าการเสียเงินทองของมีค่า แต่ส่งผลต่อความเครียดและคุณภาพชีวิตของผู้คน ทั้งในแง่ประสิทธิภาพการใช้ชีวิตประจำวัน และความสัมพันธ์ในครอบครัว อันเกิดจากการเล่นพนันจนเป็นปัญหา ยิ่งในปัจจุบันที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ “การติดพนันเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากอาการสมองติดการพนัน” ด้วยแล้ว ก็สมควรอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มมิติการทำงานด้านสุขภาพในกระบวนการทำงานควบคุมการพนัน

สาม พ.ร.บ.พนัน = “มือเบา”

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์พ.ร.บ.การพนัน 2478 กันค่อนข้างมาก คือ การมีบทลงโทษที่เบา โดยมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 ไปจนถึง 5,000 บาทเท่ากันทั้งฝ่าย “เจ้ามือ” “ผู้โฆษณาชักชวน” และ “ผู้เข้าเล่น” ซึ่งจริง ๆ แล้วน่าจะมีฐานความผิดที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะโทษของเจ้ามือ

ทั้งหลายทั้งปวงน่าจะมาจากสาเหตุสำคัญ คือ การ “คิดไม่ขาด” กับการพนัน ไม่ฟันธงให้ชัดว่าการพนันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สร้างผลกระทบได้หลายทางและหลายทอด ฉะนั้น ต้อง “ควบคุม” อย่างแข็งแรง ไม่ต่างจากหลักคิดในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ

หากพ.ร.บ.การพนัน 2478 ไม่ถูกแก้ไขปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ ก็คงเป็นเพียง “มือเล็กอุดตูดใหญ่” ที่ถึงอย่างไรก็ปิดปัญหาไว้ไม่อยู่ ปล่อยให้การพนันเต็มบ้านเกลื่อนเมืองต่อไป