ThaiPublica > คอลัมน์ > ซอฟต์โลน โดสเดียว หยุดโรคขาดสภาพคล่องไม่ได้

ซอฟต์โลน โดสเดียว หยุดโรคขาดสภาพคล่องไม่ได้

28 กุมภาพันธ์ 2021


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

โรคขาดสภาพคล่องเปรียบเหมือนโควิดของภาคธุรกิจ อาการของโรคประเภทนี้จะเริ่มจาก บริษัทมีรายจ่ายมากกว่ารับ ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจาก ยอดขายหดตัว เก็บเงินลูกค้าไม่ได้ตามกำหนดหรือไม่ได้เลย มีภาระหนี้เกินตัว ถ้าสถานการณ์พัฒนาจากเกิดเป็นครั้งเป็นคราวมาเป็นถาวร ธุรกิจรายนั้นๆ ก็จะเริ่มเข้าสู่ภาวะยืดเวลาชำระหนี้ของตัวเองกับคู่ค้า รวมทั้งหนี้เงินกู้กับแบงก์ ถ้าอาการเรื้อรังสถานการณ์ยืดหนี้จะลุกลาม จนกลายเป็นหนี้เสียและส่งผลเชื่อมโยงไปยังผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าคนป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 80% หายได้เอง อีก 20% ต้องนอนโรงพยาบาล และ 5% มีอาการหนัก แต่ภาคธุรกิจยังไม่มีข้อมูลว่าหากป่วยด้วยโรคขาดสภาพคล่องแล้วจะหายได้เอง หรือเข้าโรงพยาบาลนอนไอซียูกี่เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันภาคธุรกิจเจอโรคขาดสภาพคล่องมากน้อยตามประเภทธุรกิจและทุนสำรองที่สะสมไว้

นับจากต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจหลายกลุ่มเริ่มส่งเสียงถี่ๆ ว่า อาการป่วยจากโรคขาดสภาพคล่องที่เรื้อรังมากว่า 1 ปี เริ่มลุกลามจวนเจียนใกล้ถึงระยะที่ 4 เต็มทีแล้ว พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาล ต่อเวลาพักหนี้ออกไปให้นานกว่า 2 ปี และจัด “ซอฟต์โลน” ซึ่งเปรียบเหมือนวัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทานจากโรคขาดสภาพคล่องมาให้โดยด่วน เช่น กลุ่มผู้ประกอบการ 7 สายการบินขอซอฟต์โลน 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อมาดูแลค่าจ้างพนักงาน สมาคมโรงแรมไทย ขอแบบจัดเต็ม ทั้งขอให้รัฐร่วมจ่ายเงินเดือนพนักงานคนละครึ่ง พักหนี้เดิม 2 ปี และให้คิดอัตราดอกเบี้ย 2% และขอซอฟต์โลนด้วย ฯลฯ

สมาคมภัตตาคารไทยไม่เอาซอฟต์โลนแต่ขอให้รัฐตั้งกองทุน 1 หมื่นล้านาท หรือสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ออกมาแถลงเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่า สภาพคล่องของสมาชิกอยู่ได้อีก 6 เดือนเท่านั้นพร้อมร้องขอให้ภาครัฐช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะซอฟต์โลน และอีกหลายๆ ธุรกิจที่ต้องการวัคซีนธุรกิจตัวนี้

แบงก์ชาติให้คำนิยามซอฟต์โลนว่า เป็นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากทางการที่ส่งต่อไปให้ภาคธุรกิจ ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนก่อน ดร.วิรไท สันติประภพ ไปแจงในสภาช่วงนำเสนอ พ.ร.ก.เอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาทเมื่อปีที่แล้วตอนหนึ่งว่า

…ซอฟต์โลนจากแบงก์ชาติไม่ได้มาจากการกู้เงินแต่เป็นการจัดสรรสภาพคล่องในระบบที่แบงก์ชาติรับผิดชอบ เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องขาดแคลน โดยแบงก์ชาติใช้วิธีจัดสรรซอฟต์โลนผ่านแบงก์พาณิชย์ด้วยอัตราดอกเบี้ยเกือบให้เปล่า 0.01% จากนั้นแบงก์ที่ร่วมโครงการจะไปปล่อยต่ออัตราดอกเบี้ย 2% นาน 2 ปี

นอกจากซอฟต์โลนแบงก์ชาติแล้ว ยังมีซอฟต์โลนที่แบงก์ออมสินปล่อยให้แบงก์และนอนแบงก์อีกประมาณ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินที่ร่วมโครงการนำไปปล่อยต่อให้ บุคคลหรือภาคธุรกิจอัตราดอกเบี้ย 2% เช่นกัน ซอฟต์โลนทั้ง 2 ก้อน ถือเป็นวัคซีนซอฟต์โลนโดสแรกๆ ที่รัฐฉีดใส่ระบบธุรกิจเพื่อบรรเทาอาการขาดสภาพคล่อง

แม้ระบบธุรกิจได้รับวัคซีนซอฟต์โลนโดสแรกแล้วมาเกือบ 1 ปีเศษแล้ว แต่ภูมิต้านทานโรคขาดสภาพคล่องที่ทำท่าจะกระเตื้องขึ้น กลับมาไข้ขึ้นต่อ เมื่อเจอการระบาดใหม่จากกรณีตลาดกลางกุ้ง ที่จังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นจุดเปลี่ยน ครั้งสำคัญของสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19 ในไทย

การประชุม กนง. หรือคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งแรกของปีเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา วงประชุมหยิบยกเรื่องสภาพคล่องขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญด้วย โดยรายงานอย่างย่อที่เผยแพร่เป็นทางการเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พอสรุปสาระหลักๆ ได้ว่า ที่ประชุมมองโจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทยเวลานี้ไม่ใช่ระดับอัตราดอกเบี้ย

เนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ สภาพคล่องในระบบธนาคารยังอยู่ในระดับสูง แต่โจทย์ก็คือการกระจายสภาพคล่องในระบบธนาคารไปสู่ภาคธุรกิจครัวเรือนให้ทั่วถึง จึงควรใช้มาตรการทางการเงินและสินเชื่อซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด

การแก้ปัญหาสภาพคล่องภาคธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ระบาดใหม่ เป็นโจทย์ท้าทายทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลและแบงก์ชาติในฐานะผู้พิทักษ์เสถียรภาพเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าเลือกแนวทางใดก็มีปัญหาทั้งสิ้น อีกทั้งทรัพยากรทางการเงินถูกใช้ไปมากพอสมควร แหล่งซอฟต์โลนใหญ่ที่แบงก์ชาตินำมาจัดสรรเข้าระบบในฐานะผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้าย (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท) 10 เดือนเศษแม้ถูกวิจารณ์ว่าเข้าถึงยากแต่ก็ปล่อยกู้ให้บรรดาเอสเอ็มอีไปแล้ว 1.25 แสนล้านบาท จำนวน 74,702 ราย หรือราว 25%

นอกจากนี้ อาการขาดสภาพคล่องในธุรกิจในภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะโรงแรมหลายแห่งถูกวินิจฉัยว่ารุนแรงเกินเยียวยาด้วยวัคซีนซอฟต์โลนเพียงโดสเดียว สองสามสัปดาห์ก่อนหน้าสื่อหลายสำนักรายงานว่า กระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ ภาคเอกชนกำลังหารือมาตรการที่สามารถตอบโจทย์อาการป่วยจากโรคขาดสภาพคล่องของธุรกิจโรงแรม ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเช็คอินมากว่า 1 ปีแล้วด้วยกลไกที่เรียกว่า “โกดังพักหนี้ (ware housing)”

กลไกของโกดังพักหนี้ทำงานอย่างนี้คือ เจ้าของโรงแรมที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ให้โอนหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตัดหนี้ให้เจ้าหนี้ไปก่อน แล้วทำสัญญาให้สิทธิซื้อคืนในเวลาที่ตกลงกัน (ในราคาที่ต้องเหมาะสม) จากนั้น อดีตเจ้าของโรงแรมสามารถทำสัญญาเช่าจากแบงก์เจ้าหนี้ (ในอัตราที่เหมาะสมอีกเช่นกัน) เพื่อทำโรงแรมต่อ แต่ถ้าไม่ประสงค์ที่จะทำธุรกิจก็เสียค่าธรรมเนียมในการเก็บสินทรัพย์ในโกดังให้แบงก์เจ้าหนี้ตามระเบียบ

ข้อดีของ “โกดังพักหนี้” คือสามารถพักหนี้ได้ยาวๆ กว่า 2 ปี เจ้าของมีสิทธิซื้อคืนเป็นรายแรก และข้อดีอีกประการคือ สามารถป้องกันไม่ให้โรงแรมไทยตกเป็นเหยื่อกองทุนอีแร้งที่บินว่อนคอยฉวยโอกาสซื้อโรงแรมในราคาถูกๆ อีกด้วย

วัคซีนโดสนี้คุยกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ เข้าใจว่าเพราะยังหาข้อสรุปที่เป็นไปได้สำหรับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายไม่เจอ แต่สรุปรวมความแล้ว การรักษาโรคขาดสภาพคล่อง ลำพังวัคซีนซอฟต์โลน โดสเดียวเอาไม่อยู่แล้ว ต้องใช้มาตรการแบบค็อกเทลจึงจะพอมีความหวัง ที่สำคัญมาตรการที่จะขับเคลื่อนออกมาต้องเร็วและมีประสิทธิภาพเพราะยิ่งช้า ความเสียหายก็ยิ่งเยอะ