วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ส่วนหนึ่งของธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยแตก ทำให้เกิดหินถล่ม โคลน น้ำและเศษซากต่างๆ ที่กวาดพัดพาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ส่งผลให้มีผู้สูญหายอย่างน้อย 140 คน และทางการกำลังดำเนินการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยครั้งใหญ่ในทางตอนเหนือของอินเดีย
วิดีโอที่บันทึกโดยผู้เห็นเหตุการณ์จากทั่วทั้งหุบเขา แสดงให้เห็นว่ามีน้ำและเศษขยะไหลผ่านเขื่อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังน้ำฤษีคงคา (Rishi Ganga) ห่างจากนิวเดลีไปทางเหนือ 300 ไมล์
“มันมาเร็วมากไม่มีเวลาแจ้งเตือนใคร” นายซานเจย์ ซิงห์ รานา ชาวบ้านในแถบนั้นกล่าวกับรอยเตอร์ “ผมรู้สึกว่าเราอาจจะถูกพัดพาไปได้”
คนที่สูญหายจำนวนมากเชื่อว่าเป็นคนงานที่เขื่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าขณะนี้มีการกู้ศพผู้เสียชีวิตได้แล้ว 9 รายและมีผู้สูญหายอย่างน้อย 140 คน นายทริเวนทรา ซิงห์ ราวัต มุขมนตรีของรัฐอุตตราขัณฑ์ของอินเดียกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า จำนวนผู้สูญหายอาจสูงขึ้น
นายอโศก กุมาร ผู้บัญชาการตำรวจของรัฐอุตตราขัณฑ์ กล่าวว่า ผู้สูญหายส่วนใหญ่เป็นคนงานในโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอันเนื่องจากธารน้ำแข็งก้อนใหญ่ที่ไหลออกจากภูเขาที่อยู่ไกลออกไปทางต้นน้ำ
“มีคนงาน 50 คนที่โรงไฟฟ้าฤษีคงคา และเราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขา และมีคนงานประมาณ 150 คนอยู่ที่ทาโปวาน” เขากล่าวและว่า “ประมาณ 20 คนติดอยู่ในอุโมงค์ เรากำลังช่วยคนงานที่ติดอยู่”
กองกำลังและทหารหลายร้อยนายพร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์ทหารและเครื่องบินอื่นๆ ถูกส่งไปยังภูมิภาคนี้
ทางการเปิดเผยว่า ทหารและตำรวจกว่า 2,000 นายได้ร่วมในปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ รวมถึงทหารที่เชี่ยวชาญในการปีนเขา ได้เร่งปฏิบัติการในกลางคืนภายใต้แสงไฟฮาโลเจนที่สว่างจ้า นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกขององค์กรด้านมนุษยธรรมและสภากาชาดอินเดียอยู่ในที่เกิดเหตุ และมีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์อย่างแข็งขันด้วย
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือก็มีข่าวดีอยู่บ้าง โดยนักข่าวอินเดียแชร์ภาพบนโซเชียลมีเดีย ที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยได้ดึงชายคนหนึ่งที่ถูกฝังทั้งเป็นออกมาจากอุโมงค์ ผู้รอดชีวิตได้ชูแขนขึ้นแสดงความดีใจที่รอดชีวิตก่อนที่จะตกลงไปในโคลน ขณะที่ผู้คนที่อยู่รอบๆ พากันปรบมือและให้กำลังใจ
ในช่วงค่ำ ได้มีการอพยพหมู่บ้านต่างๆ ออกจากเขื่อนฤษีคงคาที่พังทลาย รวมทั้งลำน้ำสาขาของแม่น้ำคงคา ขณะที่ได้มีการแจ้งเตือนขั้นสูงแก่พื้นที่ริมแม่น้ำ ในรัฐอุตตรประเทศที่อยู่ติดกัน ซึ่งเป็นรัฐมีประชากรมากที่สุดของอินเดีย มีการอพยพหมู่บ้านที่อยู่บนเนินเขา แต่เจ้าหน้าที่กล่าวในภายหลังว่า น้ำท่วมใหญ่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ถนนสายหลักถูกพัดพาไป อุโมงค์เต็มไปด้วยโคลนและหิน หน่วยกู้ภัยทหารต้องใช้เชือกปีนขึ้นไปตามไหล่เขาเพื่อเข้าถึงทางเข้า
เอลิซาเบท ปุรานัม ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า ความพยายามช่วยเหลือในที่เกิดเหตุเริ่มขึ้นอีกครั้งในเช้าวันจันทร์
เจ้าหน้าที่ทหารหลายร้อยนายถูกส่งไปประจำการในเทือกเขาหิมาลัยของอินเดียในวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์เพื่อช่วยค้นหาผู้คนอย่างน้อย 125 คนที่ไม่ได้รับรายงานว่าเสียชีวิต
เจ้าหน้าที่กู้ภัยมุ่งความสนใจไปที่อุโมงค์ยาว 2.5 กม. ซึ่งเชื่อว่าคนงานติดอยู่ นายวิเวก ปานเดย์ โฆษกของกองกำลังตำรวจชายแดนอินโด-ทิเบตกล่าวว่า เชื่อว่ามีคนงาน 30-35 คนติดอยู่ในอุโมงค์และหน่วยกู้ภัยกำลังเจาะปากอุโมงค์เพื่อเข้าไปข้างใน
ในวันอาทิตย์เจ้าหน้าที่สามารถช่วยคนงานจำนวน 12 คนออกมาจากอีกอุโมงค์หนึ่ง
นายสัตยา ปราธาน ผู้บริหารสำนักงานบรรเทาสาธารณภัยกล่าวว่า “เราจะดำเนินการค้นหาต่อไปในอีก 24-48 ชั่วโมง”
ด้านนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที ทวีตข้อความว่า “อินเดียอยู่เคียงข้างรัฐอุตตราขัณฑ์และทั้งประเทศสวดมนต์ขอให้ทุกคนที่นั่นปลอดภัย”
นายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้เงินช่วยเหลือจำนวน 200,000 รูปีอินเดีย (2,748 ดอลลาร์) สำหรับครอบครัวของผู้เสียชีวิต และ 50,000 รูปี (687 ดอลลาร์) สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส
ภัยพิบัติเกิดขึ้นประมาณ 10:45 น. ตามเวลาท้องถิ่น เมื่อส่วนหนึ่งของธารน้ำแข็งนันทาเทวีแตกออกในพื้นที่ที่เปราะบางทางระบบนิเวศของรัฐอุตตราขัณฑ์ ซึ่งเป็นรัฐของอินเดียที่มีพรมแดนติดกับเนปาลและจีน และอยู่ในระดับสูงของเทือกเขาหิมาลัย นักสิ่งแวดล้อมเตือนมาก่อนหน้านานแล้วว่าไม่ให้สร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าที่นั่น เพราะมีแนวโน้มที่จะเกิดดินถล่มและน้ำท่วม
ในปี 2013 ปริมาณน้ำฝนที่ในตกในฤดูมรสุมที่มากเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดน้ำท่วม คร่าชีวิตผู้คนไปราว 6,000 คน จนถูกขนานนามว่าเป็น “สึนามิหิมาลัย” เนื่องจากได้กวาดพัดพาบ้านเรือน ถนน และสะพานในอุตตราขัณฑ์
ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าอะไรทำให้ธารน้ำแข็งแตกในช่วงเช้าวันอาทิตย์ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้ธารน้ำแข็งในเทือกเขาหิมาลัยหดตัว แต่เดือนกุมภาพันธ์ยังคงเป็นฤดูหนาวในอุตตราขัณฑ์และไม่ใช่ช่วงเวลาของปีที่ธารน้ำแข็งละลาย
“มีคำถามมากมายว่าทำไมมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในพื้นที่ที่มีความเปราะบางทางระบบนิเวศเช่นนี้” เอลิซาเบท ปุรานัม ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา รายงาน
ธารน้ำแข็งนันทาเทวีอยู่ใกล้ยอดเขาที่มีชื่อเดียวกัน ณ ระดับความสูง 25,643 ฟุต นับเป็นภูเขาที่สูงเป็นอันดับ 2 ของอินเดีย และชื่อของยอดเขามีความหมายว่า “เทพธิดานำโชค (blessed goddess)” และภูเขาแห่งนี้ได้รับการบูชาตามประเพณีของชาวฮินดูและพุทธในท้องถิ่น อุทยานแห่งชาตินันทาเทวีโดยรอบยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก
อุมา ภารตี อดีตรัฐมนตรีทรัพยากรน้ำและผู้นำอาวุโสของพรรคนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที วิจารณ์การสร้างเขื่อนในพื้นที่
อุมาทวีตข้อความว่า “ช่วงที่ดิฉันเป็นรัฐมนตรี ได้เรียกร้องไปแล้วว่าไม่ควรมีการสร้างโรงไฟฟ้าในแม่น้ำคงคาและลำน้ำสาขา เพราะเทือกเขาหิมาลัยเป็นเพื้นที่เปราะบาง” ซึ่งระบุถึงแม่น้ำที่ไหลมาจากภูเขา
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้ระงับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในรัฐอุตตราขัณฑ์
“ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างจริงจังเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในภูมิภาคที่มีความเปราะบางด้านสิ่งแวดล้อม” จากความเห็นของรานชัน ปันดา อาสาสมัครของเครือข่ายการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Combat Climate Change Network) ที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาน้ำ สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“รัฐบาลไม่ควรเพิกเฉยต่อคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญอีกต่อไปและหยุดสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและเครือข่ายทางหลวงที่ขยายกว้างในระบบนิเวศที่เปราะบางนี้”
เรียบเรียงจาก
Scores Are Feared Dead In India After Himalayan Glacier Breaks Away
Indian rescuers search for missing after Himalayan glacier bursts
Scores missing as Himalayan glacier bursts in northern India
Rescuers search for 125 missing after glacier burst in Indian Himalayas, many believed trapped in tunnel