ThaiPublica > เกาะกระแส > คณะกรรมาธิการยุโรปชูโปร่งใส เปิดสัญญาซื้อวัคซีนแอสตราเซเนก้า

คณะกรรมาธิการยุโรปชูโปร่งใส เปิดสัญญาซื้อวัคซีนแอสตราเซเนก้า

31 มกราคม 2021


ที่มาภาพ:
https://www.astrazeneca.com/media-centre/covid-19-media.html#imagetile

เมื่อวันที่ 29 มกราคม คณะกรรมาธิการยุโรป(European Commission) ได้เผยแพร่สัญญาการซื้อวัคซีนที่ทำกับบริษัทแอสตราเซเนก้าผู้ผลิตวัคซีนต่อสาธารณะ หลังจากที่ได้มีความขัดแย้งด้านปริมาณวัคซีนจากการที่บริษัทผลิตวัคซีนไม่ทันและไม่สามารถส่งมอบได้ตามสัญญา และคณะกรรมาธิการได้สั่งห้ามการส่งวัคซีนออกจากสหภาพยุโรป

EC ย้ำความโปร่งใสเพื่อประชาชน

ในเว็บไซต์ คณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า บริษัทแอสตราเซเนก้าได้ตกลงที่จะเผยแพร่สัญญาที่มีการปิดทับข้อมูลบางอย่าง(redacted contract)ซึ่งได้มีการลงนามระหว่างทั้งสองฝ่ายในวันที่ 27 สิงหาคม 2020 ตามคำขอครั้งใหม่จากคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันที่ 27 มกราคม

คณะกรรมาธิการชื่นชมบริษัทที่มีมุ่งมั่นจะมีความโปร่งใสมากขึ้นในการมีส่วนร่วมในการเริ่มดำเนินการแจกจ่ายวัคซีนของสหภาพยุโรปตามแนวทางที่วางไว้

ความโปร่งใสและความรับผิดชอบมีความสำคัญที่จะช่วยสร้างความไว้วางใจของพลเมืองยุโรป และเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถวางใจในประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีนที่ซื้อในระดับสหภาพยุโรป

คณะกรรมาธิการหวังว่าจะสามารถเผยแพร่สัญญาทั้งหมดภายใต้ข้อตกลงการซื้อล่วงหน้าในอนาคตอันใกล้นี้

สัญญาที่เผยแพร่ในวันนี้มีส่วนที่ปิดทับข้อมูลที่เป็นความลับ เช่น รายละเอียดของใบแจ้งหนี้ สัญญาที่ทำกับแอสตราเซเนก้าเป็นสัญญาฉบับที่สองที่มีการเผยแพร่หลังจากที่เคียวแวค (CureVac) ได้ตกลงที่จะเผยแพร่ข้อตกลงการซื้อล่วงหน้ากับคณะกรรมาธิการยุโรป

ในเว็บไซต์ให้ข้อมูลถึงที่มาของการเปิดเผยสัญญาว่า สำหรับคณะกรรมาธิการแล้ว การคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและการบรรลุข้อตกลงที่ดีที่สุดกับ บริษัทต่างๆเพื่อให้วัคซีนมีราคาไม่แพง ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ มีความสำคัญ

สัญญาที่คณะกรรมาธิการยุโรปเจรจาร่วมกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 สิงหาคม โดยได้ใช้เงินจาก Emergency Support Instrument

ด้วยสัญญาดังกล่าว ประเทศสมาชิกทั้งหมดสามารถซื้อวัคซีนแอสตราเซเนก้าได้ 300 ล้านโดส และสามารถซื้อเพิ่มได้อีก 100 ล้านโดสเพื่อแจกจ่ายตามสัดส่วนประชากร สัญญาดังกล่าวยังอนุญาตให้ประเทศสมาชิกบริจาควัคซีนของตนให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางหรือส่งต่อไปยังประเทศยุโรปอื่นๆ

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/world-europe-55852698

ที่มาของการเปิดสัญญา

สหภาพยุโรปได้ตกลงซื้อวัคซีนแอสตราเซเนก้าจำนวน 400 ล้านโดสซึ่งบริษัทได้ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหภาพยุโรป แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วแอสตราเซเนก้าได้ประกาศกะทันหันว่า จะสามารถส่งมอบวัคซีนปริมาณประมาณ 31 ล้านโดสไปยังสหภาพยุโรปหรือประมาณ 40% ของปริมาณ 80 ล้านโดสที่สัญญาไว้ในไตรมาสแรก เนื่องจากมีปัญหาการผลิต

การประกาศของแอสตราเซเนก้า ทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปไม่พอใจ ที่พยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในยุโรป ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าดำเนินการล่าช้า เพราะการขาดวัคซีนทำให้ไม่สามารถเร่งการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ เพราะที่ แมดริด สเปนได้หยุดการฉีดวัคซีนไปแล้ว ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมนีคาดว่า จะขาดวัคซีนไปถึงเดือนกรกฎาคม

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานเมื่อวันที่ 28 มกราคมว่า แอสตราเซนเนก้าตกลงที่จะส่งมอบวัคซีนเพิ่มอีก 8 ล้านโดส แต่คณะกรรมาธิการยุโรปยืนยันว่าไม่เพียงพอและเรียกร้องให้แอสตราเซเนก้าผลิตวัคซีนมากขึ้น และใช้โรงงานในอังกฤษในการผลิตเพื่อผลิตวัคซีนให้เพียงพอ

แอสตราเซเนก้ายืนยันว่าไม่สามารถทำได้ และในสัญญาก็ระบุเพียงว่า บริษัทจะ”พยายามอย่างเต็มที่” ในการจัดส่งวัคซีนไปยังยุโรป ประเด็นปัญหาก็คือ ทั้งคณะกรรมาธิการยุโรปและแอสตราเซเนก้ามีความเห็นไม่ตรงกันของความหมายที่แท้จริงของ “ความพยายามให้ดีที่สุด”

ดังนั้นจึงเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างสองฝ่ายและอาจจะส่งผลกระทบในวงกว้าง และส่งผลต่อการจัดหาวัคซีนทั่วโลก

ปาสกัล โซเรียต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอสตราเซเนก้า เปิดเผยว่า บริษัททำการผลิตวัคซีนโดยไม่มีวันหยุดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแก้ไขปัญหาการผลิตในยุโรป

“แต่สัญญากับสหราชอาณาจักรได้ลงนาม 3 เดือนก่อนหน้าที่จะทำข้อตกลงวัคซีนกับยุโรป” โซเรียตกล่าว “ดังนั้นในสหราชอาณาจักรเราจึงมีเวลาเพิ่มอีก 3 เดือนในการแก้ไขประเด็นปัญหาทั้งหมดที่เราประสบ สำหรับยุโรปเราแก้ไขปัญหาตามหลังอยู่ 3 เดือน”

แม้สหภาพยุโรปยืนยันว่า ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาแอสตราเซเนก้าต้องใช้โรงงานผลิตในสหราชอาณาจักรเพื่อ ส่งมอบวัคซีนส่วนหนึ่งให้สหภาพยุโรป แต่เอสตราเซนเก้ากล่าวว่า จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อสหราชอาณาจักรก่อน จึงจะสามารถส่งมอบวัคซีนให้ยุโรปหรือที่อื่นได้ ขณะนี้มีการส่งมอบประมาณ 2 ล้านโดสต่อสัปดาห์ไปยังสหราชอาณาจักร

างเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/world-europe-55852698

ด้าน นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ให้สัมภาษณ์ วันที่ 29 มกราคมว่า สัญญาที่ลงนามกันในเดือนสิงหาคม ระบุถึง “คำสั่งผูกพัน” และ “ชัดเจนมาก” ว่า สัญญาระบุว่าแอสตราเซเนก้าต้องใช้โรงงานผลิตที่อังกฤษเพื่อส่งมอบวัคซีนให้สหภาพยุโรป เพราะการผลิตให้กับสหภาพยุโรปนั้นชะงัก

สหภาพยุโรปต้องการเปิดเผยสัญญาเพื่อชี้ให้เห็นว่าว่า บริษัทได้ยอมรับข้อผูกพันที่ทำไว้

“ความพยายามอย่างดีที่สุด” มีผลในช่วงที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนได้หรือไม่ แต่เวลาไล่หลังเรามาทุกขณะ และวัคซีนมีการผลิตขึ้นแล้ว

“แอสตร้าเซนเนก้ายังยืนยันกับเราอย่างชัดเจนในสัญญาฉบับนี้ว่า ไม่มีภาระผูกพันอื่นใดที่จะขัดขวางไม่ให้ทำตาม”

ในวันศุกร์ สหภาพยุโรปได้อนุมัติวัคซีนของแอสตราเซเนก้า ขณะเดียวกันได้ใช้มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนทั้งหมด

ผู้ผลิตวัคซีนจะต้องแจ้งให้สหภาพยุโรปทราบเมื่อส่งออกวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาไปยังประเทศอื่นนอกสหภาพยุโรป ซึ่งกว่า 90 ประเทศได้รับการยกเว้น แต่ไม่ใช่สหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร จากนั้นสมาชิกในสหภาพยุโรปแต่ละประเทศจะต้องอนุญาตการส่งออกเหล่านั้น และสามารถระงับได้หากเชื่อว่าบริษัทที่ส่งออกวัคซีนนั้นไม่สามารถทำตามข้อตกลงการจัดส่งกับสหภาพยุโรปได้

อย่างไรก็ตามคำสั่งห้ามการส่งออกไม่ใช่การห้ามส่งออกวัคซีนถาวรและคาดว่าจะมีผลจนถึงเดือนมีนาคมเท่านั้น

ต้องให้กฎหมายตีความ

สัญญาที่นำมาเปิดเผยนี้มีการปิดทับข้อมูลบางอย่างที่เป็นข้อมูลสำคัญ เช่น ต้นทุน วันที่รับประกันการส่งมอบ และทรัพย์สินทางปัญญา

เกวิน ลี ผู้สื่อข่าวประจำยุโรปของบีบีซีกล่าวว่า อาจจะต้องมีการตีความกฎหมายของผู้เชี่ยวชาญและต้องดูในรายะเอียด เพื่อทำความเข้าใจว่าใครถูก

แอสตราเซเนก้า อาจจะตกในสถานการณ์ที่ยุ่งยากในการต่อสู้กับการจัดหาวัคซีนครั้งนี้

สัญญาที่มีการปิดทับข้อมูล จากการตกลงของทั้งสองฝ่าย ไม่ได้มีการข้อกำหนดเพื่อหาว่าใครเป็นฝ่ายผิด

แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายจะไม่เปิดเผยเรื่องนี้ หากทั้งสองฝ่ายคิดว่าเป็นข้อสรุปที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนแอสตราเซเนก้ากำลังมุ่งหาทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ไม่มีผลดีกับทั้งสองฝ่าย

แหล่งข่าวอีกรายซึ่งใกล้ชิดกับบริษัท กล่าวว่า พวกเขารู้ดีว่าลัทธิชาตินิยมของวัคซีนเป็นอันตราย และนั่นเป็นเหตุผลที่อ้างว่า สัญญาที่แตกต่างกันนั้นเชื่อมโยงกับฐานการผลิตที่แยกจากกัน และกลายป็นข้อโต้แย้งของสหภาพยุโรป

เตือน…สงครามวัคซีน

โฆษกของนายกรัฐมนตรีอังกฤษบอริส จอห์นสันยังคง “มั่นใจในการจัดหาวัคซีนของเรา” และเดินหน้าตามแผนการฉีดวัคซีน แต่นายดิดิเยร์ ไรน์เดอรส์ กรรมาธิการยุโรปด้านความยุติธรรมกล่าวว่า “คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้ผลักดันให้มีการประสานงานด้านสัญญาวัคซีนในนามของ 27 ประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามวัคซีนระหว่างประเทศในสหภาพยุโรป แต่สหราชอาณาจักรอาจต้องการเริ่มสงครามวัคซีนเสียเอง?

ความสามัคคีดป็นหลักการสำคัญของสหภาพยุโรป และเป็นที่ชัดเจนหลังจาก Brexit ว่า สหราชอาณาจักรไม่ต้องการแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับใคร ”

การฉีดวัคซีนในบางส่วนของยุโรปถูกระงับไว้แล้วและในบางประเทศก็หยุดลง โดย

ในสเปนที่ แมดริด สเปนมาดริดและภูมิภาคแคนตาเบรียทางตอนเหนือได้หยุดการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว และรอฉีดเข็มที่สองในอีก 2 สัปดาห์

หน่วยงานด้านสุขภาพระดับภูมิภาคในฝรั่งเศสกำลังชะลอการนัดหมายการฉีดวัคซีน จนถึงขณะนี้มีผู้คนมากกว่า 1.1 ล้านคนได้รับวัคซีน

ปีเตอร์ แฮคเกอร์ ที่ปรึกษาด้านสุขภาพของเมืองเวียนนากล่าวว่า ปัญหาการจัดส่งทำให้การฉีดวัคซีนล่าช้าไปถึงสองสัปดาห์ “เรากำลังดำเนินงานภายใต้เศรษฐกิจที่ขาดแคลนอย่างมาก”

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เป็นรายสุดท้ายในสหภาพยุโรปที่เริ่มโครงการฉีดวัคซีน และภายในสิ้นเดือนมกราคม เนเธอร์แลนด์จะมีวัคซีนไม่เกิน 757,000 โดส โดยส่วนใหญ่มาจากไฟเซอร์ และในการฉีดวัคซีนช่วงแรกอยู่บนพื้นฐานคาดการณ์ว่า วัคซีนของแอสตราเซนเนก้าจะออกใช้ได้ก่อน

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/world-europe-55852698

WHO ตำหนิอียูคุมส่งออก

องค์การอนามัยโลก ( World Health Organization:WHO) ได้วิพากษ์วิจารณ์การประกาศควบคุมการส่งออกวัคซีนที่ผลิตภายในสหภาพยุโรป โดยระบุว่ามาตรการดังกล่าวเสี่ยงต่อการทำให้การแพร่ระบาดของโรคยืดเยื้อ

ดร.เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวผ่านการแถลงข่าวทางไกลจากที่ประชุมสภาเศรษฐกิจโลกที่ดาวอส ว่า การกักตุนวัคซีนจะ “ทำให้การแพร่ระบาดของโรคยืดเยื้อและ ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก” นอกเหนือจากการ “ความล้มเหลวทางศีลธรรมที่ร้ายแรง” ซึ่งอาจทำให้ความไม่เท่าเทียมกันทั่วโลกขยายกว้างขึ้น

ก่อนหน้านี้ดร.เทดรอส กล่าวว่า “ลัทธิชาตินิยมวัคซีนจะนำไปสู่การฟื้นตัวที่ล่าช้าออกไปอีก”

มารีแองเจลา ซีเมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ด้านการเข้าถึงยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพกล่าวว่า การกักตุนวัคซีนเป็นแนวโน้มที่น่าห่วง

มากาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซีว่า ควรมีการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยงและผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพทั่วโลกก่อนที่แต่ละประเทศจะเริ่มแจกวัคซีนในวงกว้าง.

ซึ่งหมายถึงประเทศที่ร่ำรวยเช่น สหราชอาณาจักรหยุดการฉีดวัคซีนในประเทศ หลังจากกลุ่มที่มีความสำคัญได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และหันไปช่วยช่วยฉีดวัคซีนที่อื่นแทน

“เราขอให้ทุกประเทศที่กำลังจะดำเนินการเช่นนั้น ให้รอก่อน รอกลุ่มอื่นๆ แทนที่จะรีบฉีดวัคซีนประเทศเดียว เราจำเป็นต้องฉีดจำนวนมากและต้องร่วมกันทำ” she said.

จนถึงขณะนี้ 95% ของการฉีดวัคซีนทั้งหมดเกิดขึ้นใน 10 ประเทศเท่านั้น แฮร์ริสกล่าว ขณะที่มีเพียง 2 ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางเท่านั้นที่เริ่มโครงการสร้างภูมิคุ้มกัน

เรียบเรียงจาก
Covid: EU-AstraZeneca disputed vaccine contract made public
The EU-AstraZeneca vaccine fight, explained
Coronavirus: WHO criticises EU over vaccine export controls