ThaiPublica > คอลัมน์ > It’s Time to Think Beyond Crisis Mode!

It’s Time to Think Beyond Crisis Mode!

5 มกราคม 2021


ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีสัญญาณมากมายที่บ่งบอกว่า ภายใต้โลกที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รุนแรง และเฉียบพลัน ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยง (A nation at risk) โดยต้องเผชิญกับ

    1. ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง
    2. วิกฤติที่ซ้ำซาก
    3. ขีดความสามารถที่เสื่อมถอย

โดยเป็น “ความเสี่ยงเชิงระบบ” ที่นำมาซึ่งความไม่ปกติสุขในสังคมไทยอย่างที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อโลกเปลี่ยน ไทยต้องปรับ การเปลี่ยนแปลงอาจเป็นความจริงแท้เพียงสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ในโลกหลังโควิด

ประเด็นท้าทายพวกเราก็คือ

  • ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยน (Willing to Change) มากน้อยแค่ไหน?
  • ประเทศไทยมีความสามารถในการขับเคลื่อนให้เกิดการปรับเปลี่ยน (Ability to Change) มากน้อยเพียงใด?

ประเทศไทยซื้อเวลามานาน เรากำลังเผชิญกับสภาวะที่ไม่ปรับไม่รอด ไม่เปลี่ยนไม่ได้ หัวใจสำคัญของการปรับเปลี่ยนต้องเริ่มต้นจากการตระหนักว่า “No Pain, No Gain”

ต้องถือว่าโรคระบาดโควิด-19 อาจเป็นสิ่งนำโชคในสถานการณ์ที่เลวร้าย (Blessing in Disguise) ที่นอกจากจะก่อให้เกิดการปรับโครงสร้างโลก แบบ “ภาคบังคับ” ครั้งใหญ่แล้ว ยังก่อให้เกิดการปรับโครงสร้างประเทศไทย แบบ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” ด้วยเช่นกัน

เพื่อให้ก้าวพ้นจากภาวะเสี่ยงในโลกหลังโควิด ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมี “การปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ” ภายใต้แนวคิดหลัก 3 ประการ

    1) น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน(Sufficiency Economy Philosophy for Sustainable Development)
    2) มุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก (Strength from Within, Connect to the World)
    3) เดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Move Forward Together, Leave No One Behind)

อย่างไรก็ดี Willing to Change เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ Ability to Change ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง…

ในหนังสือ “Hard Truth to Keep Singapore Going” อดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยู แห่งสิงคโปร์ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการตระเตรียมผู้คนเพื่อมาบริหารประเทศ ท่านลีกวนยูมองว่า การมี Exceptional Talent ขับเคลื่อนประเทศนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด หากปราศจากคนที่มีความรู้ความสามารถที่มีคุณธรรมจริยธรรมขับเคลื่อนประเทศ ภาครัฐและสถาบันสำคัญๆ ประเทศก็จะค่อยๆเสื่อมถอยลง โดยกล่าวว่า…

“Once you have weaker people on top, the whole system slowly goes down. It’s inevitable.”

ลีกวนยูจึงยอมไม่ได้กับการที่ได้ “รัฐมนตรีกระจอก” บริหารประเทศ เพราะหากทำเช่นนั้นถือเป็นการทรยศหักหลังประเทศ

จอห์น เอฟ เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีอเมริกา เคยกล่าวไว้ว่า การเป็น “ผู้นำที่ดี” นั้น ต้องสามารถตอบคำถามตัวเองใน 4 ข้อดังนี้

    1. Am I a man of integrity?
    2. Am I am man of courage?
    3. Am I a man of judgement?
    4. Am I a man of dedication?

อาจถึงเวลาที่ผู้นำประเทศต้องใช้ความกล้าหาญทางการเมืองในการสร้าง “รัฐที่น่าเชื่อถือ” (Credible Government) เพื่อเป็นหลักประกันว่า “การปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ” จะเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ววัน

ขอเพียงแต่ให้พวกเรามีความเชื่อมั่นว่า ชาติไทยเป็นหนึ่งในชาติที่ยิ่งใหญ่ และมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่หนึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกหลังโควิด

ที่สำคัญ “ประเทศไทย” เปลี่ยนได้ด้วย “คนไทย” เท่านั้น

…เพราะไม่มีใครรัก “ประเทศไทย” เท่า “คนไทย”