ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > WHO เตือนหายนะทางศีลธรรม แจกจ่ายวัคซีนเหลื่อมล้ำ

WHO เตือนหายนะทางศีลธรรม แจกจ่ายวัคซีนเหลื่อมล้ำ

19 มกราคม 2021


ที่มาภาพ: https://news.un.org/en/story/2021/01/1082362

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปี ประเทศต่าง ๆ ทางฝั่งตะวันตกเริ่มประกาศฉีดวัคซีนแก่ประชาชนตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีหลายองค์กรที่พัฒนาวัคซีนออกมาระบุว่า วัคซีนที่กำลังพัฒนาอยู่นั้น สามารถนำมาฉีดให้กับคนทั่วไปได้แล้ว บุคคลแรกของโลกที่ได้รับวัคซีนที่ผ่านการทดสอบแล้วคือ คุณยายมาร์กาเร็ต คีนัน ชาวสหราชอาณาจักร อายุ 90 ปี

ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า วัคซีนของโรคโควิด 19 อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเป็นสัญญาณที่บ่งว่าร่างกายกำลังสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ โดยปกติแล้ว เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปอาจเกิดอาการเจ็บปวดหรือบวมแดงในบริเวณที่ฉีด ทำให้มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย หรือปวดศีรษะ อาการทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ว่าจะหายไปเองภายในไม่กี่วัน

แม้ว่า ในตอนนี้ มีหลายองค์กรและบริษัทกำลังพยายามพัฒนาอยู่ แต่วัคซีนที่รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกนำมาใช้แล้ว มีทั้งหมด 7 กลุ่ม ดังนี้

1.วัคซีน AZD1222 จากความร่วมมือของมหาวิทยาลัย Oxford และบริษัทลูกครึ่งอังกฤษ-สวีเดน AstraZeneca ปัจจุบันใช้อยู่ในประเทศเม็กซิโก เอลซาวาดอร์ อาร์เจนตินา โดมินิกัน โมร็อกโก บริเตนใหญ่ และอินเดีย ประเทศไทยเองเองก็เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนชนิดนี้จำนวน 26 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะได้รับภายในช่วงกลางปี 2021

2.วัคซีน CoronaVac จาก Sinovac Biotech บริษัทเอกชนของจีน เป็นวัคซีนอีกแหล่งที่ไทยเซ็นสัญญาซื้อแบบเร่งด่วน จำนวน 2 ล้านโดส โดยคาดว่าจะได้รับภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ประเทศอื่นที่ใช้วัคซีนตัวนี้นอกจากจีน ได้แก่ ตุรกีและอินโดนีเซีย

3.วัคซีน Comirnaty บริษัท Pfizer ของสหรัฐฯ และบริษัทเยอรมัน BioNTech มีการใช้ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ จอร์แดน คูเวต ซาอุดีอาระเบีย คอสตาริกา ปานามา เอกวาดอร์ และในสหภาพยุโรป

4.วัคซีน mRNA-1273 บริษัท Moderna ของสหรัฐฯ มีการนำไปฉีดในประเทศสหรัฐฯ แคนาดา อิสราเอล และในสหภาพยุโรป

5.วัคซีน Sputnik-V สถาบันวิจัย Gamaleya สหพันธรัฐรัสเซีย ไว้สำหรับใช้ในประเทศและส่งออกไปยังประเทศโบลิเวีย อาร์เจนตินา แอลจีเรีย เบลารุส เซอร์เบีย และดินแดนปาเลสไตน์

6.วัคซีน BBIBP-CorV ผลิตโดยสถาบันผลิตภัณฑ์ชีววิทยาปักกิ่ง รู้จักกันในชื่อ Sinopharm ซึ่งเป็นชื่อบริษัทรัฐวิสาหกิจจีน มีใช้แค่ในประเทศจีน อียิปต์ จอร์แดน บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เท่านั้น

7.วัคซีน Covaxin ของอินเดีย โดยความร่วมมือระหว่างสภาบันวิจัยทางการแพทย์ของรัฐอินเดีย สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย และบริษัท Bharat Biotech ซึ่งในตอนนี้ผลิตสำหรับใช้ในประเทศเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการรับรองโดยองค์กรด้านสาธารณสุขในแต่ละประเทศแล้ว แต่วัคซีนเหล่านั้นยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองกับคนหมู่มากเพื่อศึกษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ในประเทศนอร์เวย์มีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากผลข้างเคียงของวัคซีนของ Pfizer/BioNTech จำนวน 29 ราย หลังจากการตรวจสอบ สถาบันสาธารณสุขของนอร์เวย์ระบุว่า เรื่องดังกล่าวอาจเกิดจากการที่ร่างกายของผู้ได้รับวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ อ่อนแออยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้ผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยสามารถส่งผลรุนแรงต่อร่างกายผู้เสียชีวิตได้

เช่นเดียวกัน ในประเทศเยอรมัน มีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวน 10 คน หลังจากฉีดวัคซีนของ Pfizer/BioNTech สถาบันพอล เอห์ลิช (Paul Ehrlich Institute:PEI) ซึ่งเป็นสถาบันวัคซีนของเยอรมัน ออกมาเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบ ผู้เสียชีวิตจำนวน 7 เคส พบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตนั้นมาจากโรคแทรกซ้อนของผู้เสียชีวิต ไม่ใช่ผลจากการฉีดวัคซีนแต่อย่างใด

เอเมอร์ คุค หัวหน้าสำนักงานการแพทย์ยุโรป กล่าวว่า จะทำการติดตามเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างวัคซีนของ Pfizer/BioNTech และ Moderna ในขณะเดียวกัน กลุ่มแพทย์ในประเทศสแกนดิเนเวียก็ออกมาประกาศเช่นกันว่าจะพิจารณาการเลือกผู้ที่จะรับวัคซีนอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว เกร็ก ฮันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและการดูแลผู้สูงอายุ ของประเทศออสเตรเลียที่สั่งซื้อวัคซีน Pfizer/BioNTech จำนวน 10 ล้านโดส เปิดเผยว่า จะประสานงานกับรัฐบาลนอร์เวย์โดยตรงเพื่อติดตามข้อมูลและขอคำแนะนำ ในการนำไปปรับใช้กับหน่วยงานสาธารณสุขของออสเตรเลีย “เราจะดำเนินการอย่างระมัดระวังให้มากที่สุด” เกร็ก ฮันท์กล่าว

นอกจากนี้ ในจีนก็มีกระแสเรียกร้องจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขให้จีนระงับการสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัท Pfizer/BioNTech โดยระบุว่า เทคโนโลยีของการผลิตวัคซีนของ Pfizer/BioNTech นั้น เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยต่อผู้ใช้ 100% โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลจีนในตอนนี้กำลังฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในช่วงอายุ 18-59 ปีเท่านั้น จึงยังไม่เห็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้สูงอายุ

ที่มาภาพ: https://www.globaltimes.cn/page/202101/1212915.shtml

WHO เตือนภาวะตกต่ำทางศีลธรรม

ขณะที่ประเทศหลักของโลกกำลังกังวลต่อผลข้างเคียงของการได้รับวัคซีน แต่ประเทศด้อยพัฒนาจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ เนื่องจากการผลิตส่วนใหญ่ตอบสนองคำสั่งของประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลให้ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้แสดงความกังวลระหว่างการเปิดการประชุมผู้บริหารขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564

“แม้วัคซีนจะนำมาซึ่งความหวังให้กับบางคน แต่ก็กลายเป็นอิฐแห่งความเหลื่อมล้ำอีกก้อนหนึ่ง ระหว่างประเทศที่มีและประเทศที่ไม่มี”

ดร.เทดรอสฉายภาพว่า การพัฒนาวัคซีนอย่างรวดเร็วนั้นเป็นการสร้างกำลังใจในช่วงการระบาดใหญ่ แต่ในขณะที่มีการฉีดวัคซีน 39 ล้านโดสให้กับประเทศร่ำรวยเกือบ 50 ประเทศ กลับมีเพียง 25 คนเท่านั้นจากประเทศที่รายได้ต่ำที่สุดของโลกที่ได้รับวัคซีน

ดร.เทดรอสเตือนว่า โลกกำลังประสบกับหายนะทางศีลธรรม ในการเข้าถึงวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

“ผมต้องบอกตรงๆ โลกกำลังใกล้จะเข้าสู่วิกฤติความล้มเหลวทางศีลธรรม และราคาของความล้มเหลวนี้แลกมาด้วยชีวิตและการดำรงชีวิตของหลายประเทศที่ยากจน”

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งโครงการ COVAX Facility เพื่อเป็นกลไกระดับโลกในการดูแลให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ จนถึงขณะนี้โครงการได้จัดหาวัคซีนได้แล้ว 2 พันล้านโดส โดยกำลังจัดหาอีกอีก 1 พันล้าน โดยการส่งมอบจะเริ่มในเดือนหน้า

“แม้พวกเขาจะพูดถึงการเข้าถึงที่เท่าเทียมกัน แต่บางประเทศและบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับข้อตกลงระหว่างกัน โดยเลี่ยง COVAX พร้อมดันราคาขึ้น และแซงคิว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

นอกจากนี้ ผู้ผลิตส่วนใหญ่ได้รับการอนุมัติเป็นลำดับต้นๆจากหน่วยงานกำกับในประเทศร่ำรวย ซึ่งสามารถทำกำไรได้มากกว่า แทนที่จะนำเสนอให้องค์การอนามัยโลกตรวจสอบคุณสมบัติก่อน

“ด้วยเหตุนี้อาจทำให้การส่งมอบต่อโครงการ COVAX ล่าช้า และเกิดสถานการณ์ที่ทำให้มีการจัดตั้ง COVAX ขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการกักตุน ความวุ่นวายของตลาด การตอบสนองที่ไม่สอดคล้องกัน และการชะงักงันทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง”

“แนวคิด ฉันมาก่อน ไม่เพียงทำให้คนยากจนที่สุดในโลกและคนที่เปราะบางที่สุดมีความเสี่ยง แต่ยังเป็นการทำลายตัวเอง”

ดร.เทดรอสย้ำว่า ความเท่าเทียมของการเข้าถึงวัคซีนยังมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ “ทำงานร่วมกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” เพื่อให้มีการฉีดวัคซีนให้กับบุคคลาการทางแพทย์และผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงมากที่สุดทั่วโลกภายใน 100 วันแรกของปี

นอกจากนี้ยังได้กดดันให้มีการดำเนินการใน 3 ด้าน เพื่อ“ เปลี่ยนกติกาของเกม” โดยเริ่มจากเรียกร้องให้มีความโปร่งใสในสัญญาทวิภาคีระหว่างประเทศและ COVAX ครอบคลุมทั้งปริมาณ ราคาและ วันที่ส่งมอบ

“เราขอเรียกร้องให้ประเทศให้ความสำคัญกับคิวใน COVAX และแบ่งปันวัคซีนที่มีให้กับ COVAX โดยเฉพาะประเทศที่ได้มีการฉีดวัคซีนให้บุคคลากรทางการแพทย์และประชากรสูงวัยไปแล้ว เพื่อที่ประเทศอื่นจะได้ดำเนินการเช่นกัน”

ดร.เทดรอส เรียกร้องให้ผู้ผลิตวัคซีนให้ข้อมูลครบถ้วนแก่องค์การอนามัยโลกเพื่อตรวจสอบตามกฎได้ทันการณ์ เพื่อเร่งการอนุมัติ และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆใช้วัคซีนที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล และเพื่อเร่งความพร้อมในการนำออกใช้

“ผมขอให้ทุกประเทศสมาชิกดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อถึงวันอนามัยโลกในวันที่ 7 เมษายน จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในทุกประเทศ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังในการชนะทั้งการแพร่ระบาดและความไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นต้นตอของความท้าทายด้านสุขภาพทั่วโลก” ดร.เทดรอสกล่าวและว่า “ผมหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นจริง”

การยึดวัคซีนเป็นที่ตั้งกระทบการฟื้นตัว

นายอันโตนิโอ กูร์เตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาย้ำว่า วัคซีนต้องเป็นสินค้าสาธารณะของโลก สามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคนและทุกที่ พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการระดมเงินทุนเพื่อจัดหายาและการวินิจฉัยเพื่อเอาชนะไวรัส

“เราต้องให้ผู้ผลิตให้ความสำคัญมากขึ้นในการทำงานร่วมกับ COVAX และประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อให้มีปริมาณที่เพียงพอและมีการกระจายอย่างเป็นธรรม”

“การยึดวัคซีนเป็นที่ตั้ง เป็นการทำลายตัวเองและชะลอการฟื้นตัวของของโลก”

เรียบเรียงจาก
WHO chief warns against ‘catastrophic moral failure’ in COVID-19 vaccine access
Which countries have rolled out COVID vaccine?
What to Expect after Getting a COVID-19 Vaccine
Corona Virus Vaccine Tracker
Norway Raises Concern Over Vaccine Jabs for the Elderly
What to Know About Vaccine-Linked Deaths, Allergies
Australian officials seeking information from Pfizer, Norwegian experts after aged care residents die following coronavirus jab
Chinese health experts call to suspend Pfizer’s mRNA vaccine for elderly after Norwegian deaths