ThaiPublica > คอลัมน์ > ดราม่า เรื่อง PM2.5 (ตอน 3): สถานการณ์ของ กทม.

ดราม่า เรื่อง PM2.5 (ตอน 3): สถานการณ์ของ กทม.

5 พฤษภาคม 2018


รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อจากตอนที่2
โดยปกติแล้วฝุ่นโดยเฉพาะฝุ่นขนาดใหญ่ เดิมไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่รัฐเท่ากับสารมลพิษอากาศตัวอื่นๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปวิทยาการก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เราเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นว่าฝุ่นหากมีขนาดเล็กมากๆ ก็สามารถมีอันตรายไม่น้อยกว่าสารมลพิษอากาศตัวอื่นๆ จนถึงขนาดองค์การอนามัยโลกต้องเข้ามามีบทบาทชี้นำในระดับนานาชาติ

เรื่องแรก: เรื่อง PM2.5 นี้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ให้ความสนใจมากมาตลอด เพราะเกี่ยวกับสุขภาพของคนและสัตว์โดยตรงและอย่างมาก และปัญหาไม่ใช่เพียงแค่ฝุ่นจิ๋วนี้ที่เข้าไปในปอดได้ แต่เป็นเพราะฝุ่นจิ๋วนี้มันสามารถทำตัวเป็นศูนย์กลางให้สารพิษอื่นๆ เช่น สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก ฯลฯ มาเคลือบหรือเกาะอยู่บนผิวของมัน และจากนั้นก็จะเป็นตัวพาเอาสารพิษต่างๆ เหล่านั้นที่ปกติจะล่องลอยอยู่ในอากาศเข้าไปในส่วนลึกของร่างกายของเราได้

อันตัวฝุ่นนั้นถ้าจะว่าไปไม่มีความอันตรายรุนแรงเป็นแบบเฉียบพลัน เราต้องรับฝุ่นเข้าไปสะสมในร่างกายนับเป็นสิบๆ ปีจึงจะมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้น แต่มีสารมลพิษอากาศอื่นๆ อีก เช่น โอโซน (O3) หรือคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ที่เป็นอันตรายแบบเฉียบพลันได้ทันที และอันตรายกว่าฝุ่นหลายสิบหลายร้อยเท่า และเนื่องจากฝุ่นสามารถเป็นตัวพาเอาสารพิษอื่นๆ พวกนั้นติดตัวมันเข้ามาในร่างกายเราได้ ฝุ่น PM2.5 จึงเป็นสารมลพิษอากาศที่กล่าวได้ว่าจะเฉียบพลันก็ไม่ใช่ จะเรื้อรังก็ไม่เชิง ค่ามาตรฐานของ PM2.5 ในอากาศจึงเป็นค่าที่อยู่กลางๆ คือ ไม่ใช่ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมง (ที่เป็นตัวชี้วัดของอันตรายแบบเฉียบพลัน) แต่เป็นค่าเฉลี่ยรายวันหรือค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง โดยมีค่าเฉลี่ยรายปี (ซึ่งเป็นผลกระทบแบบเรื้อรังนานมาก) เพิ่มแถมขึ้นมาอีกในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย

สาเหตุที่องค์การอนามัยโลกสนใจตัวฝุ่นจิ๋ว PM2.5 นี้เป็นพิเศษ เพราะเอกสารทางการแพทย์บ่งชี้ว่ามันสามารถทำให้เส้นเลือดหดตัว ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น ไปจนถึงปัญหาด้านหลอดเลือดหัวใจและหัวใจขาดเลือด ซึ่งทำให้กลุ่มเสี่ยงหรือคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วถึงกับเสียชีวิตได้ (ดังรูปที่ 1)

ตรงนี้จึงไม่ใช่ดราม่า แต่เป็นเรื่องจริง

รูปที่ 1 ผลกระทบจากการสัมผัสฝุ่นจิ๋ว PM2.5
ที่มา: ขจรศักดิ์ แก้วขจร. “การพิทักษ์สุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 :ความร่วมมือของเครือข่าย.”, 23 มีนาคม 2561

เรื่องที่ 2: ต้นกำเนิดของ PM2.5 ในกรุงเทพมหานครมาจากไหน ต้นเหตุหลักๆ ของ PM2.5 คือ

    (1) ไอเสียจากรถยนต์หรือจากการจราจร
    (2) อากาศพิษจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะถ่านหิน หรือเชื้อเพลิงที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
    (3) การเผาในที่โล่งและในที่ไม่โล่ง ซึ่งมาได้จากทั้งในเขตกรุงเทพมหานครเองและจากพื้นที่โดยรอบหากทิศทางลมมันพัดพามาสู่เมือง

จากงานวิจัยล่าสุดเราเชื่อว่า สาเหตุที่สำคัญที่สุดของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ใน กทม. มาจากน้ำมันดีเซลซึ่งมาจากการจราจรที่ติดขัดใน กทม. เอง

เรื่องที่ 3: ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ไม่ใช่เพิ่งมี และไม่ใช่เพิ่งจะมาเกินมาตรฐานเอาในช่วงปี 2561 นี้ แต่เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้วทุกปี เช่น ในปี 2556 พื้นที่ริมถนนดินแดง มีค่า PM2.5 สูงถึง 112 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ดูรูปที่ 2)

ในขณะที่ในเหตุการณ์ดราม่าเมื่อเร็วๆ นี้หรือต้นปี 2561 มีค่า PM2.5 อยู่ที่ 69-94 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์เกินมาตรฐาน (เฉลี่ยรายวัน) ของบ้านเราที่อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรทั้งคู่ แต่จะด้วยเหตุใดก็ไม่รู้ที่เมื่อปี 2556 และปีอื่นๆ ที่ค่าเกินมาตรฐานนั้นไม่มีเหตุการณ์ดราม่าขึ้นในโซเชียลไทย แต่ที่สังเกตได้ชัดเจน คือ ในปี 2561 นี้มีอากาศหนาวในเดือนมกราคมเกิดขึ้นหลายครั้งและยาวนาน ทำให้อากาศนิ่งอยู่เป็นสัปดาห์ ผลกระทบจึงมองเห็นด้วยตาได้ชัดกว่าปีที่ผ่านๆ มา

รูปที่ 2 ความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2554-2561
ที่มา: สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา. “ฝุ่น PM2.5 แก้อย่างไรให้ตรงจุด.”, 23 มีนาคม 2561

เรื่องที่ 4: การวัด PM2.5 ในอากาศในไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เพิ่งทำกันเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมานี้เอง ถามว่าทำไมก่อนหน้านี้ไม่วัด ที่ไม่วัดก็เพราะไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการวัด ถามว่าทำไมไม่ซื้อมาวัดก่อนหน้านี้นานๆ ล่ะ ติดปัญหาอะไร ก็ติดปัญหาที่ไม่มีงบประมาณจัดซื้อ ถามรุกต่อว่า ทำไมไม่ตั้งงบประมาณ อันนี้ไม่ขอตอบก็แล้วกัน เพราะบางคนหากคุ้นชินกับระบบราชการที่อุ้ยอ้ายอยู่บ้างก็คงรู้คำตอบนี้ได้ด้วยตัวเอง และขอปล่อยให้กรมควบคุมมลพิษมาตอบคำถามนี้เองน่าจะชัดเจนกว่า

เรื่องที่ 5: ถ้าไม่ได้วัดมาก่อนหน้านี้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าแต่ก่อนนี้มีหรือไม่มีปัญหา PM2.5 คำตอบนี้ดูได้จากเรื่องที่ 3 และรูปที่ 2 คือ แม้จะไม่ได้วัดมาก่อนหน้านี้ก็ตาม แต่ในระยะเวลา 5-6 ปีนี้ก็มีค่าเกินอยู่ทุกปีอยู่แล้ว และหากมองสภาพปัญหาจราจรซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหา PM2.5 ที่ไม่ได้ดีขึ้นเลยในสิบปีที่ผ่านมา ก็คงอนุมานได้ว่าปัญหานี้มีมานานแล้ว เพียงแต่เราไม่รู้ ไม่มีข้อมูล จึงไม่มีเรื่องร้องเรียน และไม่มีดราม่า

เรื่องที่ 6: อันนี้ก็ยังเป็นเรื่องของความเข้าใจผิด คือ เมื่อเราพูดถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร มันกว้างใหญ่ไพศาลถึง 1,569 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 40 กิโลเมตร x 40 กิโลเมตร แต่เรามีสถานีตรวจวัดฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่เป็นทางการของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) อยู่เพียง 6 สถานี คือ พญาไท บางนา วังทองหลาง ริมถนนพระรามสี่ ริมถนนลาดพร้าว และริมถนนอินทรพิทักษ์

ดังนั้น การที่บอกว่าคุณภาพอากาศใน 6 สถานีนั้นได้มาตรฐาน ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพอากาศของทั่วกรุงเทพมหานครได้มาตรฐาน ในทางตรงข้าม การที่บอกว่าตัวเลขสารมลพิษอากาศใน 6 พื้นที่เกินมาตรฐานก็ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพอากาศเลวไปทั่วกรุงเทพมหานคร และดราม่าอาจเกิดขึ้นได้จากความเข้าใจผิดนี้ในทั้งสองกรณี

แล้วทำไมไม่ติดตั้งเครื่องมือวัดคุณภาพอากาศให้ทั่วๆ คำตอบคือราคามันไม่ถูก คพ. จึงเลือกที่จะติดตั้งเครื่องมือไว้ในจุดที่เสี่ยงอันตรายกว่าที่อื่น โดยมีสมมติฐานว่าถ้าพื้นที่นี้โอเค พื้นที่อื่นก็จะโอเคไปด้วย แต่หากเราต้องการได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนจริงของทั้งกรุงเทพมหานคร พวกเราคงต้องช่วยกันเรียกร้องภาครัฐและรัฐบาลด้วยเสียงที่ดังกว่านี้เพื่อให้รัฐบาลจัดหางบประมาณให้ คพ. และ กทม. ให้มากพอกว่านี้

และเมื่อนั้นเราจึงจะได้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงและจำนวนมากพอที่จะมาสรุป เพื่อหาทางทำให้อากาศที่เราหายใจกันอยู่ทุกวันนี้สะอาดขึ้น