ThaiPublica > เกาะกระแส > ผลงาน “คนละครึ่ง” 3 เดือน 14 ล้านคน ใช้จ่ายแล้ว 6.7 หมื่นล้าน

ผลงาน “คนละครึ่ง” 3 เดือน 14 ล้านคน ใช้จ่ายแล้ว 6.7 หมื่นล้าน

21 มกราคม 2021


กางผลงาน “คนละครึ่ง” 3 เดือน ประชาชน 13.65 ล้านคน ใช้จ่ายเงินแล้ว 66,967 ล้านบาท เผยคน กทม.ใช้สิทธิจ่ายครึ่งราคามากที่สุด 9,226 ล้านบาท-ร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 180,324 แห่ง

เก็บตกโครงการคนละครึ่งรอบสุดท้าย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 หลังจากกระทรวงการคลังเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com ในเวลา 6.00 น. ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที ปรากฏว่ามีคนมาลงทะเบียนมากกว่า 3 ล้านคน แต่ได้สิทธิไปแค่ 1.34 ล้านคน อีก 2 ล้านคน ไม่ได้รับสิทธิ

ในบรรดามาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ฯทั้งหมด “คนละครึ่ง” ถือเป็นโครงการที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากที่สุด เปิดให้ลงทะเบียนทุกครั้ง ก็มีคนมาลงทะเบียนกันอย่างล้นหลาม และเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้เกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อยและเศรษฐกิจฐานรากสามารถขายสินค้าได้ และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่เกิดวิกฤต

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

โดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของโครงการ “คนละครึ่ง” ว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2564 มีประชาชนใช้สิทธิ “คนละครึ่ง” ผ่านแอปฯ “เป๋าตัง” แล้ว 13,655,380 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสมรวมทั้งสิ้น 66,967 ล้านบาท แบ่งเป็น ประชาชนใช้จ่ายเงิน 34,261 ล้านบาท และรัฐบาลช่วยจ่าย 32,706 ล้านบาท และล่าสุดมีร้านค้ามาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 1,124,500 ร้านค้า ในจำนวนนี้เป็นร้านค้าที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว 750,353 ร้านค้า

หากจำแนกตามประเภทธุรกิจ ประกอบไปด้วย 1.ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 426,834 ร้านค้า 2.ร้านธงฟ้าประชารัฐ 47,253 ร้านค้า 3.ร้าน OTOP จำนวน 18,449 ร้านค้า 4.ร้านค้าทั่วไปและอื่นๆ 257,817 ร้านค้า แต่ที่น่าสนใจคือในจำนวนร้านค้าทั้งหมดมีหาบเร่แผงลอยอยู่ 133,582 ร้านค้า ที่เหลือ 616,771 ร้านค้า เป็นร้านค้าทั่วไปที่มีหน้าร้าน

จำแนกตามพื้นที่ หรือ ที่ตั้งของร้านค้า พบร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” มากที่สุด อันดับ 1 ภาคกลางจำนวน 461,213 ร้านค้า อันดับ 2 ภาคใต้ 201,932 ร้านค้า อันดับ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 196,794 ร้านค้า อันดับ 4 ภาคตะวันออก 107,331 ร้านค้า อันดับ 5 ภาคเหนือ 106,132 ร้านค้า และอันดับสุดท้าย ภาคตะวันตก 51,098 ร้านค้า

ส่วนจังหวัดที่มีร้านค้าเข้าร่วมมากที่สุด อันดับ 1 กรุงเทพมหานคร จำนวน 180,324 ร้านค้า อันดับ 2 ชลบุรี 51,104 ร้านค้า อันดับ 3 เชียงใหม่ 41,175 ร้านค้า อันดับ 4 สมุทรปราการ 40,495 ร้านค้า และอันดับ 5 นนทบุรี 39,244 ร้านค้า

จำแนกตามสัดส่วนการใช้จ่ายเงิน พบร้านค้าที่มีประชาชนมาใช้จ่ายเงินมากที่สุด อันดับ 1 ร้านค้าทั่วไป มีสัดส่วนการใช้จ่ายเงินอยู่ที่ 35% ของยอดสะสม 66,967 ล้านบาท อันดับ 2 ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 39% อันดับ 3 ร้านธงฟ้าประชารัฐ 18% และอันดับสุดท้ายเป็นร้าน OTOP มีสัดส่วนการใช้จ่ายเงินอยู่ที่ 8%

จังหวัดที่มียอดการใช้จ่ายเงินสูงสุด อันดับ 1 กรุงเทพมหานครมียอดการใช้จ่ายเงินสะสม 9,226 ล้านบาท อันดับ 2 สงขลา 2,649 ล้านบาท อันดับ 3 ชลบุรี 2,584 ล้านบาท อันดับ 4 เชียงใหม่ 2,342 ล้านบาท และอันดับ 5 นครศรีธรรมราช 2,237 ล้านบาท