ThaiPublica > คอลัมน์ > ขอพื้นที่ปลอดภัยในมหาวิทยาลัยคืนให้นักศึกษา

ขอพื้นที่ปลอดภัยในมหาวิทยาลัยคืนให้นักศึกษา

7 มีนาคม 2020


ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ Dr. Suvit Maesincee

เรียนท่านอาจารย์สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่รัก

ผมขอขอบพระคุณอาจารย์ที่เมตตาช่วยแชร์ บทความ เรื่อง The Great Awakening – การตื่นรู้ครั้งใหญ่และโจทย์ใหม่ของประเทศไทยไปเผยแพร่ในเพจส่วนตัวของอาจารย์นับว่าเป็นการส่งสัญญาณที่สร้างสรรค์ยิ่งของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไทย ที่จำนวนไม่น้อยยังคงความสามารถในการเป็นผู้ฟัง (active listener) ไว้ได้

แม้จะเข้าใจข้อจำกัดของการเมืองและการร่วมรัฐบาล หากสัญญาณนี้ได้ส่งไปถึงคณะรัฐมนตรี และนักการเมืองที่กุมอำนาจอยู่ในขณะนี้ สถานการณ์บ้านเมืองของเราคงลดทอนความร้อนแรงลงได้บ้าง

‘ไฟ’ อันเป็นพลังงานของวัยหนุ่มสาว ควรจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาและสร้างสรรค์อนาคตใหม่ๆ หาใช่เผาผลาญหักหาญอดีตเก่าๆ อันเป็นรากฐานของประเทศของเราทุกคน

การดำรงอยู่ของอดีต (PAST) และอนาคต (FUTURE) ร่วมกันในปัจจุบัน (PRESENT) คือโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันนำเสนอ เพื่อกำหนดทิศทางและสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ให้กับประเทศ ดังหนังสือหลายเล่มที่อาจารย์ได้เคยเขียนไว้

ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัย ผมหวังว่าอาจารย์จะได้ให้นโยบาย ต่อผู้บริหารสถานอุดมศึกษาทั่วประเทศว่า อย่าได้กีดกัน ขัดขวาง อันจะเป็นการยั่วยุการชุมนุมของนักศึกษาให้บานปลาย และขยายตัวสู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย

ในสถานการณ์เสี่ยงภัย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และโรคภัย มหาวิทยาลัยควรเป็นป้อมปราการทางปัญญา ที่จะปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย เสรีภาพ และการแสดงออกของนักศึกษา ดังเช่นมหาวิทยาลัยในโลกนี้ได้ดำเนินนโยบายต่อเนื่องกันมา ได้เวลาที่ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาไทย จะได้แสดงออกถึงคุณสมบัติสำคัญของสถาบันการศึกษา ทั้งความเปิดกว้าง (OPENNESS) รับฟังความเห็นต่างอย่างสันติ (TOLERANCE)ความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ (ELASTIC) อันเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้มหาวิทยาลัยและผู้บริหาร ไม่ถูกทิ้งไว้ให้กลายเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์

ที่มาภาพ : https://web.facebook.com/openbooks2/

การตื่นรู้ทางการเมืองและความคิดนี้ แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็มิใช่เรื่องง่าย และแน่นอนย่อมมิใช่เส้นทางสายตรงซึ่งตัดเข้าสู่ข้อเสนอที่นักศึกษาต้องการ หากแต่นี่คือห้องเรียนขนาดใหญ่ ที่นักศึกษาทั้งหลายจะต้องเรียนรู้ร่วมกันในสถานการณ์จริง ว่าจะผสานความร่วมมือกันเองภายใน และผสานความแตกต่างทางสังคมอย่างไร เพื่อให้เดินทางไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้

และนี่คือบทเรียนใหญ่ที่มหาวิทยาลัยและสังคม ควรมอบให้กับลูกหลานของเราเหล่านี้ได้

เราอาจจะคิดว่าบทเรียนของเราจบแล้ว เราได้ข้อสรุปแล้ว เรามีประสบการณ์และผ่านสถานการณ์เหล่านี้มาแล้ว และไม่อยากให้พวกเขาต้องมาเดินซ้ำรอยทางประวัติศาสตร์

หากแต่เป็นด้วยความกล้าหาญและสร้างสรรค์ ของพวกท่านในอดีตมิใช่หรือ ที่ทำให้ประเทศไทยมีอนาคตที่สดใสได้ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

หากวันนี้ เมื่อพวกเขาเล็งเห็นว่า อนาคตของเขามืดมนลงไป เขาก็มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกัน สร้างอนาคตใหม่ของพวกเขาขึ้นมาด้วยตัวเอง

จะผิด จะถูก จะพลาดพลั้ง เสียหาย ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหมด ล้วนต้องเคยผ่านมา เพื่อที่เราจะนำพาประเทศชาติมาถึงทุกวันนี้ได้

เมื่อไฟได้ถูกจุดติดขึ้น เราจึงควรเป็นผู้หยิบยื่นคบไฟให้พวกเขาชูขึ้นและเดินหน้าไป และพวกเราทั้งหมดร่วมเดินทางไปกับพวกเขาได้ เหมือนเช่นที่เราส่งเสริม สนับสนุน ประคับประคอง ส่งต่อมรดก ปัญญา ความรัก ความปรารถนาดี ให้กับลูกหลานของเราในชีวิตจริง

ผมเข้าใจว่าในชีวิตจริง อาจารย์คงต้องเผชิญหน้า กับแรงเสียดทาน ที่คงถาโถมเข้ามารอบด้านในช่วงนี้

แต่เราจะมีความกล้าหาญไว้เพื่ออะไร หากมิใช่เพื่อใช้มันในเวลาที่จำเป็นต้องใช้ และใช้มันเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

ด้วยความเคารพรักเสมอมา
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Openbooks วันที่ 6 มีนาคม 2563