ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์กางหนี้ครัวเรือนพุ่ง 86.6% ต่อจีดีพี ว่างงานเพิ่ม 1.69%

สภาพัฒน์กางหนี้ครัวเรือนพุ่ง 86.6% ต่อจีดีพี ว่างงานเพิ่ม 1.69%

23 กุมภาพันธ์ 2021


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

สภาพัฒน์ ฯเผยพิษโควิด ฯดัน “หนี้ครัวเรือน” เพิ่มต่อเนื่อง Q3/63 ขยับแตะ 86.6% ต่อจีดีพี-จ้างงานปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราว่างงานเฉลี่ยทั้งปีเพิ่ม 1.69% บริโภคสุรา-ยาสูบลดลง

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ว่า สถานการณ์การจ้างในไตรมาสที่ 4/2563 ปรับตัวดีขึ้น แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง และชั่วโมงการทำงานยังต่ำกว่าภาวะปกติ โดยในไตรมาสนี้มีการจ้างงานทั้งสิ้น 39.1 ล้านคน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการจ้างงาน 38 ล้านคน หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 สอดคล้องกับตัวเลขการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.86 ลดลงจากร้อยละ 1.95 และร้อยละ 1.90 ในไตรมาสสองและไตรมาสสามตามลำดับ เช่นเดียวกับกับผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่มีจำนวนลดลงมาก จาก 171,987 คนในเดือนพฤษภาคม 2563 ลดเหลือ 64,760 คนในเดือนธันวาคม 2563 สะท้อนให้เห็นถึงการจ้างงานในระบบที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ชั่วโมงการทำงานยังต่ำกว่าภาวะปกติ โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนเท่ากับ 45.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีชั่วโมงทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 46.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ตลอดปี 2563 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่ม และชั่วโมงการทำงานลดลง โดยกำลังแรงงานในปี 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 38.5 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 1.0 การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 0.2 จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 0.3 ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 0.1 สำหรับอัตราการว่างงานปี 2563 อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 1.69 เพิ่มจากปี 2562 ที่ร้อยละ 0.98 และชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลง โดยชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดลงร้อยละ 5.7 ขณะที่แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวนลดลงร้อยละ 17.1 ซึ่งส่วนหนึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนช่วงครึ่งปี 2563 พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ 23,615 บาท ปรับตัวลดลงจากปี 2562 ที่มีรายได้ 26,371 บาท หรือมีรายได้ลดลงร้อยละ 10.45 ขณะที่หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 86.6 เพิ่มสูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้นโดยไตรมาสสามปี 2563 ยอดคงค้างหนี้ NPLs เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 144,329 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.91 ของสินเชื่อรวม ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 3.12 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อชะลอการด้อยคุณภาพของสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อดีขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากในไตรมาส 3 ของปี 2563 สัดส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (Special Mention Loans: SM) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 6.7 ต่อสินเชื่อรวม หรือคิดเป็น 2 เท่าของสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวม ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่สินเชื่อดังกล่าวจะกลายเป็น NPLs หากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้หรือความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

ส่วนสถานการณ์ด้านอื่น ๆที่น่าสนใจ เช่น การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลงร้อยละ 51.9 เป็นการลดลงในเกือบทุกโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ลดลงร้อยละ 88.1 ผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 69.3 และผู้ป่วยโรคปอดอักเสบลดลงร้อยละ 20.9 แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กเล็ก เนื่องจากมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว รวมทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 และผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ขณะที่ภาพรวมปี 2563 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลงร้อยละ 50.0 ส่วนหนึ่งเนื่องจากประชาชนตระหนักถึงการป้องกันตนเอง ส่งผลให้การเป็นโรคตามฤดูกาลลดลง

สำหรับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงร้อยละ 3.2 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 4.7 และการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.5 ขณะที่ภาพรวมปี 2563 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงร้อยละ 3.6 เนื่องมาจากมาตรการภาครัฐในการปิดสถานบันเทิงและการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และประชาชนตระหนักถึงโทษของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโอกาสติดเชื้อ COVID-19 ได้ง่ายและอาการรุนแรงกว่าบุคคลทั่วไป
ขณะที่คดีอาญารวมลดลงร้อยละ 23.7 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2562 โดยคดียาเสพติดลดลงร้อยละ 26.4 คดีชีวิตร่างกายและเพศลดลงร้อยละ 7.8 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 7.5 ขณะที่ภาพรวมปี 2563 คดีอาญารวมลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 14.6 โดยคดียาเสพติดลดลงร้อยละ 15.6 คดีชีวิตร่างกายและเพศลดลงร้อยละ 12.3 คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลงร้อยละ 7.5

สถานการณ์ช่วงต้นปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม มาตรการล็อกดาวน์ ทำให้การก่ออาชญากรรมทั่วไปในช่วงดังกล่าวลดลง แต่เกิดอาชญากรรมอิเล็คทรอนิกส์เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 96.5

ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 รูปแบบการก่ออาชญากรรมด้านอื่นเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสามปี 2563 โดยมีคดีชิงทรัพย์ วิ่งราว ลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 รถจักรยานยนต์ถูกโจรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.3 จึงต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวังคุมเข้มการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ การแพร่ระบาดของสารเสพติดรูปแบบใหม่ รวมทั้งการลักลอบข้ามชายแดนเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย การลักลอบเล่นการพนัน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19

ส่วนอุบัติเหตุเหตุจราจรทางบกในไตรมาสที่ 4/2563 ลดลงร้อยละ 10.7 ผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 14.1 และผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 7.2 สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากตัวบุคคลสูงสุดคือ ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ 36.1 รองลงมาได้แก่ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 35.7 ภาพรวมปี 2563 การเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ลดลงร้อยละ 8.7 17.7 และ 9.9 ตามลำดับ

จากนั้นนายดนุชาได้มอบหมายให้นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ ฯ นำเสนอบทความเรื่อง “พ.ร.ก.เงินกู้ให้อะไรกับประชาชน”

  • อัพเดท! เงินกู้ 1 ล้านล้าน เบิกจ่าย 4 แสนล้าน – แจกเยียวยาแล้ว 31 ล้านคน