ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ไม่ห่วงเสียงโหวตในสภา-แก้โควิดฯ ดูตัวอย่าง ตปท.-มติ ครม.เพิ่มเยียวยา ม.39-40 เป็น 77,785 ล้าน

นายกฯ ไม่ห่วงเสียงโหวตในสภา-แก้โควิดฯ ดูตัวอย่าง ตปท.-มติ ครม.เพิ่มเยียวยา ม.39-40 เป็น 77,785 ล้าน

30 สิงหาคม 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ พร้อมรับศึกซักฟอก แก้โควิดฯ ดูแบบอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ-ไม่ห่วงเสียงโหวตในสภา-ย้ำดำเนินคดี “ผู้กำกับโจ้” ตามกฎหมาย — มติ ครม. เพิ่มวงเงินเยียวยา ม.39-40 ในพื้นที่ 29 จังหวัด เป็น 77,785 ล้าน ไฟเขียวแผนพัฒนา ศก.ฐานราก 1,766 โครงการ 2,909 ล้าน

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. วันนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้มอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน

สั่งทุกหน่วย-ฝ่ายความมั่นคง ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม เตรียมมาตรการรองรับ และให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ทหารหรือตำรวจ เข้าไปสนับสนุนด้วย

ยัน “ไฟเซอร์” 30 ล้านโดส ทยอยส่งตั้งแต่ ก.ย. นี้

เมื่อถามว่าวัคซีนไฟเซอร์จะมีการส่งมอบกันในเดือนกันยายนนี้หรือไม่นั้น ดร.ธนกรกล่าวว่า ตามรายงาน ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ได้ประมาณการณ์ว่าวัคซีนไฟเซอร์จะมาถึงไทย 30 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 ก็จะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามา 30 ล้านโดส

ย้ำดำเนินคดี “ผกก.โจ้” ตาม กม. เผยปฏิรูปตำรวจอยู่ในชั้น กมธ.

ส่วนประเด็นการดำเนินคดีผู้กำกับโจ้ ดร.ธนกรตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรีว่า “ทุกอย่างดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรม บางครั้งเป็นเรื่องการขาดจิตสำนึกของบุคคล ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้กำชับให้มีการลงโทษทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำผิดมาโดยตลอด ในส่วนของการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาตินั้น ขณะนี้พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. นำเสนอสภาฯ ไปแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา”

ไม่ห่วงเสียงโหวตในสภา แก้โควิดฯ ดูตัวอย่าง ตปท.

ดร.ธนกร ตอบข้อซักถามเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ว่า นายกรัฐมนตรีพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยเจตนาบริสุทธ์ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำงานในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาโควิด-19 ก็ดำเนินการตามที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอ และร่วมหารือทุกฝ่าย รวมถึงการดูแบบอย่างความสำเร็จจากต่างประเทศในการควบคุมโรค ทุกอย่างก็เป็นไปตามข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องเสียงโหวตในสภาผู้แทนราษฎรนั้น ก็เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย และเป็นไปตามกลไกของรัฐสภา คงไม่น่าห่วงอะไร

วอนผู้ชุมนุมอย่าทำผิด กม.-ละเมิดสิทธิผู้อื่น

ประเด็นสุดท้ายคือการนัดชุมนุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 2-3 กันยายน 2564 ดร.ธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายดูแลประชาชน และขอความร่วมมือว่าอย่าทำผิดกฎหมาย อย่าละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพราะการชุมนุมเป็นกระบวนการตามประชาธิปไตย แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น จึงมอบให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติกับผู้ชุมนุมตามหลักสากล ฝากไปถึงประชาชนให้ระมัดระวัง

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

อนุมัติงบฯ 4,745 ล้าน จัดซื้อ “ไฟเซอร์” 10 ล้านโดส

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. อนุมัติวงเงิน 4,745 ล้านบาท สำหรับการจัดซื้อ วัคซีน ไฟเซอร์ จำนวน 9,998,820 โดส เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคแก่กลุ่มเป้าหมายหลัก 6 กลุ่ม ได้แก่ เด็กอายุ 12-17 ปี / หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป / บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า (ฉีดกระตุ้นภูมิเข็มที่หนึ่ง) / ผู้สูงอายุและผู้มีและกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง / ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง และผู้ที่มีความจำเป็นต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬานักการทูต เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้

ดร.ธนกรกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 แล้วจำนวน 80 ล้านโดส วงเงิน 22,990 ล้านบาท แบ่งเป็นการจัดซื้อจัดหาวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส, ซิโนแว็ก จำนวน 19 ล้านโดส และบริษัทไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดส ซึ่งการจัดซื้อไฟเซอร์จำนวน 9.9 ล้านโดสนี้ ช่วยให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนจำนวนอย่างน้อย 100 ล้านโดสภายในปี 2564 เพื่อช่วยประชาชนให้เข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐ สร้างภูมิคุ้มกันโรค ลดอัตราการป่วยและการเสียชีวิต รวมทั้งเป็นการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็วด้วย

เพิ่มเงินเยียวยา ม.39-40 ในพื้นที่ 29 จว.เป็น 77,785 ล้าน

ดร.ธนกรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติขยายกรอบวงเงินเพิ่มจำนวน 44,314 ล้านบาท เป็นจำนวน 77,785 ล้านบาท จากเดิม 33,471 ล้านบาท สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัด รวม 9,385,930 คน ได้แก่ ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,436,171 คน และผู้ประกันตน มาตรา 40 จำนวน 7,949,759 คน อัตราการให้ความช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน

ทั้งนี้ จากการขยายระยะเวลาให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ในพื้นที่ 3 จังหวัด ให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนรายใหม่ได้ ตั้งแต่วันที่ 1- 24 สิงหาคม และ พื้นที่ 16 จังหวัด ให้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนรายใหม่ได้ ตั้งแต่วันที่ 4-24 สิงหาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งขยายการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน

ไฟเขียวพัฒนา ศก.ฐานราก 1,766 โครงการ 2,909 ล้าน

ดร.ธนกรกล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติกรอบวงเงิน 2,909 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ครั้งที่ 3 จำนวน 1,766 โครงการ ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อำนาจเจริญ พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี และสระแก้ว ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน 29,765 คน และมีผู้ที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 3,535,704 คน หรือไม่น้อยกว่า 8,354 ครัวเรือน รวมทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้า ทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจในหมู่บ้านและชุมชนด้วย

ทั้งนี้ 1,766 โครงการ ครอบคลุม 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1) กลุ่มพัฒนาสินค้า ท่องเที่ยวบริการ และการค้า จำนวน 2 โครงการ 2) กลุ่มยกระดับประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการเกษตร จำนวน 28 โครงการ 3) กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน จำนวน 14 โครงการ และ 4) กลุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชุมชน จำนวน 1,722 โครงการ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,766 โครงการ

ผ่านร่าง กม.พัก-ลดโทษจำคุก ลดความแออัดในเรือนจำ

ดร.ธนกรกล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง กำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก หรือการพักการลงโทษ และได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กำหนดให้นักโทษเด็ดขาด ตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไปสามารถได้รับการพิจารณาให้พักการลงโทษจำคุกได้ และให้นักโทษเด็ดขาดที่กระทำผิดซ้ำ สามารถเสนอขอรับการพิจารณาพักการลงโทษกรณีปกติได้ ทั้งนี้ มาตรการนี้จะช่วยบรรลุวัตถุประสงค์ตามภารกิจของกรมราชทัณฑ์ในการควบคุม และป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและกำหนดให้นักโทษเด็ดขาดได้รับประโยชน์ต่างๆ เป็นการคืนคนดีสู่สังคม

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง ให้ยกเลิกบทบัญญัติของข้อ 41 แห่งกฎกระทรวงการกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก หรือ การพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 เพื่อขยายโอกาสให้นักโทษเด็ดขาดซึ่งกระทำผิดซ้ำเสนอขอพักการลงโทษในกรณีปกติได้ และแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 42 โดยให้นักโทษเด็ดขาดตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไป สามารถได้รับการพิจารณาให้พักการลงโทษจำคุกได้ไม่เกินหนึ่งในสามของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาดเดิม กำหนดให้นักโทษเด็ดขาดชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยมเท่านั้น และหากมีการพระราชทานอภัยโทษ ให้ถือกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฉบับหลังสุด

“กระทรวงยุติธรรมได้ศึกษาแนวทางเพื่อการแก้ไขปัญหาความแออัดในเรือนจำ โดยสร้างโอกาสให้กับนักโทษเด็ดขาดที่ต้องโทษจำคุกมาพอสมควรแล้ว อาจได้รับการพิจารณาพักการลงโทษ เพื่อให้สามารถปรับตัวก่อนเข้าสู่สังคมและสามารถกลับตัวเป็นคนดีมีคุณค่าสู่สังคม ทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขังตามหลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาด้วยใช้มาตรการทางกฎหมาย” ดร.ธนกรกล่าว

ผ่านแผนขับเคลื่อน “อี-คอมเมิร์ซ” ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่า 5.3 ล้านล้านในปีหน้า

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564-2565) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ กำหนดให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของประเทศไทยภายใต้ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล (digital economy) โดยมีเป้าหมาย คือ

    1. มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565
    2. มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปีในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565
    3. มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนด้านการขายต่างประเทศ (outbound cross border e-commerce) เติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565
    4. มีการเชื่อมโยงข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาครัฐและเอกชน และเกิดการบูรณาการในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ร่วมกัน
    5. จำนวนการออกเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD registered) ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ราย

สำหรับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการจะดำเนินการภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (e-marketplace) เพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศและการค้าพรมแดน (enhancement and promotion) ตัวชี้วัด เช่น 1) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปีพ.ศ.2565 2) ผู้ประกอบการที่พัฒนา e-commerce platform ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้จดทะเบียนนิติบุคคลและเป็นของคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในทุกด้านให้พร้อมรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ecosystem and enabling factors) ตัวชี้วัด เช่น สภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT โลจิสติกส์ การเงิน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับการพัฒนาอย่างน้อย 10 โครงการต่อปี

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (trust and sustainability) ตัวชี้วัด เช่น จำนวนการออกเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD registered) ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ราย

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (competency building) ตัวชี้วัดเช่น 1) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศของผู้ประกอบการ SMEs เติบโตขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อ 2) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนด้านการขายต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี

ดร.รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การอำนวยความสะดวกด้านการจัดเก็บภาษี การเชื่อมโยงกับบริการของรัฐแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามได้โดยสะดวก ไม่ซ้ำซ้อน และมีภาระการดำเนินการน้อยที่สุด รวมทั้งพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่สามารถยุติข้อร้องเรียนและเยียวยาผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมการประกอบธุรกิจในเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการประกอบธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

เดินหน้า “ASEAN+2” ดึง “จีน-สหรัฐ” ร่วมหารือ

ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ของความสัมพันธ์ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ที่จัดประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งผลการประชุมมีสาระสำคัญ อาทิ

    1. การผลักดันการยกระดับสถานะความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเล ซึ่งไทยได้นำเสนอดังนี้ 1) รายชื่อโครงการความร่วมมืออาเซียนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน จำนวน 30 โครงการ 2) การแสวงหาความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (bio-circular-green economy: BCG) และ 3) แนวคิดเรื่องอาเซียนบวกสอง (ASEAN+2) เพื่อเป็นเวทีให้สหรัฐอเมริกาและจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการหารือกับอาเซียนในประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญและมีผลกระทบต่อภูมิภาคโดยตรง
    2. การสนับสนุนเงินช่วยเหลือเวชภัณฑ์และวัคซีนจากจีน เพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยประเทศสมาชิกอาเซียนยินดีต่อการสนับสนุนช่วยเหลือเวชภัณฑ์และวัคซีนจากจีน
    3. การใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน เร่งรัดการให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และขยายความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงระหว่างกันทั้งในอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเศรษฐกิจดิจิทัล
    4. การสนับสนุนการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้อย่างเต็มที่ และเห็นพ้องร่วมกันให้สานต่อการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีประสิทธิภาพ มีเนื้อหาที่ครอบคลุมกฎหมายระหว่างประเทศ
    5. การร่วมออกถ้อยแถลงร่วมของการประชุมฯ

สำหรับผลการหารือทวิภาคีมีผลการหารือที่สำคัญ เช่น 1) การจัดหาวัคซีนและความร่วมมือด้านการผลิตวัคซีนกับจีน และไทยขอให้จีนติดตามการพิจารณาประเด็นการเดินทางกลับจีนของนักศึกษาไทย และการกลับไปทำการบินเชิงพาณิชย์ของการบินไทย 2) การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโครงการรถไฟไทย-จีนกับโครงการรถไฟไทย-ลาว 3) การป้องกันการลักลอบข้ามแดนอย่างผิดกฎหมาย และ 4) การบรรจุถนนสาย R12 (นครพนม-คำม่วน) เป็นส่วนหนึ่งของความตกลงว่าด้วย การอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

เผยโรงงานเข้าร่วม “Factory Sandbox” 46 แห่ง ดูแลคนงานกว่า 9 หมื่นคน

ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการนำร่องการป้องกันและการควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งโครงการนี้เป็นการดำเนินการภายใต้แนวคิด “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” โดยมุ่งเน้นให้สถานประกอบการ กิจการ โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ (แรงงาน 500 คนขึ้นไป) ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับการดำเนินการโครงการ Factory Sandbox ในพื้นที่เป้าหมาย จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี ระยะที่ 2 อยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ซึ่งจะมุ่งเป้าไปยังกลุ่มสถานประกอบการ 4 ประเภทอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. ยานยนต์ 2. ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ 3. อาหาร และ 4. อุปกรณ์การแพทย์ โดยขับเคลื่อนภายใต้ 4 หลักการสำคัญ คือ

    1. ตรวจ ดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR แรงงานในสถานประกอบการทุกคน เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจโดยชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
    2. รักษา สถานประกอบการจัดให้มีสถานพยาบาลขึ้นดังนี้ 1) สถานแยกกักตัว (factory isolation: FAI) และ hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว 2) โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และ 3) ICU สำหรับผู้ป่วยสีแดง
    3. ดูแล ดำเนินฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้อง และออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน
    4. ควบคุม ให้สถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (bubble and seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT)

ข้อมูลเบื้องต้น ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2562 มีสถานการประกอบการร่วมโครงการ โดยลงนามทำข้อตกลง (MOU) แล้วจำนวน 46 แห่ง และมีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง สามารถดูแลผู้ประกันตนได้จำนวน 9.2 หมื่นคน นอกจากนี้ การดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด19 ด้วยวิธี RT-PCR ได้ดำเนินการตรวจเชื้อในสถานประกอบการแล้วจำนวน 11 แห่ง มีผู้ประกันตนที่ได้รับคัดกรอง จำนวน 1.2 หมื่นคน

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า การดำเนินโครงการ Factory Sandbox นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการ 1) รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตส่งออก ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 7 แสนล้านบาท 2) ป้องกันคลัสเตอร์โรงงานจากการติดเชื้อ สร้างสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุขและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ 3) สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 4) รักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิตส่งออกได้กว่า 3 ล้านตำแหน่ง และจากที่เริ่มดำเนินโครงการ สมาคมผู้ประกอบการญี่ปุ่นในพื้นที่ชลบุรี-ระยอง ได้ทำหนังสือขอบคุณมายังนายกรัฐมนตรีด้วย

รับทราบผลประกอบการ “MTJA” ปี’63 รายได้สุทธิ 505 ล้านเหรียญ

ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานประจำปีและรายงานงบการเงินขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJA) ประจำปี 2563 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการรายงานกิจกรรมสำคัญที่ได้ดำเนินการในช่วงปี 2563 เช่น กิจกรรมด้านการสำรวจ การผลิตปิโตรเลียม และการกำกับดูแลด้านอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งอยู่บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง จำนวน 2 แปลง มีการผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยวันละ 925.39 ล้านลูกบาศก์ฟุต

ทั้งนี้ องค์กรร่วมฯ ในปี 2563 มีการผลิตก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งสิ้น 338.70 พันล้านลูกบาศก์ฟุต มีรายได้จากการขายปิโตรเลียม จำนวน 1,663.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นรายได้สุทธิจำนวน 505.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สถานะของกองทุนองค์กรร่วมฯ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 รวมทั้งสิ้น 867.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการนำส่งรายได้ให้รัฐบาลทั้งสองประเทศจากการขายปิโตรเลียมของเดือนพฤศจิกายน 2562 – ตุลาคม 2563 รวม 780.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายได้ที่นำส่งให้รัฐบาลทั้งสองประเทศ นับตั้งแต่เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2548 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 รวมเป็นเงิน 11,569.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แก้ระเบียบจัดซื้อ หนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม-อุตฯ การบิน

ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดพัสดุ และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 เพื่อกำหนดประเภทของพัสดุกิจการที่รัฐต้องการส่งเสริมเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับพัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพ พัสดุการเรียนการสอน พัสดุส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ พัสดุส่งเสริมความมั่นคงด้านความปลอดภัยทางอาหารและสินค้าเกษตร และประเภทของที่ปรึกษาที่รัฐต้องการส่งเสริม หรือ สนับสนุน โดยกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุและบริการดังต่อไปนี้ สามารถทำด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงหรือจะใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีการคัดเลือกก็ได้

    1. จัดจ้างผลิตชิ้นงาน หรือบริการที่ผลิตหรือที่จัดทำขึ้นจากวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมอย่างถูกต้อง (หมวดพัสดุวิสาหกิจและการประกอบอาชีพ)
    2. จัดจ้างผลิตอากาศยาน อากาศยานไร้คนขับ ดาวเทียม และอุปกรณ์ รวมถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับยานอวกาศหรือยาวอวกาศ ตลอดจนระบบบริหารคลังพัสดุ ระบบคลังอาวุธ และระบบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของบริษัทอุตสาหกรรมการบินจำกัด (หมวดพัสดุการเรียนการสอน)
    3. จัดจ้างงานจ้างบริการเกี่ยวกับไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยให้งานบริการเกี่ยวกับไฟฟ้ามีลักษณะเหมือนกับการให้บริการของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (หมวดพัสดุส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ)
    4. จัดจ้างอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ (หมวดพัสดุส่งเสริมความมั่นคงด้านความปลอดภัยทางอาหารและสินค้าเกษตร)
    5. กำหนดให้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ มูลนิธิเพื่อสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นที่ปรึกษาที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ประเภทที่ปรึกษาที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ

ขยายเวลาบริจาคเงิน กสศ. หักภาษี 2 เท่า 3 ปี

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการขยายเวลามาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งจะออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว

มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ของจำนวนเงินที่บริจาค สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-donation) ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ซึ่งมาตรการเดิมสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563

ทั้งนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ระบุว่า ในการตรวจพิจารณาครั้งนี้ ได้ตัดกรณีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาออก เนื่องจากกระทรวงการคลังประสงค์จะยกเว้นเฉพาะภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น

จัดงบฯ ฉุกเฉิน 105 ล้าน ให้กรมประชาสัมพันธ์ “รณรงค์เอาชนะโควิด”

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 105.59 ล้านบาท ให้กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการรณรงค์เอาชนะโควิดตามมาตรการเร่งด่วน (Thailand Prevention) สำหรับผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์เพื่อการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบอันเนื่องมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เฉพาะกิจกรรมที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการในระยะเร่งด่วน หรือภายในเดือนธันวาคม 2564 โดยคำนึงถึงความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้ กรมประชาสัมพันธ์ระบุว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบมหาศาลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งเกิดการเผยแพร่ข่าวปลอม การบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร (fake news) เป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เข้าใจผิด และอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งบานปลายได้

ดังนั้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว รวมทั้งการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ มาตรการแก้ไขปัญหา วิธีปฏิบัติตน และการรับการเยียวยาจากภาครัฐ จึงเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นเร่งด่วน ที่กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะหน่วยงานสื่อภาครัฐต้องเร่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานสื่อทุกภาคส่วนของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาพรวมประสบความสำเร็จ สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อ สร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน

เห็นชอบแผนขับเคลื่อนบริหารจัดการน้ำ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมอบหมายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการดังนี้

    1. เรื่องมาตรการรับมือฤดูฝน 10 มาตรการ เช่น ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ, บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก, ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ, เตรียมพร้อม วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่ฝนน้อยกว่าค่าปกติ, ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 625 แห่ง ดำเนินการไปแล้ว 400 แห่ง , ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา เป็นต้น
    2. การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำผ่านระบบบริหารจัดการ แผนงานโครงการ และฐานข้อมูลสำหรับบูรณาการแผนงานเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ หรือระบบ Thai Water Plan (TWP)
    3. เรื่องการจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำผ่านระบบ Thai Water Resources (TWR)
    4. เรื่องแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการขนาดเล็กด้านทรัพยากรน้ำ และ
    5. เรื่องการทบทวนบทบาทภารกิจหน่วยงานในการบริหารทรัพยากรน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นเป้าหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561-2580)

แก้ กม.เคลียร์ปัญหา “e-Service” แล้ว 48 ฉบับ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานผลการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) พร้อมเห็นชอบมาตรการเร่งรัดให้หน่วยงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการใช้บริการ e-service และแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบ ตามที่ ก.พ.ร. รายงานสถานะความก้าวหน้า ณ เดือนมิถุนายน 2564

ทั้งนี้ ก.พ.ร. ระบุว่า ภายหลังจากที่ ครม. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) และให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแนวทางที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ซึ่ง ก.พ.ร. ได้ดำเนินการตามมติ ครม. แล้ว โดยแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบจำนวน 84 ฉบับ ซึ่งมีความก้าวหน้าดังนี้

กฎหมายและกฎระเบียบที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 จำนวน 23 ฉบับ สามารถดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จรวม 19 ฉบับ อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 4 ฉบับ และมีหน่วยงานที่สามารถดำเนินการแก้ไขกฎหมายเสร็จก่อนเวลาที่กำหนด 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, กรมสรรพสามิต, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมประชาสัมพันธ์, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม

สำหรับกฎหมายและกฎระเบียบในภาพรวมทั้ง 84 ฉบับ สามารถแยกออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ดำเนินการเสร็จแล้วจำนวน 48 ฉบับ, กลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งได้จัดรับฟังความคิดเห็นหรือทบทวนแก้ไขเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างเสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายพิจารณาจำนวน 12 ฉบับ และกลุ่มที่อยู่ระหว่างรวบรวมปัญหาและอุปสรรค หรือรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนแก้ไขจำนวน 24 ฉบับ

อย่างไรก็ตาม ก.พ.ร. เห็นควรกำหนดมาตรการให้หน่วยงานเร่งดำเนินการดังนี้

    1. ให้หน่วยงานที่แก้ไขกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว เร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการใช้บริการ e-service ของหน่วยงาน
    2. กลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้เร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานเป็นระยะ และ
    3. กลุ่มที่อยู่ระหว่างรวบรวมปัญหาและอุปสรรค ให้เร่งดำเนินการทบทวนเพื่อแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค โดยรวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ประเด็นที่ต้องการขอรับการสนับสนุนหรือคำปรึกษาจากสำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำแผนและระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในการแก้ไขกฎหมายและให้สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานให้เป็นไปตามแผน

ผ่านแผนฟื้นฟูท่องเที่ยวอาเซียน 5 เสาหลัก หลังโควิดฯ คลี่คลาย

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และถ้อยแถลงข่าวร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนว่าด้วยเรื่องแผนฟื้นฟูฯ ดังกล่าว พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้การรับรองผลการศึกษาฉบับสุดท้ายของแผนฟื้นฟูฯ และถ้อยแถลงข่าวร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน

สำหรับผลการศึกษาฉบับสุดท้ายของแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2564 ของบรูไนดารุสซาลาม รวมทั้งเป็นแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นคืนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และได้มีการพัฒนาสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียนปี 2559-2564 และปฏิญญาพนมเปญมุ่งสู่การท่องเที่ยวอาเซียนที่ยั่งยืน ครอบคลุม และฟื้นตัวได้เร็ว โดยผลการศึกษาดังกล่าวประกอบด้วยข้อเสนอแนะและแนวปฏิบัติ 5 เสาหลัก

เสาหลักที่ 1 สนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยการฟื้นฟูและการปรับตัว เช่น สนับสนุนทางการเงินเพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจท่องเที่ยวในระยะสั้น การจัดฝึกอบรมและพัฒนาทักษะที่เหมาะสม เป็นต้น

เสาหลักที่ 2 ฟื้นฟูการเดินทางภายในภูมิภาคและระหว่างประเทศอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ เช่น ส่งเสริมภูมิภาคอาเซียนในวงกว้างเพื่อเปิดการเดินทางอีกครั้ง ส่งเสริมมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านสุขภาพและความปลอดภัยในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น

เสาหลักที่ 3 สร้างความมั่นใจในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามหลักการของความยั่งยืนและมีความครอบคลุม เช่น สร้างมาตรฐานใหม่ที่มุ่งสู่ความสำเร็จของภาคการท่องเที่ยว โดยศึกษาพัฒนาตัวชี้วัดด้านการท่องเที่ยวอาเซียน และการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว วางรากฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับมาตรฐานและแนวทางความยั่งยืนของอาเซียนด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

เสาหลักที่ 4 นำเสนอรูปแบบใหม่ของการบริการด้านการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนการแข่งขัน เช่น ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน เพื่อตอบสนองแนวโน้มการท่องเที่ยวใหม่ๆ ผ่านกองทุนพิเศษสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัป การเสริมสร้างศักยภาพ และการสนับสนุนทางการตลาดสำหรับภาคธุรกิจ รวมทั้งการเปิดตัวโครงการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และแหล่งท่องเที่ยวที่ยังมีการเข้าถึงน้อย เป็นต้น และ

เสาหลักที่ 5 สนับสนุนการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็วในระยะยาว และการเตรียมความพร้อมในภาวะวิกฤติ เช่น จัดทำโครงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเดินทางและการท่องเที่ยว ผ่านการติดตามและสนับสนุนการจัดทำรายงานสรุปผลประจำปีของผลกระทบด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในอาเซียน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่คณะสื่อสารในภาวะวิกฤติการท่องเที่ยวอาเซียน รวมถึงยกระดับการใช้งานและความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการท่องเที่ยว ผ่านการใช้งานและจัดเก็บข้อมูลแบบ big data เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบ machine learning เป็นต้น

ตั้ง “เฉลิมพล เพ็ญสูตร” ผอ.สำนักงบฯ – โยก “สุรสีห์ กิตติมณฑล” นั่งเลขาฯ สทนช.

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้ง วันที่ 30 สิงหาคม 2564 ดังนี้

1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการและสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

    1. นายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการท่องเที่ยว
    2. นายอารัญ บุญชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 8 ราย เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้

    1. นายอรรถพล สังขวาสี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
    2. นายวัลลพ สงวนนาม ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
    3. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
    4. นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    5. นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง
    6. นายสวัสดิ์ ภู่ทอง ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
    7. เรืออากาศโท สมพร ปานดำ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณกรรมการการอาชีวศึกษา
    8. นายพีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงบประมาณเสนอแต่งตั้งนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เสนอรับโอน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งที่จะเกษียณอายุราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

5. เรื่อง ให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี จำนวน 3 ราย ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งหนึ่งปี โดยลำดับที่ 1 – 2 ในวันที่ 2 กันยายน 2564 และลำดับที่ 3 ในวันที่ 15 กันยายน 2564 คงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่ออีกหนึ่งวาระ ดังนี้

    1. นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
    2. นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
    3. นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน

โดยให้ลำดับที่ 1 – 2 มีผลตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564 และลำดับที่ 3 มีผลตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2564

6. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

7. เรื่อง การพิจารณาอนุมัติให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเลขาธิการ กปร. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายลลิต ถนอมสิงห์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เลขาธิการ กปร.) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 30 สิงหาคม 2564เพิ่มเติม