ThaiPublica > สู่อาเซียน > Asean Roundup เวียดนามรื้อระบบวีซ่า เมียนมาใช้กฎหมายล้มละลายฉบับใหม่

Asean Roundup เวียดนามรื้อระบบวีซ่า เมียนมาใช้กฎหมายล้มละลายฉบับใหม่

8 มีนาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 1-7 มีนาคม 2563

  • เวียดนามรื้อระบบวีซ่า
  • เมียนมาใช้กฎหมายล้มละลายฉบับใหม่
  • อินโดนีเซียขยายเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ
  • สิงคโปร์อนุญาตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเครื่องแรงวิ่งบนถนน
  • ลาวตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยของเขื่อน
  • เวียดนามรื้อระบบวีซ่า

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/travel/places/vietnam-attracts-record-tourist-numbers-in-2017-but-can-t-escape-bad-reputation-3692288.html

    รัฐบาลเวียดนามกำลังแก้ไขกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองครั้งใหญ่ เพื่อที่จะเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นควบคู่ไปกับการป้องกันประเทศจากอาชญากรข้ามชาติและแรงงานเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ฤดูร้อนปีนี้

    พ.ต.ต. เหงียน วัน มินห์ ผู้บริหารจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้วีซ่าใหม่นี้จะรวมถึงการให้วีซ่าชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยว การยกเว้นวีซ่า และการเปลี่ยนแปลงสถานะวีซ่า

    “ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ผู้ที่เดินทางเข้าเวียดนามจะได้รับการประทับตราผู้มีถิ่นฐานในประเทศชั่วคราวเมื่อเดินทางมาถึง โดยมีระยะเวลาสอดคล้องกับวีซ่าที่ได้รับ”

    การปรับปรุงข้อบังคับนี้จะทำให้ต่างชาติที่มีวีซ่า 12 เดือนมีภาระน้อยลง เพราะภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ต่างชาติต้องมายื่นขอขยายระยะะเวลาการพำนักในประเทศ แม้วีซ่ายังไม่หมดอายุ

    สำหรับผู้เดินทางเข้าด้วยวีซ่าท่องเที่ยวต้องเตรียมเอกสารมากขึ้น หากต้องการพำนักในเวียดนามเกินกว่า 30 วัน โดยนักท่องเที่ยวที่ถือวีซ่าท่องเที่ยวซึ่งมีอายุเกิน 30 วัน หรือถือวีซ่าอายุ 3 เดือน จะได้รับการประทับตราผู้มีถิ่นฐานในประเทศชั่วคราว 30 วัน แต่ยังสามารถขยายระยะเวลาอยู่ในเวียดนามได้ ด้วยการต้องไปยื่นขออยู่ต่อทุก 30 วันโดยมีค่าธรรมเนียม 10 ดอลลาร์ต่อครั้ง

    นักท่องเที่ยวสามารถขอขยายระยะเวลาอยู่ในเวียดนามแบบครั้งเดียวหรือหลายครั้งได้ แต่สูงสุดต้องไม่เกิน 90 วัน หลังจากนั้นต้องเดินทางออกนอกประเทศ และหากต้องการเดินทางกลับมาเวียดนามอีก ก็ต้องขอวีซ่าใหม่

    หลักเกณฑ์วีซ่าใหม่นี้มีเป้าหมายป้องกันอาชญากรข้ามชาติและแรงงานผิดกฎหมาย

    “มีต่างชาติที่ใช้ประโยชน์จากวีซ่านักท่องเที่ยว 3 เดือนเข้ามาดำเนินกิจกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายเวียดนาม เช่น อาชญากรรมทางเทคโนโลยีและลักลอบทำงานผิกกฎหมาย” เหงียน วัน มินห์ กล่าว

    นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวสามารถยื่นขอวีซ่าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แทนการยื่นเแบบฟอร์มกระดาษ เพราะง่ายกว่าและเร็วกว่าอีกด้วย

    ปัจจุบันวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามสามารถยื่นขอได้จาก 80 ประเทศทั่วโลก

    กฎหมายตรวจตราคนเข้าเมืองฉบับใหม่ยังแก้ไขประเด็นความกังวลต่อการยกเว้นวีซ่าให้กับ 13 ประเทศที่เวียดนามได้ทำข้อตกลงทวิภาคีไว้ โดยเฉพาะเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

    “กฎหมายได้ยกเลิกข้อกำหนดที่ว่า ประชาชนจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่าเข้าเวียดนามต้องรออย่างน้อย 30 วันจึงจะกลับเข้าประเทศได้อีก จากนี้ไปประชาชนจากประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่าจะเดินทางกลับเข้ามาเมื่อไรก็ได้”

    ประเด็นอีกด้านที่ได้รับการแก้ไขคือ ชาวต่างชาติที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมายจะได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนสถานะวีซ่าโดยไม่ต้องเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก

    “ต่างชาติเหล่านี้รวมถึงนักลงทุนต่างชาติ หรือตัวแทนขององค์กรต่างประเทศที่ลงทุนในเวียดนามและครอบครัว รวมทั้งแรงงานต่างชาติที่ได้รับข้อเสนอให้ทำงานในเวียดนาม หรือเข้าประเทศด้วย วีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ ตราบเท่าที่มีใบอนุญาตทำงาน และมีหนังสือยืนยันว่าได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน”

    เพื่อป้องกันการนำข้อบังคับเดิมที่มีอยู่ไปใช้อย่างผิดๆ กฎหมายใหม่ได้กำหนดว่า นักลงทุนชาติที่มีเงินทุนต่ำกว่า 3 พันล้านด่อง หรือ 130,000 ดอลลาร์ สามารถขอวีซ่าอายุ 1 ปีได้ นักลงทุนที่มีเงินทุน 100 พันล้านด่องขึ้นไปจะได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในเวียดนามชั่วคราว 10 ปี ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการรับรองได้รับวีซ่า 5 ปี ไม่ว่าจะมีมูลค่าลงทุนเท่าไร

    ทั้งนี้ประเด็นที่แก้ไขในกฎหมายเข้า-ออก การเดินทางผ่าน และการพำนักในประเทศของชาวงต่างชาติ ได้รับความเห็นชอบจากสภาแห่งชาติเมื่อเดิอนพฤศจิกายนปีก่อน

    สำหรับประเทศที่ได้รับการยกเว้นวีซ่าเข้าเวียดนามมีจำนวน 13 ประเทศ คือ เบลารุส เดนมาร์ก ญี่ปุ่น นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส รัสเซีย สาธารณรัฐเกาหลีใต้ สเปน สวีเดน เยอรมนี และสหราชอาณาจักร

    ทางด้านสำนักงานสถิติ (General Statistics Office of Vietnam: GSO) เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวในรอบ 2 เดือน (มกราคมถึงกุมภาพันธ์) เพิ่มขึ้น 4.8% มีจำนวนทั้งสิ้น 3.23 ล้านรายจากระยะเดียวกันของปีก่อน และ ต่ำสุดในรอบ 4 ปี

    สำนักงานสถิติระบุว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ทำให้เดือนกุมภาพันธ์มีนักท่องเที่ยว 1.24 ล้านราย รายลดลง 37.7% จากเดือนมกราคมและลดลง 21.8% ระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนที่ลดลง 5.8% เกาหลีใต้ลดลง 2.4% และนักท่องเที่ยวสิงคโปร์

    โดยรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 4.7% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมานักท่องเที่ยวนิยมเข้าเวียดนามด้วยเครื่องบิน 8% เดินทางทางทะเล 146.1% ผ่านด้วยการเดินรถอีก 20.7% อีกทั้งยังเป็นนักท่องเที่ยวจากเอเชียถึง 75.1% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนาม

    เมียนมาใช้กฎหมายล้มละลายฉบับใหม่

    ร้านค้าแห่งหนึ่งในเมียนมา

    เมือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 รัฐสภาแห่งสหภาพเมียนมาร์ (Pyidaungsu Hluttaw) ได้ผ่านกฎหมายล้มละลายฉบับใหม่ เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับภาวะแวดล้อมทางธุรกิจและดึงความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น และกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อออกเป็นประกาศโดยประธานาธิบดี

    กฎหมายฉบับใหม่จะใช้แทนกฎหมายล้มละลายปี 1909 หรือ Yangon Insolvency Act (1909) กับ กฎหมายล้มละลายปี 1920 หรือ Myanmar Insolvency Act (1920)

    กฎหมายล้มละลายนี้มีทั้งหมด 425 มาตรา ครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (MSMEs) ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการล้มละลายข้ามแดน

    การจัดทำกฎหมายล้มละลายฉบับใหม่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางระบบกฎหมายและระบบการค้าของประเทศ ประสิทธิภาพในการบริหาร การคาดการณ์ได้ ความเป็นธรรม ผ่านกระบวนการล้มละลายและการให้ความช่วยเหลือ MSMEs ที่ประสบปัญหาทางการเงินรวมทั้งคุ้มครองบริษัทในประเทศที่เข้าสู่ตลาดระหว่างประเทศด้วยการสร้างกรอบปฏิบัติรองรับการล้มละลายข้ามแดน

    กฎหมายล้มละลายเป็นหนึ่งในตัวขีดความยากง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลก ในรายงาน Doing Business ปี 2020 เมียนมาเลื่อนอันดับขึ้นมาที่ 165 จาก 171 จาก 190 ประเทศทั่วโลก

    กฎหมายล้มละลายได้รับความเห็นชอบในต้นปี 2019 และได้รับความร่วมมือจากธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ Asian Development Bank (ADB) ในการจัดทำร่าง เพื่อให้มีระบบรองรับการล้มละลายที่ทันสมัย ด้วยการประยุกต์ใช้รูปแบบกฎหมายล้มละลายข้ามแดนของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (United Nations Commission on International Trade Law)

    กฎหมายล้มละลายฉบับนี้ครอบคลุมการล้มละลายของธุรกิจและการล้มละลายของบุคคล เพระมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสถานประกอบการรายย่อย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

    ภายใต้กฎหมายล้มละลายฉบับใหม่ ธุรกิจที่ประสบปัญหาการเงินและเลือกที่จะฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลาย ต้องมีผู้บริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำแผนฟื้นฟู และเสนอให้เจ้าหนี้เห็นชอบภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือนหลังจากที่มีการแต่งตั้งผู้บริหารแผน

    ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารแผนจะมีความรับผิดส่วนบุคคลสำหรับหนี้ของธุรกิจที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการฟื้นฟู

    ส่วนการการล้มละลายข้ามแดนนั้น กฎหมายใหม่ได้นำรูปแบบกฎหมายล้มละลายข้ามแดนของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศมาประยุกต์ใช้ พร้อมให้กรอบปฏิบัติสำหรับการแก้ไขปัญหาการเงินสำหรับบริษัทที่มีเจ้าหนี้หรือสินทรัพย์ในมากกว่า 1 ประเทศ

    กฎหมายช่วยอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือบริษัทที่มีปัญหาด้านการเงิน ดังนั้นจึงคุ้มครองการลงทุนและการจ้างงาน โดยไม่คำนึงว่าเป็นขอบเขตอำนาจของประเทศไหน

    กฎหมายให้ความสำคัญกับ MSMEs โดยมีคำจำกัดความถึงธุรกิจที่มีหนี้ไม่เกิน 7,500 ดอลลาร์หรือบุคคลใด หรือหุ้นส่วนที่มีหนี้ไม่เกิน 750 ดอลลาร์ ทั้งนี้ MSMEs เป็นกระดูกสันหลังของชาติ กฎหมายใหม่จึงมีระบบแยกในการจัดทำแผนช่วยเหลือองค์กร ที่เหมาะสมสำหรับ MSMEs ที่มีปัญหาทางการเงิน มากกว่าที่จะให้ปิดกิจการในทันที รัฐบาลหวังว่าการฟื้นฟูกิจการจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กกลับมาประกอบการได้อีกครั้ง

    สำหรับการล้มละลายของบุคคล กฎหมายส่งเสริมให้ลูกหนี้สมัครใจที่จะเสนอจัดทำข้อตกลงกับเจ้าหนี้ ข้อตกลงที่จัดทำจากความสมัครใจเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ ที่จะตัดหนี้ส่วนหนึ่ง หรือชำระคืนในระยะเวลาที่กำหนด โดยทั่วไปแล้วไม่มีดอกเบี้ย

    อินโดนีเซียขยายเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ

    ที่มาภาพ : https://en.antaranews.com/news/142906/sea-toll-road-service-contributes-03-percent-to-gdp-jokowi

    นายลูฮุต บินซาร์ ปันด์จาอิตัน รัฐมนตรีประสานงานด้านพาณิชย์นาวีและการลงทุน (Coordinating Minister for Maritime and Investment) เปิดเผยว่า อินโดนีเซียจะขยายเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือเพิ่มเป็น 26 เส้นทางเพราะได้ประโยชน์หลายด้าน

    รัฐบาลจะให้ลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษีกับธุรกิจที่พัฒนาในภาคตะวันออกของประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการในพื้นที่นั้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องส่งสินค้าจากเกาะชวา ซึ่งอยู่ทางตะวันตก เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย นายปันด์จาอิตัน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมกับประธานาธิบดี

    “เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือจะลดการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันตก ในปีนี้การอุดหนุนโครงการจะมีมูลค่าถึง 400 พันล้านรูเปียะห์ หรือราว 28.1 ล้านดอลลาร์” นายปันด์จาอิตันกล่าว อีกทั้งจะมีผู้จัดจำหน่ายสินค้ามากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไม่มีการผูกขาด

    ทางด้านประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเพื่อเพิ่มสัดส่วนบริการจากเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือในรายได้ประชาชาติหรือ GDP ให้มากขึ้นจาก 0.3% ณ เดือนกันยายน 2019

    ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวว่า สัดส่วนบริการจากการขนส่งทางทะเลในจีดีพีมีแนวโน้มลดลงใน 5 ปีที่ผ่านมามากกว่าการขนส่งทางบกและทางอากาศ และขอให้ตรวจสอบอย่างละเอียด

    การขนส่งทางบกและทางอากาศมีสัดส่วนในจีดีพี 2.47% และ 1.62% ตามลำดับ และยังคงเป็นบวกตั้งแต่ปี 2014 จนถึงเดือนกันยายน 2019 แต่ในช่วงเดียวกันนี้สัดส่วนบริการจากการขนส่งทางทะเลกลับลดลง

    ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวว่า การเพิ่มรายได้สัดส่วนบริการจากการขนส่งทางทะเลในจีดีพี ต้องไปตรวจสอบว่าเกิดปัญหาที่ไหน เช่น การกระจุกตัวที่ท่าเรือ จากการผูกขาดทำให้สินค้าค้างที่ท่าเรือนานและเป็นการใช้ต้นทุนขนส่งอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

    สำนักข่าวอันทาราระบุว่า โครงการ Sea Toll Program มีความสำคัญต่ออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก พื้นที่ทางทะเลใหญ่ถึง 5.8 ล้านตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่ผืนดินเพียง 1.9 ล้านตารางกิโลเมตร

    นอกจากนี้ยังเป็นประเทศหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดของโลก จากจำนวนเกาะทั้งหมด 17,480 เกาะ และมีชายฝั่งทะเลความยาวถึง 92,000 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับสองรองจากแคนาดา

    เส้นทาง Sea Toll ณ กรกฎาคม 2018 ที่มาภาพ: https://maritimenews.id/an-evaluation-of-three-year-implementation-of-sea-toll-road-program/

    รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีวิโดโด ตั้งเป้าที่จะพัฒนาประเทศเพื่อเป็นแกนกลางทางทะเลของโลก ตามนโยบาย Global Maritime Axis (เน้นไปที่อำนาจอธิปไตยทางทะเล การพัฒนาความเชื่อมโยงทางทะเล การปกป้องทรัพยากรทางทะเล และอื่นๆ) ได้ริเริ่มแนวคิด Sea Toll Road ขึ้นเพื่อปรับปรุงท่าเรือและการขนส่งสินค้าทางเรือเพื่อ ส่งเสริมการขนส่งสินค้าทั่วหมู่เกาะ

    Sea Toll Road Service เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ เริ่มขึ้นในปี 2015 เพื่อลดความไม่เท่าเทียมด้านราคาของภูมิภาคตะวันออกและตะวันตก จากค่าระวางสินค้าที่สูงมาก เพราะเรือที่ขนส่งสินค้าไปพื้นที่ห่างไกลนั้นตีเรือเปล่าในขากลับ

    Sea Toll Road เป็นการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงท่าเรือทั่วประเทศ ช่วงเริ่มต้นในปี 2015 มี 6 เส้นทาง และในปี 2018 กระทรวงคมนาคมได้บริหารทั้งสิ้น 18 เส้นทาง โดย 15 เส้นทางเป็นเส้นทางหลัก และ 3 เส้นทางเป็นเส้นทางสำหรับเปลี่ยนถ่าย

    สิงคโปร์อนุญาตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าวิ่งบนถนน

    ที่มาภาพ: https://electrek.co/2018/01/30/harley-davidson-electric-motorcycle/
    ในเดือนเมษายนนี้ รถมอเตอไซค์ไฟฟ้าพลังแรงจะได้รับอนุญาตให้วิ่งบนท้องถนนในสิงคโปร์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการใช้รถที่ใช้พลังงานสะอาดในประเทศ

    กฎปัจจุบัน รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มีเครื่องยนต์ขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนถนนได้ แต่ห้ามวิ่งบนทางด่วน แต่ในวันที่ 1 เมษายนนี้ กรมขนส่งทางบก (Land Transport Authority: LTA) จะอนุญาตให้นำรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มีพลังแรงเกิน 10 กิโลวัตต์ ออกมาขับขี่บนท้องถนนนได้ และยังอนุญาตให้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มีความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงสามารถใช้ทางด่วนได้

    การประกาศอนุญาตครั้งนี้ รวมทั้งมาตรการอื่นๆเพื่อจูงใจให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ยังสอดคล้องกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ทันสมัยพร้อมกับสอดคล้องกับเทคโนโลยี จากการเปิดเผยของจานิล พุธูเชียรี รัฐมนตรีคมนาคมอาวุโส

    “ผู้ขับขี่รถจะได้มีบทบาทในการในการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า” นายพุธูเชียรี กล่าว

    การหลักเกณฑ์ใหม่มีขึ้นหลังที่นายเฮง สวี เกียตประกาศมาตรการทางการคลังในเดือนที่แล้ว ซึ่งมีมาตรการรองรับหลายด้าน เช่น การปรับมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่เป็นสวนหนึ่งของแผนที่จะลดการใช้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน 2040

    ลาวตั้งคณะกรรมการตรวจสอบควมปลอดภัยของเขื่อน

    ที่มาภาพ: https://www.rfa.org/english/news/laos/committee-03032020155336.html

    รัฐบาลลาวได้ตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างชาติเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของเขื่อน เพื่อที่จะได้เดินหน้าตามผลิตพลังงานไฟฟ้าป้อนให้กับภูมิภาคนี้ แม้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นจากเขื่อนหลายกรณีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

    “รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อตรวจสอบเขื่อนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งได้เริ่มตรวจสอบเขื่อนขนาดเล็กไปบ้างแล้ว คณะกรรมการชุดนี้มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ และที่ปรึกษารัฐบาลร่วมอยู่ด้วย” เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานและบ่อแร่รายหนึ่งเปิดเผย

    แอนตัน ชเลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเขื่อนชาวฝรั่งเศส เป็นหัวหน้าคณะกรรมการ ซึ่งได้ตรวจสอบเขื่อนขนาดเล็ก 13 แห่ง พบว่าการก่อสร้างเขื่อน 1 แห่งในจำนวนนี้ต่ำกว่ามาตรฐาน

    คณะกรรมการได้เสนอแนะให้หน่วยงานท้องถิ่นปรับปรุงการก่อสร้างเขื่อนน้ำเชียนในเมืองคูน เชียงขวาง ซึ่งเป็นเชื่อนพลิตไฟฟ้าขนาด 104 เมกะวัตต์

    ปัจจุบันในลาวมีเขื่อนที่ใช้งานอยู่จำนวน 39 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 24 แห่งและอยู่ในแผนอีก 291 แห่งซึ่งกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

    คณะกรรมการตั้งเป้าที่จะตรวจเขื่อนทั้ง 39 แห่งให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ก่อนจะเริ่มตรวจสอบโครงการอื่นต่อไป

    สปป.ลาวเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ได้วางยุทธศาสตร์ประเทศเป็นผู้ส่งออกพลังงานไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของเอเชีย ด้วยการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงและสาขาแม่น้ำโขง

    สปป.ลาวคาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้า 20,000 เมกะวัตต์ช่วงปี 2020-2030 ซึ่งเกินความต้องการ ดังนั้นจึงมีส่วนเกินเพื่อการส่งออกให้กับหลายประเทศในภูมิภาค

    ช่วงปี 2020-2030 คาดว่าไทยจะนำเข้าไฟฟ้าจากลาวประมาณ 9,000 เมกะวัตต์ กัมพูชาคาดว่าจะนำเข้า 6,000 เมกะวัตต์ เวียดนาม 5,000 เมกะวัตต์ เมียนมา 300 เมกะวัตต์ และมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์

    แม้โครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าพลังน้ำเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลของประเทศยากจน แต่การผลักดันซึ่งมีผลต่อเส้นทางน้ำของประเทศส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

    ในบางกรณี เขื่อนที่ไม่มีการตรวจสอบอย่างถูกต้องได้พังทะลายลง ส่งผลต่อชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สินในวงกว้าง

    วันที่ 23 กรกฎาคม 2018 น้ำได้เอ่อล้นอย่างรวดเร็วจากการพังทะลายของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย หลังจากที่ฝนตกอย่างหนัก ทำให้ 12 หมู่บ้านได้รับความเสียหาย และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 ราย ในจำปาสัก และอัตตะปือ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของลาว

    กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ระบุว่าการพังทะลายของเขื่อนซึ่งทำให้ประชากรกว่า 7,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงทำให้เจ้าน้าที่ของลาวเรียกร้องให้ เอส เค เอ็นจีเนียริง แอนด์ คอนสตรักชัน ผู้รับเหมาหลักจากเกาหลีใต้แสดงความรับผิดชอบ

    ผู้ที่ทำงานด้านพัฒนาชุมชนจี้ให้รัฐบาลเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีหลายเขื่อนที่พังลงมา รัฐบาลไม่ได้สนใจความปลอดภัยของเขื่อนรวมทั้งวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง และต้องโทษเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change

    ชาวบ้านรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในตอนล่างของเขื่อนน้ำเงี๊ยบ บอลิคำไซ เกรงว่า หลายหมู่บ้านอาจจะมีความเสี่ยงหากรัฐบาลยอมให้ผู้รับเหมาลดค่าใช้จ่าย เพราะตามมาตรฐานสากล และความปลอดภัยของคนที่อยู่ใต้เขื่อน เขื่อนทุกแห่งต้องยึดมาตรฐานก่อสร้างและติดตั้งระบบเตือนภัยที่ดี