ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 1 ปี พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน “รัฐบาลประยุทธ์” กู้แล้วแจกแล้วเท่าไหร่

1 ปี พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน “รัฐบาลประยุทธ์” กู้แล้วแจกแล้วเท่าไหร่

30 มิถุนายน 2021


ครบรอบ 1 ปี พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท คลังระดมกู้ 7.8 แสนล้าน จ่ายแล้ว 75% เผยโครงการแจกเงินเยียวยา ปชช.มีอัตราการเบิกจ่ายเร็วที่สุด 95% ขณะที่โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 7,151 ล้านบาท เบิกไม่ออก

กว่า 1 ปี หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19หลายระลอก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และตามมาด้วยการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 โดยมีคำสั่งห้ามการชุมนุม หรือ การรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก รวมทั้งปิดพื้นที่เสี่ยง อาทิ ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา สถานบันเทิง และจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ยกเว้นการขนส่งสินค้า นักการทูต และนักบินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ หยุดชะงักลง กระทบเป็นวงกว้าง ภาคธุรกิจประสบปัญหาสภาพคล่อง ต่อเนื่องไปถึงการจ้างงาน และรายได้ของภาคครัวเรือนอย่างรุนแรง รัฐบาลตัดสินใจออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ขณะที่งบประมาณรายจ่ายปี 2563 มีจำกัด และที่สำคัญไม่ได้เตรียมไว้ใช้เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ฯ

วันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ประชุม ครม.จึงมีมติอนุมัติ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2563 เป็นต้นมา กำหนดวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินเอาไว้ 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรก ใช้เพื่อการสาธารณสุข ป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดฯ , กลุ่มที่ 2 ใช้ในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ ทั้งกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ เกษตรกร และกลุ่มเปราะบาง และ กลุ่มที่ 3 ใช้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

จากข้อมูลของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ที่รายงานต่อที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 มีโครงการขอใช้เงินกู้ผ่านการอนุมัติจาก ครม. แล้ว 304 โครงการ คิดเป็นเงินรวม 984,039 ล้านบาท มีวงเงินที่ ครม.ยังไม่อนุมัติ 15,961 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าว ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินแล้ว 778,841 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่สบน.ยังไม่ได้กู้ 221,159 ล้านบาท ซึ่งตามมาตรา 3 แห่งพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท กำหนดให้ สบน.ต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือ ออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 พ้นจากนี้ไป ก็จะไม่สามารถกู้เงินได้

ผลการดำเนินงานในช่วง 1 ปี 2 เดือน มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการเบิกเงินกู้จากบัญชีเงินฝากของกระทรวงการคลังเพื่อนำไปใช้จ่ายแล้วทั้งสิ้น 740,037 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่ายเงินก็อยู่ที่ 75.20% ของวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมติจาก ครม. 984,039 ล้านบาท

สำหรับโครงการเบิกจ่ายเงินกู้ได้แก่

1.สำหรับโครงการหรือแผนงานที่มีอัตราการเบิกจ่ายเงินกู้รวดเร็วที่สุด คือ แผนงานกลุ่มที่ 2 เป็นโครงการจ่ายเงินชดเชย เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯภายใต้กรอบวงเงินที่กำหนดในบัญชีท้าย พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 701,238 ล้านบาท มีโครงการที่ขอใช้เงินกู้ผ่านการอนุมัติจาก ครม.ทั้งสิ้น 15 โครงการ วงเงินรวม 690,136 ล้านบาท คงเหลือกรอบวงเงินที่ครม.ยังไม่อนุมัติอีก 11,101 ล้านบาท

โดยกระทรวงการคลังได้เบิกเงินกู้ออกไปใช้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดฯไปแล้ว 654,937 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 94.90% ของกรอบวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจากครม. 690,136 ล้านบาท

โครงการที่อยู่ในแผนงานกลุ่มงานที่2 นี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่

  • โครงการแจกเงินเยียวยาเกษตรกรรายละ 15,000 บาท มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วรวมทั้งสิ้น 113,302 ล้านบาท เป็นโครงการที่มีอัตราการเบิกจ่ายเงินสูงสุดถึง 99.99% ของกรอบวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจากครม. ซึ่งปัจจุบันได้ปิดโครงการไปเรียบร้อยแล้ว
  • โครงการแจกเงินเยียวยาประชาชน ผ่านโครงการ เราไม่ทิ้งกัน , กลุ่มเปราะบาง , คนละครึ่ง , เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน มีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วรวมทั้งสิ้น 541,634 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 93.90% ของกรอบวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. 576,834 ล้านบาท

2. เป็นโครงการหรือแผนงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มที่ 3 กำหนดกรอบวงเงินในบัญชีท้าย พ.ร.ก.เงินกู้ ฯ 253,762 ล้านบาท มีโครงการขอใช้เงินกู้ผ่านการอนุมัติจาก ครม.ทั้งสิ้น 240 โครงการ ภายใต้กรอบวงเงินรวม 249,139 ล้านบาท คงเหลือกรอบวงเงินที่ครม.ยังไม่อนุมัติ 4,623 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัตินี้ได้มีหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการ เบิกเงินกู้ออกไปใช้จ่ายแล้ว 72,784 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 29.21% ของกรอบวงเงินกู้ที่ ครม.อนุมัติ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย

  • กลุ่มแผนงานที่มีอัตราการเบิกจ่ายเงินกู้สูงสุด คือ กลุ่มแผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนมีทั้งหมด 13 โครงการ เบิกเงินกู้ออกไปใช้จ่ายแล้ว 64,151 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 31.60% ของกรอบวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. 203,041 ล้านบาท
  • แผนงานพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ ยกระดับการค้า การผลิตและบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศมีหมด 14 แผนงาน เบิกเงินกู้ออกไปใช้จ่ายแล้ว 6,818 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 23.09% ของกรอบวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. 29,527 ล้านบาท
  • แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมผ่านการอนุมัติจาก ครม. 209 โครงการ วงเงินรวม 9,420 ล้านบาท หน่วยงานเจ้าของโครงการได้มีการเบิกจากเงินกู้แล้ว 1,815 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 19.27% ของกรอบวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจากครม.
  • แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต มีโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว 4 โครงการ วงเงินรวม 7,151 ล้านบาท ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ยังไม่มีการเบิกจ่ายเงินกู้ออกไปใช้จ่าย

3.แผนงานหรือโครงการ กลุ่มที่ 1 เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ และสาธารณะสุข เพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดฯ กำหนดกรอบวงเงินไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 45,000 ล้านบาท มีโครงการขอใช้วงเงินกู้ผ่านครม.แล้ว 49 โครงการ วงเงินรวม 44,763 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่ ครม.ยังไม่ได้อนุมัติ 237 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินกู้ออกไปใช้จ่ายแล้ว 12,316 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 27.51% ของกรอบวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. มีทั้งหมด 5 กลุ่มแผนงาน

  • แผนงานเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายของบุคลากรทางการแพทย์มีทั้งหมด 4 โครงการ เบิกจ่ายเงินกู้ออกไปแล้ว 4,148 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่าย 65.82% ของกรอบวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. 6,302 ล้านบาท
  • โครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษาป้องกันและควบคุมโรค ฯ มี 4 โครงการ เบิกเงินกู้ออกไปใช้จ่ายแล้ว 6,765 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 39.03% ของกรอบวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. 17,335 ล้านบาท
  • โครงการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์การการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มี 19 โครงการ ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.วงเงิน 9,139 ล้านบาท เบิกจ่ายเงินกู้แล้ว 893 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ 9.77% ของกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติ
  • โครงการสาธารณสุข เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิดฯ 8 โครงการ ผ่านการอนุมัติจาก ครม.ภายใต้กรอบวงเงิน 1,727 ล้านบาท เบิกจ่ายเงินออกไปแล้ว 133 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่ายเงินอยู่ที่ 7.67% ของกรอบวงเงินที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.
  • โครงการเตรียมความพร้อมให้กับสถานพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการรักษา และค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้ที่มีความเสี่ยงติดโควิดฯ มี 14 โครงการ ภายใต้กรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติ 10,260 ล้านบาท มีการเบิกเงินกู้ออกไปใช้จ่ายแล้ว 378 ล้านบาท มีอัตราการเบิกจ่าย 3.69% ของกรอบวงเงินกู้ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.

ล่าสุด ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในเบื้องต้นประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเยียวยาลูกจ้างและผู้ประกอบธุรกิจ “ร้านอาหาร-ก่อสร้าง-สถานบันเทิง-สถานบริการ” ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร , นครปฐม , นนทบุรี , ปทุมธานี สมุทรปราการและสมุทรสาครที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิดฯ ตามประกาศข้อกำหนดของ ศบค.ฉบับที่ 25

  • มติครม.กู้ 5,000 ล้าน เยียวยา “ร้านอาหาร-ก่อสร้าง-สถานบันเทิง” คนละ 3,000 บาท
  • หากนำไปรวมกับกรอบวงเงินเยียวยาในแผนงานกลุ่ม 2 ซึ่งผ่านมาการอนุมัติจาก ครม.แล้วจะมียอดรวมทั้งสิ้น 695,137 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่จะนำไปแจกเยียวยาได้อีก 6,101 ล้านบาท ก็จะครบวงเงินตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

    อ่าน ข้อมูลของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพิ่มเติม