จิตติศักดิ์ นันทพานิช
หนึ่งในภาพจำของวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 คือการล่มสลายของภาคการเงินหลังสถาบันการเงินถูกสั่งปิดเกือบหมด แบงก์ไม่น้อยกว่า 6 แห่งถูกทางการยึดก่อนเปลี่ยนมือหรือถูกควบรวมอยู่กับแบงก์กรุงไทย ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่าง บมจ.ทีพีไอ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและปิดฉากกลายเป็น บมจ.ไออาร์พีซี ของกลุ่ม ปตท. ในปัจจุบันคำว่าเอ็นพีแอล (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) กลายเป็นศัพท์ทางการเงินที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมาจนบัดนี้
ส่วนภาพจำของวิกฤติโควิดที่เราเผชิญกันอยู่เวลานี้ คือชะตากรรมของเอสเอ็มอีหรือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก โดยเฉพาะที่เกี่ยวโยงกับภาคบริการ-ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเหยื่อด่านหน้าของคลื่นวิกฤติรอบนี้ เพราะการหายไปของนักท่องเที่ยวอย่างฉับพลันจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามด้วยมาตรการล็อกดาวน์หรือกึ่งล็อกดาวน์ ที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อสกัดวงจรการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้วงจรธุรกิจหยุดชะงักเกือบสิ้นเชิงเช่นกัน
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวตัวทำเงินของภาคเศรษฐกิจไทยมานับทศวรรษ เหมือนคนล้มทั้งยืนแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อตัวเลขนักท่องเที่ยวปี 2563 เหลือประมาณ 6 ล้านคน จากเดิมคาดกันเอาไว้เกือบ 40 ล้านคน ปีนี้แม้ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เริ่มแล้วและอีกหลายเมืองกำลังตามมา แต่พิษจากการระบาดระลอกใหม่ที่มีไวรัสกลายพันธุ์เดลตาเป็นหัวหอก ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไทยเหลือประมาณ 1 ล้านคน จากเดิมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางไว้ 3 ล้านคน
ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย บอกกับสื่อเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า มีร้านอาหารปิดตัวแล้วมากกว่า 1 แสนราย และแรงงานถูกเลิกจ้างไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน เนื่องจากผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหวหลังร้านอาหารถูกจำกัดการให้บริการเหลือเพียงซื้อกลับตามคำสั่ง ศบค. ในช่วงที่รัฐบาลดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เพื่อชะลอการระบาดของไวรัสโควิด-19
ธันย์ปวัฒน์ เตชภูวดลวิทิต ที่ปรึกษาสมาคมเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย ที่ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการสำหรับธุรกิจฟิตเนสในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ประเมินว่าธุรกิจฟิตเนสปิดไปแล้วไม่น้อยกว่า 2,500 ราย จากจำนวนผู้ประกอบการ 4,000 ราย โดยประมาณทั่วประเทศ
วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ปีนี้เอสเอ็มอีปิดกิจการไปแล้วไม่น้อยกว่า 20,000 ราย โดยสะท้อนจากตัวเลขการเลิกจ้างที่ขอชดเชยประกันสังคม
ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร ฟิตเนส เกี่ยวโยงกับกิจการเอสเอ็มอีจำนวนมาก คาดกันว่าเวลานี้ทั่วประเทศมีเอสเอ็มอีอยู่ราว 3 ล้านรายเศษๆ เป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ที่คาดว่าต้องเลิกจ้างงานจำนวนมากเพื่อหนีจากกับดักสภาพคล่องหลังรายได้หายไปจากสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง
เป็นไปตามกฎ เมื่อตลาดหาย รายได้หาย กิจการก็หาย สุดท้ายการจ้างงานก็ลดถึงไม่มี ข้อมูลการจ้างจากแบงก์ชาติระบุว่า ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีคนว่างงานและเสมือนว่างงาน (มีงานทำไม่ถึง 4 ชม. ต่อวัน) รวมกันประมาณ 3.5 ล้านคน มากกว่าช่วงก่อน โควิด-19 ระบาดถึง 1 ล้านคน
ความจริงทั้งรัฐบาลและสถาบันหลักทางเศรษฐกิจของประเทศตระหนักดีถึงความสำคัญของการจ้างงงานจากกลุ่มเอสเอ็มอี และพยายามออกมาตราการดูแลเอสเอ็มอีเพื่อประคับประคองการจ้างงานมาโดยตลอดนับแต่ช่วงเริ่มต้นของวิกฤติโควิดในปี 2563 เช่น จากแบงก์ชาติผลักดันมาตรการพักต้น-พักดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อลดภาระเงินกู้ของเอสเอ็มอีและชาวบ้านทั่วไปโดยไม่ถือว่าเป็นเอ็นพีแอล ธนาคารของรัฐจัดสินเชื่อให้กลุ่มเอสเอ็มรวมทั้งที่อยู่ในแวดวงท่องเที่ยว เป็นต้น
และที่เป็นไฮไลต์ของมาตรการชุดแรกๆ คือ พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่รู้จักกันในชื่อ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน ซึ่งมีเป้าหมายปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอี โดยผ่านกลไกแบงก์พาณิชย์ แต่มาตรการซอฟต์โลนก้อนนี้ถูกชาวเอสเอ็มอีวิจารณ์ว่าเข้าถึงยาก
แบงก์ชาติตอบสนองเสียงสะท้อนดังกล่าว ด้วยการออก พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ. 2564 หรือ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท (ส่วนที่เหลือจาก 5 แสนล้านบาท) ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เงินกู้ซอฟต์โลนก้อนดังกล่าวถูกแบ่งเป็น 2 ก้อน ก้อนแรก 2.5 แสนล้านบาท เป็นซอฟต์โลนสำหรับเอสเอ็มอีก อีกก้อน 1 แสนล้านบาท สำหรับมาตรการ พักทรัพย์-พักหนี้ธุรกิจโรงแรม โดยหวังว่ามาตรการที่ยืดหยุ่นและครอบคลุมมากขึ้นจะตอบโจทย์ของเอสเอ็มอี
ข้อมูลแบงก์ชาติ ณ วันที่ 20 กันยายน ปีนี้สินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติไปแล้ว 1.06 ประมาณแสนล้านบาท จำนวน 34,538 ราย ถือว่ามีอัตราเร่งในการส่งผ่านซอฟต์โลนสู่เอสเอ็มอีได้เร็วพอสมควร แต่โครงการพักทรัพย์-พักหนี้ มีมูลค่าทรัพย์ที่โอน 1.51 หมื่นล้านบาท และมีผู้ใช้บริการเพียง 106 รายเท่านั้น
นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังขยับแนวทางดูแล(หนี้)เอสเอ็มอีใหม่ จากเดิมที่ใช้มาตรการพักต้นพักดอกและต่ออายุมาตรการออกไปเรื่อยๆ มาเป็นมาตรการที่แบงก์ชาติเรียกว่าปรับโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืนระยะยาว เนื่องจากสถานการณ์ระบาดกลายเป็นลองโควิด ยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้ก่อนหน้า
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน แบงก์ชาติ กล่าวถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืนไว้ครั้งหนึ่งว่า ในรายละเอียดการยืดหนี้ระยะเวลาสินเชื่อหรือพักชำระหนี้ระยะสั้นเท่านั้น ขณะนี้ในระยะถัดไปแบงก์ชาติอยากเห็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น การแฮร์คัต (การลดมูลหนี้) หรือลดดอกเบี้ย เป็นต้น (กรุงเทพธุรกิจ 11 ส.ค. 2564) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกๆ ที่แบงก์ชาติออกมาพูดถึงแฮร์คัตนับจากวิกฤติโควิดอุบัติขึ้น
อนึ่ง แบงก์ชาติได้ออกมาให้ข่าวเพิ่มเติมว่า การแฮร์คัตไม่ใช่มาตรการบังคับและไม่ใช่ให้เป็นการทั่วไปกับลูกหนี้ทุกราย
แม้แบงก์ชาติยืนยันว่า มาตรการซอฟต์โลนชุดปรับปรุงใหม่เป็นมิตรกับลูกหนี้มากขึ้น และการมุ่งปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นระยะยาวมากขึ้น แต่เชื่อว่าอัตราเร่งการไหลออกของซอฟต์โลนคงไม่เร็วไปกว่าที่ผ่านมามากนัก เพราะถึงอย่างไรแบงก์พาณิชย์ข้อต่อหลักในขับเคลื่อนมาตรการ รวมทั้งแบงก์ชาติเองคงต้องเลือกลูกหนี้ที่มีโอกาสไปต่อ เช่นเดิม
ดังที่ผู้ว่าแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ บรรยายเรื่อง “มาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจยุคโควิด” ในงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อเร็วนี้ ได้กล่าวตอนหนึ่งประมาณว่า แม้แบงก์ชาติผลักดัน พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูฯ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้มากขึ้น ….. แต่ต้องยอมรับว่าช่วยได้ไม่ทั้งหมด เพราะวิกฤติ (วิกฤติโควิด) ที่หนัก กว้าง และรุนแรง ขนาดนี้ ต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดไปช่วยกลุ่มได้รับผลกระทบหนัก แต่มีโอกาสที่จะพลิกฟื้นและกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้
สรุปคือ พลเมืองเอสเอ็มอีที่ไม่มีคุณสมบัติข้างต้นไม่ต้องหวังซอฟต์โลนแล้ว