ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์ฯหั่นจีดีพีปี’64 เหลือ 1.5-2.5% เฉพาะ Q1 หดตัว 2.6%

สภาพัฒน์ฯหั่นจีดีพีปี’64 เหลือ 1.5-2.5% เฉพาะ Q1 หดตัว 2.6%

17 พฤษภาคม 2021


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

สภาพัฒน์ ฯหั่นจีดีพีปี 2564 เหลือ 1.5-2.5% จากเป้าหมายเดิมคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.5-3.5% เฉพาะไตรมาสแรกของปีนี้หดตัว 2.6%

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 1/2564 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 ว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2564 สภาพัฒน์ ฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ 6.1 ในปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก 2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และ 3) การปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 2563 ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ.จะขยายตัวร้อยละ 10.3 ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 1.6 และร้อยละ 4.3 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 2.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.7 ของ GDP

รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้

1.การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค 1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.0 ในปี 2563 แต่เป็นการปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศที่มีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังพฤติกรรมการใช้จ่ายที่มี
ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดในบางพื้นที่ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายนที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 40.3 ต่ำสุด เป็นประวัติการณ์ และ 2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.1 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน และเร่งขึ้นจากร้อยละ 0.8 ในปี 2563 สอดคล้องกับสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ร้อยละ 98.0 ของวงเงินงบประมาณ และการเบิกจ่ายสะสมภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 จากร้อยละ 80 ของวงเงินกู้ เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน

2.การลงทุนรวม คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.8 ในปี 2563 และเป็นการปรับลดจากร้อยละ 5.7 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยคาดว่าการลงทุนภาครัฐ จะขยายตัวร้อยละ 9.3 ปรับลดจากร้อยละ 10.7 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จากร้อยละ 75 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นร้อยละ 70 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการเบิกจ่ายในครึ่งแรกของปีงบประมาณ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 8.4 ในปี 2563 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก

3.มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.6 ในปี 2563 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 5.8 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 7.3 สูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับเพิ่มสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออกสินค้าตามสมมติฐานราคาน้ำมันในตลาดโลก และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกบริการลดลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมาตามการปรับลดสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในปี 2564 จาก 3.2 ล้านคนเป็น 5 แสนคน เมื่อรวมกับการปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกสินค้า ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการรวมขยายตัวร้อยละ 1.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.2 ในการประมาณการครั้งก่อนและการลดลงร้อยละ 19.4 ในปี 2563

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2564 ควรให้ความสำคัญกับ 1) การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศ เพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและอยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว และการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกใหม่ โดยมุ่งเน้น (i)การบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคและป้องกันการระบาดของภาครัฐอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการยกระดับกระบวนการเฝ้าระวังสอบสวนโรคเชิงรุก โดยเฉพาะการเร่งรัดการตรวจเชิงรุกในเขตพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงในกรุงเทพฯ หรือ เขตเมืองต่าง ๆ ที่ยังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรง รวมทั้งการดูแลและควบคุมกิจกรรมและกิจการบางประเภทที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของการระบาดของโรคอย่างเข้มงวด และการป้องกันการนำเข้าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เพิ่มเติมโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้ที่เดินทางข้ามชายแดน (ii) การเร่งรัดจัดหาและกระจายวัคซีนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมทั่วถึงและเพียงพอเพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยการจัดลำดับความสำคัญตามหลักการสาธารณสุขในการกระจายให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เศรษฐกิจทั้งในภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตที่สำคัญ รวมทั้งมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป (iii) การพัฒนาศักยภาพของระบบสาธารณสุขให้เพียงพอต่อการรองรับการแพร่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และ (iv) การเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนให้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการเข้ารับวัคซีน รวมถึงการรณรงค์เกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติและดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่และลดโอกาสการกลับมาติดเชื้อซ้ำภายหลังได้รับวัคซีนแล้ว

2) การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แรงงาน และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประกอบด้วย (i) การเร่งรัดติดตามมาตรการต่าง ๆ ทั้งด้านการเงินและการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนมาตรการเดิมให้ตอบสนองภาคเศรษฐกิจและพื้นที่เศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุด (ii) การพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานผ่านมาตรการรักษาระดับการจ้างงานให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการสร้างงานใหม่และมาตรการพัฒนาทักษะแรงงาน และ (iii) การพิจารณาดำเนินมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง

3) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า เพื่อสร้างรายได้จากต่างประเทศและสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับ (i) การขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ (ii) การเร่งรัดยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า (iii) การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญ ๆ ในลักษณะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์หรือพหุภาคี (iv) การเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ เช่น สหภาพยุโรป (EU) สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) และสหราชอาณาจักรภายหลัง Brexit รวมทั้งการให้ความสำคัญกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ ที่อาจถูกหยิบยกเป็นเครื่องมือสำหรับการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า และ (v) การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

4) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของการส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของประเทศ (ii) การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติ เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการลงทุนและดึงดูดการลงทุนเพิ่มเติมจากทั้งภาคเอกชนของไทยและต่างประเทศ อาทิ ข้อจำกัดและอุปสรรคในการทำงานและการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยสนับสนุนในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (iii) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น (iv) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) 10 จังหวัด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น (v) การให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และ (vi) การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ๆ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและภาคบริการที่สำคัญ ๆ เพื่อยกระดับศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว

5) การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่าย (i) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 92.5 แบ่งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำร้อยละ 98.0 และงบลงทุนร้อยละ 70.0 (ii) งบเหลื่อมปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85.0 (iii) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70.0 และ (iv) แผนงานและโครงการตามพระราชกำหนดฯ เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ให้มีการเบิกจ่ายสะสม ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80.0 ของวงเงินกู้

6) การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ทันทีที่มีการกระจายวัคซีนทั้งในและต่างประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยวครอบคลุมเป็นวงกว้างและเพียงพอต่อการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาจัดสรรและกระจายวัคซีนให้แก่พื้นที่แหล่งท่องเที่ยวนำร่องในจำนวนที่เพียงพอควบคู่ไปกับการพิจารณาเตรียมความพร้อมของพื้นที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในด้านระบบรองรับการเฝ้าระวังสอบสวนโรค การปรับปรุงที่พักและแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเตรียมระบบสนับสนุนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและการเดินทาง และการปรับปรุงการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และ

7) การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายดนุชา กล่าวต่อไปว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลงร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า (%YoY) และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2563 ร้อยละ 0.2 (QoQ_SA)

ด้านการใช้จ่าย มีแรงสนับสนุนสำคัญจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายรัฐบาล และการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกบริการลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลงร้อยละ 0.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนลดลงต่อเนื่องร้อยละ 10.8 ตามการลดลงของการใช้จ่ายหมวดเครื่องเรือน อุปกรณ์ครัวเรือนและการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และหมวดเสื้อผ้าและรองเท้าการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนลดลงร้อยละ 8.0 ตามการลดลงของการซื้อยานพาหนะร้อยละ 4.2 ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดบริการขยายตัวร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวในกลุ่มบริการสุขภาพ และกลุ่มการเช่าที่อยู่อาศัย การใช้น้ำประปา ไฟฟ้าและพลังงาน การใช้จ่ายกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มนันทนาการและวัฒนธรรมลดลงต่อเนื่อง

ส่วนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยการปรับตัวลดลงของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้สอดคล้องกับการลดลงของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.5 จากระดับ 44.3 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) ค่าซื้อสินค้าและบริการ และการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาด ขยายตัวร้อยละ 1.2 ร้อยละ 5.7 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 20.0 (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 32.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 28.2 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 7.3 ปรับตัวดีขึ้นมากจากการลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ร้อยละ 3.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า (การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.8 และการลงทุนในสิ่งก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.4) ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 19.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 28.4 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปี 2563 ส่วนการลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 9.3 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 13.3 (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 11.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 11.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า)

ด้านภาคการค้าต่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 64,004 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสร้อยละ 5.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณและราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ

กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 17.3) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 13.2) รถกระบะ (ร้อยละ 44.8) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 17.7) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 23.8) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 5.7) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 13.9) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 53.1) ยางพารา (ร้อยละ 38.1) และมันสำปะหลัง (ร้อยละ 72.5) เป็นต้น กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ลดลงร้อยละ 5.0) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 6.0) ข้าว (ลดลงร้อยละ 21.9) และน้ำตาล (ลดลงร้อยละ 47.6) การส่งออกสินค้าไปยังตลาดส่งออกหลักขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (9) และตะวันออกกลาง (15) ลดลงในอัตราที่ชะลอลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 11.8 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 1.9 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 56,615 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 9.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณและราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ

ด้านการผลิต สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและสาขาการก่อสร้างกลับมาขยายตัว ในขณะที่ภาคเกษตร สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร และสาขาการเงินขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาไฟฟ้าและก๊าซ และสาขาการขายส่งการขายปลีกและการซ่อมแซมฯ ลดลงต่อเนื่อง สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 1.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตหมวดพืชผลสำคัญ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 กลุ่มไม้ผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 และมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เป็นต้น ส่วนผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น อ้อยลดลงร้อยละ 9.7 และปาล์มน้ำมันลดลงร้อยละ 7.3 เป็นต้น และหมวดปศุสัตว์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 13 ร้อยละ 2.7 ในขณะที่หมวดประมงปรับตัวลดลงร้อยละ 13.2 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 9.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 11.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคายางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7 ราคากลุ่มไม้ผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 ราคาอ้อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 ราคาสุกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 และราคาปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการปรับตัวลดลง เช่น ข้าวเปลือกลดลงร้อยละ 7.2 และราคาไก่เนื้อลดลงร้อยละ 11.1 เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของทั้งดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ร้อยละ 10.8 สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาสร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศและอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ขยายตัวร้อยละ 1.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) กลับมาขยายตัวอย่างช้า ๆ เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาสร้อยละ 0.6 เทียบกับการลดลงต่อเนื่องร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า

ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 – 60 ลดลงร้อยละ 0.5 สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 67.09 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.77 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าร้อยละ 66.94 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (ร้อยละ 14.7) การผลิตเฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 29.3) และการผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น (ร้อยละ 10.9) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม (ลดลงร้อยละ 13.9) การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ยกเว้นร้านตัดเย็บเสื้อผ้า) (ลดลงร้อยละ 17.5) และการทอผ้า (ลดลงร้อยละ 17.2) เป็นต้น สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ลดลงร้อยละ 35.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 35.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงมากอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศร้อยละ 99.7 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 0.093 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 51.0 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 45.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวน 20,172 คน (รวมนักท่องเที่ยวกลุ่ม Thailand Privilege Card) อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 16.15 ลดลงจากร้อยละ 32.49 ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าร้อยละ 52.40 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ลดลงร้อยละ 17.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 21.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของบริการขนส่งซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยบริการขนส่งทางอากาศลดลงร้อยละ 61.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 68.1 ในไตรมาสก่อนหน้า บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงลดลงร้อยละ 11.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 12.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และบริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 3.2 ส่วนบริการสนับสนุนการขนส่งลดลงร้อยละ 18.7 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ 22.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และบริการไปรษณีย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 27.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับรายรับของผู้ประกอบการที่ขยายตัวต่อเนื่องในเกณฑ์สูง

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2.0 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (7.71 หมื่นล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 1.9 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 8,472,187.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 53.3 ของ GDP