ThaiPublica > เกาะกระแส > เวียดนาม ฐานการผลิตห่วงโซ่อุปทานโลก กลายเป็นผู้ชนะจากสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน

เวียดนาม ฐานการผลิตห่วงโซ่อุปทานโลก กลายเป็นผู้ชนะจากสงครามการค้าสหรัฐฯ – จีน

6 พฤศจิกายน 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ:
https://english.vov.vn/

นิตยสาร Nikkei Asian Review รายงานว่า จากการสำรวจความเห็นของธุรกิจในสหรัฐฯ และจีน เวียดนามกลายเป็นประเทศที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน จากการสำรวจของหอการค้าอเมริกันในจีนตอนใต้ นับจากเดือนกรกฎาคม ที่สหรัฐฯ เพิ่มภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนเป็นมูลค่า 250 พันล้านดอลลาร์ ส่วนจีนตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีสินค้าสหรัฐฯ เป็นเงิน 60 พันล้านดอลลาร์ ทำให้หลายบริษัทหาทางที่จะย้ายฐานการผลิต โรงงานประกอบ และห่วงโซ่อุปทาน ออกจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในบทความเรื่อง Vietnam Is Winning the US-China Trade War ของนิตยสาร Foreign Policy กล่าวว่า ตลอดเส้นทางจากฮานอยไปยังอ่าวฮาลอง ที่ใช้เวลาเดินทางสองชั่วโมงครึ่ง พื้นที่สองข้างทางกลายเป็นระเบียงอุตสาหกรรมของเวียดนาม ที่มีโรงงานผลิตสินค้า ตั้งแต่รถยนต์ฟอร์ดโฟกัส ไปจนถึงกล้องถ่ายรูปของ iPhone

ส่วนที่จังหวัดไทเหงียน (Thai Nguyen) ทางเหนือของฮานอย เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของซัมซุง โรงงานที่ไทเหงียนและโรงงานอีก 7 แห่งของซัมซุงในเวียดนาม ผลิตสมาร์ทโฟนแทบทั้งหมดของซัมซุง และมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม 1 ใน 4 มาจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ของซัมซุง

บรรดาซัพพลายเออร์ของแอปเปิลก็ลงมาเล่นเกมนี้เช่นกัน บริษัท LG ของเกาหลีใต้ ที่ผลิตกล้องถ่ายรูปและจอสัมผัสให้กับแอปเปิล ก็เปิดโรงงานในเมืองไฮฟอง เมืองท่าเรือน้ำลึก ที่ทำให้สินค้าเวียดนามสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้สะดวกและรวดเร็ว

โมเดลที่เติบโตเร็วสุด

เวียดนามกำลังกลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและเพิ่งเกิดใหม่ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วมาก ภายในระยะเวลา 15 ปี เวียดนามเปลี่ยนผ่านจากประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนที่สุดมาเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วอันดับสองของโลก แม้จะมีข้อจำกัดมากมาย เพราะเคยมีเศรษฐกิจระบบปิดแบบสังคมนิยม แต่ก็เกิดผู้ประกอบการและธุรกิจเอกชนที่มีบทบาทสำคัญมากในการลงทุน และทำให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว

การเติบโตของเวียดนาม เป็นโมเดลที่องค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และ IMF มองหามานานแล้ว คือบทบาทของภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนการเติบโตที่รวดเร็ว แต่เวียดนามสร้างความมหัศจรรย์มากกว่านั้น คือ เวียดนามไม่ได้เดินตามสูตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่ออกแบบโดยธนาคารโลก หรือ IMF ที่บอกว่า ประชาชนมีจิตใจเป็นผู้ประกอบการอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถทำธุรกิจได้เพราะสาเหตุบางประการ เช่น ข้อจำกัดจากกฎระเบียบรัฐ การขาดเงินทุน เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐาน แต่การพัฒนาของเวียดนามเกิดจากผู้ประกอบการและธุรกิจเอกชนมากมาย ทั้งๆ ที่ประเทศยังมีปัญหาข้อจำกัดต่างๆ พวกนี้อยู่

องค์กรการพัฒนาระหว่างประเทศให้ความสนใจมากกับการเติบโตที่รวดเร็วและศักยภาพของเวียดนาม นาย Klaus Rohland ที่เคยเป็นผู้อำนวยการ ธนาคารโลก ในเวียดนาม เคยกล่าวว่า ระยะเพียง 15 ปี ไม่มีประเทศไหนทำได้เหมือนเวียดนาม ที่เศรษฐกิจพัฒนามาได้ไกลและเร็วมาก ส่วนนาย Robert Zoellick อดีตประธานธนาคารโลก ก็เคยกล่าวว่า “เวียดนามมีศักยภาพที่จะเป็นหนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของการพัฒนา”

ที่มาภาพ: http://www.nationmultimedia.com/detail/breakingnews/30354182

การลงทุนของเกาหลีใต้

การลงทุนของเกาหลีใต้ในเวียดนาม ถือเป็นเรื่องราวความสำเร็จที่โดดเด่นอย่างหนึ่ง ข้อมูลของกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนามระบุว่า ช่วงปี 1988-2016 เกาหลีใต้เข้ามาลงทุนเป็นเงิน 50.7 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับการลงทุนของญี่ปุ่น 42 พันล้านดอลลาร์ การลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่นักลงทุนต่างประเทศจะประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น ประเทศขาดระบบข้อมูล ระบบราชการที่ซับซ้อน โครงการสร้างการเมืองที่เข้าใจยาก และปัญหาคอร์รัปชัน

รายงานของศึกษาของบริษัท Kroll เรื่อง The Rise of Korean Investment in Vietnam กล่าวว่า การลงทุนของเกาหลีใต้ในเวียดนาม ทำให้เกิดการจ้างงาน 7 แสนคน การเข้ามาลงทุนของเกาหลีใต้ในเวียดนามแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ช่วงแรกนับจากปี 1992 เกาหลีใต้เข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมใช้แรงงาน เช่น สิ่งทอเสื้อผ้า ช่วงที่ 2 นับจากต้นทศวรรษ 2000 เป็นการลงทุนด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และช่วงที่ 3 ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เป็นการลงทุนสินค้าบริโภคและธุรกิจบริการ

บริษัทเกาหลีใต้ที่โดดเด่นในการลงทุนคือ ซัมซุง นอกจากโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนตั้งอยู่ทางเวียดนามเหนือ ในปี 2015 ซัมซุงเริ่มสร้างโรงงานขนาดใหญ่ในนครโฮจิมินห์เพื่อผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยซัมซุงเริ่มย้ายสายพานการผลิตเดิมจากเกาหลีใต้และมาเลเซียมายังเวียดนาม นอกจากนี้ ยังกำลังดูลู่ทางการลงทุนด้านธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย

บริษัท LG Electronics ก็ลงทุนมากในเวียดนาม โดยมีโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนและโทรทัศน์อยู่ที่เมืองไฮฟอง การที่บริษัทยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้ เช่น ซัมซุง และ LG เข้ามาลงทุนในเวียดนาม ช่วยดึงบริษัทซัพพลายเออร์ให้ตามมาลงทุนในเวียดนามด้วย ในปี 2016 บริษัท Seoul Semiconductor ได้รับใบอนุญาตการลงทุนในการตั้งโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทางเวียดนามเหนือ

กลยุทธ์ไต่บันไดการพัฒนา

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนทำให้บริษัทชั้นนำของโลกหาทางหลีกเลี่ยงปัญหาภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นโดยย้ายการผลิตมายังเวียดนาม ทำให้การผลิตของเวียดนามยกระดับสูงขึ้น จากเดิมที่ผลิตสินใช้แรงงานมากและราคาถูก เช่น สิ่งทอ มาเป็นสินค้าเทคโนโลยีมากขึ้น

บทความของ Foreign Policy กล่าวว่า การผลิตในเวียดนามมีความได้เปรียบกว่าจีน คนงานจีนในโรงงานผลิต iPhone ที่เสิ่นเจิ้นได้รับค่าแรงขั้นต่ำเดือนละ 2,200 หยวน (315 ดอลลาร์) ในเวียดนาม รัฐบาลกำหนดค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดที่เดือนละ 3.98 ล้านดอง หรือ 170 ดอลลาร์ ส่วนที่จังหวัดไทเหงียน ที่ตั้งของโรงงานซัมซุง ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่เดือนละ 3 ล้านดอง (130 ดอลลาร์)

เวียดนามยังเป็นประเทศที่ทำข้อตกลงการค้าเสรีจำนวนมาก เวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้เมื่อปี 2015 โดยเกาหลีใต้ลดภาษีนำเข้าจากเวียดนาม 95% ส่วนเวียดนามลดภาษีนำเข้า 89% ให้กับสินค้าเกาหลี เวียดนามลงนามในความตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกมา เมื่อเดือนกรกฎาคมนี้ เวียดนามสามารถบรรลุข้อตกลงสุดท้ายเรื่องการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศพัฒนาแล้วทำให้เศรษฐกิจเวียดนามต้องเปิดเสรีมากกว่าจีน

เวียดนามอาจอาศัยการค้าเสรีเป็นกลยุทธ์การยกระดับการผลิตให้มีมูลค่าสูงขึ้น รายงานของธนาคารโลกชื่อ Vietnam at a Crossroads (2017) กล่าวว่า เวียดนามเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างที่เผชิญปัญหาท้าทายเหมือนประเทศรายได้ปานกลางอื่นๆ คือ การยกระดับการผลิตให้มีมูลค่าสูงขึ้นในห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลก

การยกระดับมูลค่าการผลิตจะประกอบด้วยลักษณะสำคัญ 3 ด้าน คือ การยกระดับของงานหลายด้านในการผลิต การยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการยกระดับมูลค่าตัวผลิตภัณฑ์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ได้มูลค่าเพิ่มมากขึ้นตามห่วงโซ่อุปทานการผลิต

ธนาคารโลกกล่าวว่า ปัจจุบัน เวียดนามสามารถแข่งขันได้สูงในอุตสาหกรรมที่อาศัยทักษะต่ำและใช้แรงงานมาก แต่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากับดักรายได้ปานกลาง รัฐบาลเวียดนามเลือกวิธีการที่จะบูรณาการลึกมากขึ้นกับเศรษฐกิจโลก โดยการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่ม EU สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้เวียดนามเปลี่ยนจากเศรษฐกิจระบบปิดช่วงทศวรรษ 1990 มาเป็นเศรษฐกิจที่เปิดกว้างมากสุดประเทศหนึ่ง

ที่มาภาพ : under35.me

ประสานเสียงกับทรัมป์

การเคลื่อนย้ายการผลิตสินค้าเทคโนโลยีมาเวียดนามมากขึ้น ทำให้วงการธุรกิจเกิดความวิตกว่าเวียดนามอาจเป็นเป้าหมายการค้ารายต่อไปของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่เวียดนามก็หันมาประสานเสียงกับการเรียกร้องของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยซื้อจากสินค้าสหรัฐฯ มากขึ้น เมื่อนายกรัฐมนตรี เหงียน ซวน ฟุค (Nguyen Xuan Phuc) ไปเยือนสหรัฐฯ ในปี 2017 ก็แถลงเรื่องสัญญาธุรกิจมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์ ที่บริษัทเวียดนามจะซื้อจากสหรัฐฯ ทำให้ทรัมป์กล่าวยกย่องเวียดนาม และเมื่อทรัมป์ไปเยือนเวียดนามในปี 2017 ยังบอกผู้นำเวียดนามว่า สหรัฐฯ ผลิตอุปกรณ์ที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ชนิดไหน

อุตสาหกรรมการบินของเวียดนาม เริ่มทำตามที่ทรัมป์ได้แนะนำไว้ เมื่อบริษัท FLG Group ที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่มีแผนจะตั้งสายการบินชื่อ Bamboo Airways ประกาศสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 787 จำนวน 20 ลำ มูลค่า 5.6 พันล้านดอลลาร์ ส่วนสายการบินเอกชนรายใหญ่สุด VietJet ก็สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737 จำนวน 100 ลำ มูลค่า 12.7 พันล้านดอลลาร์ ดังนั้น แม้ว่าการที่เวียดนามได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ คงจะไม่หายไป แต่เวียดนามก็ตอบสนองอย่างดีกับข้อแนะนำของทรัมป์

บทความของ Foreign Policy กล่าวว่า ในอนาคตข้างหน้า เมื่อจีนยังเป็นคู่แข่งของประเทศตะวันตก การใช้นโยบายความสัมพันธ์เป็นมิตรกับชาติตะวันตกทำให้เวียดนามได้ประโยชน์ทางการเมือง การพยายามไต่บันไดห่วงโซ่อุปทานการผลิตของโลก การปฏิรูปเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการค้าเสรี ทำให้เวียดนามไม่เพียงแค่เป็นแหล่งผลิตที่ต้นทุนต่ำเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นทางเลือกการลงทุนแทนจีนอีกด้วย

เอกสารประกอบ
Vietnam Is Winning the US-China Trade War, Bennett Murray, December 30, 2018, Foreign Policy.
Vietnam at a Crossroads, World bank Group, 2017.
The Rise of Korean Investment in Vietnam, 2017, kroll.com