ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup กัมพูชาเตรียมบังคับใช้กฎหมายลงทุนใหม่เมษายนนี้

ASEAN Roundup กัมพูชาเตรียมบังคับใช้กฎหมายลงทุนใหม่เมษายนนี้

31 มกราคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 24-31 มกราคม 2564

  • กัมพูชาเตรียมบังคับใช้กฎหมายลงทุนใหม่เมษายนนี้
  • เมียนมาอนุมัติการลงทุนในพลังงาน
  • รัฐมอญเชิญนักธุรกิจลงทุนในธุรกิจประมง
  • ลาวขายคาร์บอนเครดิตเตรียมรับรายได้ภายในปีหน้า
  • ลาวเปิดตัวโรงงานผลิตระเบิดแห่งแรกในประเทศ
  • สิงคโปร์ระงับ Green Lane Travel กับ 3 ประเทศ
  • กัมพูชาเตรียมบังคับใช้กฎหมายลงทุนใหม่เมษายนนี้

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/investment-law-may-be-effect-soon-april
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง นายพัน พัลลา เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 มกราคมว่า กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของกัมพูชาจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2564

    นายพันกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะทำให้กัมพูชามีความน่าสนใจมากขึ้นและดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งนี้ร่างกฎหมายลงทุนได้จัดทำเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากหลายสถาบันที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง

    ร่างกฎหมายฉบับใหม่มี 11 บทและ 39 มาตรา ที่ปรับปรุงให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางสังคมมากขึ้น และลดข้อกังวลบางประเด็นที่นักลงทุนได้หยิบยกขึ้น

    “เราได้สรุปกฎหมายใหม่แล้วและมีแนวโน้มที่จะหารือกับคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจและการเงินในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้นเราจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีแล้วเสนอต่อรัฐสภา”

    “หากทุกอย่างเป็นไปด้วยดีและราบรื่น กฎหมายใหม่อาจถูกส่งไปยังรัฐสภาและวุฒิสภาในเดือนเมษายนและได้รับการอนุมัติภายในเดือนเดียวกัน”

    กฎหมายจะครอบคลุมการยกเว้นภาษีพิเศษสำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้ในโครงการ “ ในกฎหมายใหม่เราได้ระบุไว้ว่า บริษัทต่างๆไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีสำหรับการนำเข้าเพื่อการผลิต”

    “เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมาย บรรยากาศการลงทุนของเราก็จะดีขึ้น และในขณะเดียวกันก็ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปทำให้กัมพูชาน่าสนใจยิ่งขึ้น” เขากล่าว

    กฎหมายการลงทุนฉบับปัจจุบันซึ่งมี 9 บทและ 26 มาตราได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1994 และมีการลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น และมีการทบทวนในปี 2003แต่ยังคงไม่การปรับเปลี่ยน

    นายลิม เฮง รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวว่า กฎหมายลงทุนใหม่มีความยืดหยุ่นและสะดวกกว่าฉบับที่ใช้อยู่ “ในนามของภาคเอกชนเราต้องการให้กฎหมายนี้ออกมาใช้โดยเร็วเพราะตรงไปตรงมา มีขั้นตอนที่ซับซ้อนน้อยลง และเพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจสำหรับนักลงทุนในและต่างประเทศ

    นอกจากนี้ กฎหมายฉบับใหม่ยังสอดคล้องกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีในปัจจุบันและนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ของรัฐบาลโดยเน้นดึงนักลงทุนรายใหม่เข้ามา

    เมียนมาอนุมัติการลงทุนในพลังงาน

    ที่มาภาพ:
    https://newsviews.thuraswiss.com/power-production-hits-5600-megawatts/
    ที่ประชุม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(Myanmar Investment Commission:MIC)วันที่ 27 มกราคม ได้อนุมัติ 14 โครงการลงทุนรวมมูลค่า 295.3 ล้านดอลลาร์ และคำขอเพิ่มทุนใน 4 โครงการที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วรวม 153.7 พันล้านจ๊าด โดยเป็นธุรกิจในภาคพลังงาน ประมง อสังหาริมทรัพย์และบริการ ที่คาดว่าจะสร้างงาน 4,371 ตำแหน่ง

    โครงการพลังงานที่ได้รับอนุมัติ รวมถึง 4 โครงการผลิตไฟฟ้าขนาด 40 เมกะวัตต์ใน มัณฑะเลย์ สะกาย และมะเกว

    สิงคโปร์ จีน และไทย เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในจำนวน 51 ประเทศ โดยการลงทุนส่วนใหญ่กระจุกใน 12 ธุรกิจ ที่ภาคการผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วน 26% การผลิตน้ำมันและก๊าซสัดส่วน 26% และภาคการผลิตอีก 14.6%

    MIC เร่งส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับแผนเยียวยาผลกระทบโควิด-19 และแผนการฟื้นฟูและปฏิรูป และการอนุมัติโครงการผลิตไฟฟ้าจะช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการมีไฟฟ้าใช้ 100% ทั่วประเทศ ปัจจุบันปริมาณกระแสไฟฟ้าจากโครงข่ายทั่วประเทศครอบคลุม 58%ของประเทศและคาดว่าจะรรลุเป้าหมาย 100% ภายในปี 2030 ที่ตั้งไว้

    การอนุมัติโครงการไฟฟ้ายังสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของประเทศในการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย โดยนางออง ซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ประกาศว่าเมียนมาจะนำเสนอแแผนลดการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจก(Nationally Determined Contributions:NDCs)ของประเทศตามข้อตกลงปารีสภายในสิ้นปีนี้ โดยตั้งเป้าลดการปล่ิยก๊าซคาร์บอนลง 243 ล้านตันคาร์บอน และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 39% ของการใช้พลังงานโดยรวม

    รัฐมอญเชิญนักธุรกิจลงทุนในธุรกิจประมง

    ที่มาภาพ:
    https://www.mmtimes.com/news/mon-fisheries-sector-calls-govt-assistance-after-imports-collapse.html
    รัฐมอญเชิญชวนให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาใช้ประโยชน์จากข้อดีด้านที่ตั้งและภูมิศาสตร์ด้วยการลงทุนในภาคประมง

    อู มินท์ โซ ประธานสมาพันธ์ประมงรัฐมอญ กล่าวว่า นักลงทุนที่สนใจสามารถลงทุนได้ในธุรกิจการประมงแปรรูปและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ

    “เราขอเชิญชวนนักลงทุนที่เข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัยให้เข้ามาลงทุน เพราะเรามีที่ดิน ทะเลสาปและแรงงานให้” อู ขิ่น หม่อง ยี รองประธานประธานสมาพันธ์ประมงรัฐมอญ กล่าว

    รัฐมอญอยู่ติดกับทะเลอันดามันและอ่าวเมาะตะมะในทางตะวันตกของประเทศ โดยมีชายฝั่งทะเลที่มีความยาวถึง 140 ไมล์ ทำให้ธุรกิจประมงเป็นกลไกหลังของเศรษฐกิจของรัฐ แต่ละปีจับกุ้งและปลาได้กว่า 100,000 ตัน และแต่ละปีส่งออกไปจีน สิงคโปร์ และมาเลเซียมากถึง 120,000 ตัน ตลอดจนผลิตภัณฑ์จากทะเลส่งออกไปจีนแต่ปีมากถึง 80%

    การขนส่งสามารถทำได้ทั้งทางทะเลและทางบกซึ่งเป็นทางเลือกที่จะขนส่งไปยังจีน ไทย และอินเดีย

    มูลค่าการส่งออกปลาของเมียนมาสูงถึง 732.2 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2018-2019 และเพิ่มขึ้นเป็น 858.9 ล้านดอลลาร์ในปี 2019-2020 แต่คาดว่าจะลดลงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจประมงซบเซาลง รัฐมอญจึงออกมาเชิญชวนนักลงทุน

    ลาวขายคาร์บอนเครดิตเตรียมรับรายได้ภายในปีหน้า

    ที่มาภาพ:
    https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2021/01/30/laos-expects-to-earn-income-from-sale-of-carbon-credit-in-2022

    วันที่ 28 มกราคม นายคำเสน อุคำ รองอธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้เซ็นสัญญาข้อตกลงกับธนาคารโลกในการ ขายคาร์บอนเครดิตจากพื้นที่ป่าไม้ใน 6 แขวงทางภาคเหนือของลาว ได้แก่ หัวพัน หลวงพระบาง อุดมไซ หลวงน้ำทา บ่อแก้ว และไชยบุรี

    “เราคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการขายคาร์บอนเครดิตในปี 2022” นายคำเสน กล่าวกับสำนักข่าวเวียงจันทร์ไทมส์ โดยจำนวนเงินที่จะได้แน่ชัดนั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะผลิตได้จาก 6 แขวงในปี 2022 เ

    “หากเราไม่สามารถปกป้องพื้นที่ป่าไม้เอาไว้ได้ เราก็จะสูญเสียคาร์บอนเครดิตและเสียผลประโยชน์จากส่วนนี้”

    ธนาคารโลกระบุว่า ได้จัดสรรเงินทุน 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ (Forest Carbon Partnership Facility: FCPF) ในการจัดซื้อคาร์บอนเครดิตจากลาว ในปี 2020-25 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก

    เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ให้ข้อมูลว่า ลาวมุ่งมั่นที่จะปกป้องพื้นที่ป่าไม้ของประเทศเอาไว้ เพื่อหวังที่จะสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต แม้ว่า รัฐบาลจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า อันเนื่องมาจากปัญหาความยากจนในชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบๆ ที่ทำให้ทางการไม่สามารถเข้าไปบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทำลายป่าได้

    ทั้งนี้ ควรมีการเสริมสร้างประสิทธิภาพของการทำงานปกป้องพื้นที่ป่า เพื่อให้ครอบคลุมบริเวณป่าไม้ที่มีขนาดใหญ่ถึง 35% ของประเทศ

    รัฐบาลจะใช้เงินที่ได้จากการขายคาร์บอนเครดิตและจากการจัดหาเงินทุนของหุ้นส่วนด้านการพัฒนาในการปกกป้องผืนป่า และเพื่อขจัดความยากจนในพื้นที่บริเวณดังกล่าว นายคำเสน กล่าวว่า “การขจัดความยากจนจะทำให้เกิดอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนแก่ชุมชน และทำให้ผู้คนในชุมชนไม่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อนำไม้มาขายให้แก่เหล่านายทุน”

    ลาวเปิดตัวโรงงานผลิตระเบิดแห่งแรกในประเทศ

    ลาวเปิดตัวโรงงานผลิตวัตถุระเบิดแห่งแรกในประเทศอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มทำการผลิตได้เร็วๆ นี้

    พลจัตวา ทองพัน สุทำมะวง รองอธิบดีกรมเทคนิคทั่วไป กระทรวงป้องกันประเทศ เปิดเผยว่า โรงงานผลิตวัตถุระเบิดแห่งนี้ เป็นความร่วมทุนระหว่างประเทศลาวและจีน ดำเนินการโดยบริษัทคำไซ-จิง ซิน(Khamxay-Jing Xin) โดยมีรัฐบาลลาวถือหุ้นจำนวน 25%

    โรงงานผลิตวัตถุระเบิดเริ่มการก่อสร้างในเดือนธันวาคม ปี 2017 ในแขวงบอลิคำไซ ด้วยมูลค่ากว่า 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพลจัตวา ทองพัน กล่าวเสริมว่า โรงงานแห่งนี้จะช่วยสนับสนุนพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งเพิ่มอัตราการจ้างงานได้อีกด้วย

    ทั้งนี้ ในพิธีเปิดจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มีนายพลจันสะหมอน จันยาลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการป้องกันประเทศและผู้จัดการบริษัท Khamxay-Jing Xin เข้าร่วมด้วย

    สิงคโปร์ระงับ Green Lane Travel กับ 3 ประเทศ

    ที่มาภาพ:
    https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/singapore-green-lane-covid-19-malaysia-germany-korea-14074208
    สิงคโปร์ระงับ การเดินทางแบบ Green Lane(Reciprocal Green Lane:RGL)ที่ทำกับมาเลเซีย เยอรมนี และเกาหลีใต้เป็นเวลา 3 เดือนเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้

    ในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อเช้าวันที่ 30 มกราคม กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า “รัฐบาลสิงคโปร์ทบทวนมาตรการชายแดนเป็นประจำเพื่อจัดการความเสี่ยงจากการติดเชื้อในประเทศและการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากนักท่องเที่ยว

    “จากการระบาดระลอกใหม่ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก รัฐบาลสิงคโปร์จะระงับข้อตกลง Green Lane ที่ทำไว้กับเยอรมนี มาเลเซียและสาธารณรัฐเกาหลีเป็นระยะเวลา 3 เดือนโดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 0001 น.

    “รัฐบาลสิงคโปร์จะทบทวนข้อตกลงเดินทางแบบ RGL เมื่อการระงับการเดินทางสิ้นสุดลง นักท่องเที่ยวที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าสิงคโปร์ภายใต้RGL จะสามารถเดินทางได้” แถลงการณ์ระบุ

    กระทรวงต่างประเทศระบุอีกว่า รัฐบาลสิงคโปร์จะติดตามสถานการณ์โลก และปรับมาตรการชายแดนเพื่อจัดการความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการเดินทางและแพร่กระจายไปในประเทศ
    “การเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับมาตรการชายแดนจะได้มีการอัปเดตผ่านเว็บไซต์ SafeTravel และขอแนะนำให้นักท่องเที่ยวเข้าไปที่เว็บไซต์เพื่อตรวจสอบมาตรการชายแดนที่อัปเดตที่สุด” แถลงการณ์ระบุ

    สิงคโปร์ยังคงมีโครงการ RGL ที่ยังใช้อยู่กับ กับบรูไน และบางเมืองในจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น ฉงชิ่ง กวางตุ้ง เจียงซู เซี่ยงไฮ้ เทียนจินและเจ้อเจียง

    ก่อนหน้านี้สิงคโปร์ระงับข้อตกลง RGL กับอินโดนีเซียและญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม เมื่อทั้งสองประเทศประกาศห้ามการเข้าประเทศของชาวต่างชาติชั่วคราว โดยอินโดนีเซียห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าและญี่ปุ่นห้ามชาวต่างชาติที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในญี่ปุ่นเข้า และจากข้อตกลงระหว่างกันทำให้ ผู้เดินทางจากอินโดนีเซียและญี่ปุ่นจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ยื่นขอเดินทางเข้าสิงคโปร์ภายใต้ RGL

    ข้อตกลง RGL อนุญาตให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆที่อยู่ในข้อตกลง สามารถเดินทางระยะสั้นเพื่อธุรกิจที่สำคัญและเป็นทางการในสิงคโปร์ได้นาน 14 วัน

    นักท่องเที่ยวต้องรับการทดสอบโควิด-19 และมีผลเป็นลบก่อนเดินทาง และรับการทดสอบอีกครั้งเมื่อเดินทางมาถึง รวมทั้งต้องกักตัวจนกว่าผลการทดสอบจะออกมา และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดการควบคุมตลอดระยะเวลาที่เข้าพัก

    นอกเหนือจากข้อตกลง RGL แล้วยังมีแผนการเดินทางข้ามพรมแดนอีกแบบหนึ่งก็คือ Periodic Commuting Arrangement (PCA) ที่สิงคโปร์มีร่วมกับมาเลเซีย

    ภายใต้ PCA ผู้เดินทางที่ได้รับการอนุมัติจะต้องอยู่ในประเทศที่จ้างงานเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วันก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดจากการลางานระยะสั้น ซึ่งเปิดให้สำหรับชาวมาเลเซียที่เป็นผู้มีถิ่นพำนักถาวรในสิงคโปร์ ที่ทำงานในสิงคโปร์ รวมถึงพลเมืองและผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรของทั้งสองประเทศที่ถือใบตรวจคนเข้าเมืองระยะยาวของอีกประเทศหนึ่ง

    ผู้เดินทางภายใต้ PCA ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วันตามสถานที่ที่รัฐกำหนดในสิงคโปร์