ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “#ตำรวจกระทืบหมอ แฮชแท็กร้อนหลังชุมนุม 13 ก.พ.” และ “ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ยุติทรงงานฐานะสมาชิกราชวงศ์”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “#ตำรวจกระทืบหมอ แฮชแท็กร้อนหลังชุมนุม 13 ก.พ.” และ “ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ยุติทรงงานฐานะสมาชิกราชวงศ์”

20 กุมภาพันธ์ 2021


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 13-19 ก.พ. 2564

  • ตำรวจกระทืบหมอ แฮชแท็กร้อนหลังชุมนุม 13 ก.พ.
  • “รุ้ง” ขอโทษเหตุรุนแรงในม็อบ 13 ก.พ. ยอมรับ คุมสถานการณ์ไม่ได้
  • “โรม” ไม่ไว้วางใจ “ประนุทธ์-ประวิตร” ปมละเลยปัญหาแต่งตั้งโยกย้าย ตร.–งัด “ตั๋วช้าง” โชว์ สะเทือนสภา
  • ศาลยกฟ้องคดี “ชายชุดดำ 10 เม.ย. 2553” อีกคดี
  • ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ยุติการทรงงานในฐานะสมาชิกราชวงศ์

  • ตำรวจกระทืบหมอ แฮชแท็กร้อนหลังชุมนุม 13 ก.พ.

    ช่วงค่ำของวันที่ 13 ก.พ. 2564 #ตำรวจกระทืบหมอ ได้กลายมาเป็นแฮชแท็กร้อนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์เคียงคู่ไปกับ #ม็อบ13กุมภา และ #ตำรวจทำร้ายประชาชน

    แฮชแท็กดังกล่าว เกิดขึ้นหลังการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” ที่ออกมารวมตัวเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ชุมนุมระดับนำของกลุ่มราษฎร 4 คน คือ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ที่ล้วนตกเป็นจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ), ม.116 (ยุยงปลุกปั่น) และข้อหาอื่นๆ ซึ่งกำลังถูกคุมขังในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 2564 ที่ศาลมีคำสั่งฟ้อง โดยที่จนถึงขณะนี้ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ล้วนปฏิเสธการประกันตัว ด้วยเหตุผบว่ามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง และมีการกระทำซ้ำๆ หลายครั้งต่างกรรมต่างวาระ

    การชุมนุมในวันที่ 13 ก.พ. 2564 ยุติลงในเวลาประมาณ 20.22 น. โดยแกนนำเป็นผู้ประกาศ แต่มีผู้ชุมนุมบางส่วนไม่เห็นด้วย และยังคงอยู่แถวพื้นที่ชุมนุม จนกระทั่งตำรวจประกาศว่าจะมีการดำเนินการตามกฎหมายหากไม่ออกจากพื้นที่ภายในเวลา 21.30 น. และเริ่มเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยังไม่ยอมออกจากพื้นที่ในช่วงเวลาประมาณ 21.04 น.

    จากนั้น จึงเริ่มมีการรายงานสะพัดไปในโลกออนไลน์ว่า เจ้าหน้าที่จำรวจได้เข้าสลายฝูงชนด้วยความรุนแรง ทั้งการรุมกระทืบและใช้ไม้กระบองตี จนกระทั่งมีภาพของชายสวมเสื้อกั๊กสีเขียวซึ่งเป็นเครื่องแบบของทีมแพทย์อาสา นอนสลบอยู่ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชุมหลายนาย และกลายมาเป็นที่มาของแฮชแท็กดังกล่าว

    วันต่อมา หลายฝ่ายได้ออกมาประณามการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ชมรมแพทย์ชนบท ขณะที่ทางแพทยสภาแถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการยั่วยุและใช้ความรุนแรงของทุกฝ่าย ขอให้ทุกฝ่ายระมัดระวังไม่ให้เกิดอันตรายและความเสียต่อบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ในที่ชุมนุม ต้องมีการติดสัญลักษณ์เพื่อให้แยกแยะได้ชัดเจน รวมทั้งขอชื่นชมบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่หวังผลตอบแทนใดๆ

    “ส่วนตัวผมมองว่าเรื่องนี้เราต้องคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะเขาจะเข้ามาเป็นอาสาสมัคร จะต้องเป็นกลางทางวิชาชีพ ไม่เลือกปฏิบัติ ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม และเห็นว่าการชุมนุมไม่ได้เกิดแค่ที่ กทม. แต่มีการเกิดในหลายจังหวัด หลายพื้นที่ ดังนั้นต้องมีการคัดกรอง ลงทะเบียนให้ชัดเจน และมีการรับรองตราสัญลักษณ์การเป็นแพทย์อาสา อาสาสมัครสาธารณสุข คือใช้กากบาทสีเขียว จะไม่ใช้สีแดงเพราะเป็นสีของกาชาด ใช้ไม่ได้ ซึ่งหากไม่ทำตามระบบ ระบบมันจะเสีย เพราะเราทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่ไปปฏิบัติหน้าที่นั้นต้องรู้ว่าอะไรคืออะไร ต้องรู้ว่าจุดไหนปลอดภัย”

    ศ. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
    อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1
    ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์

    ส่วนทางด้านตำรวจนั้น พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 23 นาย (แพทย์ระบุว่า ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกปาด้วยของแข็ง และของเหลวคล้ำยน้ำมัน) และกรณีที่แพทย์อาสาถูกตำรวจทำร้าย ขอให้ดูที่เจตนา ยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ร่วมก่อเหตุความวุ่นวาย เป็นเหตุซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่จึงต้องจับกุมตัวผู้ก่อเหตุ ไม่ใช่การทำร้ายประชาชน หากใครมองว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุก็เข้ามาร้องเรียนได้

    อ่านเพิ่มเติม
    ดูทวีตต่างๆ ที่มีแฮชแท็ก #ตำรวจกระทืบหมอ ในทวิตเตอร์ได้ที่นี่
    ดูทวีตต่างๆ ที่มีแฮชแท็ก #ม็อบ13กุมภา ในทวิตเตอร์ได้ที่นี่
    ดูทวีตต่างๆ ที่มีแฮชแท็ก #ตำรวจทำร้ายประชาชน ในทวิตเตอร์ได้ที่นี่
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — ม.112: ศาลไม่ให้ประกันตัว หลังอัยการสั่งฟ้อง 4 ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ คดีแรกของการชุมนุมกลุ่ม “ราษฎร”
    เว็บไซต์ไทยพีบีเอส — ศาลไม่ให้ประกัน “เพนกวิน-อานนท์-สมยศ-หมอลำแบงค์”
    เว็บไซต์ประชาไท — ประมวลชุมนุม #ม็อบ13กุมภา กลุ่มราษฎร ‘นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน’
    เฟซบุ๊กแฟนเพจ WorkpointTODAY — ‘ชมรมแพทย์ชนบท’ ออกแถลงประณาม ตร.ทำร้ายแพทย์อาสากลางม็อบ ขณะที่ด้าน ผบ.ตร. เข้าเยี่ยมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าควบคุมฝูงชนบริเวณหน้าศาลกีฎา
    เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ — แพทยสภา ไม่เห็นด้วยกับการ ละเมิดกฎหมาย และใช้กำลังเกินความเหมาะสม

    “รุ้ง” ขอโทษเหตุรุนแรงในม็อบ 13 ก.พ. ยอมรับ คุมสถานการณ์ไม่ได้

    วันที่ 16 ก.พ. 2564 หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่อยู่นะหว่างเดินสายยื่นหนังสือถึง 5 หน่วยงานหลักด้านความยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงาน ผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม ให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหาโดยให้ประกันตัว 4 แกนนำกลุ่มราษฎร (อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข) และผู้ต้องหาในคดีเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองทั้งหมด

    การเดินสายยื่นหนังสือครั้งนี้มีเจตนาที่อยากให้ศาลรับทราบและให้ความสำคัญว่า จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา เช่นนั้นแล้วการปฏิบัตินั้นศาลจะทำเหมือนกับว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ เราจะให้ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุดไม่ได้ ต้องให้สิทธิ์ประกันตัวเช่นเดียวกับคดีอื่นๆ ในประเทศนี้ แม้แต่คดีฆ่าคนโดยเจตนายังได้รับการประกันตัว ดังนั้น ในคดีการเมืองก็ต้องได้รับประกันตัวเช่นกัน

    นอกจากนี้ ปนัสยายังได้ตอบคำถามแก่ผู้สื่อข่าว ถึงกรณีเหตุความรุนแรงเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 ที่เกินความสามารถในการควบคุมดูแลของแกนนำไป โดยได้ตอบว่า ขอโทษอย่างจริงใจกับผู้ชุมนุมที่เราไม่สามารถดูแลสถานการณ์ได้ ซึ่งเหนือความคาดหมายมากจริงๆ แต่หลังจากนี้ยืนยันให้ความเชื่อมั่นว่าจะดูแลพวกเราทุกคนเป็นอย่างดี ในวันพรุ่งนี้ตนมีคดีความและอาจจะไม่อยู่แล้ว แต่ว่าคนที่เหลือพร้อมจะทำหน้าที่เพื่อให้กระบวนการเคลื่อนไหวของเราไปสู่จุดหมายในที่สุด โดยที่จะไม่มีใครเจ็บตัว หรือเจ็บตัวให้น้อยที่สุด อันนี้คือความปลอดภัยของผู้ชุมนุม

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — รุ้ง ปนัสยา เดินสายไป 5 หน่วยงานยุติธรรม เรียกร้องความเป็นธรรม 4 แกนนำ
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — “รุ้ง” ปนัสยา ขอโทษ เหตุรุนแรง 13 ก.พ. ยอมรับ คุมมวลชนส่วนหนึ่งไม่ได้

    “โรม” ไม่ไว้วางใจ “ประนุทธ์-ประวิตร” ปมละเลยปัญหาแต่งตั้งโยกย้าย ตร. – งัด “ตั๋วช้าง” โชว์ สะเทือนสภา

    นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่มาภาพ: เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์

    “ตั๋วช้าง” ได้กลายเป็นถ้อยคำที่ปลุกความสงสัยของผู้คนไปทั่วโลกออนไลน์ เมื่อถูก นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 4 โดยเป็นการอภิปรายถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่าละเลยและเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาตั้งแต่ยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงปัจจุบัน จนกลายเป็น “ที่ซ่องสุมของคนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ละเลยให้มีการใช้เส้นสาย” ทำให้วงการตำรวจเพิกเฉยต่ออาชญากรรม กระทำต่อผู้บริสุทธิ์ เปิดบ่อนไม่ว่า ค้ายาบริสุทธิ์ เจอเจ้าพ่อแล้วนอบน้อม แต่เจอม็อบแล้วสู้ตาย

    นายรังสิมันต์อ้างถึง “ตั๋ว” ประเภทต่างๆ อันเป็นคำไม่เป็นทางการที่ใช้เรียก “จดหมายฝากตำแหน่ง” ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ โดยมีทั้ง “ตั๋ว ผบ.ตร.”, “ตั๋ว พล.อ. ประยุทธ์”, “ตั๋ว พล.อ. ประวิตร” และ “ตั๋วช้าง” ซึ่งอย่างหลังนี้รังสิมันต์บอกว่าถ้าไม่ได้พูดจะเสียใจ

    ทว่า เมื่อนายรังสิมันต์แสดง “เอกสารชิ้นหนึ่ง” ขึ้นบนจอ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ก็ลุกขึ้นประท้วงโดยระบุว่า “ถ้ายังปล่อยให้อภิปรายไปอีกแม้แต่หนึ่งวินาที ท่าน (ประธาน) ก็จะทำให้สภามีปัญหา” ประธานจึงได้สั่งห้ามพูดถึงสถาบันฯ แล้วให้สรุปจบ

    นายรังสิมันต์เปิดแถลงข่าวนอกห้องประชุมสภาเกี่ยวกับ “ตั๋วช้าง” โดยระบุว่า มีการเขียนขอสนับสนุนแต่งตั้งนายตำรวจ 20 นายเพื่อให้ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ต่อมานายตำรวจเหล่านี้ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ชอบๆ กันถ้วนหน้า และได้เลื่อนขั้นมีความก้าวหน้าตามลำดับ “นี่อาจจะไม่ใช่ตั๋วที่ใช้ครั้งเดียวจบ แต่อาจจะใช้ไปได้ยาวๆ ตลอดชีวิตราชการ”

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — อภิปรายไม่ไว้วางใจ : โรมถามหาความรับผิดชอบ ประยุทธ์-ประวิตร ปล่อยให้มี “ตั๋วช้าง” แทรกแซงแต่งตั้งตำรวจ

    ศาลยกฟ้องคดี “ชายชุดดำ 10 เม.ย. 2553” อีกคดี

    วันที่ 16 ก.พ. 2564 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีชายชุดดำในเหตุการณ์ 10 เม.ย. 2553 ที่มีนายกิตติศักดิ์ หรืออ้วน สุ่มศรี เป็นจำเลยในคดีกับพวกอีก 4 คน ผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 8 ทวิ 55, 72, 78 และข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

    พยานปากสำคัญที่สุดในคดีนี้คือพยานทหาร ที่อ้างว่าพลขับรถฮัมวี่ที่จอดอยู่ในเหตุการณ์จำหน้าผู้ก่อเหตุในรถตู้ที่ขับสวนผ่านมาได้ และที่ผ่านมาศาลชั้นต้นก็รับฟังพยานปากนี้เพราะเห็นว่าเป็นพยานที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากเห็นว่าเป็นทหาร จึงน่าจะมีความสามารถในการจดจำใบหน้าได้ แม้ด้วยความมืดและเหตุแล้วจะไม่สมเหตุสมผลที่พยานอ้างว่ามองเห็นอาวุธปืนบนพื้นรถตู้ เพราะแค่รถสวนกันจะมองเห็นได้ขนาดนั้นได้อย่างไร กระนั้น ศาลก็ลงโทษจำเลย แม้จะมีการโต้แย้งจากฝั่งจำเลยว่าพยานคนเดียวกันนี้เบิกความไม่ตรงกันไม่ตรงกัน เมื่อเทียบกับการไต่สวนการตายของฮิโรยูกิ มุราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย. 2553

    ทว่า เมื่อถึงชั้นของศาลฎีกา ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานนี้รับฟังได้ เพราะว่าไม่มีพยานหลักฐานอื่นนอกจากทหารนายนี้มายืนยัน และศาลก็มองว่าพยานเบิกความขัดกันแบบนี้ อีกทั้งยังห่างมาหลายปีแล้ว ก็ย่อมไม่น่าเชื่อถือ ศาลฎีกาจึงยกฟ้อง

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ประชาไท — ศาลฎีกายกฟ้องชายชุดดำอีกคดี พยานโจทก์ปากสำคัญไม่น่าเชื่อถือให้การสองคดีไม่ตรงกัน

    ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ยุติการทรงงานในฐานะสมาชิกราชวงศ์

    ที่มาภาพ: https://www.elle.com/culture/celebrities/a33208936/prince-harry-meghan-markle-charity/

    สำนักพระราชวังบักกิงแฮมแถลงว่า เจ้าชายแฮร์รี ดยุคแห่งซัสเซกซ์ และเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชายา จะไม่กลับไปทรงงานในฐานะสมาชิกราชวงศ์อังกฤษอีกต่อไปแล้ว และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงยืนยันว่า ทั้งสองพระองค์นั้น “จะไม่ทรงรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ ซึ่งมาพร้อมกับชีวิตในการรับใช้สังคมอีกต่อไป”

    อนึ่งการตัดสินใจเช่นนี้ของทั้งสองพระองค์ หมายความว่าดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์จะต้องทรงคืนยศทหาร และตำแหน่งเกียรติยศต่างๆ ที่ได้รับพระราชทานมาในอดีต รวมทั้งจะไม่เป็นผู้แทนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ออกปฏิบัติพระกรณียกิจที่เป็นทางการอีกต่อไป

    มีคำถามว่า ทั้งสองพระองค์ยังจะทรงให้การสนับสนุนองค์กรในพระอุปถัมภ์ต่อไปไม่ว่าจะในบทบาทอย่างเป็นทางการหรือไม่ ซึ่งทั้งสองพระองค์ตรัสตอบว่า “เรายังสามารถใช้ชีวิตเพื่อรับใช้ได้ต่อไป การรับใช้เป็นเรื่องสากล”

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — แฮร์รี-เมแกน: ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ตัดสินใจยุติการทรงงานในฐานะสมาชิกราชวงศ์อย่างเป็นทางการ