ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “ทนายอานนท์หวั่น จนท.พยายามนำตัวออกจากห้องขังกลางดึก-ราชทัณฑ์แจงต้องตรวจโควิด” และ “นักข่าวบีบีซีถูกจับขณะรายงานข่าวประท้วงในเมียนมา”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “ทนายอานนท์หวั่น จนท.พยายามนำตัวออกจากห้องขังกลางดึก-ราชทัณฑ์แจงต้องตรวจโควิด” และ “นักข่าวบีบีซีถูกจับขณะรายงานข่าวประท้วงในเมียนมา”

21 มีนาคม 2021


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 13-19 มี.ค. 2564

  • ทนายอานนท์หวั่น เจ้าหน้าที่พยายามนำตัวออกจากห้องขังกลางดึก ด้านราชทัณฑ์ยันไม่ได้ปองร้าย จำเป็นต้องตรวจโควิด
  • พปชร.-ส.ว. จับมือโหวตคว่ำร่างแก้ รธน. วาระ 3
  • โควิดเกี่ยวตลาดย่านบางแคพบติดเชื้อแล้ว 372 ราย
  • พักโทษสรยุทธ ติดกำไล EM
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีถูกจับกุมขณะรายงานข่าวการประท้วงในเมียนมา

  • ทนายอานนท์หวั่น จนท.พยายามนำตัวออกจากห้องขังกลางดึก-ราชทัณฑ์ยันไม่ได้ปองร้ายต้องตรวจโควิด

    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา

    วันที่ 16 มี.ค. 2564 เฟซบุ๊กส่วนของอานนท์ นำภา หรือ “ทนายอานนท์” ขณะนี้มีผู้อื่นใช้งานแทน ได้เผยแพร่จดหมายที่อานนท์เขียนเล่าเหตุการณ์ร้องต่อศาลว่า คืนวันที่ 15 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 21.30 น. ตนเอง, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่) และภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์ ระยอง) ซึ่งล้วนกำลังถูกคุมขังในเรือนจำด้วยข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112 — กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ประสบกับเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์มาพยายามนำตัวออกไปนอกเรือนนอน ซึ่งเมื่อพวกตนไม่ยอมเจ้าหน้าที่ก็ได้กลับออกไปก่อนจะกลับมาพร้อมไม้กระบองและจำนวนคนที่มากกว่าเดิมอีก 3 ครั้งในเวลา 23.45 น., 00.15 และ 02.30 น. โดย 2 ครั้งหลังนั้นมาพร้อมเจ้าหน้าที่อีกชุดที่ส่วมชุดสีน้ำเงินไม่มีป้ายชื่อ พร้อมทั้งอ้างว่าจะนำตัวไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องผิดวิสัยเนื่องจากเป็นการนำผู้ต้องขังออกนอกแดนหลังเที่ยงคืน อีกทั้งยังทำให้พวกตนรู้สึกไม่ปลอดภัยและเกรงว่าจะได้รับอันตรายถึงชีวิต

    “ด่วนที่สุด” ข้อความจากศาล 16 มี.ค. 64 (ข้อความเป็นคำร้องที่เขียนส่งต่อศาลเพื่อแจ้งให้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น…

    Posted by อานนท์ นำภา on Monday, March 15, 2021

    ต่อมาวันที่ 17 มี.ค. 2564 ศาลได้เบิกตัวอานนท์เพื่อไต่สวนถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้อานนท์รู้สึกไม่ปลอดภัย โดยระบุถึงสิ่งที่อานนท์เบิกความต่อศาลว่า มีคำเตือนมาก่อนแล้วว่ามีบุคคลคนหนึ่ง ซึ่งนายอานนท์เอ่ยเป็นชื่อเล่นในห้องพิจารณา ว่าเขาจะส่งคนมาจัดการนายอานนท์และคนอื่นๆ ที่เรือนจำ นายอานนท์ยังยกตัวอย่างผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายคนที่เสียชีวิต ขอให้ศาลได้โปรดคุ้มครอง เพราะมีตัวอย่าง

    ต่อเรื่องดังกล่าว วันที่ 18 มี.ค. 2564 วัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาชี้แจงว่า วันนั้นได้มีการย้ายจตุภัทร์, ภาณุพงศ์ และปิยรัฐ จงเทพ (โตโต้) มาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี ขณะนี้พื้นที่บางแคถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเพราะมีการระบาดของโควิด-19 และเรือนจำพิเศษธนบุรีก็มีผู้ต้องขังจากพื้นที่เสี่ยงฝั่งธนบุรีเข้าใหม่ทุกวัน ผู้ต้องขังทั้งสามที่ถูกย้ายมาจากที่นั่นก็ยังกักตัวไม่ครบ 14 วัน และเมื่อมาถึงก็นำตัวมาห้องกักโรคแรกรับพร้อมกับผู้ต้องขังคนอื่นที่รับตัวกลับมาจากภายนอกในวันเดียวกัน (รวมถึงอานนท์กับพวกอีกกลุ่มที่กลับมาจากศาลด้วย) มาไว้ในห้องกักโรคแรกรับรวมเป็นทั้งหมด 16 คน จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการนำตัวไปคัดกรองโรค แต่มีเพียง 9 คนที่ยอมให้ตรวจ ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ต้องขังในคดีการเมือง ในขณะที่กลุ่มผู้ต้องขังคดีการเมือง 7 คนคืออานนท์และพวกนั้นไม่ยอมให้ตรวจ (นอกจากอานนท์, จตุภัทร์, ภาณุพงศ์ และปิยรัฐ ยังมีอีก 3 คน คือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ปฏิวัติ สาหร่ายแย้ม หรือ แบงค์ หมอลำ และพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน)

    รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรมชี้แจงต่อว่า การตรวจผู้ต้องขัง 9 รายที่ยอมให้ตรวจนั้นทำกันกลางแจ้งและเรียกไปตรวจทีละคน รวมถึงจากนั้นก็ย้ายตัวไปกักกันโรคอีกห้องหนึ่ง ทั้งหมดนี้ใช้เวลาหลายชั่วโมง กว่าจะแล้วเสร็จก็ประมาณ 02.00 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาเคลื่อนย้ายส่วนหนึ่งคือเจ้าหน้าที่เข้าเวร และอีกส่วนเป็นชุดปฏิบัติการพิเศษที่มาร่วมในการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขัง 2 นาย เพื่อความปลอดภัย (เครื่องแบบชุดปฏิบัติการพิเศษไม่ได้กำหนดให้ติดป้ายชื่อ ยกเว้นหัวหน้าชุดที่จะมีป้ายชื่อ และมีกระบองพกอยู่แล้วในเครื่องแบบ) เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังมีความเสี่ยงจึงต้องพกไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทำกันอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการกระทำที่นอกเหนือไปจากกฎระเบียบที่กำหนดไว้

    แต่อย่างไรก็ดี วัลลภชี้แจงว่า ตนในฐานะประธานกรรมการประมวลข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว จะเร่งสืบสวนหาหลักฐานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาและให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และจะรีบชี้แจงต่อสาธารณชนโดยเร็ว

    อนึ่ง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองและผู้ต้องโทษจำคุกที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ก็ไม้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าง โดยอธิบายถึงกฎระเบียบในเรือนจำพร้อมทั้งระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องผิดวิสัย

    เรื่องแปลกแต่จริงในเรือนจำ

    ในฐานะเป็นศิษย์เก่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ จึงขอชี้แจงแถลงไขให้สาธารณชนเข้าใจแบบตรงไปตรงมา…

    Posted by ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ on Tuesday, March 16, 2021

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ — ไต่สวน ‘อานนท์’ ปมเอาตัว ‘ไผ่-ไมค์’ กลางดึก หวั่นทำลายวงจรปิด เอ่ยชื่อคนส่งทีมจัดการถึงคุก
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — โฆษกยุติธรรม แจงยิบ จำเป็นต้องตรวจโควิด อานนท์กับพวก ปล่อยปละละเลยไม่ได้

    พปชร.-ส.ว. จับมือโหวตคว่ำร่างแก้ รธน. วาระ 3

    นายไพบูลย์ นิติตะวัน

    หลังจากร่างการแก้ไขรัฐรรมนูญ วาระ 2 ผ่านสภามาได้เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 โดยมีสาระสำคัญอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ

    หนึ่ง การแก้ไขมาตรา 256 เรื่องวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่หนึ่งและวาระที่สามจำเป็นจะต้องใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า “สามในห้า” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา

    สอง การแก้ไขเพิ่มหมวด 15/1 เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จำนวน 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หรือระบบ “หนึ่งเขตหนึ่งคน” โดยมีเงื่อนไขพิเศษว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องห้ามแก้ไขหมวดที่ 1 บททั่วไป และ หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์

    หลังจากนั้น ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ขอให้รัฐสภาพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลรัฐธรรมนูญ (ศาล รธน.) ได้รับคำร้องไว้วินิจัฉัยเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564

    ต่อมา ศาล รธน. ได้มีมติเสียงข้างมาก ระบุว่ารัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องมีการทำประชามติ 2 ครั้งก่อน โดยครั้งแรกเป็นการให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ซึ่งหากประชาชนต้องการให้มี และต่อมาได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้ทำประชามติครั้งที่สอง โดยให้ประชาชนเป็นผู้ลงมติว่าจะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวหรือไม่

    ล่าสุด วันที่ 17 มี.ค. 2564 ก็ได้มีการประชุมสภาเพื่อพิจารณาญัตติร่างการแก้ไขดังกล่าวในวาระที่ 3 การตีวคามคำวินิฉัยดังกล่าวของศาล รธน. ไม่ตรงกันทำให้เกิดการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไปภายใต้ 3 แนวทาง คือ งดโหวต, เลื่อนโหวต และเดินหน้าโหวตวาระที่ 3 ภายใต้ญัตติต่างๆ ที่มีการเสนอกัน 3 ญัตติ ได้แก่

    • ขอให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติว่าไม่ให้มีการพิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 เพราะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เสนอโดยนายสมชาย แสวงการ กับนายเสรี สุวรรณภานนท์ โดยมีเพื่อน ส.ว. อภิปรายสนับสนุนอย่างแข็งขันตลอดทั้งวัน
    • ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ตามมาตรา 210(2) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 เสนอโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้า ปชป. โดยมี ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง ภท. และ ชทพ. ร่วมอภิปรายสนับสนุน
    • ขอให้พิจารณาตามระเบียบวาระการประชุม เสนอโดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแนวทางหลักของฝ่ายค้าน

    ทว่า อยู่ๆ ไพบูลย์ นิติตะวัน ได้เสนอญัตติซ้อนขึ้นมา โดยขอให้พิจารณาดำเนินการตามระเบียบวาระ “เรื่องด่วน” ซึ่งหมายถึงการเดินหน้าลงมติในวาระที่ 3 จึงนำไปสู่การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ซึ่งกำหนดให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 367 คน จากสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 737 คน (ปัจจุบันมี ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 487 คน และ ส.ว. 250 คน) แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน 20% หรือ 43 จาก 211 เสียง และมี ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว. ที่มีอยู่ หรือ 84 คน

    และทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถูก “โหวตคว่ำ” กลางรัฐสภา ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 208 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 94 และไม่ลงคะแนน 136 คะแนน ซึ่งไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ประชาไท — รัฐสภาผ่านวาระ 2 ร่าง รธน. แก้ไขเพิ่มเติม ให้ 200 สสร. มาจากการเลือกตั้ง ห้ามแก้หมวด 1, 2
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — แก้รัฐธรรมนูญ: ศาลรัฐธรรมนูญชี้สภามีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องจัดให้ลงประชามติ
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — “ละคร” แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ของรัฐสภาไทย ที่มี ไพบูลย์ นิติตะวัน เป็น “นักแสดงนำ”

    โควิดเกี่ยวตลาดย่านบางแคพบติดเชื้อแล้ว 372 ราย

    แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 19 มี.ค. 2564 ระบุว่า กรณีการควบคุมการระบาดเชื่อมโยงตลาดย่านบางแค กทม. นั้น วันที่ 9-18 มี.ค.64 มีการตรวจเชิงรุก 12,649 ราย พบผู้ติดเชื้อ 372 ราย พบเชื้อในน้ำเสียจากตลาด 4 แห่งจาก 7 แห่ง และพบการกระจายไปอีก 10 จังหวัดรวม 25 ราย

    มีการเร่งเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ติดตามสัมผัสผู้เสี่ยงสูง ปรับปรุงสุขาภิบาล สุ่มตรวจตลาดอีก 440 แห่งและ 280 ชุมชนใน กทม. ฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ผู้ค้ากลุ่มเสี่ยงตลาดย่านบางแค 961 ราย และออกบัตรรับรองผลการตรวจโควิดก่อนอนุญาตให้เข้าขายของในตลาด

    ส่วนสถานการณ์ในระดับประเทศนั้น พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 100 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 96 ราย มาจากต่างประเทศ 4 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รักษาหาย 73 ราย ผู้ป่วยสะสม 27,594 ราย รักษาหายแล้ว 26,450 ราย เหลือรักษา 1,054 ราย เสียชีวิตสะสม 90 ราย ระลอกใหม่ติดเชื้อสะสม 23,357 ราย หายสะสม 22,273 ราย เสียชีวิตสะสม 30 ราย

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ — โควิดวันนี้ ติดเชื้อพุ่ง100ราย กระจาย10จว. ข่าวร้าย หญิงพนง.บริษัทดับ1

    พักโทษสรยุทธ ติดกำไล EM

    นายสรยุทธ สุทัศนะจินดาที่มาภาพ : https://www.naewna.com/politic/467608

    วันที่ 14 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรรายการข่าว จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขึ้นรถกรมราชทัณฑ์มาติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร เขต 7 หลักสี่ หลังจากที่ได้รับการพิจารณาพักโทษกรณีพิเศษ

    สรยุทธเปิดเผยหลังติดกำไล EM ว่า ขอบคุณทุกคนที่ให้ความสนใจ ดีใจที่ได้รับอิสรภาพแม้จะยังไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขกรมคุมประพฤติ แต่อย่างน้อยก็ยังได้ออกจากเรือนจำ ทั้งนี้ ช่วงระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำระยะเวลา 1 ปีกว่า การกินอยู่นอนไม่สบายมากนัก แต่ก็ค่อยๆ ปรับตัวได้ ก็มีความทุกข์บ้างแต่คดีก็ได้จบสิ้นเสียที

    ส่วนเรื่องการกลับมาจัดรายการข่าวนั้น สรยุทธระบุว่าจะขอใช้เวลาคิดสักระยะ เพราะตนว่างเว้นจากการทำข่าวมานานกว่า 5 ปี และปัจจุบันมีรายการข่าวมากมาย ต้องขอเวลาปรับตัว แต่ยืนยันว่าหากจะกลับมาทำหน้าที่พิธีกรข่าวจะยังคงอยู่ที่ช่อง 3 เหมือนเดิม

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ผู้จัดการไลน์ — “สรยุทธ” ติดกำไล EM ข้อเท้าซ้าย พ้นคุกหลังติดเรือนจำ 1 ปี 2 เดือน 6 วัน

    สื่อข่าวบีบีซีถูกจับกุมขณะรายงานข่าวการประท้วงในเมียนมา

    อ่อง ตูยะ ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาเมียนมาถูกกลุ่มชายฉกรรจ์นอกเครื่องแบบจับกุมขณะรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา โดยเรื่องนี้เกิดขึ้นในขณะที่สถานการณ์กสนประท้วงรุนแรงขึ้น และทางการเมียนมากำลังเดินหน้าทำสงครามสยบสื่อมวลชนในประเทศ

    “บีบีซียึดถือเรื่องความปลอดภัยของพนักงานทุกคนในเมียนมาอย่างจริงจังมาก และเรากำลังทำทุกอย่างเพื่อตามหาอ่อง ตูยะ” บีบีซีระบุในแถลงการณ์ที่แสดงความกังวลต่อเรื่องดังกล่าว

    “เราขอเรียกร้องให้ทางการช่วยตามหาเขาและยืนยันว่าเขาปลอดภัย อ่อง ตูยะ เป็นผู้สื่อข่าวของบีบีซีที่มีประสบการณ์หลายปีในการรายงานข่าวต่าง ๆ ในกรุงเนปิดอว์”

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — รัฐประหารเมียนมา: ยังไม่ทราบชะตากรรมผู้สื่อข่าวบีบีซีที่ถูกจับกุมขณะรายงานข่าวการประท้วง