ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สำรวจมาตรการเยียวยาโควิดฯ แจกแล้ว 6 แสนล้านบาท

สำรวจมาตรการเยียวยาโควิดฯ แจกแล้ว 6 แสนล้านบาท

23 กุมภาพันธ์ 2021


สำรวจมาตรการแจกเงินเยียวยาโควิดฯ 6 แสนล้าน ระบาดรอบแรกเบิกเงินกู้ 3 แสนล้าน แจกเยียวยา 30 ล้านคน กระตุ้นกำลังซื้อ 29 ล้านคนกว่า 7 หมื่นล้าน รอบ 2 กู้ 2.5 แสนล้าน แจก 40 ล้านคน

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงไปทั่วโลก ทำให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรในช่วงต้นปี 2563 ตามมาด้วยคำสั่งปิดสถานประกอบการหลายประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคเป็นการชั่วคราว เช่น สถานบันเทิง สนามกีฬา มวย โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ มีลูกจ้างแรงงานจำนวนมากถูกลดเงินเดือน ตกงาน เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม รัฐบาลต้องระดมเม็ดเงินงบประมาณจำนวนมากมาผสมกับเงินกู้อีก 1 ล้านล้านบาท จัดทำมาตรการเยียวยาประชาชนหลายสิบล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

มาตรการเยียวยาโควิดฯ เฟสแรก “เราไม่ทิ้งกัน”

เริ่มจาก มาตรการเยียวยาโควิดฯ เฟสแรก “เราไม่ทิ้งกัน” พุ่งเป้าไปที่กลุ่มอาชีพอิสระจำนวน 16 ล้านคน ซึ่งรวมไปถึงสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ, ผู้ที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลเกษตรกรแต่ประกอบอาชีพอิสระเป็นหลัก และผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 39 และ 40 แต่ไม่นับรวมผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม กลุ่มนี้จะรับเงินชดเชยรายได้จากรัฐบาล คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน รวมแล้วได้รับเงินเยียวยาคนละ 15,000 บาท ต่อมาได้มีการขยายความช่วยเหลือไปยังกลุ่มเกษตรกรอีก 10 ล้านคน รวมเยียวยาเฟสแรกมีกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 26 ล้านคน ใช้งบฯ ช่วยเหลือเยียวยา 390,000 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินจากงบกลางรายการสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นของปี 2563 ประมาณ 70,000 และ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท อีก 320,000 ล้านบาท

เก็บตกเยียวยาโควิดฯอีก 7.9 ล้านคน

จากนั้นก็มีการขยายมาตรการเยียวยาออกช่วยเหลือผู้ที่ได้ผลกระทบจากโควิดฯ อีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วย เด็กแรกเกิดอายุ 0-6 ปี จำนวน 1.39 ล้านคน, ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพคนชรา 4.06 ล้านคน และผู้ที่มีบัตรคนพิการอีก 1.33 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 6.78 ล้านคน จะได้รับเงินเยียวยาคนละ 1,000 บาท 3 เดือน รวมได้รับเงินคนละ 3,000 บาท ใช้แหล่งเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ไม่เกิน 20,346 ล้านบาท และกลุ่มสุดท้าย คือ ผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆ จากรัฐบาลอีก 1.16 ล้านคน ใช้เงินกู้อีก 3,493 ล้านบาท

รวมเยียวยาโควิดฯ เฟสแรก รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายที่จะจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผกระทบจากโควิดฯ รวมทั้งสิ้น 33.94 ล้านคน ภายใต้วงเงินงบประมาณและเงินกู้ฯ รวม 4.14 แสนล้านบาท

รอบแรกเบิกเงินกู้ 3 แสนล้าน แจกเยียวยา 30 ล้านคน

ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 รัฐบาลได้ดำเนินการแจกเงินเยียวยาให้กับผู้มีสิทธิ์ 4 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 30.52 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 89.92% ของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 33.94 ล้านคน เบิกจ่ายจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ไปทั้งสิ้น 295,965 ล้านบาท ประกอบด้วย

    1. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้าง วงเงิน 240,000 ล้านบาท สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้มีสิทธิ์ คนละ 15,000 บาท ไปประมาณ 15.27 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 95.43% ของกลุ่มเป้าหมาย 16 ล้านคน เบิกจ่ายจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 159,583.94 ล้านบาท (ยังไม่รวมส่วนที่เบิกจากงบกลางปี 2563 ที่กันเอาไว้ 70,000 ล้านบาท)

    2. กลุ่มเกษตรกร วงเงิน 150,000 ล้านบาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้มีสิทธิ์ คนละ 15,000 บาท ไปประมาณ 7.57 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 75.66 ของกลุ่มเป้าหมาย เบิกจ่ายเงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้ฯ ไปทั้งสิ้น 113,304.40 ล้านบาท

    3. กลุ่มเปราะบาง วงเงิน 20,346 ล้านบาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้มีสิทธิ์ไปทั้งสิ้น 6.66 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 98.25% ของกลุ่มเป้าหมาย เบิกจ่ายจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 19,988.98 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 98.25% ของวงเงินกู้ที่ได้รับการจัดสรร 20,346 ล้านบาท

    4. กลุ่มผู้มีมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆ จากรัฐบาล วงเงินกู้ 3,492.67 ล้านบาท สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้มีสิทธิ์ไปประมาณ 1.03 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 88.17% ของกลุ่มเป้าหมาย เบิกจ่ายจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 3,087.59 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 88.40% ของวงเงินกู้ที่ได้รับการจัดสรร 3,492.67 ล้านบาท

กู้ 73,422 ล้าน “คนละครึ่ง” เพิ่มกำลังซื้อประชาชน 29 ล้านคน

การแพร่ระบาดของโควิดฯ ที่ลุกลามไปทั่วโลก ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ช่วงเดือนกันยายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะติดลบ 7.8% ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการกำลังซื้อของประชาชน เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ที่ประชุม ครม. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน 2 โครงการ คือ

    1. โครงการ “คนละครึ่ง” เฟสแรก มีกลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านคน เบิกจ่ายจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ แผนงานที่ 3.3 วงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังจะโอนเงินให้ผู้มีสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อนำไปชำระค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป โดยรัฐบาลจะช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท/คน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เริ่มใช้จ่ายเงินได้ตั้งแต่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563)

    2. โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีกลุ่มเป้าหมาย 14 ล้านคน เบิกจ่ายจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ แผนงานที่ 2.1 วงเงินไม่เกิน 20,922.78 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังจะเพิ่มเงินในการซื้อสินค้าให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกคนละ 500 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2563 โดยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ 30,000-100,000 บาทต่อปี เดิมเคยได้รับวงเงินซื้อสินค้าเดือนละ 200 บาท ก็จะเพิ่มเป็น 700 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี เดิมเคยได้วงเงินช่วยเหลือเดือนละ 300 บาท ก็จะปรับเพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือน

ก่อนโครงการคนละครึ่งเฟสแรกจะสิ้นสุด วันที่ 8 ธันวาคม 2563 ที่ประชุม ครม. ก็มีมติเห็นชอบ “คนละครึ่ง” เฟส 2 ขยายกลุ่มเป้าหมายเป็น 15 ล้านคน ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ที่ได้รับสิทธิเดิม (เฟสแรก) ไม่เกิน 10 ล้านคน และกลุ่มใหม่ที่เปิดให้ลงทะเบียนรับสมัครเพิ่มอีกไม่เกิน 5 ล้านคน ใช้แหล่งเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ แผนงานที่ 3.3 วงเงินไม่เกิน 22,500 ล้านบาท สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิคนละครึ่งเดิม 10 ล้านคน กระทรวงการคลังจะเติมเงินชำระค่าสินค้าให้คนละ 500 บาท ส่วนผู้ได้รับสิทธิ์คนละครึ่งรายใหม่จำนวน 5 ล้านคน จะได้รับวงเงินในการชำระค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป คนละ 3,500 บาทโดยมีรัฐบาลช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มใช้จ่ายเงินได้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม – 31 มีนาคม 2564

นอกจากนี้ทางกระทรวงการคลังยังไปรวบรวมผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์คนละครึ่ง ทั้งเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 จำนวน 1.34 ล้านสิทธิ์ มาเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในรอบเก็บตกครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 เริ่มเปิดลงทะเบียน 6 โมง ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ก็ได้ผู้มีสิทธิคนละครึ่งครบตามจำนวน

รวมมาตรการเพิ่มกำลังซื้อผ่านโครงการคนละครึ่ง เฟส 1-2 และเติมเงินให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบนี้มีกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลทั้งสิ้น 29 ล้านคน ใช้แหล่งเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ภายใต้วงเงิน 73,422.78 ล้านบาท

คลังปลื้ม ปชช. แห่ใช้สิทธิ์ “คนละครึ่ง” 14 ล้านคน เงินสะพัด 6.7 หมื่นล้าน

สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการ “คนละครึ่ง” ล่าสุด นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 18 มกราคม 2564 มีประชาชนมาใช้สิทธิ “คนละครึ่ง” ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” แล้ว 13.66 ล้านคน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวมทั้งสิ้น 66,967 ล้านบาท แบ่งเป็น ประชาชนใช้จ่ายเงิน 34,261 ล้านบาท และรัฐบาลช่วยจ่าย 32,706 ล้านบาท โดยมีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกว่า 1.12 ร้านค้า ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว 750,353 ร้านค้า

  • ผลงาน “คนละครึ่ง” 3 เดือน 14 ล้านคน ใช้จ่ายแล้ว 6.7 หมื่นล้าน
  • ต่อมาเกิดการแพร่ระบาดของโควิดฯ รอบ 2 ที่ วันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ประชุม ครม. จึงมีมติเห็นชอบ โครงการ “เราชนะ” ภายใต้วงเงินกู้วงเงิน 210,200 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการชำระค่าสินค้าอุปโภคและบริโภค รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะให้กับประชาชน 31.1 ล้านคน โดยคนกลุ่มนี้จะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” คนละ 3,500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวมได้รับวงเงินคนละ 7,000 บาท โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิจะต้องที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แต่ไม่นับรวมเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ข้าราชการ, ผู้รับบำเหน็จบำนาญ, ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33, กลุ่มคนที่มีเงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท และกลุ่มที่มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 300,000 บาท ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของ “เราชนะ” ทั้ง 31.1 ล้านคนจึงครอบคลุมเกือบทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย รับจ้าง และเกษตรกร

    ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน ในรอบนี้ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเราชนะผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยเช่นกัน แต่ได้ไม่ถึง 7,000 บาท เพราะต้องหักเงินเยียวยาที่เคยได้รับไปแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้น การจ่ายเงินเยียวยาผู้ถือบัตรฯ ในรอบนี้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ผู้ถือบัตรฯ ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี เดิมได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 800 บาทอยู่ก่อนแล้ว ก็จะได้เงินเพิ่มอีกสัปดาห์ละ 675 บาท หรือเดือนละ 2,700 บาท รวม 2 เดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 5,400 บาท กลุ่มที่ 2 ผู้ถือบัตรฯ ที่มีรายได้เกิน 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ได้รับเงินอยู่แล้วเดือนละ 700 บาท ก็จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 700 บาทต่อสัปดาห์ หรือเดือนละ 2,800 บาท รวม 2 เดือนจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 5,600 บาท

    ระบาดรอบ 2 กู้ 2.5 แสนล้าน “ม.33 เรารักกัน” เยียวยา 40 ล้านคน

    จากนั้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ประชุม ครม. ก็มีมติเห็นชอบโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ตามที่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานนำเสนอ โดยรัฐบาลจะจัดวงเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จำนวน 9.27 ล้านคน ได้รับวงเงินช่วยเหลือ เพื่อนำไปชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” คนละ 4,000 บาท โดยใช้วงเงินกู้ไม่เกิน 37,100 ล้านบาท เปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม 2564 เริ่มใช้สิทธิที่มีตราสัญลักษณ์ของร้านธงฟ้าประชารัฐ,คนละครึ่งและเราชนะได้ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – พฤษภาคม 2564 สำหรับผู้ที่จะได้รับสิทธิ “ม.33 เรารักกัน” จะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แรงงานต่างด้าวไม่ได้ และจะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, ไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ,ไม่ได้รับสิทธิเราชนะ, มีบัญชีเงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท

    รวบเยียวยาโควิดฯ ระบาดรอบ 2 มีกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับความช่วยเหลือทั้งสิ้น 40.35 ล้านคน ใช้แหล่งเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ตามแผนงานที่ 2.1 ภายใต้วงเงิน 247,300 ล้านบาท

    โยก 45,000 ล้าน โปะเยียวยาประชาชน 6 แสนล้าน

    แต่ก่อนที่ ครม. จะมีมติอนุมัติโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ก็ต้องเคลียร์ปัญหาเทคนิคทางด้านกฎหมาย กล่าวคือ ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท ได้กำหนดแผนการใช้จ่ายเงินกู้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ใช้ทางด้านสาธารณสุขและป้องกันการแพรระบาดของโควิด-19 วงเงินไม่เกิน 45,000 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 ใช้เพื่อการเยียวยาประชาชนวงเงินไม่เกิน 555,000 ล้านบาท และกลุ่มที่ 3 ใช้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท

    ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการ “เราชนะ” ก็มีมติโยกวงเงินกู้จากแผนงาน หรือโครงการกลุ่มที่ 3 จำนวน 10,000 ล้านบาท มาใช้ในแผนงาน หรือโครงการกลุ่มที่ 2 จากเดิมมีวงเงินอยู่ที่ 555,000 ล้านบาท ก็เพิ่มเป็น 565,000 ล้านบาท

    ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติวงเงินจาก ครม. ให้ใช้วงเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการกลุ่มที่ 2 แล้ว 8 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 558,753.21 ล้านบาท คงเหลือวงเงินกู้ที่จะใช้ได้แค่ 6,246.79 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานประกันสังคมทำเรื่องขอใช้เงินกู้ เพื่อนำไปเยียวยาผู้ประกันตน 37,100 ล้านบาท เงินยังขาดอยู่อีก 30,853.21 ล้านบาท

    ดังนั้น เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ครม.มีมติอนุมัติโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ก็มีการอนุมัติโยกวงเงินกู้จากแผนงานกลุ่มที่ 3 จำนวน 35,000 ล้านบาท มาใช้ในแผนงานกลุ่มที่ 2 เพื่อเตรียมไว้ใช้ในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตน คนละ 4,000 บาท ทำให้วงเงินกู้ตามแผนกลุ่มที่ 2 เดิมมีวงเงิน 565,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 600,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินกู้เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตามแผนงานกลุ่มที่ 3 ปรับตัวลดลง จาก 390,000 ล้านบาท เหลือ 355,000 ล้านบาท ซึ่งตามบทบัญญัติของ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ มาตรา 6 วรรค 3 เปิดช่องให้รัฐบาลดำเนินการโยกวงเงินจากแผนงานกลุ่มที่ 3 มาใช้ในแผนงานกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ได้ กรณีที่มีความจำเป็น ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

    สรุป ภาพรวมการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. แล้ว 256 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 748,666 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่เตรียมไว้ใช้ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดฯ และฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 251,334 ล้านบาท และล่าสุดนี้ก็ได้มีการเบิกจ่ายเงินออกไปแล้ว 395,773 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 55.59% ของวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. แล้ว โดยการเบิกจ่ายเงินส่วนใหญ่จะเป็นการแจกเงินเยียวยาประชาชน 404,632 ล้านบาท