ThaiPublica > เกาะกระแส > COVAX โครงการจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียมทั่วโลก ช่วยประเทศยากจนได้อย่างไร

COVAX โครงการจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียมทั่วโลก ช่วยประเทศยากจนได้อย่างไร

16 กุมภาพันธ์ 2021


ที่มาภาพ: https://www.euronews.com/2021/02/08/what-is-covax-and-is-it-helping-poor-countries-get-access-to-covid-19-vaccines

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อเตรียมรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (Global Alliance for Vaccine and Immunization: Gavi) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation: WHO) ในฐานะแกนนำร่วมในโครงการ (COVID-19 Vaccine Global Access Facility: COVAX) ซึ่งเป็นความริเริ่มระดับโลกเพื่อจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียม พร้อมด้วยพันธมิตรในการส่งมอบ คือ UNICEF ได้ร่วมกันเผยแพร่การคาดการณ์ครั้งแรกของการแจกจ่ายวัคซีนระหว่างที่กำลังผลิต (interim distribution forecast)

การคาดการณ์การกระจายวัคซีนระหว่างที่กำลังผลิต (interim distribution forecast) จัดทำขึ้นจากการคาดการณ์อุปทานวัคซีนทั่วโลกและภูมิภาคในปี 2021 โดย COVAX ได้ให้ข้อมูลความพร้อมใช้งานที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าของปริมาณวัคซีน ทั้งจากไฟเซอร์ที่ร่วมพัฒนากับไบโอเอ็นเทคในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 และผู้เข้าร่วมโครงการ COVAX ที่จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในช่วงครึ่งแรกของปี 2021

การเผยแพร่คาดการณ์นี้มีขึ้นไม่ถึงสองสัปดาห์หลังจากการประกาศข้อตกลงการสั่งซื้อล่วงหน้ากับไฟเซอร์ที่ร่วมกับไบโอเอ็นเทคฉบับใหม่ และหลังจากวัคซีนโควิด-19 ตัวแรกได้รับการอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉิน หรือ WHO Emergency Use Listing (EUL) ไม่ถึงหนึ่งเดือน

จุดประสงค์ที่ของการเผยแพร่ข้อมูลการแจกจ่ายระหว่างกำลังผลิตกับประเทศต่างๆ ทั้งที่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมการจัดหาทั่วโลกมีพลวัตสูง ก็เพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อรัฐบาลและระบบสุขภาพ ในการวางแผนสำหรับโครงการฉีดวัคซีนแห่งชาติ การจัดสรรขั้นสุดท้ายจะได้รับการเผยแพร่ตามกำหนด

  • โฆษกรัฐบาลแจงเหตุไทยไม่ได้สิทธิ์รับวัคซีนฟรีจากโครงการ COVAX
  • การคาดการณ์การกระจายแบบ interim นี้ได้สรุปการส่งมอบปริมาณวัคซีนที่คาดการณ์ไว้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ยกเว้นผู้เข้าร่วมที่ใช้สิทธิ์ไม่เลือกใช้ ผู้ที่ยังไม่ได้ส่งคำขอวัคซีน หรือยังไม่ได้รับการจัดสรรปริมาณ

    รายงานนี้เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับคาดการณ์การกระจายวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจำนวน 240 ล้านโดส ที่ผลิตโดยสถาบันเซรัมอินเดีย (Serum Institute of India: SII) และวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด 96 ล้านโดสภายใต้ข้อตกลงการซื้อล่วงหน้า ระหว่าง Gavi, Vaccine Alliance และแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนไฟเซอร์ที่ร่วมกับไบโอเอ็นเทคจำนวน 1.2 ล้านโดส ที่องค์การอนามัยโลกได้อนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉินในไตรมาสแรกปี 2021

    นอกจากนี้ โครงการจะได้รับวัคซีนเพิ่มอีกจากทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ในปี 2021 นี้

    ที่มาภาพ: https://www.unicef.org/rwanda/press-releases/covax-publishes-first-interim-distribution-forecast

    อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการคาดการณ์การกระจายวัคซีนนี้ไม่มีผลผูกพันและอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะนอกจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน EUL แม้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาแล้ว ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่

    วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่จะกระจายไตรมาส 1 และ 2

    • การกระจายวัคซีนตามจริงจะมีการประกาศเมื่อองค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉิน และการคาดการณ์นี้จะไม่ถือว่าเป็นการบ่งชี้ว่าวัคซีนจะได้รับอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉิน
    • การคาดการณ์การกระจายวัคซีนนี้ได้คำนึงถึงการประมาณการปริมาณวัคซีนไว้แล้ว แต่อาจจะต่างกันตามการผลิตหรือข้อจำกัดในการดำเนินงานอื่น และจะมีผลต่อจำนวนโดสที่จะแจกจ่ายไปให้ประเทศต่างๆ
    • จะไม่มีการแจกวัคซีนให้การจัดสรรรอบสุดท้ายหากผู้เข้าร่วมโครงการไม่มีความพร้อม (สำหรับประเทศที่มีการจองล่วงหน้าหรือ advance market commitment: AMC countries) ซึ่งอาจจะทำให้ปริมาณการกระจายวัคซีนในประเทศที่เข้าร่วมโครงการอื่นแปรปรวน
    • การส่งมอบที่ถูกต้องหลังการจัดสรร จะขึ้นอยู่กับแผนการขนส่งตามลำดับประเทศ การใช้เวลาในการส่งคำสั่งซื้อ เงื่อนไขทางกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งระยะเวลาตั้งแต่เริ่มสั่งสินค้าไปยังผู้ขายการเตรียมวัตถุดิบ การผลิต ตลอดจนการขนส่งสินค้าจนถึงมือของผู้ซื้อ และการขนส่งที่เกี่ยวข้องอื่น
    • หากในช่วงเวลานี้มีวัคซีนอื่นๆ พร้อมใช้ขึ้นมา จะมีการปรับการคาดการณ์การกระจายวัคซีนนี้ เนื่องจากอาจมีการจัดสรรวัคซีนอื่นๆ ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ ดังนั้น ปริมาณที่ระบุไว้สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (ทั้งที่ผลิตโดย SII และบริษัทเอง) อาจมีการเปลี่ยนแปลง

    วัคซีนไฟเซอร์ การกระจายพิเศษรอบแรกในไตรมาส 1
    COVAX คาดว่าวัคซีนไฟเซอร์ไบโอเอ็นเทคจำนวน 1.2 ล้านโดสจะพร้อมส่งมอบให้โครงการในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 และจะมีวัคซีนพร้อมใช้จำนวนมากขึ้นในไตรมาสที่สองและหลังจากนั้น ตามข้อตกลงการสั่งซื้อล่วงหน้าที่ลงนามระหว่าง Gavi และไฟเซอร์ในจำนวนมากถึง 40 ล้านโดส ดังนั้นจึงมีกระบวนการกระจายที่พิเศษเพื่อให้ปริมาณวัคซีนไตรมาส 1 ของไฟเซอร์ที่มีน้อย เกิดประโยชน์สูงสุดด้านสุขภาพของประชาชนส่วนจัดสรรในอนาคตทั้งหมดจะเป็นไปตามแนวมาตรฐานของโครงการ

    จากการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกรายที่ยังไม่ได้ใช้สิทธ์ไม่เลือกใช้ แสดงความสนใจในวัคซีนของไฟเซอร์ที่ต้องจัดเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำมากเป็นพิเศษ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6-18 มกราคม ปรากฏว่ามีผู้แสดงความสนใจ 72 ราย (จากประเทศที่จองซื้อล่วงหน้า 36 ประเทศ และผู้เข้าร่วมการโครงการที่จัดหาโดยใช้เงินตนเอง (self-financing participants หรือ SFP อีก 36 ราย) คณะกรรมการตรวจสอบระดับภูมิภาค 6 คณะ (ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก WHO, UNICEF, Gavi และสมาชิกคณะกรรมการอิสระของ Gavi) ได้ทำการประเมินทางเทคนิคเพื่อให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อม

    ด้วยปริมาณที่จำกัด และการจัดเก็บวัคซีนที่ต้องใช้ตู้เย็นพิเศษ และเพื่อให้มีประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพของประชาชน จึงมีการตัดสินใจจำกัดจำนวนประเทศสำหรับการส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ในงวดแรก เพื่อเปิดให้การกระจายและการจัดส่งสำเร็จได้ ทั้งนี้ จากหลักการของความเป็นธรรม ความโปร่งใส และความเสมอภาค สำหรับกระบวนการส่งมอบพิเศษครั้งแรกนี้ ได้แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการที่แสดงความสนใจของรับวัคซีนไฟเซอร์งวดแรกทั้งหมด ซึ่งได้รับการประเมินความพร้อมโดยคณะกรรมการตรวจสอบระดับภูมิภาค ออกเป็น 6 กลุ่ม ตามภูมิภาคสอดคล้องกับกลุ่มภูมิภาคขององค์การอนามัยโลก และตามสถานะของผู้เข้าร่วม (ไม่ว่าจะเป็นจัดซื้อเองหรือจองล่วงหน้า)

    องค์การอนามัยโลกได้ตรวจสอบผู้เข้าร่วมโครงการใน 4 ด้าน และได้ข้อมูล ณ วันที่ 29 มกราคมดังต่อไปนี้

      (1) ด้านความพร้อมของผู้เข้าร่วม ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ที่ยื่นได้รับการประเมินว่าพร้อม
      (2) ผู้เข้าร่วมโครงการได้เริ่มฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ วัตถุประสงค์ของการกระจายวัคซีนครั้งแรกนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถเริ่มฉีดวัคซีนได้ เพราะมีการกำหนดว่าผู้เข้าร่วมโครงการที่ริเริ่มโครงการฉีดวัคซีนโควิดในวันที่ 29 มกราคม จะไม่รวมอยู่ในรอบการจัดสรรพิเศษครั้งแรกสำหรับวัคซีนไฟเซอร์
      (3) ราคาวัคซีนที่รับได้ของผู้ที่จัดหาด้วยเงินตนเอง เพื่อดูว่าราคาอยู่ในระดับที่คาดไว้ในการยื่นต่อโครงการหรือไม่
      (4) การประเมินความเสี่ยงจากการสัมผัสของบุคคลกรทางด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นผลสำคัญของเป้าหมายการกระจายวัคซีนพิเศษในช่วงแรกนี้ และตามที่ได้แจ้งให้ผู้เข้าร่วมโครงการ COVAX ทราบเมื่อวันที่ 6 มกราคม เนื่องจากไม่มีการวัดการสัมผัสโดยตรง จึงใช้ตัวชี้วัดและข้อมูลร่วมกันแทน รวมถึงอัตราการเสียชีวิตในช่วง 28 วันที่ผ่านมา

    การจัดสรรจำนวนวัคซีนรอบสุดท้ายขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

    • การเจรจาและดำเนินการตามข้อตกลงเพิ่มเติมตามที่กำหนด
    • การยืนยันการยอมรับและการบังคับใช้ข้อกำหนดการจัดการผลิตภัณฑ์
    • การยืนยันความพร้อมของประเทศ
    • การยืนยันการยอมรับกฎข้อบังคับการอนุมัติใช้ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกของประเทศที่เข้าร่วม

    ปริมาณวัคซีนทั้งหมดครอบคลุมโดยเฉลี่ย 3.3% ของประชากรทั้งหมดของผู้เข้าร่วม 145 ประเทศ ที่ได้รับวัคซีนจากผู้ผลิตอย่างน้อยหนึ่งราย เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการที่จะเข้าถึงประชากรอย่างน้อย 3% ในทุกประเทศในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งเพียงพอที่จะคุ้มครองกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เช่น เจ้าหน้าที่ด้านการดูแลสุขภาพ

    ประเทศไหนได้เท่าไร

    ผู้เข้าร่วมโครงการที่ไม่ปรากฎชื่อในครั้งนี้ เป็นเพราะใช้สิทธิ์ที่จะไม่เลือกใช้ หรือไม่ได้ยื่นขอรับวัคซีน หรือยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน

    สำหรับรายชื่อผู้ร่วมโครงการที่ได้รับการกระจายวัคซีนแบ่งตาม 6 ภูมิภาคตามที่ตั้งสำนักงานขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ ภูมิภาคเมดิเตอเรเนียนตะวันออก (Regional Office for the Eastern Mediterranean: EMRO) 20 ประเทศ, สหภาพยุโรป (Regional Office for Europe: EURO) 16 ประเทศ, แอฟริกา (Regional Office for Africa: AFRO) 39 ประเทศ, ทวีปอเมริกา (Pan American Health Organization: PAHO) 33 ประเทศ, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (World Health Organization South-East Asia Region: SEARO) 10 ประเทศ, แปซิฟิกตะวันตก (Western Pacific Region: WPRO) 21 ประเทศ และที่ไม่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ (Non-UN) 1 ประเทศ

    ในเอเชีย ทั้งเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนในไตรมาสแรกปีนี้ ได้แก่ บังกลาเทศ ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากการจองซื้อล่วงหน้า 12.79 ล้านโดส

    จองซื้อล่วงหน้า

    • บังกลาเทศ 12.792 ล้านโดส
    • ศรีลังกา 1.692 ล้านโดส
    • เนปาล 2.256 ล้านโดส
    • ภูฏาน 108,000 โดส
    • มองโกเลีย 163,200 โดส
    • กัมพูชา 1.296 ล้านโดส
    • อินเดีย 97.164 ล้านโดส
    • อินโดนีเซีย 13.708 ล้านโดส
    • เกาหลีเหนือ 1.992 ล้านโดส
    • สปป.ลาว 564,000 โดส
    • เมียนมา 4.224 ล้านโดส
    • ฟิลิปปินส์ จากแอสตร้าเซนเนก้า 5.5 ล้านโดส และจากไฟเซอร์ 117,000 โดส

    จัดซื้อด้วยเงินตนเอง

    • บรูไน 100,800 โดส
    • สิงคโปร์ 288,000 โดส
    • มาเลเซีย 1.624 ล้านโดส
    • เวียดนาม 4.886 ล้านโดส
    • ติมอร์-เลสเต 100,800 โดส
    • เกาหลีใต้จากแอสตร้าเซนเนก้า 2.59 ล้านโดส จากไฟเซอร์ 117,00 โดส

     

    ที่มาภาพ:
    https://www.astrazeneca.com/media-centre/covid-19-media.html#imagetile

    องค์การอนามัยโลกอนุมัติวัคซีนแอสตราเซเนก้า

    วันที่ 15 กุมภาพันธ์ องค์การอนามัยโลกได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนแอสตราเซเนก้าแบบฉุกเฉิน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงวัคซีนในราคาที่ไม่แพงมาก

    “ตอนนี้เรามีทุกอย่างพร้อมสำหรับการกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว แต่เรายังคงต้องเพิ่มปริมาณการผลิต” ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าวในการบรรยายสรุป

    “เรายังคงเรียกร้องให้ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด 19 ส่งเอกสารให้องค์การอนามัยโลกตรวจสอบพร้อมกับที่ส่งให้หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศที่มีรายได้สูง”

    แถลงการณ์ของ WHO ระบุว่า ได้อนุมัติวัคซีนที่ผลิตโดยแอสตราเซเนก้าเอสเคไบโอ(AstraZeneca-SKBio)ในเกาหลีใต้และ Serum Institute of India

    ด้านแถลงการณ์ของแอสตราเซเนก้าระบุว่า “ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 คาดว่าจะมีวัคซีนมากกว่า 300 ล้านโดสพร้อมใช้ใน 145 ประเทศผ่าน โครงการ COVAX ขึ้นอยู่กับความท้าทายด้านอุปทานและการดำเนินการ”

    การอนุมัติของมีขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่คณะกรรมการ WHO ให้คำแนะนำชั่วคราวเกี่ยวกับวัคซีนโดยระบุว่า ควรฉีด 2 โดสโดยทิ้งช่วงเวลาประมาณ 8 ถึง 12 สัปดาห์สำหรับผู้ใหญ่ทุกคนและสามารถใช้ได้ในประเทศที่ไวรัสกลายพันธ์เป็นสายพันธ์อัฟริกาใต้

    การตรวจสอบขององค์การอนามัยโลกพบว่า วัคซีนแอสตราเซเนก้ามีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่”ต้องมี” ในด้านความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าความเสี่ยง

    ที่มาภาพ: https://www.dw.com/en/fact-check-will-poor-countries-miss-out-on-covid-19-vaccinations/a-55886334

    โครงการ COVAX คืออะไร

    โครงการCOVAX คืออะไร และช่วยให้ประเทศยากจนเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่

    หากไม่มีการเข้าถึงวัคซีนเพื่อช่วยชีวิตคนทั่วโลก โควิด-19 ก็จะอยู่กับเราไปอีกนาน ไวรัสโควิดได้แพร่กระจายไปทุกทวีปและมีผู้ติดเชื้อกว่า 100 ล้านคนทั่วโลกภายในปีเดียว นับตั้งแต่มีการประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินของสถานการณ์สาธารณสุขโลก

    นักเคลื่อนไหวด้านมนุษยธรรมและผู้เชี่ยวชาญ กำลังชี้ให้เห็นถึงช่องว่างในการกระจายวัคซีนระหว่างประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและยากจนที่สุดในโลก และวิจารณ์ประเทศร่ำรวยที่ซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ในปริมาณที่มากขึ้น ขณะที่ประเทศยากจนไม่ได้รับวัคซีน และมีแนวโน้มที่จะต่อเนื่องไปหลายเดือนหลังจากมีวัคซีนออกใช้ครั้งแรก

    “ความแตกต่างระหว่างประเทศต่างๆ กลายเป็นประเด็นสำคัญอย่างรวดเร็ว และความกังวลหลักของเราคือ [ประเทศร่ำรวย] เริ่มฉีดวัคซีนให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ขณะที่อีกด้านหนึ่งของโลก เรายังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้บุคคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพได้อย่างเต็มที่” อาแล็ง อัลซัลฮานี เภสัชกรด้านวัคซีนของโครงการแพทย์ไร้พรมแดนหรือ Doctors Without Borders (Medicine Sans Frontieres: MSF) กล่าว

    ผลการศึกษาที่ได้รับมอบหมายจากหอการค้าระหว่างประเทศประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะสูญเสียเงิน 9.2 ล้านล้านดอลลาร์ (7.6 ล้านล้านยูโร) หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้

    ประเทศที่มีรายได้ต่ำจึงต้องอาศัยการดำเนินการระดับโลกในการจัดหาวัคซีน หรือโครงการ COVAX ที่เริ่มต้นโดยองค์การอนามัยโลก

    โครงการจะเริ่มแจกจ่ายวัคซีนในเดือนกุมภาพันธ์ โดยประเทศยากจนและประเทศรายได้ปานกลางจะได้รับส่วนแบ่งมากกว่า และโครงการยังหวังว่าภายในสิ้นปี 2021 จะมีการแจกจ่ายวัคซีนกว่า 2 พันล้านโดสไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยที่ 1.8 พันล้านโดสจะส่งไปยัง 92 ประเทศยากจนที่เข้าร่วมในโครงการ ซึ่งจะครอบคลุม 20% ของประชากร

    แต่การจัดหาวัคซีนผ่าน COVAX จะเพียงพอหรือไม่ ต้องมองที่ภาพรวมของการกระจายวัคซีนสำหรับผู้ที่ไม่มีหนทางมากนัก แนวคิดดั้งเดิมของ COVAX คือ การประสานการจัดซื้อทั่วโลกเพื่อให้ประเทศที่ยากจนสามารถหาซื้อได้ และไม่ถูกกันออกไปเพราะราคาสูงจากการแย่งซื้อวัคซีน แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีหน้าที่เหมือนโครงการช่วยเหลือมากกว่า ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

    แต่ละประเทศบริจาคเท่าไร

    ความริเริ่มในการเร่งการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เกิดขึ้นครั้งแรกในปลายเดือนเมษายน 2020 และขณะนี้มีแผนที่จะกระจายวัคซีนมากกว่า 330 ล้านโดสไปยัง 145 ประเทศในรอบแรกของการแจกจ่ายภายในเดือนมิถุนายน 2021 ซึ่งจะครอบคลุมโดยเฉลี่ย 3.3% ของประชากรทั้งหมดในประเทศเหล่านั้น ซึ่งมีตั้งแต่ประเทศที่ร่ำรวย เช่น แคนาดาและนิวซีแลนด์ ที่จ่ายค่าวัคซีนให้กับประเทศต่างๆ เช่น ซีเรียและเยเมน ที่ได้รับการบริจาควัคซีนจากนานาชาติ

    จนถึงขณะนี้โครงการ COVAX ระดมทุนได้ถึง 6 พันล้านดอลลาร์ แต่ยังต้องการอีกอย่างน้อย 2 พันล้านดอลลาร์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนทั่วโลกปี 2021

    รัฐบาลอังกฤษบริจาค 734 ล้านดอลลาร์ (548 ล้านปอนด์) และรัฐบาลสหรัฐสหรัฐฯ ให้คำมั่นบริจาค 4 พันล้านดอลลาร์ในเดือนธันวาคม ถึงกระนั้น สหรัฐฯ และประเทศร่ำรวยบางแห่งที่ร่วมโครงการ รวมทั้งอังกฤษ ถูกวิจารณ์ว่าสะสมวัคซีนจำนวนมากให้กับตนเอง

    “โครงการนี้ใช้เวลาจัดตั้งนานพอสมควร และเนื่องจากใช้เวลานานมาก ประเทศ [ร่ำรวย] จึงไม่มั่นใจว่าจะเป็นแนวทางที่ดีในการซื้อวัคซีนจาก COVAX และพวกเขาเริ่มทำข้อตกลงของตนเองเพื่อให้แน่ใจว่า ประชากรของพวกเขาจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้” Antoine de Bengy Puyvallée นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออสโลกล่าว

    “แน่นอนว่า วิธีการนี้ค้านกับแนวทางของ COVAX ในบางจุดเพราะแข่งขันซิ้อวัคซีนจากผู้ผลิตเดียวกัน”

    ปัจจุบันความคิดริเริ่มนี้ตามหลังประเทศร่ำรวยที่ได้ซื้อวัคซีนที่ผลิตลอตแรกไปแล้วหลายเดือน องค์การอนามัยโลกเองระบุในต้นเดือนนี้ว่า 90% ของวัคซีนได้ส่งมอบให้กับประเทศร่ำรวย

    ในเดือนมกราคม ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ย้ำเตือนเรื่องความไม่เท่าเทียม โดยระบุว่า วัคซีนจำนวนกว่า 39 ล้านโดสได้มีการแจกจ่ายไปในประเทศรายได้สูงอย่างน้อย 49 ประเทศ และมีเพียง 25 ต่อ 1 ของประเทศรายได้ต่ำสุดเท่านั้นที่ได้รับวัคซีน

    มีหลายประเทศที่จะมีการฉีดวัคซีนให้ประชากรในระดับที่สูงกว่าประเทศยากจนอย่างมากภายในเดือนมิถุนายนนี้

    นอกจากนี้ งานวิจัยของ Duke Global Health Innovation Center ยังพบว่า ความไม่เท่าเทียมกันนี้จะยังมีต่อเนื่อง เพราะประเทศร่ำรวยเป็นผู้ซื้อวัคซีนส่วนใหญ่ โดยประเทศรายได้สูงมีวัคซีนถึง 4.2 พันล้านโดส ส่วนประเทศรายได้ปานกลางขั้นต่ำมีวัคซีนเพียง 670 ล้านโดสเท่านั้น

    ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/world-55795297

    สัญญาฉบับแรกของ COVAX จัดทำขึ้นในเดือนสิงหาคม ซื้อวัคซีนที่ผลิตโดย SII ซึ่งเป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าและโนวาแวกซ์ (Novavax) ส่วนไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคแม้ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลก่อนหน้า แต่เพิ่งได้ทำข้อตกลงกับ COVAX ในช่วงปลายเดือนมกราคมในการจัดหาวัคซีน 40 ล้านโดสหรือประมาณ 3% ของเป้าหมายที่บริษัทจะผลิตในปี 2021

    ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติในการเปิดตัวยาสู่ตลาด โดยระบุว่า บ่อยครั้งที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำได้รับยาช้า

    แต่กรณีนี้ผิดปกติ เพราะจริงๆ แล้วประเทศที่สามารถจ่ายเงินได้ในระดับความเสี่ยงที่สูง เป็นประเทศที่ขณะนี้มีวัคซีนแล้ว อัลซัลฮานีจาก MSF ให้ความเห็น เพราะโดยปกติแล้วกลไกตลาดวัคซีนจะไม่เป็นแบบนี้

    ทำไมประเทศร่ำรวยได้รับวัคซีนผ่าน COVAX

    โครงการ COVAX นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกสำหรับ 98 ประเทศที่ใช้เงินตนเองในการซื้อวัคซีน และส่วนที่สองเป็นการจองซื้อล่วงหน้าหรือ COVAX AMC โดยจะได้รับการสนับสนุนเงินส่วนหนึ่งจากโครงการ COVAX สำหรับ 92 ประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ไนจีเรีย อินเดีย และยูเครน ไปจนถึงซีเรีย อัฟกานิสถาน และเยเมน

    เป้าหมายของโครงการคือ การฉีดวัคซีนให้กับ “อย่างน้อย 20% ของประชากร” ของประเทศที่มีรายได้ต่ำภายในสิ้นปี 2021 เพื่อให้มี “ผลอย่างแท้จริงต่อการสกัดการแพร่ระบาดของโรค” โฆษก Gavi กล่าว

    ปัจจุบันแคนาดาเป็นประเทศในกลุ่ม G-7 เพียงประเทศเดียวที่ได้รับวัคซีนผ่าน COVAX และได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศ ประชาชนตั้งคำถามว่าเป็นการแย่งชิงวัคซีนจากประเทศยากจนหรือไม่

    คารินา โกลด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศของแคนาดา กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของเรา คือ การทำให้ชาวแคนาดาสามารถเข้าถึงวัคซีนได้” พร้อมชี้ให้เห็นว่า แคนาดาเป็นประเทศที่มีส่วนสนับสนุน COVAX AMC มากเป็นอันดับสอง

    “จุดยืนของเรา ตามที่รู้กันดี คือ เราต้องมีวัคซีนให้กับชาวแคนาดา แต่เราต้องการจัดหาวัคซีนให้กับทั่วโลกด้วย”

    การให้ประเทศต่างๆ จ่ายค่าวัคซีนผ่าน COVAX มีส่วนช่วยในสนับสนุนความคิดริเริ่มนี้ ในการจัดทำข้อตกลงด้านการผลิตกับบริษัทยา แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า ผู้ที่มีข้อตกลงซื้อวัคซีนแบบทวิภาคีควรที่จะรอ

    “ประเด็นก็คือ ประเทศที่ร่ำรวยบางประเทศมีข้อตกลงแบบทวิภาคีและเริ่มได้รับวัคซีนแล้ว” อัลซัลฮานีระบุ

    De Bengy Puyvallée มองว่า ความคิดที่จะช่วยประเทศต่างๆ กับความต้องการที่จะฉีดวัคซันให้กับประชาชนของตนเอง กลายเป็นสภาวะที่ล่อแหลมของประเทศ

    การทำข้อตกลงแบบทวิภาคีขณะที่สนับสนุน COVAX ก็เป็น “นโยบายที่คลุมเครือ” ซึ่ง “ได้ทำลายแนวทางระดับโลกในเวลาเดียวกัน”

    สหภาพยุโรปได้ทำข้อตกลงในการฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั้งหมดสองครั้ง แต่บริจาคเงินประมาณ 850 ล้านยูโรเพื่อสนับสนุน COVAX และยังระดมเงินเพื่อช่วยประเทศในยุโรปนอกสหภาพยุโรปให้เข้าถึงวัคซีน

    เซอร์เบียเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชน โดยใช้วัคซีนจากจีนเป็นหลัก

    หลายประเทศในทะเลบอลข่านพึ่งพาโครงการ COVAX สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชน รวมทั้งบอสเนียและเฮอร์เซโกวินา ซึ่งเริ่มได้รับตู้เย็นจาก UNICEF สำหรับการเก็บรักษาวัคซีนที่ซื้อผ่านโครงการ

    ที่มาภาพ: https://www.weforum.org/agenda/2020/11/pfizer-pharmaceutical-covid19-vaccine-health/

    การฉีดวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกันอาจทำให้เกิดปัญหามากขึ้น

    ผู้เชี่ยวชาญและนักเคลื่อนไหวด้านมนุษยธรรมหลายคนกำลังผลักดันให้มีการแจกจ่ายวัคซีนอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น และเตือนว่าหากประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา

    “การฉีดวัคซีนให้ประชาชนจำนวนมากในไม่กี่ประเทศ ทำให้ไม่มีการควบคุมไวรัสในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก และจะนำไปสู่การกลายพันธุ์ของไวรัสมากขึ้น” ดร.เจอร์มี ฟาร์ราร์ ผู้บริหารองค์กรการกุศล Wellcome ระบุในแถลงการณ์

    “ยิ่งกลายพันธุ์มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงของไวรัสก็จะเพิ่มสูงขึ้น จนถึงระดับที่วัคซีน การรักษา และการทดสอบหาเชื้อของเราไม่ได้ผลอีกต่อไป”

    ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส กล่าวว่า โลกกำลัง “ใกล้จะล้มเหลวทางศีลธรรม” เนื่องจากประเทศร่ำรวยเริ่มฉีดวัคซีนนำหน้าประเทศกำลังพัฒนาหลายเดือน

    “การที่คนหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ที่สุขภาพดีในประเทศร่ำรวย ได้รับวัคซีนก่อนบุคคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพและประชากรสูงวัยในประเทศยากจน เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

  • WHO เตือนหายนะทางศีลธรรม แจกจ่ายวัคซีนเหลื่อมล้ำ
  • องค์กรด้านมนุษยธรรมหลายแห่งสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างเป็นธรรมมากขึ้น โดยเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปแบ่งปันวัคซีนก่อนที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชากรผู้ใหญ่ที่อายุน้อย

    ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/world-55795297

    แบรนดอน ล็อค ผู้จัดการด้านนโยบายและการสนับสนุนของ ONE Campaign กล่าวว่า แทนที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชากร 70% ในช่วงฤดูร้อนตามที่สหภาพยุโรปพยายามทำ ประเทศต่างๆ ควร “ประเมินใหม่” และ “แบ่งปันวัคซีนที่มีบางส่วนให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำ ไม่ใช่หลังจากที่ฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั้งหมดของสหภาพยุโรป” เพราะจะช่วยสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างแท้จริง

    อย่างไรก็ตาม แม้โครงการ COVAX บรรลุเป้าหมาย ก็ยังไม่ถึงระดับที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และยุติการระบาด ตามที่ผู้เชี่ยวชาญระบุ

    องค์การอนามัยโลกชี้ว่า การสกัดการระบาดที่ได้ผลต้องมีการฉีดวัคซีนให้ประชากรได้อย่างน้อย 70% ของประชากรทั้งโลกซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้

    การฉีดวัคซีนในปริมาณ 2 พันล้านโดสต่อปี จะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฉีดวัคซีนได้ถึง 70% ของประชากรโลกที่มีจำนวนราว 7.8 พันล้านคน อย่างไรก็ตาม จำนวน 2 พันล้านโดสนี้ก็จะช่วยคุ้มครองคนที่อยู่ในแนวหน้าได้ทั้งบุคคลากรที่ปฏิวัติงานด้านการดุแลสุขภาพ ผู้สูงวัย และกลุ่มเปราะบาง

    เรียบเรียงจาก
    The interim distribution forecast
    What is COVAX and is it helping poor countries get access to COVID-19 vaccines?
    Covax: How will Covid vaccines be shared with poorer countries?
    WHO approves AstraZeneca/Oxford COVID-19 vaccine for emergency use