ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > ไทยเตรียมเสนอ BCG Economy โมเดลในที่ประชุมผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียว

ไทยเตรียมเสนอ BCG Economy โมเดลในที่ประชุมผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียว

30 พฤษภาคม 2021


ที่มาภาพ:
https://setkab.go.id/en/indonesia-to-host-p4g-in-2022/
นายกฯ เตรียมเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียว และเป้าหมายโลกปี ค.ศ. 2030 (P4G) ครั้งที่ 2 เน้นย้ำการเจริญเติบโตที่เสริมสร้างความสมดุลกับธรรมชาติ และโมเดลเศรษฐกิจ BCG

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตสีเขียว และเป้าหมายโลกปี ค.ศ. 2030 ครั้งที่ 2 ( 2nd Partnering for Green Growth and Global Goals 2030 Summit : 2nd P4G Summit) ซึ่งประเทศเกาหลีใต้จะเป็นเจ้าภาพ ภายใต้หัวข้อหลัก “การฟื้นฟูสีเขียวอย่างครอบคลุมเพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Inclusive Green Recovery towards Carbon Neutrality) ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เวลา 20.00 น. เวลาประเทศไทย ผ่านระบบการประชุมทางไกล

กรอบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตสีเขียวและเป้าหมายโลกปี ค.ศ. 2030 เป็นกลุ่มความร่วมมือพหุภาคีที่ริเริ่มเมื่อปี 2560 ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เวียดนาม ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เอธิโอเปีย เคนยา และแอฟริกาใต้ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนเชิงนวัตกรรมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ด้วยการระดมทุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรอิสระด้านการพัฒนา และการเชื่อมโยงโครงการเพื่อการพัฒนาของประเทศสมาชิกกับความร่วมมือใน 5 สาขาหลัก ได้แก่ (1) อาหารและการเกษตร (2) น้ำสะอาด (3) พลังงานสะอาด (4) เมืองยั่งยืน และ (5) เศรษฐกิจหมุนเวียน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/news/contents/index/1226

สำหรับประเด็นที่ไทยจะให้ความสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่
1) การฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ให้กลับมาเข้มแข็ง สอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDGs และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
2) เน้นการเสริมสร้างการเจริญเติบโตที่มีสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยนำเสนอการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG)
3) ขับเคลื่อนความร่วมมือจากทุกภาคส่วนผ่านกลไกจตุภาคี คือ รัฐ-เอกชน-วิชาการ-ประชาชน และให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ
4) สนับสนุนให้ทุกประเทศร่วมแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีสีเขียวระหว่างกันผ่านช่องทางทวิภาคี ไตรภาคี และพหุภาคี เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตสีเขียวอย่างแท้จริง ส่งเสริมความเท่าเทียมและการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ เดิมทีเกาหลีใต้กำหนดจัดการประชุมระดับผู้นำ P4G ครั้งที่ 2 ในวันที่ 29-30 มิถุนายน 2563 ณ กรุงโซล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ตอบรับคำเชิญของนายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ในปี 2563 เกาหลีใต้จึงเลื่อนการจัดการประชุม P4G ครั้งที่ 2 มาเป็นระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2564 ในรูปแบบการประชุมทางไกล และคาดว่าจะมีการรับรองร่างปฏิญญากรุงโซล (Seoul Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำประเทศที่ร่วมการประชุม P4G ครั้งที่ 2 นี้ด้วย