ThaiPublica > คอลัมน์ > ซอฟต์โลนหรือฮาร์ดโลน

ซอฟต์โลนหรือฮาร์ดโลน

30 พฤษภาคม 2021


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ซอฟต์โลน หรือเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ เป็นเครื่องมือที่แบงก์ชาติมักนำออกมาใช้ยามเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเช่นเดียววิกฤติโควิดที่เรากำลังเผชิญอยู่เวลานี้ จนแบงก์ชาติต้องงัดมาตรการซอฟต์โลนออกมา ช่วยเอสเอ็มอีรับมือ กับ คลื่นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ “วิกฤติโควิด-19” อุบัติขึ้น เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ด้วยการออก พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาท เมื่อ เมษายนปีที่แล้ว เพื่อจัดสรรสภาพคล่องให้แบงก์พาณิชย์ ไปปล่อยกู้ต่อให้เอสเอ็มอี ในอัตราดอกเบี้ย 2% ช่วง 2 ปีแรก (แบงก์ชาติคิดจากแบงก์พาณิชย์ 0.01%) และ 5% ในช่วงเวลาที่เหลือ

ตลอดระยะเวลาปีเศษที่แบงก์ชาติขับเคลื่อนมาตรการซอฟต์โลน มีเสียงบ่นเรื่องการเข้าถึงเงินกู้ก้อนนี้ที่ชื่อดูนุ่มนวลว่าซอฟต์โลนยากดังออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้มีการปรับเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นขึ้นแต่เสียงบ่นไม่เคยหยุด กระทั่งเกิดการระบาดระลอกสอง หรือคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร ในช่วงปลายปี 2563 และการระบาดระลอกสามหรือ การระบาดเดือนเมษายน 2564 ที่นำสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของไทยเข้าสู่จุดวิกฤติที่สุด หลังคลัสเตอร์ระบาดย่อยๆ กระจายออกไปทั่วประเทศ จนตัวเลขผู้เสียชีวิตใกล้หลักพันคนเข้าไปทุกที

แม้ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวเต็มรูปแบบ แต่ในสภาวะที่ต้องดำเนินชีวิตแบบระแวดระวัง ส่งผลกระทบต่อการบริโภค และธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ส่วนใหญ่พึ่งสภาพคล่องรายวัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดเดือนเมษายนทำให้ กระทรวงการคลังปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 เป็นครั้งที่สองเหลือ 2.5% จากเดิม 2.8% และแบงก์ชาติได้นำซอฟต์โลนที่เหลือ 350,000 ล้านบาท (จาก 500,000 ล้านบาท) มาปรับปรุงใหม่เป็น พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 หรือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มเติม

มาตรการซอฟต์โลนเวอร์ชันสอง แบงก์ชาตินำซอฟต์โลนที่เหลือ (จาก 500,000 ล้านบาท) จำนวน 350,000 ล้านบาท มาแบ่งออกเป็น 2 ก้อนๆ แรก มาตราการสินเชื่อฟื้นฟู 250,000 ล้านบาท โดยกลุ่มเป้าหมายคือ ใช้ซอฟต์โลนช่วยพยุงกิจการเอสเอ็มอีเหมือนเวอร์ชันแรก

ส่วนอีกก้อน 100,000 ล้านบาท นำไปใช้กับมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่มีชื่อเล่นว่า “โกดังพักหนี้” เป้าหมายคือช่วยเหลือธุรกิจโรงแรม ที่ช็อกจากสถานการณ์ดินฟ้าอากาศท่องเที่ยวเปลี่ยนอย่างฉับพลัน จากเดิมคาดว่าปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคน เหลือไม่กี่แสนคนจากพิษโควิด-19 ระบาด ทำเอาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวล้มลงทั้งยืน

หลักการของโกดังพักหนี้คือ เจ้าของโรงแรม หรือธุรกิจ อื่นๆ ที่ทำท่าว่าจะแบกภาระหนี้ต่อไม่ไหวเพราะรายได้หายแต่ภาระหนี้เพิ่ม สามารถนำโรงแรมมาเก็บไว้ในโกดัง (แบงก์เจ้าหนี้) จากนั้นทำสัญญาเช่าดำเนินการต่อจากแบงก์ (อัตราตามตกลง) และเมื่อครบกำหนด (ประมาณ 5 ปี สามารถซื้อคืนตามราคาที่ตกลงกัน) พอกระจายภาระ ข้อดีของมาตรการชุดนี้คือ หยุดภาระหนี้ให้ลูกหนี้ชั่วคราว และลูกหนี้ไม่เป็นเอ็นพีแอล (หนี้เกือบเสีย) ให้เป็นประวัติทางการเสีย ส่วนแบงก์เจ้าหนี้ไม่มีภาระต้องตั้งสำรอง เพราะหนี้ยังไม่เสีย

แม้หลักการของมาตรการฟื้นฟูทั้งสองชุด และดูเป็นมิตรกับคนมีหนี้ แต่ 1 เดือนเศษนับจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มเติมเริ่มนับหนึ่งอย่างคึกคัก แต่ในภาคปฏิบัติกลับคืบหน้าจำกัดเป็นอย่างยิ่ง จน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ออกมาเรียกร้องให้ (แบงก์ชาติ แบงก์พาณิชย์) เร่งดำเนินการ ผ่อนคลายมาตารการซอฟต์โลนและมาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้ โดยระบุว่า “เวลานี้มีเพียงธนาคารของรัฐอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ ลูกค้าทั้งรายเก่าและรายใหม่ ขณะที่แบงก์พาณิชย์ยังไม่ร่วมมือมากนัก” (มติชน 24 พ.ค. 2564)

ประธาน สอท. ยังวิจารณ์แบงก์พาณิชย์ด้วยว่า “อยากให้แบงก์เสียสละ ปัจจุบันกำไรสูงอยากให้ช่วยลูกค้ามากขึ้น ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ทั้งนี้แม้จะมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันเอสเอ็มอี แต่แบงก์มองว่าโอกาสหนี้เสียสูง ไม่อยากรับภาระใดๆ อีก เวลานี้จึงพยายามนิ่งเฉยและปล่อยกู้ให้น้อยที่สุด เป็นสถานการณ์ที่แย่ เอสเอ็มอีเจ๊งเพิ่มขึ้นทุกวัน อยากให้แบงก์เห็นใจภาคธุรกิจ ทุกวันนี้เครื่องมือรัฐออกมาครบแล้ว แต่รัฐทำข้างเดียวไม่ได้ แบงก์ต้องช่วยด้วย”

ซอฟต์โลนหรือฮาร์ดโลน ข้อมูลจาก แบงก์ชาติ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติแล้ว 15,854 ล้านบาท จำนวน 6,611 รายเฉลี่ย 2.4 ล้านบาทต่อราย ส่วนโกดังพักหนี้มีผู้ใช้บริการเพียง 2 ราย เมื่อดูตัวเลขดังกล่าวเทียบสัดส่วนกับวงเงินซอฟต์โลนที่มีอยู่แล้วถือว่าน้อยมาก

การที่แบงก์พาณิชย์ดูจะประณีตในการพิจารณาเงินกู้ตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูหรือซอฟต์โลนเวอร์ชันสอง เช่นเดียวกับเวอร์ชันแรก ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีตัวช่วยลดความเสี่ยงให้ชุดใหญ่ ทั้งอุดหนุนเงินทุนต้นทุนต่ำ ลดความเสี่ยงแบงก์ที่ปล่อยกู้ด้วยการให้ บสย. เข้ามาช่วยค้ำประกัน รัฐบาลดูแลอัตราดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ 6 เดือน เป็นต้น เพราะแบงก์เลือกที่จะให้ซอฟต์โลนกับรายที่มีโอกาสไปต่อได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการปล่อยกู้ของตนเองให้มากที่สุด ซึ่งเป็นรูปแบบพิจารณาสินเชื่อในยามปกติ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แกนหลักในการขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูตามโครงการ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อเร็วๆ นี้ถึงมาตรการซอฟต์โลนกับเอสเอ็มอีว่า อยู่ระหว่างให้สถาบันการเงินช่วยจัดกลุ่มข้อมูลเอสเอ็มอีในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือและกล่าวด้วยว่า “การปล่อยสินเชื่อ (ซอฟต์โลน) จะปล่อยให้กับกลุ่มที่ยังมีความสามารถในการทำธุรกิจหรือ ไม่เป็นหนี้เสีย ส่วนกลุ่มที่ไม่รอดถ้าเข้าไปช่วยอาจจะสูญเสียทรัพยากรได้ เวลานี้จึงกำลังหาวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกกฎหมายหรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เสียภาษี”

แนวทางพิจารณาซอฟต์โลนที่เลขาฯ สศช. กล่าวถึง ไม่ได้ต่างไปจากแนวทางแบงก์ชาติ ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้เป็นระยะแล้วว่าจะไม่ช่วยอย่างเหวี่ยงแห เหมือนช่วง 6 เดือนของวิกฤติโควิดที่แบงก์ชาติงัดมาตรการพักต้นพักดอกให้ลูกหนี้ทุกคน และทำให้พอประเมินได้ว่า นับจากช่วงต่อจากนี้ไป เอสเอ็มอีส่วนใหญ่หรือส่วนน้อยจะเข้าถึงซอฟต์โลน

แน่นอนว่าแนวทางดังกล่าวถูกต้องตามกฎเกณฑ์ทางการเงิน แต่ความคิดเลือกที่จะช่วยหรืออุดหนุนเฉพาะกิจการที่ดี ส่วนกิจการที่อยู่ใต้เส้นหนี้เสียให้ตัดทิ้งไป อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และ ไม่ใช่หลักประกันด้วยว่า กิจการที่ถูกกันออกไปนอกวง จะไม่ใช่ธุรกิจที่มีพื้นฐานดีแต่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด เกณฑ์ในการเข้าถึงซอฟต์โลนควรจะยืดหยุ่นตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ปกติ ไม่ใช่ยกการ์ดสูงเป็นฮาร์ดโลน เข้าถึงยากไป