ThaiPublica > คอลัมน์ > วิกฤติโควิด สาธารณสุขกำลังล่ม เร่งกระจายอำนาจสู่ประชาชน

วิกฤติโควิด สาธารณสุขกำลังล่ม เร่งกระจายอำนาจสู่ประชาชน

26 เมษายน 2021


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

โควิดระบาดไป 3 รอบ โดยรอบล่าสุดหนักกว่าทุกครั้งที่เป็นมา ทุกจังหวัดมีผู้ติดเชื้อ ยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายวันแตะ 2,000 รายแล้ว หากเกินกว่านี้กำลังจะเข้าจุดวิกฤติที่ระบบสาธารณสุขกำลังจะล่ม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผลสำเร็จที่ผ่านมาของประเทศไทยในการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิดเกิดจากประชาชนร่วมมือร่วมใจกันได้ดีมาตลอด แต่ขณะนี้ระบบสาธารณสุขสังคมได้พังทลาย เพราะความย่อหย่อนของรัฐที่ไม่มีการควบคุมกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ระบาดรอบแรกจากสนามมวย รอบสองจากการนำเข้าแรงงานเพื่อนบ้าน และรอบสามจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อและอื่นๆ ทุกๆ รอบเป็นความไม่รับผิดชอบของกลุ่มผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่รัฐ แต่ประชาชนส่วนมากที่ร่วมใจกันดูแลตนเอง ชุมชนมาโดยตลอดต้องรับผลที่เกิดขึ้น

ความล้มเหลวสำคัญต่อมาคือ ไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน หรือที่เรียกว่า “แทงม้าตัวเดียว” ซึ่งความเสี่ยงนั้นก็กำลังเกิดขึ้นจริงจากผลกระทบวัคซีนอย่างแอสตร้าเซนเนก้า ที่ประเทศไทยใช้เป็นหลักอาจสร้างผลกระทบให้เกิดอาการลิ่มเลือดอุดตัน แต่ประเทศไทยไม่มีทางเลือกวัคซีนอื่นเลยนอกจากซิโนแวค ที่ก็ถูกตั้งคำถามในเรื่องผลกระทบเช่นกัน

แต่ที่สำคัญคือ รัฐจัดหาวัคซีนล่าช้า และปิดทางเลือกหลักประกันวัคซีนด้านอื่นๆ รัฐบาลไทยตัดสินใจไม่ร่วมโครงการ COVAX อันเป็นโครงการที่องค์การอนามัยโลกริ่เริ่มขึ้นเพื่อให้เกิดระบบการจัดการวัคซีนร่วมของโลกอันจะเป็นหลักประกันให้กับทุกประเทศได้เข้าถึงวัคซีนได้พอเพียง รัฐบาลไทยปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า วัคซีนจาก COVAX เป็นวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้าซ้ำซ้อนกับที่ประเทศไทยกำลังร่วมมือกับผู้ผลิตในการผลิต จึงคิดว่าเราจะจัดหาวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตได้ดีกว่า แต่เมื่อรัฐบาลไม่ได้กระจายเสี่ยงด้วยการหาวัคซีนหลายช่องทาง ไม่ได้ประเมินอำนาจต่อรองของประเทศในการเข้าถึงวัคซีน ละเลยระบบวัคซีนร่วมของ COVAX ที่ไม่เพียงมีหลักประกันที่จะได้วัคซีนแน่นอน แต่ยังไม่เอื้ออาทรที่จะร่วมช่วยเหลือประเทศยากจนให้เข้าถึงวัคซีนด้วย ผลที่เกิดขึ้นคือ เราได้วัคซีนน้อยและช้า อัตราการฉีดวัคซีนของไทยทำได้แค่ร้อยละ 0.36 ของประชากรทั้งประเทศ เทียบกับสิงคโปร์ที่มีอัตราฉีดวัคซีนร้อยละ 17.95 สรุปแล้วคือ อัตราการฉีดวัคซีนต่อประชากรของไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเกือบทั้งหมด สูงกว่าแค่เวียดนามและบรูไนเท่านั้น

สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาก็คือ ระบบการรวมศูนย์อำนาจ จนถึงขณะนี้พิสูจน์แล้วว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยใช้อำนาจพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่สามารถจัดการปัญหาได้แล้ว

ตัวอย่างของการแพร่ระบาดโควิดรอบสามเป็นประจักษ์พยานได้ดี และหากรัฐบาลยังคงใช้ระบบรวมศูนย์ต่อไป อัตราผู้ติดเชื้อจะยังเพิ่มขึ้นทวีคูณ ใครติดเชื้อโควิดแม้อาการไม่หนัก ก็ต้องเข้ารับรักษาตัวที่โรงพยาบาล หากใครรักษาตัวที่บ้านอาจผิดกฎหมาย โดยรัฐเชื่อว่าโรงพยาบาลทั้งรัฐ เอกชน รวมไปถึง โรงพยาบาลสนาม Hospitel มีเตียงเพียงพอ แต่นั่นเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด เพราะเสียงสะท้อนจากโรงพยาบาลต่างๆ ว่าขณะนี้เกินกำลังรับ ทั้งหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ เตียง ยา และอื่นๆ ไม่พอเพียงแล้ว

และหากยอดผู้ติดเชื้อก้าวกระโดดไปอีก ผู้คนจะหลั่งไหลไปที่โรงพยาบาลอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เพราะคนเชื่อตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลว่า ให้ไปตรวจและรักษาโรงพยาบาลน่าจะมีการรักษาและควบคุมดูแลดีกว่า แต่ภาพที่จะปรากฏคือ จะมีแต่คนติดเชื้อล้นทะลักทุกโรงพยาบาล ได้แต่นอนรอเฉยๆ โดยไม่มีระบบรักษารองรับได้

กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาแจ้งว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาสำคัญที่ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ กระทรวงฯ ได้สำรองยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่นำมาใช้กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง 5 แสนเม็ด และกำลังจะสั่งเพิ่มรวมเป็น 1 ล้านเม็ด เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยหนักได้ 1.4 หมื่นคน นั่นย่อมไม่เพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วยที่เป็นในระยะเริ่มต้นที่จะมีจำนวนทวีขึ้นมาก หากไม่รักษาทันการณ์ก็จะกลายเป็นผู้ป่วยหนัก ซึ่งการรักษาจะหวังผลยากขึ้นมาก

สัญญาณทุกอย่างล้วนบ่งบอกว่า ระบบสาธารณสุขไทยกำลังจะล่ม อัตราการระบาดส่งผลให้มีคนเจ็บป่วย ตายจำนวนมาก ขณะที่มาตรการคุมเข้มนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง

จากการสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากวิกฤตโควิด-19 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) ปี 2563 พบว่า ประชาชนกลุ่มอายุ 15-24 ปี โดยเฉพาะนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบ มีแนวโน้มที่จะว่างงาน เนื่องจากภาคเอกชนชะลอจ้างงาน จึงทำให้ลดโอกาสพัฒนาศักยภาพหรือทักษะประกอบอาชีพจากการไม่ได้จ้างงานร้อยละ 14 หรือกว่า 1.3 ล้านคน และวัยทำงานที่เป็นคน “ว่างงาน” ร้อยละ 17.9 หรือกว่า 6 ล้านคน งานวิจัยดังกล่าวยังอยู่บนสถานการณ์เก่าที่ขณะนี้กำลังเปลี่ยนไปในทางร้ายแรงขึ้น

“สึนามิ” ทางเศรษฐกิจภาวะโควิด สร้างแรงกดดันไปถึงผลกระทบทางสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และความขัดแย้งทางสังคม โดยไปขยายความรุนแรงเชิงโครงสร้างจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพที่มีช่องว่างมหาศาล

ถึงเวลานี้ต้องรัฐเปลี่ยนแนวทาง เปลี่ยนจากระบบรวมศูนย์อำนาจ มาเป็นการกระจายอำนาจ โดยสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการอย่างบูรณาการ ดังนี้

1)รัฐต้องเร่งกระจายชุดตรวจเชื้อโควิด (Rapid test) แบบง่ายๆ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำ ให้กับ อสม. ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศดำเนินการตรวจเชื้อเชิงรุก เพื่อจะได้แยกผู้ติดเชื้อในระยะแรกออกมาให้ได้ แทนที่จะปล่อยให้ประชาชนมาตรวจกันแน่นโรงพยาบาล

2)สนับสนุนให้ทุกครัวเรือนเตรียมความพร้อมรองรับคนในครอบครัวที่เป็นผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยในระยะแรกที่ยังไม่มีอาการมาก โดยให้พักรักษาตัวที่บ้านอย่างถูกสุขอนามัย โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอยติดตาม เยี่ยมเยียน

3)ส่งเสริมให้มีศูนย์เฉพาะกิจรักษาพยาบาลชุมชนเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยระยะแรก โดยสถานีอนามัย ร่วมกับชุมชนทำระบบบริหารจัดการร่วมกัน ตั้งแต่ฉีดวัคซีน จัดระบบแยกผู้ติดเชื้อออกจากคนทั่วเพื่อกักกันและดูแลรักษา โดยให้ผู้ติดเชื้ออยู่ที่บ้านตนเอง การให้ยารักษา และมีระบบบันทึกข้อมูลเพื่อติดตามอาการของคนไข้อย่างต่อเนื่อง

4)ส่งเสริมให้ทุกชุมชนนำเอาฟ้าทะลายโจรมาเป็นยาทางเลือกช่วยบรรเทาอาการรักษาโรคโควิด ดังผลวิจัยของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์พบว่า การใช้ฟ้าทะลายโจรไปรักษาผู้ป่วยโควิดรายที่มีอาการน้อยและไม่มีอาการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้ที่มีอาการน้อย หลังจากได้รับยาฟ้าทะลายโจรมีอาการดีขึ้นทุกราย โดยไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด ส่วนในรายที่ไม่มีอาการ ก็ไม่พบว่ามีอาการภายหลัง และปลอดภัยดี

5)จัดระบบขนส่งผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยจากบ้านไปโรงพยาบาลให้รองรับประชาชนได้อย่างเพียงพอ

6)ร่วมมือกับภาคเอกชนเร่งนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ให้ได้ปริมาณมากๆ และกระจายไปสู่ชุมชนใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการตั้งแต่ระยะเบื้องต้น ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่ระยะรุนแรง ซึ่งจะรักษาให้หายได้ยาก

7)เปิดเสรีทุกช่องทางให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิดได้ทุกยี่ห้อ ทุกประเภท โดยรัฐทำหน้าที่รับรองสนับสนุนการนำเข้า และกระจายลงสู่ศูนย์ชุมชนโดยเร็วที่สุด

8)เข้าร่วมโครงการ COVAX เพื่อสร้างหลักประกันทางเลือกในการได้วัคซีน และยังเป็นการร่วมช่วยเหลือประเทศยากจนให้ได้เข้าถึงวัคซีนด้วย

9)เร่งพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 หรือวัคซีนที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาใกล้เสร็จแล้วเพื่อนำมาเป็นทางเลือกในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

10)พัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูลออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพที่เชื่อมโยงกันอย่างรอบด้านและทันสถานการณ์ ทั้งข้อมูลผู้เสี่ยง ผู้ป่วยทั้งที่อยู่ที่บ้าน สถานีอนามัยชุมชน ไปจนถึงโรงพยาบาล โดยมีการ update สถานการณ์ทั้งจำนวนผู้ป่วย ระดับความรุนแรง จำนวนแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ เตียงแต่ละโรงพยาบาล ปริมาณยาและเวชภัณฑ์ ทางเลือกในการรักษาพยาบาล โดยเป็นข้อมูลที่ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมให้ข้อมูลและกำหนดทางเลือกของตนเองได้

11)จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือทางเศรษฐกิจสังคมในระดับชุมชน โดยรัฐใช้งบประมาณเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทที่ยังใช้ไม่มาก โดยให้ชะลอโครงการของหน่วยงานรัฐที่จะใช้งบฯ ก้อนดังกล่าวเพราะล่าช้าและขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยโอนงบฯ ตรงไปให้ชุมชนและประชาสังคมดำเนินการแทนเพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน และสร้างระบบสวัสดิการ ระบบการคุ้มครองทางสังคมระดับชุมชนขึ้นมาทันที

ทั้งหมดนี้ทุกภาคส่วนหากทำส่วนไหนได้ก็ควรเร่งดำเนินการทันที เน้นการขับเคลื่อนเป็นภาคีช่วยเหลือและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมแก่ประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉินจากภาวะโควิด โดยไม่ต้องรอนโยบายหรือคำสั่งจากรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็ต้องร่วมมือกันผลักดันให้รัฐบาลต้องกระจายอำนาจโดยทันที ก่อนภาวะล่มสลายจะมาถึง

อ้างอิง
The Standard, ผอ.สถาบันวัคซีนฯ แจงไทยไม่ร่วม COVAX เพราะมีโอกาสไม่ได้วัคซีน-กฎหมายไม่เอื้อ แต่ตอนนี้แก้กฎหมายแล้ว อยู่ระหว่างเจรจาใหม่, 11 กุมภาพันธ์ 2564
Workpoint today, ไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 0.36% ของประชากรทั้งประเทศ, 7 เมษายน 2564
ไทยรัฐออนไลน์, เตียงเต็ม – รพ.สนามแน่น รักษาตัวอยู่บ้านไม่ได้ แผนต่อไปที่ สธ. ต้องคิด?, 14 เมษายน 2564
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์,ยาฟาวิพิราเวียร์ มีเพียงพอกว่า 1 ล้านเม็ด รักษาผู้ป่วยอาการหนักได้ 1.4 หมื่นคน, 17 เมษายน 2564
กรุงเทพธุรกิจ, พิษโควิด คนไทยตกงาน จบใหม่เตะฝุ่น ไร้แผนออม, 15 เมษายน 2564
Hfocus, อภัยภูเบศรย้ำ! ข้อเท็จจริงฟ้าทะลายโจรกับโควิด19, 17 เมษายน 2564