ThaiPublica > เกาะกระแส > สำรวจประเทศไหนใช้มาตรการอะไรสกัด COVID-19 ใครเตรียมพร้อมรับมือสูงสุด “WHO” ยกระดับความเสี่ยง”สูงมาก”

สำรวจประเทศไหนใช้มาตรการอะไรสกัด COVID-19 ใครเตรียมพร้อมรับมือสูงสุด “WHO” ยกระดับความเสี่ยง”สูงมาก”

29 กุมภาพันธ์ 2020


ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ที่มาภาพ: https://www.timesofisrael.com/world-health-organization-raises-global-virus-risk-to-maximum-level/

WHO ยกระดับความเสี่ยง”สูงสุด”

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2020 องค์การอนามัยโลกได้แถลง ยกระดับการประเมินความเสี่ยงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อโลกขึ้นเป็นระดับสูงสุดหลังจากที่มีการแพร่กระจายไปในอัฟริกาทางตอนล่างของทะเลทรายสะฮาราและ

ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ความเสี่ยงได้ยกระดับขึ้นมาเป็นสูงมาก เป็นผลจากการที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในหลายประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาซึ่งสถานการณ์นี้”เป็นความกังวลอย่างชัดเจน”

แต่ดร.เทดรอสกล่าวว่า “เรายังมีโอกาสที่จะสกัดการระบาดของไวรัส หากมีการดำเนินการอย่างเข้มแข็งเพื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อให้เร็ว แล้วแยกออกเพื่อนำเข้ารับการรักษาตัวพร้อมกับตรวจสอบย้อนกลับต้นตอ”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาไวรัสได้แพร่กระจายทั่วโลก ทุกทวีป ยกเว้นแอนตาร์ติก ทำให้รัฐบาลหลายประเทศและภาคธุรกิจสั่งห้ามการเดินทางหรืออยู่ในที่ที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมาก

ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 2,800 รายและมีผู้ติดเชื้อกว่า 83,000 ราย และกระจายออกไป 50 ประเทศ โดยเฉพาะที่อิหร่าน อิตาลี และเกาหลีใต้ เป็นแหล่งใหญ่นอกจีนที่มีการติดเชื้อมาก

นายไมก์ ไรอัน ผู้บริหารฝ่ายภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ (Health Emergencies Programme) กล่าวว่า “มีหลายประเทศที่ประสบความยากลำบากในการสกัดการระบาดของไวรัส”

องค์การอนามัยโลกกังวลเป็นพิเศษต่อการเตรียมความพร้อมของอัฟริกา โดยเตือนว่า ระบบสุขภาพของทวีปอัฟริกายังไม่พร้อมที่จะรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19

ล่าสุด เบลารุส เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ ลิธัวเนีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ รายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศ

สาธารณสุขทั่วโลกระดมกำลัง

ที่มาภาพ: https://www.nytimes.com/interactive/2020/world/asia/china-wuhan-coronavirus-maps.html
นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วโลกระดมกำลังเพื่อสกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจาก ไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปถึง 44 ประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทุกทวีปยกเว้นแอนตาร์กติก โดยมีทั้งแถบเทือกเขาแอลป์ในออสเตรีย ไปจนถึงเกาะนอกชายฝั่งแอฟริกา จากโบสถ์ในเกาหลีใต้ไปถึงอิหร่าน และยังมีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้นในประเทศอื่นๆ แซงหน้าจีนไปแล้ว

ในยุโรป ฝรั่งเศส สเปน และเยอรมนี ต่างรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการระบาดในอิตาลีที่มีผู้ติดเชื้อกว่า 400 ราย

ในตะวันออกกลาง สถานการณ์หนักสุดในอิหร่านมีผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 100 ราย และมีการระบาดในอิรัก คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ในเอเชีย ขณะที่จีนเริ่มผ่อนคลายการปิดเมืองที่มีประชากรรวมกัน 100 ล้านคน การระบาดได้แพร่ไปยังเกาหลีใต้และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่า 1,500 ราย

ในอเมริกาใต้มีการรายงานพบผู้ติดเชื้อรายแรกในบราซิล ขณะที่มีการตรวจพบการติดเชื้อของผู้ชายรายหนึ่งซึ่งไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อรายอื่นมาก่อน

บริษัทกิลเลียด ซายน์ส ผู้ผลิตยาต้านเอดส์รายใหญ่ของโลกได้ขยายการทดสอบยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาในหลายประเทศ ส่วนใหญ่ในเอเชีย การทดสอบยาจะเริ่มในเดือนมีนาคม 2 รอบ กับผู้ติดเชื้อราว 1,000 รายที่มีอาการหนักและมีอาการเพียงเล็กน้อย เพื่อดูว่ามีผลกับกลุ่มไหนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การใช้ยาครั้งนี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง ยังไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้กับโรคใด ก่อนหน้านี้มีการทดลองใช้ผู้ป่วยติดเชื้อในอู่ฮั่น และกำลังทดสอบกับผู้ป่วยในเนแบรสกา สหรัฐฯ

สหรัฐฯ เตรียมความพร้อมหวั่นแพร่กระจายในชุมชน

ทางด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ออกแถลงการณ์ว่า

หน่วยงานรัฐกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีโอกาสระบาดลงไปถึงระดับท้องถิ่น

ที่มาภาพ: https://www.medicalnewstoday.com/articles/cdc-say-us-must-prepare-for-coronavirus-spread

ในการบรรยายสรุปผ่านระบบทางไกล ดร.แนนซี เมสซันเนียร์ ผู้อำนวยการศูนย์โรคติดเชื้อและระบบหายใจแห่งชาติ (National Center for Immunization and Respiratory Diseases) ซึ่งอยู่ภายใต้ CDC ได้เตือนประชาชนให้เตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันหากมีการประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ หรือ pandemic เนื่องจากมีการระบาดอย่างรวดเร็วในวงกว้างทั่วโลก

ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 53 รายในสหรัฐฯ โดยที่ 12 รายในนั้นได้เดินทางไปจีน 2 รายได้รับเชื้อด้วยการติดต่อจากคนสู่คน อีก 39 รายเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ที่ส่งตัวกลับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่การติดต่อของไวรัสโควิด-19 ภายในชุมชน ในระดับท้องถิ่น โดย CDC ย้ำว่า แม้การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสถานการณ์ร้ายแรงด้านสาธารณสุข แต่ยังไม่ถึงขั้นที่ระบาดในระดับชุมชน

จากข้อมูลการติดเชื้อไวรัสที่ได้แพร่กระจายในประเทศแถบยุโรปและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่รายงานนอกประเทศจีน มากกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนทำให้ทางการสหรัฐฯ แสดงความกังวลมากขึ้น

“การแพร่ระบาดภายในชุมชน มักจะเป็นจุดที่ทำให้เริ่มใช้แนวทางใหม่ที่ปรับให้เหมาะกับสภาวการณ์ในท้องถิ่นที่ลดผลกระทบของโรคและชะลอการระบาดของไวรัส” ดร.เมสซันเนียร์กล่าว

“ข้อเท็จจริงที่ว่าไวรัสนี้ก่อให้เกิดความเจ็บป่วย ซึ่งรวมความเจ็บป่วยที่ทำให้มีการเสียชีวิต และเกี่ยวข้องกับการติดต่อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่องนั้น ปัจจัยเหล่านี้ตรงตามเกณฑ์สองข้อของการระบาดใหญ่” ดร.เมสซันเนียร์กล่าวและย้ำว่า การระบาดในชุมชนที่พบมากขึ้นในหลายประเทศ โลกก็กำลังเข้าไปสู่เกณฑ์ที่สามของการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก

ดร.เมสซันเนียร์กล่าวอีกว่า สหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดในการสกัดการระบาดตั้งแต่การตรวจจับ การติดตาม และแยกผู้ติดเชื้อออก ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งป้องกันการแพร่เชื้อตรงจุดเข้าประเทศ ด้วยการจำกัดการเดินทางเข้าสหรัฐฯ และได้ให้คำแนะนำด้านการเดินทางกับประเทศที่มีการติดเชื้อในชุมชน

นอกจากนี้ยังมีการกักตัวอย่างเข้มงวด และสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลชาวอเมริกันที่กลับออกจากพื้นที่เสี่ยงสูงเข้าประเทศ เพื่อที่จะลดการแพร่เชื้อไวรัสในสหรัฐฯ และมีเวลามากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ

ดร.เมสซันเนียร์ย้ำว่า แม้สหรัฐฯ สามารถสกัดการแพร่ระบาดในระดับชุมชนได้ แต่ก็ต้องมีมาตรการเฝ้าระวังเพื่อรับมือกรณีสถานการณ์เลวร้ายลง เพราะหากยังพบการติดเชื้อในหลายประเทศเพิ่มขึ้น การสกัดบริเวณจุดผ่านแดนของสหรัฐฯ ก็จะยิ่งยากกว่าเดิม

“ในที่สุดแล้ว เราก็คาดว่าจะมีการติดเชื้อในชุมชน จึงไม่ใช่การตั้งคำถามว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ต้องถามว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และมีคนมากแค่ไหนในประเทศที่จะป่วยถึงขั้นรุนแรง” ดร.เมสซันเนียร์กล่าวรวมทั้งย้ำว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ มีกรอบยุทธศาสตร์พื้นฐานในการสกัดการระบาดครั้งใหญ่ โดยอ้างถึงแนวทางการบรรเทาสาธารณภัยของชุมชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ (Community Mitigation Guidelines to Prevent Pandemic Influenza) ของ CDC ที่จัดทำเมื่อปี 2017 ซึ่งระบุชัดเจนว่า ประชาชนและชุมชนต้องปฏิบัติอย่างไรในกรณีที่มีการแพร่กระจายของไวรัส ซึ่ง CDC ได้นำแนวทางมาใช้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะ

ที่มาภาพ: https://www.nytimes.com/interactive/2020/world/asia/china-wuhan-coronavirus-maps.html

สำหรับมาตรการป้องกัน ดร.เมสซันเนียร์กล่าวว่า การรักษาที่จำเป็นทั้งหมดจะไม่ใช้ยา เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยต้องมีการจัดการเป็นรายคน เป็นรายชุมชน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยในระดับบุคคลควรมีมาตรการป้องกันทุกวัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสและการเป็นไข้หวัด

“ถ้าป่วยให้อยู่กับบ้าน ปิดปากเมื่อไอ และล้างมือ” ดร.เมสซันเนียร์กล่าว

มาตรการสกัดการระบาดครั้งใหญ่เป็นการเฉพาะอาจจะให้สมัครใจกักตัวอยู่กับบ้าน สำหรับผู้ที่สัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

การรักษาที่ไม่ใช้ยาในระดับชุมชนจะแตกต่างกัน จัดการให้เหมาะสมกับพื้นที่ ชุมชนต้องตัดสินใจว่า การรักษาแบบไหนที่จะนำมาใช้ ขึ้นอยู่กับว่าการระบาดนั้นรุนแรงหรือไม่ โดย ดร.เมสซันเนียร์ยกตัวอย่างว่า หากเป็นโรงเรียน แนวทางก็คือแยกเด็กออกเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือกรณีที่มีการระบาดครั้งใหญ่ ก็คงปิดโรงเรียนและใช้การเรียนการสอนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเรียนของเด็ก

ส่วนผู้ใหญ่ ธุรกิจ ควรหันมาใช้วิธีการประชุมผ่านทางไกลแทนการประชุมแบบนั่งร่วมกัน หรือให้ทำงานที่บ้าน และในระดับสูงขึ้น ชุมชนในเมืองอาจจะปรับ เลื่อน หรือยกเลิกกิจกรรมที่มีคนร่วมจำนวนมาก

สำหรับการดำเนินการด้านสาธารณสุข อาจจะมีการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ รวมทั้งการบริการทางการแพทย์ผ่านระบบ และเลื่อนการผ่าตัดออกไป

สุดท้ายเพื่อสิ่งแวดล้อม ทุกคนควรทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวของสิ่งของที่มีการสัมผัสให้ถี่ขึ้น ทั้งในโรงเรียน ที่ทำงาน และที่ที่มีคนจำนวนมากอยู่รวมกัน

ทรัมป์ยันสหรัฐฯ นำหน้าโลกเรื่องเตรียมพร้อม

ที่มาภาพ: https://www.usatoday.com/story/news/nation/2020/02/26/coronavirus-trump-addresses-nation-amid-first-case-community-spread/4883728002/

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขเปิดการแถลงข่าวเมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ

ในช่วงต้นสัปดาห์ทำเนียบขาวได้เสนอของบประมาณจำนวน 2.5 พันล้านดอลลาร์เป็นกองทุนฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่สภาคองเกรสซึ่งมีพรรคเดโมแครตครองเสียงส่วนใหญ่ส่วนใหญ่วิจารณ์ว่า การร้องขอไม่มีเหตุสมควร

ยูเอสเอทูเดย์รายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐฯ สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างดี และมีโอกาสที่จะไม่แพร่กระจาย

แต่หลังจากการแถลงข่าวกลับพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรายแรกที่ไม่ได้มีประวัติการเดินทางไปจีนหรือเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยจากเชื้อไวรัส ซึ่ง CDC ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ แต่ก็ไม่ทิ้งข้อสันนิษฐานว่าผู้ติดเชื้อรายนี้อาจจะสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยรายอื่น

“มีโอกาสที่สถานการณ์จะร้ายแรงกว่าเดิม และมีโอกาสที่จะเลวร้ายลงมาก แต่ผมไม่คิดว่าจะเลี่ยงไม่ได้ และมีโอกาสที่จะไม่แพร่กระจาย” ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าว

ประธานาธิบดีทรัมป์เปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 กับผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ในปีนี้ว่า “โรคไข้หวัดใหญ่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศ 25,000-69,000 คนแต่ละปี ซึ่งน่ากลัวมากในความคิดของผม”

จากข้อมูล CDC ในฤดูนี้มีผู้ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ 29 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิต 16,000 คน และแม้ยังไม่ผ่านพ้นฤดูนี้ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ก็ต่ำกว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์อ้าง โดยตั้งแต่ปี 2019 มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ 12,000-61,000 คน

ประธานาธิบดีทรัมป์คาดว่า การพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสคงจะสำเร็จในเร็วๆ นี้ ขณะที่นายแอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) ซึ่งร่วมแถลงข่าวเปิดเผยว่า ในอีก 1-2 เดือนก็จะทราบว่าวัคซีนปลอดภัยกับการทดสอบในแล็บและจะต้องใช้เวลาอีก 6-8 เดือนเพื่อทดสอบให้ละเอียดและขยายผลว่าใช้ได้ผลหรือไม่

อย่างไรก็ตามนายฟอซีกล่าวว่า วัคซีนมีความสำคัญหากไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดอีกในปีหน้า เพราะเป็นไวรัสที่มีผลต่อทางเดินหายใจตามฤดูกาล

ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวอีกว่า สหรัฐฯ เป็นผู้นำในการเตรียมความพร้อม โดยอ้างผลการศึกษาประเทศที่เตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคที่ดีและประเทศที่ความพร้อมแย่สุดของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์

ประธานาธิบดีทรัมป์อ้างถึง Global Health Security Index ที่จัดทำโดยศูนย์ความมั่นคงด้านสุขภาพและการริเริ่มต่อต้านภัยคุกคามจากนิวเคลียร์ (Center for Health Security and the Nuclear Threat Initiative) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ที่เผยแพร่เดือนตุลาคม 2019 จากการวิจัยของ Economist Intelligence Unit ที่ประเมินความสามารถในการจัดการด้านสาธารณสุข 195 ประเทศ

แม้สหรัฐฯ ครองอันดับหนึ่งแต่รายงานพบว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่เตรียมความพร้อมได้อย่างเต็มที่ในการรับมือกับการระบาดครั้งใหญ่

สหรัฐฯ ได้คะแนนต่ำด้านการประเมินการดูแลสุขภาพ เพราะขาดการประกันการเข้าถึงระบบเฮลท์แคร์จากรัฐบาล และมีค่าใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างสูง

รองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์ ได้รับมอบหมายให้ดูแลการจัดการกับการระบาดของไวรัส เนื่องจากมีประสบการณ์ในการจัดการกับการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันในประเทศตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome) หรือ MERS ครั้งที่ยังมีตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐอินดีแอนามาก่อน ซึ่งเป็นที่แรกที่พบการติดเชื้อในสหรัฐฯ

เดือนพฤษภาคม 2014 ศูนย์ CDC ยืนยันการติดเชื้อ MERS จำนวน 2 ราย ในสหรัฐฯ โดยหนึ่งรายพบที่อินดีแอนาและอีกรายพบที่ฟลอริดา ทั้งสองรายเป็นผู้ให้บริการด้านเฮลท์แคร์ที่พำนักและทำงานในซาอุดีอาระเบีย ที่เดินทางกลับสหรัฐฯ และได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจนหายขาด

โรค MERS ที่มีจุดเริ่มต้นในซาอุดีอาระเบีย ทำให้มีผู้ป่วย 2,499 รายผู้เสียชีวิต 861 รายทั่วโลก อัตรการเสียชีวิตสูงกว่าโรคซาร์สหรือไวรัสโควิด-19

ในปี 2015 รัฐอินดีแอนาได้ปรับปรุงโปรแกรมการประกันสุขภาพของรัฐครั้งใหญ่ กำหนดให้ผู้ใหญ่ที่มีรายได้ต่ำจ่ายเบี้ยประกันรายเดือนเพื่อรักษาความคุ้มครองประกันสุขภาพ การปฏิรูปนี้นำโดยนายเพนซ์และที่ปรึกษานโยบายสุขภาพ นายซีมา เวอร์มา ซึ่งปัจจุบันรับหน้าที่ดูแลศูนย์บริการศูนย์บริการเมดิแคร์และเมดิเคด (Centers for Medicare and Medicaid Services)

นอกจากนี้ ในช่วงที่นายเพนซ์เป็นผู้ว่าการรัฐอินดีแอนา เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของเอชไอวี ซึ่งมีสาเหตุจากการฉีดยาเสพติดเข้าเส้นที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อ 235 ราย เมืองออสติน ในอินดีแอนา จึงมีอัตราการติดเชื้อสูงพอๆ กับในแอฟริกาตอนล่างของทะเลทรายสะฮารา ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์การบริหารของนายเพนซ์ที่จัดการกับปัญหานี้ล่าช้า ภายใต้ความกดดันให้อนุญาตให้ต้องมีการเปลี่ยนใช้เข็มที่สะอาดเพื่อจำกัดการติดเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบซีในรายใหม่

ที่มาภาพ: https://www.nytimes.com/interactive/2020/world/asia/china-wuhan-coronavirus-maps.html

สาธารณสุขของอียูมีความยืดหยุ่นในการรับมือ

ทางด้านสำนักข่าวอัลจาซีราได้สำรวจความพร้อมประเทศในยุโรปในรายงานข่าว As cases rise, how prepared is Europe for coronavirus? โดยมีความเห็นผู้เชี่ยวชาญว่า ภาคสาธารณสุขของสหภาพยุโรปมีความยืดหยุ่นในการรับมือกับการแพร่กระจายของไวรัสได้มากกว่าส่วนอื่นของโลก

ขณะนี้หลายประเทศในสหภาพยุโรป 7 ประเทศ ทั้งเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส ออสเตรีย กรีซ โครเอเชีย สเปน มีผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ติดต่อโดยตรงจากจีน

การพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ทางตอนเหนือในอิตาลี ได้ส่งสัญญานเตือนภัยไปทั้งทวีป ผู้นำด้านสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญต่างระดมความคิดหาแนวทางที่จะสกัดการแพร่กระจายของไวรัส

รัฐบาลอิตาลีสั่งปิดกว่า 10 เมือง ปิดโรงเรียน ห้ามการจัดกิจกรรมสาธารณะ ระงับการเดินรถสาธารณะ

ศูนย์ควบคุมโรคสหภาพยุโรป (European Centre for Disease Control: ECDC) ระบุว่า มีโอกาสน้อยถึงสูงมากที่จะพบการระบาดของไวรัสแบบเดียวกับอิตาลีในประเทศยุโรปอื่น

แต่นายแอนดี ทาเท็ม ศาตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน ให้ความเห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น บ่งชี้ว่าการระบาดเกิดเร็วกว่าที่จะมีการรายงานข่าว

อย่างไรก็ตามนายทาเท็มกล่าวว่า การทุ่มลงทุนในด้านสาธารณสุขของประเทศยุโรปและการประสานงานที่ครอบคลุมของ ECDC ทำให้ทวีปนี้มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับการระบาดของไวรัสมากกว่าที่อื่นของโลก

“การตื่นตัวในการแจ้งตือน และการที่ประเทศยุโรปได้เตรียมความพร้อมมากขึ้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายแห่ง เราก็คงไม่ประสบกับภาวะเดียวกับอิตาลี” นายทาเท็มกล่าว

นักท่องเที่ยวในอิตาลีต่างสวมหน้ากากอนามัย ที่มาภาพ https://www.timesofisrael.com/world-health-organization-raises-global-virus-risk-to-maximum-level/

รัฐมนตรีสาธารณสุขในฝรั่งเศส เยอรมนี และกรีซ ระบุว่า อาจจะใช้มาตรการที่เข้มงวดหากการระบาดในประเทศแพร่กระจายกว้างขึ้น แต่ขณะนี้หน่วยงานด้านสุขภาพในยุโรปได้ขอให้มีการตอบสนองต่อภัยไวรัสอย่างเหมาะสม และยกระดับการเตรียมความพร้อมรับมือหากมีการติดเชื้อมากขึ้น

“สิ่งที่แต่ละประเทศจะดำเนินการ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถด้านสาธารณสุข ซึ่งจะแตกต่างกันแม้แต่ภายในสหภาพยุโรปเอง” ศาตราจารย์พอล ฮันเตอร์ จากวิทยาลัยแพทย์นอริช (Norwich Medical School)

ฝรั่งเศส
ในขณะที่สำนักข่าวอัลจาซีราได้รายงานข่าวชิ้นนี้ นายโอวิเวียร์ เวอรอง รัฐมนตรีสาธารณสุขฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ได้เตรียมโรงพยาบาล 108 แห่งไว้รองรับ อย่างน้อย 1 แห่งในแต่ละภูมิภาค ที่จะรับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา พร้อมแยกตัวเข้ารักษา รวมทั้งได้เสริมขีดความสามารถของโรงพยาบาลในการตรวจจับและคัดกรอง ในปารีส มาร์แซย์ มากกว่า 1,400 รายต่อวัน

เยอรมนี
กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณ 23 ล้านยูโร เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนา และยืนยันว่าเตรียมความพร้อมอย่างดีในการรับมือกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพราะมีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าและระบบรายงาน รวมทั้งมีการประสานของเครือข่ายคลีนิกเฉพาะทาง ในวันพุธที่ผ่านมาสื่อท้องถิ่นรายงาน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2 รายในแคว้นรัฐนอร์ทไรน์–เวสต์ฟาเลีย และบาเดิน-เวอร์ทเทิมแบร์ค รวมเป็น 18 ราย แต่ความเสี่ยงโดยรวมของเยอรมนียังต่ำ จากการประเมินของสถาบันโรเบิร์ต คอค (สถาบันโรคติดเชื้อเทียบเท่ากับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา) หน่วยงานวิจัยของรัฐ

ทั้งสองประเทศยังได้สั่งซื้อหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ขณะที่ทั่วโลกขาดแคลน และองค์การนามัยโลกออกมาตำหนิการกักตุนโดยไม่จำเป็นของสาธารณชน

สวิตเซอร์แลนด์
สวิตเซอร์แลนด์ได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดบริเวณชายแดนติดกับอิตาลี พร้อมกับได้เพิ่มขีดความสามารถในการทดสอบของห้องแล็บ รวมทั้งได้รณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้และตระหนัก รัฐมนตรีมหาดไทยประกาศว่า จะมีการตรวจประชาชนทุกคนที่มีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่
สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศมาตรการเข้มงวดเมื่อวันศุกร์( 28 กุมภาพันธ์ 2020) โดยห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคน 1,000 คนขึ้นไปจนถึงวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งส่งผลให้การจัดงาน Geneva International Motor Show งานโชว์รถยนต์งานใหญ่ระดับโลกที่กำหนดจัดขึ้นในสัปดาห์หน้าต้องเลื่อนออกไป เช่นเดียวกับงานคอนเสิร์ต และงานโชว์นาฬิกา

ขณะนี้ บริการด้านสาธารณสุขของยุโรปได้ใช้มาตรการเน้นการสกัด โดยในทางปฏิบัติคือ ตรวจจับการติดเชื้อและตรวจสอบแหล่งที่มา เพื่อที่ผู้ติดเชื้อจะได้รับการตรวจ แยกตัวไปรับการรักษา

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งทวีปยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีกรณีที่ยังไม่พบอีกจำนวนมาก หรือเกิดขึ้นได้เหมือนที่อิตาลี ซึ่งก็จะกดดันโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขอย่างมาก

“จุดเปลี่ยนก็คือมีหลายกรณีที่ไม่สามารถระบุที่มาของการติดเชื้อได้” นายภารัต ปันคาเนีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคแห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ “ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือการติดเชื้อจากชุมชนหนึ่งไปยังอีกชุมชนหนึ่ง แต่ก็บอกไม่ได้ว่าหรือยากที่จะระบุว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นนำเชื้อเข้ามา ใครติดเชื้อและใครเป็นพาหะ ความแม่นยำก็จะลดลง”

ศาตราจารย์พอล ฮันเตอร์ มองว่า หากเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นมาตรการที่ใช้ก็อาจจะต้องเปลี่ยนจากการสกัดการติดเชื้อรายคนมาเป็นการดูแลผู้ป่วยติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพแทน รวมทั้งคุ้มครองคนที่เปราะบางที่สุดในสังคม ซึ่งเป็นผู้ป่วยด้วยโรคอื่นอยู่แล้วและผู้สูงวัย ดังนั้นกลุ่มนี้ควรอยู่ในบ้านไม่ควรออกมาในที่สาธารณจนกว่าจะผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไป

ยุโรป 26 ประเทศซึ่งใช้ระบบวีซ่าเดียวหรือ Schengen ซึ่งมีข้อตกลงว่าการเดินทางเข้าออกแต่ละประเทศไม่ต้องใช้พาสปอร์ตหรือผ่านการตรวจตราคนเข้าเมือง ได้ระงับข้อกำหนดนี้ชั่วคราว เนื่องจากความั่นคงของประเทศกำลังมีความเสี่ยง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ ออสเตรียหยุดเดินรถไฟไปอิตาลีชั่วคราว เพราะมีการตรวจพบผู้โดยสารติดเชื้อไวรัส แต่ข้อจำกัดการเดินทางในยุโรปมีน้อยมาก ซึ่งผู้นำยุโรปมีแนวคิดที่จะยกเลิกข้อจำกัดนี้

เสียงเรียกร้องให้เข้มงวดบริเวณพรมแดนไม่ได้รับการตอบสนอง ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขอิตาลี นาย โรแบร์โต สเปอรันซา กล่าวว่า การปิดพรมแดนยังไม่ใช่มาตรการเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในขณะนี้ ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขมองว่า การเข้มงวดที่พรมแดนจะสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและระดับประเทศซึ่งพัฒนาบนพื้นฐานการเดินทางไร้พรมแดน และมีผลให้การส่งสินค้าและกระแสคนเข้าออกชะงัก โดยยกตัวอย่างตรงพรมแดนสวิตเซอร์แลนด์กับอิตาลีมีคนเข้าออกราว 70,000 คนต่อวัน และเป็นจุดผ่านแดนสำคัญของยุโรปทั้งการเดินทางด้วยรถยนต์และรถไฟ

การปิดเมืองเหมือนอิตาลีและมณฑลหูเป่ยของจีนอาจจะได้ผลในการจำกัดการแพร่กระจาย แต่การเข้มงวดบริเวณชายแดนยังไม่ข้อพิสูจน์ที่เห็นชัด เพราะการคัดกรองที่สนามบินไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะตรวจพบเชื้อไวรัส

รายงานของนักวิจัยในสหรัฐฯ และอังกฤษที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พบว่า การคัดกรองไม่สามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อถึงมากกว่าครึ่ง โดยกรณีที่ตรวจไม่พบนั้นเพราะผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการหรือไม่รู้ว่าได้ติดเชื้อ

กิจกรรมต่างๆ ในยุโรปได้มีการยกเลิก ทั้งการแข่งขันฟุตบอลกัลโชเซเรียอา การแข่งรักบี้ระหว่างอิตาลีกับไอร์แลนด์ เพราะรูปแบบการระบาดที่พบมากที่สุดคือ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคน และจากการเดินทางของคนจำนวนมาก

อังกฤษเร่งให้ข้อมูลประชาชนระวัง

ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/world/2020/feb/26/matt-hancock-clarifies-coronavirus-travel-advice-after-criticism

หน่วยงานระดับกระทรวงของอังกฤษได้เร่งเตรียมความพร้อมรับมือกรณีที่อาจจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการระบาดของไวรัสโคโรนา เพราะเกรงว่าอาจจะระบาดได้เร็วภายในเวลา 72 ชั่วโมงเหมือนในกรณีของอิตาลี ที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 45% ใน 24 ชั่วโมง

นายแมทท์ แฮนคอค รัฐมนตรีสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลจะให้ความรู้และคำแนะแก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวป้องกันการติดเชื้อและกรณีที่สงสัยจะติดเชื้อ รวมทั้งเปิดให้โทรเข้าหมายเลข 111 กรณีสงสัยว่าจะติดเชื้อ

รัฐบาลได้เผยแพร่คำแนะนำไปยังนายจ้าง โรงเรียน ธุรกิจเดินทาง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยแนะนำนายจ้างให้อนุมัติการลาป่วยแก่พนักงานหากต้องกักตัว ขณะที่บริษัทเชฟรอน ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ได้สั่งให้พนักงานขายและส่วนงานอื่นจำนวน 300 คนทำงานที่บ้าน

อังกฤษได้มีการปิดโรงเรียนจำนวนหนึ่งในสัปดาห์นี้ ด้วยความกังวลว่าเด็กอาจจะติดเชื้อไวรัสโคโรนา จากการที่ไปเล่นสกีในอิตาลีในช่วงกลางภาค

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยืนยันว่า เฉพาะผู้ที่มีอาการควรมีการกักตัว และความเสี่ยงโดยรวมของประเทศยังต่ำ สนามบินที่มีเที่ยวบินเข้าออกจากจีนจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปประจำที่สนามบินฮีทโธรว์ ซึ่งเป็นสนามบินที่มีเที่ยวบินหนาแน่นมากที่สุดของประเทศและมีเที่ยวบินหนาแน่นที่สุดอันดับสองรองจากดูไบ

ในการรายงานต่อสภา นายแฮนคอดกล่าวว่า รัฐบาลเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดครั้งใหญ่ หรือ pandemic แต่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการสกัดการระบาดและหวังว่าจะควบคุมได้

“ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีแผนที่ชัดเจนในการสกัด การชะลอ การวิจัย การบรรเทาผล และเราทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอนเพื่อความปลอดภัยของสาธารณชน แต่การตื่นตระหนกเกินความก็ไม่ผลกระทบเช่นกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นต้องมีการดำเนินการที่เหมาะสม”

สาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England: PHE) ประกาศว่า ได้ยกระดับการตรวจเพื่อดูว่า มีการติดเชื้อมากกว่าที่คาดไว้หรือไม่ โดยจะตรวจตามโรงพยาบาล และการผ่าตัดการ 100 เคสสำหรับผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจรุนแรง

ผู้โดยสารสวมหน้ากากป้องกันที่สนามบินเม็กซิโก ที่มาภาพ:https://www.timesofisrael.com/world-health-organization-raises-global-virus-risk-to-maximum-level/

สหภาพยุโรปควักเงิน 232 ล้านยูโร

คณะกรรมาธิการยุโรป มีแถลงการณ์ว่า ได้ดำเนินการในทุกด้านเพื่อสนับสนุนความพยายามในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการประสานงานอย่างต่อเนื่องกับประเทศสมาชิก เพื่อแบ่งปันข้อมูล ประเมินความต้องการและสร้างความมั่นใจว่ามีการตอบสนองทั่วสหภาพยุโรปที่สอดคล้องกัน คณะกรรมาธิการยังให้ทุนสนับสนุนการวิจัยโดยให้การสนับสนุนผ่านกลไกการคุ้มครองพลเรือนของสหภาพยุโรปและสนับสนุนเวชภัณฑ์ฉุกเฉินให้กับจีนเพื่อรับมือกับการระบาดตรงแหล่งที่เกิด

สิ่งที่คณะกรรมการธิการดำเนินการตั้งแต่มีการรายงานระบาดไวรัสโควิด-19 ในจีน ได้แก่

1) ระดับกลุ่ม ภายใต้การตัดสินใจต่อภัยด้านสาธารณสุขข้ามแดน (Cross-border Health Threat Decision คณะกรรมาธิการไดเประสานงานกับประเทศสมาชิกผ่าน 3 กลไกหลัก ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การติดตามและการประสานเพื่อเตรียมความพร้อมและมาตรการตอบสนองการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ

  • ระบบแจ้งเตือนและระบบตอบสนอง
  • คณะกรรมการด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ
  • เครือข่ายผู้สื่อสารของคณะกรรมการความมั่นคงด้านสุขภาพ
  • 2) คณะกรรมาธิการซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอียู โดยเฉพาะ ECDC, องค์การยาสหภาพยุโรป (European Medicines Agency: EMA) และองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (European Union Aviation Safety Agency: EASA) ที่ได้ให้คำแนะนำด้านการประเมินความเสี่ยง คำจำกัดความของเคสสำหรับการวินิจฉัยและการรายงานรายที่สงสัยและรายที่ยืนยันตรวจพบการติดเชื้อ การป้องกันการติดเชื้อและการควบคุมการดูแลด้านสุขภาพ คำแนะนำนักเดินทาง ปรับปรุงข้อมูลด้านการบำบัดและวัคซีนให้ทันการณ์ การตรวจสอบย้อนกลับการติดเชื้อในเครื่องบิน การจัดการจุดเข้าออกและคำแนะนำด้านการบิน

    นอกจากนี้ Joint Action Healthy Gateways ได้ให้คำแนะนำและการอบรมเกี่ยวกับมาตรการตรงจุดเข้าประเทศ รวมทั้ง Joint Action และ SHARP (strengthened international health regulations and preparedness in the EU) ให้คำแนะนำด้านการเตรียมความพร้อมห้องแล็บ

    3) คณะกรรมาธิการได้ประสานงานให้มีการส่งมอบความช่วยเหลือแก่จีนและการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการขนส่งให้ประเทศสมาชิกสำหรับเที่ยวบินขนคนกลับ

    4) เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับทั่วโลก รวมทั้งป้องกันและสกัดการระบามของไวรัสโควิด-19 จึงได้จัดสรรเงิน 232 ล้านยูโรให้กับภาคส่วนต่อไปนี้

  • เงินจำนวน 114 ล้านยูโรมอบให้องค์การอนามัยโลก เพื่อเตรียมความพร้อมระดับโลกและสำหรับแผนการรับมือ โดยมีเป้าหมายที่จะเสริมความพร้อมในกรณีฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและการรับมือของประเทศที่ระบบสาธารณสุขอ่อนแอและไม่เข้มแข็ง เงินส่วนหนึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานด้านงบประเมาณของอียู
  • เงินจำนวน 15 ล้านยูโรปจะมอบให้แอฟริกา รวมทั้งสถาบันปาสเตอร์ ดาการ์ (Institute Pasteur Dakar) และเซเนกัล เพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การวินิจฉัยที่รวดเร็วและการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา
  • เงินจำนวน 100 ล้านยูโรจะสนับสนุนการวิจัยเร่งด่วนด้านการวินิจฉัย การรักษา การป้องกัน ซึ่งรวมเงินจำนวน 90 ล้านยูโร จาก Innovative Medicines Initiative พันธมิตรระหว่างอียูและอุตสาหกรรมยา
  • เงินจำนวน 3 ล้านยูโร จัดสรรให้กลไกการคุ้มครองพลเรือนของสหภาพยุโรป (EU Civil Protection Mechanism) เพื่อการขนคนกลับจากอู่ฮั่น
  • อียูมีความพร้อมและมีอุปกรณ์ครบครันสำหรับการจัดการกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือไม่
    ประเทศสมาชิกได้มีการรายงานคณะกรรมาธิการต่อเนื่องและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับระดับการเตรียมความพร้อม

    จากข้อมูลทางการของประเทศสมาชิกรายงานเข้ามานั้น โดยรวมแล้วมีการเตรียมความพร้อมอย่างเข้มแข็ง โดยแต่ละประเทศมีมาตรการพร้อมรับมือในการจัดการกับผู้ติดเชื้อในอียูและการสกัดการติดเชื้อภายในประเทศและภายในอียู

    ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ การประชุมวิสามัญ EPSCO Health Council ได้หารือกับประเทศสมาชิกถึงแนวทางและมาตรการสกัดการระบาดรวมทั้งการเตรียมความพร้อม พร้อมกับมีวางแนวทางการติดตาม ประกอบด้วยการประเมินความเสี่ยงต่อเนื่องและให้คำแนะนำการเดินทาง การยกระดับความพร้อม หากการระบาดเข้าสู่ระยะต่อไป และใช้กลไกทางการเงิน เพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกในการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อการะบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการความพร้อมอื่นๆ ที่จำเป็นในอนาคต

    ญี่ปุ่นสั่งปิดโรงเรียนจนถึงเมษายน

    ที่มาภาพ: https://www.japantimes.co.jp/ news/2020/02/27/national/hokkaido-coronavirus-school/#.XlkSWqgzY2w

    นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ขอให้ปิดโรงเรียนทุกแห่งทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นประถม ชั้นมัธยมต้น และมัธยมปลาย ทั่วประเทศตั้งแต่วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม ไปจนถึงต้นเดือนเมษายน

    “เราได้ทุ่มเทไปที่การป้องกันการระบาดเพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อในเด็ก ในแต่ละภูมิภาค และช่วง 1-2 สัปดาห์นี้จะเป็นช่วงที่วิกฤติอย่างมาก” นายอาเบะกล่าวกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19

    “รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดกับสุขภาพและความปลอดภัยของเด็กมาก่อนอย่างอื่น” นายอาเบะกล่าว

    ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการได้ชี้แจงว่า การสั่งปิดโรงเรียนไม่ได้ครอบคลุมถึงศูนย์รับเลี้ยงเด็กรายวัน และการดูแลเด็กหลังเลิกเรียนสำหรับเด็กประถม

    การประกาศของนายกรัฐมนตรีมีขึ้นหลังจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นเกิน 200 คน ณ เย็นวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ไม่รวมผู้ติดเชื้อ 700 คนในเรือสำราญไดมอนด์พรินเซส

    โรงเรียนประถมและมัธยมต้น 1,600 แห่งในฮอกไกโดตัดสินใจปิดหนึ่งสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ เพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส หลังจากที่คณะกรรมการสำนักงานการศึกษาแห่งฮอกไกโดขอให้หน่วยงานท้องถิ่นปิดโรงเรียนประถมและมัธยมต้นของรัฐและเอกชนชั่วคราว เพื่อเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัส จากที่พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 รายในพื้นที่รวมทั้งเด็กนักเรียนบางราย

    “เราจะทำให้ดีที่สุดเพื่อป้องกันการระบาดเพิ่มเพื่อปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชนในฮอกไกโด” นายนาโอมิชิ ซูซูกิ ผู้ว่าการฮอกไกโดกล่าว

    มหาวิทยาลัยโอชะโนมิซึ ในโตเกียวได้ปิดโรงเรียนในสังกัดตั้งแต่วันศุกร์เป็นเวลา 1 เดือนจนถึงต้นเดือนเมษายน ซึ่งเจ้าชายฮิซาฮิโต พระราชนัดดาของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโต ได้ทรงศึกษาที่โรงเรียนมัธยมในสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งนี้

    รัฐบาลท้องถิ่นในคานากาวะ ตัดสินใจไม่เชิญพ่อ แม่ ผู้ปกครองเข้าร่วมงานสำเร็จการศึกษาและการเข้าเรียนของโรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายในสังกัด ถือเป็นมาตรการป้องกัน

    ที่ซัปโปโร เมืองหลวงของฮอกไกโด ซึ่งมีโรงเรียนมัธยมต้นราว 300 แห่งได้ตัดสินใจปิดโรงเรียนตั้งแต่วันศุกร์ไปจนถึงวันที่ 6 มีนาคม

    คณะกรรมการสำนักงานการศึกษาแห่งฮอกไกโด จะจัดให้มีการตรวจสุขภาพครูที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่โรงเรียนปิด ส่วนการอบฆ่าเชื้อในโรงเรียนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเทศบาลแต่ละแห่ง

    ในวันที่ 5 มีนาคมจะมีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับโรคติดเชื้อในโรงเรียนประถมและมัธยมต้นทุกแห่งในฮอกไกโด เพื่อให้โรงเรียนเตรียมความพร้อมก่อนปิด

    การปิดโรงเรียนในฮอกไกโดสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลกลางที่ขอให้เทศบาลพิจารณาปิดโรงเรียนทุกแห่งและปิดศูนย์รับเลี้ยงเด็กในพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อ

    ซาอุดีอาระเบียห้ามแสวงบุญชั่วคราว

    ที่มาภาพ: https://www.arabnews.com/node/1633826/saudi-arabia

    ซาอุดีอาระเบียได้ประกาศระงับการเดินทางของผู้แสวงบุญที่ไปประกอบพิธีอุมเราะห์ชั่วคราวเพื่อความปลอดภัยของสาธารณชน ด้วยการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19

    นอกจากนี้ยังระงับการเดินทางของผู้แสวงบุญชาวต่างชาติที่ส่วนใหญ่มักไปสักการะมัสยิดของศาสดาในเมดินา นครที่สำคัญทางศาสนาอิสลาม ทั้งก่อนและหลังจากการประกอบพิธีที่มักกะฮ์

    ทั้งนี้เป็นมาตรการป้องกันเข้มงวดที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดของหน่วยงานสาธารณสุข ผู้ที่มีวีซ่าท่องเที่ยวจะถือไว้ก่อนว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่ไวรัส และปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ

    นอกจากนี้ พลเมืองซาอุดีอาระเบียและพลเมืองของกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ หรือ Gulf Cooperation Council (GCC) จะไม่สามารถจะไม่สามารถใช้บัตรประชาชนในการเดินทางเข้าออกชั่วคราว ยกเว้นพลเมืองซาอุดีอาระเบียที่เดินทางกลับประเทศ และพลเมืองของกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ ที่อาศัยในซาอุดีอาระเบียที่ต้องการเดินทางกลับประเทศตัวเอง หากได้ใช้บัตรประชาชนในการเดินทางเข้ามาหรือเดินทางออกมาก่อนหน้า

    หน่วยงานสาธารณสุขในจุดเข้าประเทศจะต้องตรวจสอบยืนยันว่า นักเดินทางเดินทางมาจากประเทศไหนก่อนที่จะมาที่ซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งต้องใช้มาตรการป้องกันที่จำเป็น

    เจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียย้ำว่า มาตรการเข้มงวดนี้เป็นมาตรการชั่วคราวและมีการทบทวนจากหน่วยงานสาธารณสุข รวมทั้งสนับสนุนประเทศและการดำเนินการระหว่างประเทศเพื่อจำกัดการแพร่กระจายของไวรัส และกระทรวงต่างประเทศเรียกร้องให้ประชาชนไม่เดินทางไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19