ThaiPublica > เกาะกระแส > กระทู้สด รมช.คลัง ยัน ธกส. “ไม่ถังแตก” ให้โบนัส พนง. 6 เดือน “หมอวรงค์” ติงเงินจมเพราะ “รับจำนำข้าวมีรั่วไหล”

กระทู้สด รมช.คลัง ยัน ธกส. “ไม่ถังแตก” ให้โบนัส พนง. 6 เดือน “หมอวรงค์” ติงเงินจมเพราะ “รับจำนำข้าวมีรั่วไหล”

7 มีนาคม 2013


ที่มาภาพ:www.posttoday.com
ที่มาภาพ: www.posttoday.com

หลังจากที่มีกระแสข่าวว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เกษตร หรือ ธกส. ต้องออกปากทวงเงินค่าข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล จนทำให้ ธกส. ขาดสภาพคล่องทางการเงินนั้น

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถึงโครงการรับจำนำข้าว ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีสถานะทางการเงินของ ธกส. เกิดขึ้น

โดยนายทนุศักดิ์ชี้แจงว่า การดำเนินโครงการจำนำผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ตามนโยบายของรัฐบาลโดย ธกส. นั้น มีหลักการในการดำเนินการดังนี้

เรื่องแหล่งทุน รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดหาแหล่งทุนสนับสนุนโครงการในวงเงิน 4.1 แสนล้านบาท ในปี 2555 และ2556

รัฐบาลกำหนดให้ ธกส. แยกบัญชีธุรกรรมของนโยบายรัฐดังกล่าวออกจากบัญชีปกติของ ธกส. โดยรัฐบาลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการดำเนินการโครงการ ค่าใช้ต้นทุน ตลอดจนผลขาดทุนหากเกิดจากการดำเนินการโครงการดังกล่าว

รัฐบาลมอบหมายให้ ธกส. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจ่ายเงินเพื่อการรับจำนำ โดย ธกส. จะได้รับค่าบริหารจัดการ และหากมีความจำเป็น ให้ ธกส. สำรองจ่ายเงินของ ธกส. เองไปก่อน เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องได้รับความเดือดร้อน และรัฐบาลจะจ่ายชดเชยวงเงินดังกล่าวให้กับ ธกส. ภายหลัง

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการเร่งรัดการระบายข้าวที่จำนำไว้ เพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนในการรับจำนำในโครงการ ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้รับเงินคืนมาแล้วประมาณกว่า 8 หมื่นล้านบาท

นายทนุศักดิ์ได้กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเงินของ ธกส. ในวันที่ 31 มกราคม 2556 ธกส. มีสภาพคล่องทางการเงินที่สูง โดย ธกส. มีสินทรัพย์ถึง 1.18 ล้านบาท เพิ่มจากเดือนมีนาคมปี 2555 ถึงร้อยละ 11.86 หรือ 1.35 แสนล้านบาท ธกส. มีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงกว่ากฎหมายกำหนดไว้ที่ 6% ของยอดเงินฝาก โดยปัจจุบัน ธกส. มียอดเงินฝากโดยประมาณ 9 แสนล้านบาท หรือมีสินทรัพย์สภาพคล่องประมาณ 18% เหนือกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ดำรงไว้ตามกฎหมายถึง 3 เท่า

ดังนั้น ยืนยันว่า ธกส. มีสภาพมั่นคงแข็งแกร่ง และพร้อมเต็มที่ที่จะบริการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างแน่นอน การดำเนินงานของรัฐบาล 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ธกส. มีความมั่นคงและมีผลประกอบการอย่างดี ไม่ได้ขาดสภาพคล่องอย่างที่หลายฝ่ายเป็นห่วงแต่ประการใด

ในปี 2555 ธกส. ได้จ่ายโบนัสให้กับพนักงานของ ธกส. ถึง 6 เดือน และในปีนี้ได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินอีกกว่า 8 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการทำธุรกรรมของ ธกส. ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องจำนำเพียงอย่างเดียว

นายนิยมถามต่อว่า มีเกษตรกรจำนวนมากที่กำลังรอความชัดเจนของรัฐบาลในการดำเนินโครงการนี้ในปี 2556 ซึ่งอยากทราบว่าผลการดำเนินงานของโครงการจะมีทิศทางอย่างไร นอกจากนี้ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากเพื่อน ส.ส. ในจังหวัดอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี นครปฐม ลพบุรี อ่างท่อง สระบุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร ในเรื่องของการออกใบรับรอง ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรสามารถทำนาได้ 2 รอบต่อปี แต่คนที่เพาะปลูกตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนของปีที่ผ่านมา ขณะนี้เก็บเกี่ยวแล้วแต่ยังไม่ได้ใบรับรอง ขณะที่คนที่เพาะปลูกก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน ได้ใบรับรองแล้วแต่ไม่สามารถทำสัญญากับ ธกส. ได้ และไม่สามารถรับเงินได้

รมช.คลังชี้แจงว่า ผลของการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/2556 ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการโดยการกำหนดเป้าหมายการจำนำข้าวเปลือกนาปีจำนวน 15 ล้านตัน วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท ผลการดำเนินงานในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เกษตรกรนำข้าวเปลือกส่งมอบโรงสีที่รับจำนำและได้ใบประทวนสินค้าจัดทำสัญญากู้เงินและเบิกเงินกู้จาก ธกส. แล้วจำนวน 1,381,425 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 10.73 ล้านตัน จำนวนเงิน 1.7 แสนล้านบาท

เมื่อรวมกับผลการดำเนินงานการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 54/55 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกโดยตรง 3,533,764 ราย มีเม็ดเงินกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชนบทจำนวน 5.09 ล้านบาท

จากความเป็นห่วงของประชาชนว่าจะล้นตลาดนั้น ในปีนี้แนวโน้มข้าวในตลาดโลกจะมีน้อย ข้าวเปลือกนาปรังของประเทศไทยในปีนี้ได้ประมาณการไว้ถึง 15 ล้านตัน แต่เมื่อสำรวจล่าสุดมีแค่ 10.96 ล้านตัน เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าหายไป 1 ใน 3 ดังนั้น ในปี 2556 ตลาดข้าวจะเป็นตลาดของผู้จำหน่าย ต่างจากปีที่ผ่านมาที่เป็นตลาดของผู้ซื้อ

ขณะเดียวกัน การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวปี 2556 รอบที่ 2 หรือ “นาปรัง” จะดำเนินการอย่างไรนั้น ปัจจุบันนี้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าวพิจารณาเรื่องนี้ จะมีการประชุมวันที่ 8 มีนาคม ถ้าผ่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแล้ว จะมีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ขณะเดียวกัน คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จะมีการประชุมในวันที่ 11 มีนาคม 2556 ซึ่งจะมีการดำเนินการสอดคล้องกัน

“เราไม่เคยนิ่งเฉยกับข้อเสนอแนะของทุกท่านที่หวังดี โดยหลักการโครงการรับจำนำข้าว ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น ราคาข้าวสูงขึ้น โครงการนี้เกี่ยวข้องกับคนเป็นล้านๆ คน หลักการมันดี แต่ว่าบางจุดบางที่อาจจะมีข้อรั่วไหล ซึ่งเราไม่ปฏิเสธตรงนี้ แต่ขณะเดียวกัน เราก็เดินหน้าที่จะแก้ปัญหาอุดช่องว่างเติมเต็มในสิ่งที่เป็นปัญหาให้เกิดความรอบคอบเรียบร้อยอย่างแน่นอน รัฐบาลได้ทำงานอยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ มีความซื่อสัตย์สุจริต” รมช.คลังกล่าว

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ประท้วงโดยระบุว่า สิ่งที่ รมช.คลังชี้แจงไม่ถูกต้อง และเกรงว่าประชาชนจะเข้าใจผิด แต่ประธานในการประชุมไม่อนุญาตให้ นพ.วรงค์ประท้วง เนื่องจากอยู่ในช่วงการตอบกระทู้ถามสด

ทั้งนี้ นพ.วรงค์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับสำนักข่าวไทยพับลิก้าว่า รัฐมนตรีพูดความจริงไม่หมด ที่บอกว่ากระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้เงินจำนวน 8 หมื่นล้านบาทนั้นไม่เป็นความ จริงเพราะเงินจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท เป็นเงินของโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรในปี 2552-2554 ไม่เกี่ยวกับเงินในโครงการรับจำนำข้าวปี 2555 ดังนั้น เงินจากการขายจริงอยู่ที่ 6 หมื่นล้านเศษ รวมไปถึงที่มีการระบุว่า ธกส. มีสภาพคล่องนั้น วันนี้เงินสดจำนวน 2 แสนล้านบาทของ ธกส. จมในโครงการดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมหาศาล และหากนำไปปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรครอบครัวและ 1 แสนบาท จะได้ถึง 2 ล้านครอบครัว

นอกจากนี้ ที่ รมช.คลังบอกว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาวงเงินจำนวน 4.1 แสนล้านบาทนั้น เงินจำนวนนี้เป็นวงเงินงบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในโครงการ ซึ่งในปีงบประมาณ 2556 มีการตั้งงบประมาณเพียง 1.8 แสนล้านบาทเท่านั้น และได้ใช้ไปแล้ว 1.5 แสนล้าน เหลือเงินที่จะใช้ในโครงการเพียง 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในสิ้นเดือนมีนาคมนี้คาดว่า ธกส. จะต้องใช้เงินอีกร่วมแสนล้านบาท เท่ากับว่าขาดเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ที่ ธกส. จะต้องไปหามาใช้ในโครงการรับจำนำ

“รัฐบาลก็กินเนื้อ ธกส. ต่อไป วันนี้ ธกส. ก็โวยแบบน้ำท่วมปาก เพราะหาก ธกส. มีสภาพคล่องจริงตามที่รัฐมนตรีว่า เหตุใดจึงยังไม่มีการปล่อยเอกสารรับรองให้กับเกษตรเพื่อจะได้นำไปขึ้นเงินได้” นพ.วรงค์กล่าว