ThaiPublica > เกาะกระแส > อัพเดท! เงินกู้ 1 ล้านล้าน เบิกจ่าย 4 แสนล้าน – แจกเยียวยาแล้ว 31 ล้านคน

อัพเดท! เงินกู้ 1 ล้านล้าน เบิกจ่าย 4 แสนล้าน – แจกเยียวยาแล้ว 31 ล้านคน

23 กุมภาพันธ์ 2021


นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

สภาพัฒน์ฯแจงสรรพคุณเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จ่ายเยียวยา ปชช.แล้วกว่า 31 ล้านคน-จ้างงาน 4 แสนตำแหน่ง-ผลักดันประเทศเข้าสู่สังคมดิจิทัล-สร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ รับมือวิกฤตในอนาคต

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงเรื่อง “พ.ร.ก.เงินกู้ให้อะไรกับประชาชน” ว่า จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างรุนแรง กระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพ รัฐบาลจึงได้ออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ใช้เพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาการระบาดของโรค ช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดย พ.ร.ก. ดังกล่าวได้กำหนดการใช้จ่ายเป็น 3 แผนงานหลักดังนี้

แผนงานที่ 1 มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีวงเงินกู้ 45,000 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนงาน/โครงการเพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชย และค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ , การจัดซื้อ/จัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และห้องปฎิบัติการ , การรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา/ป้องกัน/ควบคุมโรค/วิจัยพัฒนา , การเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล ตลอดจนการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

แผนงานที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีวงเงินกู้ 555,000 ล้านบาท และต่อมาเมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ ได้รับการโอนงบประมาณจากแผนงานที่ 3 อีกจำนวน 45,000 ล้านบาท รวมเป็น 600,000 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนงาน/โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

  • สำรวจมาตรการเยียวยาโควิดฯ แจกแล้ว 6 แสนล้านบาท
  • แผนงานที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท และต่อมาเมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ได้โอนงบประมาณไปยังแผนงานที่ 2 จำนวน 45,000 ล้านบาท คงเหลือ 355,000 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนงาน/โครงการเพื่อการฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

    ปัจจุบันกรอบวงเงินกู้ถูกอนุมัติไปแล้วทั้งสิ้น 748,666.24 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74.9 ของวงเงินงบประมาณรวม และมีการเบิกจ่ายแล้วประมาณร้อยละ 54.05 ของงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564) โดยมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 256 โครงการ อย่างไรก็ตาม วงเงินอนุมัติดังกล่าวจะถูกกู้ และเบิกจ่ายเป็นงวดตามความจำเป็นในการใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีการเบิกจ่ายแล้ว 404,632.25 ล้านบาท

    สำหรับการดำเนินโครงการภายใต้แผนงาน/โครงการตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ดังกล่าว ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อมดังต่อไปนี้
    แผนงานที่ 1 ทำให้ระบบสาธารณสุขมีความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยได้สนับสนุนโครงการที่สำคัญ อาทิ การจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ การพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ การเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีน COVID-19 สำหรับประชาชนไทย รวมถึงการสนับสนุนค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อสม.

    แผนงานที่ 2 สนับสนุนเงินช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบกว่า 31 ล้านคน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 15.3 ล้านคน เกษตรกร 7.56 ล้านคน และกลุ่มเปราะบาง 7.7 ล้านคน นอกจากนี้ได้สนับสนุนโครงการเพิ่มกำลังซื้อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพ พร้อมไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

    แผนงานที่ 3 ทำให้เกิดการสร้างตำแหน่งงานรองรับการว่างงานมากถึง 416,581 ตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นการจ้างงานในท้องถิ่น 156,581 ตำแหน่ง และนักศึกษาจบใหม่ 260,000 ตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจ้างงาน มีการจ้างงานในท้องถิ่นเกิดขึ้นแล้ว 131,961 ตำแหน่ง และโครงการจ้างนักศึกษาจบใหม่มีการจ้างงานแล้ว 11,962 ตำแหน่ง

    นอกจากประโยชน์ทางตรงจาก 3 แผนงานหลักดังกล่าวแล้ว การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคฯ ยังสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัล (Digital Society) เร็วขึ้น จากการที่ภาครัฐได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือ/เยียวยา ผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตังและถุงเงิน ซึ่งทำให้คนไทยเริ่มมีความคุ้นชินกับการใช้จ่ายเงินผ่านกระเป๋าตังอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) มากขึ้น

    นอกจากนี้ การลงทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ในโครงการต่าง ๆ ทำให้เกิดเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่ได้จากหลายหน่วยงานมาร่วมตรวจสอบสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงาน

    จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ทราบถึงบทเรียน อันจะนำไปสู่แนวทางการปรับปรุงระบบและการเตรียมความพร้อมให้สามารถรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ

    1) การมีความพร้อมในการรองรับโรคอุบัติใหม่ ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยมีแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมป้องกัน/แก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ทั้งในด้านการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ และบุคลากร อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับโรคให้กับบุคลากรในพื้นที่ การประสานงานและบูรณาการของหน่วยงาน ตลอดจนการพัฒนาฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังโรคด้วยระบบดิจิทัล

    2) การมีหลักประกันด้านรายได้ของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ จะสามารถบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตได้ ในช่วงการระบาด พบว่า แรงงานนอกระบบ ประมาณ 17.5 ล้านคน (ร้อยละ 46.2 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด) ไม่มีหลักประกันด้านรายได้มารองรับจากการขาดรายได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างความตระหนักในการออมให้กับประชาชน และความรู้ในการบริหารจัดการเงิน โดยการทบทวนรูปแบบการออมให้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการและความสามารถในการออม

    3) การมีฐานข้อมูลบุคคลด้านสวัสดิการสังคมที่สมบูรณ์ทำให้การช่วยเหลือประชาชนมีความรวดเร็วและตรงกลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านมาฐานข้อมูลบุคคลยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและมีการจัดเก็บอย่างกระจัดกระจาย ทำให้ยากต่อการนำข้อมูลมาเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ ดังนั้น การพัฒนาและจัดการระบบฐานข้อมูลบุคคลจึงเป็นเรื่องจำเป็น รวมถึงการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การกำหนดสิทธิในการเข้าถึง และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลระหว่างฐานข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลสวัสดิการและการได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เข้ากับฐานข้อมูลภาษี เพื่อใช้ในการจัดสรรความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วทันการณ์ ประหยัดงบประมาณ

    4) การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนได้ร่วมมือในการจัดการการระบาด อาทิ การจัดทำสื่อความรู้เผยแพร่ การพัฒนาแอปพลิเคชันติดตาม และเฝ้าระวังโรค เช่น หมอชนะ ไทยชนะ COVID-19 Tracker การปรับตัวของภาคเอกชนที่อนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน การตรวจคัดกรองโรคก่อนเข้าสถานที่ รวมถึงการสนับสนุนสถานที่ในการกักตัว อย่างไรก็ตาม
    การบูรณาการความร่วมมือและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต และ

    5) การสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอและโปร่งใส ที่เน้นให้ประชาชนเข้าใจง่ายที่สุด โดยให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นและควรจะต้องรับมือหรือปฏิบัติตนอย่างไรในสถานการณ์วิกฤต เพื่อลดความตื่นตระหนกจากข้อมูลหรือข่าวสารที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ตลอดจนช่วยสร้างความตื่นรู้และความร่วมมือของประชาชน