ThaiPublica > คอลัมน์ > ดรามา เรื่อง PM2.5 (ตอน 11) : มันไม่ได้มีแค่ PM2.5 นะ

ดรามา เรื่อง PM2.5 (ตอน 11) : มันไม่ได้มีแค่ PM2.5 นะ

22 มกราคม 2021


รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริมา ปัญญาเมธีกุล
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
FB page: Thailand network center on Air Quality Management (TAQM)
[email protected] , www.taqm.org

ต่อจากตอนที่10

ในช่วงหน้าหนาวของ 2-3 ปีที่ผ่านมาข่าวคราวที่ผู้คนในเมืองโดยเฉพาะที่กรุงเทพและเชียงใหม่มักนำมาเป็นประเด็นสำหรับการถกเถียงพูดคุยทั้งในแง่วิชาการและในมุมของชาวบ้าน คือ เรื่องฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่เป็นเช่นนี้เพราะฝุ่นจิ๋วนี้มันสามารถก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจไปจนถึงเรื่องหลอดเลือด ที่ถ้าหายใจสะสมฝุ่นไปนานๆ แพทย์บอกว่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 นี้ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้

แต่หากเราจะพูดถึงมลพิษอากาศกันจริงๆมันไม่ได้มีแค่ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ทว่ายังมีสารมลพิษตัวอื่นๆอีก เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2) ก๊าซโอโซน(O3) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์(NOx) สารเหล่านี้แต่ละตัวมีความเป็นพิษแตกต่างและเฉียบไวไม่เท่ากัน เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(หรือ CO)ที่ยังมีออกซิเจน(O2)ไม่อิ่ม หากจะให้อิ่มก็ต้องเพิ่มออกซิเจนเข้าไปใน CO ให้กลายเป็น CO2 ซึ่งแม้นก๊าซ CO2 นี้จะอันตรายแต่ก็เฉื่อยกว่าและมีความเป็นพิษน้อยกว่า CO มาก หรืออีกตัวอย่างคือ ก๊าซโอโซน(O3)ที่มีผลต่อการทำงานของระบบทางเดินหายใจและกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดการระคายเคืองนัยน์ตาและเยื่อจมูก มีผลต่อการทำงานของปอด

เป็นธรรมดาอยู่เองที่สารใดๆที่เป็นพิษมาก เราก็จะต้องมีมาตรการทำให้สารนั้นมีความเข้มข้นต่ำๆในสิ่งแวดล้อม และทำให้มันมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมนานๆไม่ได้ มิฉะนั้นก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของเราได้ ดังนั้นเราจึงจะเห็นมาตรฐานของค่าสารมลพิษออกมาใน (ก) รูปแบบที่ต่างกัน เช่น เป็นค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง(สารนี้มีพิษมาก ต้องให้โอกาสได้รับสารนี้มีไม่มากหรือไม่นาน) ค่าเฉลี่ยรายวันหรือราย 24 ชั่วโมง(ความเป็นพิษน้อยกว่ากรณีแรก) และค่าเฉลี่ยรายปี(สารมลพิษในหมวดนี้มีความเป็นพิษที่ต้องใช้ระยะเวลาในการสะสมนานจึงเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ) รวมทั้งมาในรูป (ข) ค่าที่ต่างกัน กล่าวคือ สารที่เป็นอันตรายมากต้องมีค่าต่ำๆในข้อกำหนดหรือมาตรฐาน เช่น ค่ามาตรฐานของโอโซนในบรรยากาศโดยทั่วไปเฉลี่ยรายชั่วโมง(ซึ่งหมายถึงอันตรายสูง เพราะให้สัมผัสได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ)ไม่เกิน 0.10 ppm ส่วนสารที่อันตรายน้อยกว่าก็จะมีค่าสูงขึ้นในข้อกำหนดหรือมาตรฐาน เช่น ค่ามาตรฐานของ CO ในบรรยากาศโดยทั่วไปเฉลี่ยรายชั่วโมง ไม่เกิน 30 ppm

ดังนั้นในทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์สุขภาพ เราจึงควรต้องพิจารณาดูและเฝ้าตามไปในสารมลพิษอากาศทุกตัวที่สำคัญ ทว่าที่ผ่านมาประชาชน(ไม่เฉพาะที่ประเทศไทย)ต่างพากันเฝ้าดูตัวเลขแค่เฉพาะ PM2.5 ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของการเผยแพร่ข้อมูลที่อันตรายและจากการทำตลาดของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศแบบพกพา(portable device)หรือมือถือ(handheld device) ที่หาซื้อกันได้ทั่วไปง่ายๆผ่านทางธุรกิจออนไลน์ มีข้อสังเกตด้วยว่าถึงแม้เครื่องมือเหล่านี้มักมีราคาถูก ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย แต่ก็ต้องเสี่ยงกับการที่บางอุปกรณ์มีความแม่นยำต่ำเกิน

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงสภาพอากาศ สภาพจราจร สภาวะการเผาซากเกษตร ฯลฯ ของแต่ละพื้นที่ในแต่ละเวลาย่อมไม่เป็นสิ่งคงที่ แต่จะแปรผันไปตลอด และการแปรผันเช่นว่านี้สามารถมีผลต่อความเข้มข้นของสารมลพิษอากาศตัวหนึ่งๆได้ แบบที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันกับสารตัวอื่นๆ เช่น ในวันที่ 17 มกราคม 2564 เวลา 19:00 น. ค่าความเข้มข้นเฉลี่ยรายวันของ PM2.5 ที่เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร มีค่าเพียง 34 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร(มคก./ลบ.ม.) ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายวัน(50 มคก./ลบ.ม.)ของประเทศไทย และมาตรฐานคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายวัน(35 มคก./ลบ.ม.)ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งตีความได้ว่าคุณภาพอากาศดี และดัชนีคุณภาพอากาศเมื่ออิงกับค่า PM2.5 เป็นสีเขียว(ดูรูป)

ค่าดัชนีคุณภาพอากาศเขตวังทองหลาง วันที่ 17 มกราคม 2564 เวลา 19:00 น. (Air4Thai application)

ในขณะที่ในวันเวลาเดียวกัน ณ สถานีเดียวกัน ค่าโอโซนเฉลี่ย 8 ชั่วโมงกลับไปในทางตรงข้าม คือขึ้นไปสูงถึง 82 ส่วนในพันล้านส่วน(part per billion, ppb) ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานราย 8 ชั่วโมงของโอโซนของประเทศไทยที่ 70 ppb และค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) ในกรณีเมื่ออิงกับค่าโอโซน เท่ากับ 123 ซึ่งทำให้ดัชนีเป็นสีส้ม หรืออากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตัวเลขสองสามตัวนี้รวมทั้งดัชนีสีเขียวและสีส้มดังกล่าวจึงบ่งชี้ให้เห็นว่าค่าโอโซน ในกรณีนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้มากกว่าค่า PM2.5(ที่บอกว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดี)

ดังนั้นหากเราใช้ข้อมูลเพียงจากเครื่องวัด PM2.5 แบบมือถือเราก็จะมีแค่เพียงข้อมูล PM2.5 ซึ่งไม่ครบตามหลักของผลกระทบต่อสุขภาพ และทำให้เราหลงทางหรือเข้าใจผิดได้ นั่นคือหากต้องการดูแลสุขภาพของเราให้ปลอดจากพิษของสารมลพิษอากาศทั้งปวง เราก็ควรไม่ดูแต่เฉพาะค่า PM2.5 หรือค่าสารมลพิษตัวใดตัวหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องดูตัวเลขทั้งกระดานและสรุปผลไปตามนั้น ซึ่งนั่นหมายความว่าการเฝ้าติดตามตัวเลขเฉพาะ PM2.5 จากเครื่องวัดแบบมือถือที่นิยมซื้อกันมาใช้เฝ้าระวังกันเองนั้นไม่สามารถให้ข้อมูลที่สมบูรณ์ได้และทำให้ความตระหนักในปัญหามลพิษอากาศต่ำกว่าความเป็นจริงได้ด้วย