ออมสินชู “สมุย โมเดล” นำคณะผู้บริหาร-พนักงานกว่า 500 คน ลุยปล่อยกู้-ปรับโครงสร้างหนี้ช่วยลูกค้า 2,500 ราย รวมวงเงินกว่า 1,500 ล้านบาท เตรียมจัดโปรโมชั่น “ออมสินชวนเที่ยวสมุย” มอบส่วนลดพิเศษให้ลูกค้าบัตรเครดิต
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการ ให้ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ดังนั้น เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ทางธนาคารออมสิน จึงได้จัดโครงการ “ออมสินเพื่อสมุย : SAMUI MODEL” เป็นโครงการนำร่อง โดยนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน พร้อมด้วยคณะกรรมการธนาคาร , ผู้บริหารระดับสูง , พนักงานธนาคารออมสิน และสื่อมวลชนรวมกว่า 500 คน เดินทางไปเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2563 เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตโควิด ฯ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ อีกมากมาย
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่าโครงการ “ออมสิน เพื่อสมุย” ถือเป็นหนึ่งในโครงการ CSR ของธนาคารออมสิน ซึ่งธนาคารมีความตั้งใจที่จะเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่เกาะสมุย เป็นโครงการนำร่อง หรือ โครงการต้นแบบ เพื่อขยายผลความช่วยไปยังพื้นที่อื่น ๆต่อไป แต่ก่อนที่จะมาลงพื้นที่เกาะสมุย ธนาคารได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางมาสำรวจความเดือดร้อน และความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ล่วงหน้า 2 เดือน พบว่าชาวบ้านที่เกาะสมุยได้รับผลกระทบจากโควิด ฯรุนแรงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจของที่นี่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก ลูกค้ากว่า 80% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้น เมื่อมีการสั่งปิดน่านฟ้า จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยปกติมีอยู่ประมาณ 10-15% แต่ในช่วงนี้แทบจะไม่มีคนไทยมาเที่ยวที่นี่ โดยเฉพาะที่หาดเฉวงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งโรงแรม รีสอร์ท ห้างร้างต่างๆ ปิดกิจการกันเกือบทั้งหมด รวมทั้งพื้นที่อื่น ๆในเกาะสมุย ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
“การเดินทางมาลงพื้นที่เกาะสมุยครั้งนี้ ผมหวังว่าคงจะช่วยปลุกกระแสการท่องเที่ยว หรือกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยได้ จึงระดมสรรพกำลังทั้งผู้บริหารและพนักงานของออมสินกว่า 500 คน พร้อมกับขนผลิตภัณฑ์ของธนาคารทุกประเภท มาเปิดให้บริการลูกค้าตั้งแต่ลูกค้าระดับฐานราก , SMEs และผู้ประกอบการในพื้นที่ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล สมุยในระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2563” นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย กล่าวต่อว่า ช่วง 2 วันที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้มีการอนุมัติและโอนเงินสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าแล้ว 2,500 ราย คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 1,500 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. อนุมัติสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ SMEs ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ Soft Loan ช่วย SMEs ภาคการท่องเที่ยว , สินเชื่อ Soft Loan สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด , สินเชื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจท่องเที่ยว SAMUI MODEL และสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน รวมทั้งสิ้น 194 ราย คิดเป็นวงเงินกว่า 1,300 ล้านบาท 2. อนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อย 1,826 ราย รายละ 10,000- 50,000 บาท คิดเป็นวงเงิน 176 ล้านบาท และ 3. ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเดิมกว่า 500 ราย ที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขเดิมเมื่อครบกำหนดพักหนี้ คิดเป็นมูลหนี้ 446 ล้านบาท ทั้งนี้รวมถึงการไกล่เกลี่ยลูกหนี้หลังการฟ้องที่กรมบังคับคดีกว่า 30 ราย คิดเป็นมูลหนี้อีก 2.6 ล้านบาท
“สำหรับกลุ่มลูกค้า SMEs ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อภายใต้โครงการ SAMUI MODEL รายละ 2 – 5 ล้านบาท รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมบางรายที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนท์สูงสุดถึง 300 ล้านบาท ธนาคารได้กำหนดระยะเวลาปลอดหนี้ช่วยลูกค้ากลุ่มนี้ให้มีกระแสเงินสดเพียงพอ และสามารถนำพาธุรกิจก้าวข้ามวิกฤติโควิด ฯได้ โดยให้ลูกค้ากลุ่มนี้เริ่มชำระเงินต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป แต่ในระหว่างนี้ให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 1% โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ จะต้องไม่ปลดพนักงาน ตรงนี้ถือเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้วย” นายวิทัย กล่าว
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า ส่วนลูกค้ากลุ่มโรงแรมบางรายที่ขอพักชำระเงินต้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด ธนาคารก็ผ่อนปรนให้ลูกค้ากลุ่มนี้ชำระค่าดอกเบี้ยเป็น Voucher ค่าที่พักโรงแรมได้ แต่ไม่เกิน 50% ของค่าดอกเบี้ยที่ต้องชำระ โดยธนาคารจะนำ Voucher ค่าที่พักของลูกค้ามารวมกับตั๋วเครื่องบินราคาพิเศษ และค่าอาหาร จัดทำเป็นโปรโมชั่นโครงการ “ออมสินชวนเที่ยวสมุย” มอบส่วนลดพิเศษให้กับลูกค้าบัตรเครดิตของธนาคาร ต่อจากยอดโครงการ SAMUI MODEL ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นความต้องการของตลาด (Demand) ในการเดินทางท่องเที่ยว โดยมีจุดหมายปลายทางที่เกาะสมุย
“เจตนารมณ์ของการจัดทำโครงการออมสินชวนเที่ยวสมุย คือ ธนาคารต้องช่วยเหลือลูกค้าจริง ๆ แทนที่จะปล่อยให้ลูกค้าปิดกิจการโรงแรมกลายเป็น NPLs ธนาคารก็จะเข้าไปช่วยลูกค้า โดยนำ Voucher ค่าที่พัก มาจัดแคมเปญปลุกกระแส เชิญชวนคนไทยให้กลับมาเที่ยวที่เกาะสมุย ช่วยเพิ่มรายได้ หรือ กระแสเงินสดให้ลูกค้า ส่วนความคืบหน้าของโครงการนี้ ทางธนาคารกำลังเจรจากับบริษัทสายการบิน เพื่อขอซื้อตั๋วเครื่องบินในราคาพิเศษ รวมทั้งเชิญชวนร้านอาหารมาเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย” นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย กล่าวต่อว่า จากการที่ธนาคารส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่เกาะสมุย พบว่ามีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน เนื่องจากผู้ปกครองประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนักเรียนในระดับมัธยม ซึ่งไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ดังนั้น ในการเดินทางมาที่เกาะสมุยครั้งนี้ ธนาคารยังได้มอบความช่วยเหลืออื่น ๆ แก่ชุมชน และประชาชนบนเกาะสมุย อาทิ
- มอบทุนการศึกษาแก่บุตรที่ผู้ปกครองได้รับผลกระทบจากผลกระทบโควิด-19 จำนวน 320 ทุน
- สนับสนุนกิจกรรมตามวิถีพอเพียงให้แก่โรงเรียน เช่น มอบฟาร์มไก่ไข่ โรงเรือนเพาะเห็ด และพืชผักสวนครัว เป็นการตั้งต้นให้ครูและนักเรียนสามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในระยะยาว
- อุดหนุนสินค้าของชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์จากปลา ไข่ไก่ ปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ แล้วนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในพื้นที่จำนวน 1,500 ชุด
- ให้การสนับสนุนเครื่องมือทำกิน และความรู้เพื่อต่อยอดการดำรงชีพ เช่น มอบรถเข็นให้ร้านค้า 10 คัน ฝึกอบรมอาชีพ 300 ราย สนับสนุนเครื่องจำเป็นแก่ชุมชนประมง (ธนาคารปู) รวมถึงการจัดพื้นที่ออกร้านจำหน่ายสินค้าให้ฟรี สำหรับร้านค้าในพื้นที่ และ Street Food
“ผมหวังว่าโครงการ SAMUI MODEL จะเป็นโครงการต้นแบบให้แก่หน่วยงานของรัฐ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ในการเข้าไปช่วยเหลือแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ต่างจากเกาะสมุย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง หากหน่วยงานต่าง ๆเข้ามาช่วยกันดูแล รายละ 50-60 จังหวัด ผมเชื่อว่าจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตโควิดฯในครั้งนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผมคงต้องขอประเมินผลโครงการ SAMUI MODEL ก่อนที่จะขยายความช่วยเหลือในลักษณะนี้ไปยังพื้นที่อื่น ๆในปีหน้า ผมขอเชิญชวนคนไทยทุกภาคส่วน ร่วมด้วยช่วยกันพลิกฟื้นสมุย และพลิกฟื้นเศรษฐกิจประเทศไทย” นายวิทัย กล่าวทิ้งท้าย