ThaiPublica > คอลัมน์ > ดราม่า เรื่อง PM2.5 ตอน 13: ตัวเลขกับความสับสนในสถานการณ์โควิด-19

ดราม่า เรื่อง PM2.5 ตอน 13: ตัวเลขกับความสับสนในสถานการณ์โควิด-19

20 พฤศจิกายน 2021


รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล,ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
FB page: Thailand network center on Air Quality Management (TAQM)
[email protected], www.taqm.org

ในตอนที่ 12 เราได้บอกกล่าวหรือเตือนให้ฟังว่า ณ ขณะหนึ่งในวันหนึ่งๆ นั้นการจะรู้ได้ว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่หรือไม่นั้นไม่สามารถพึ่งการมองเห็นด้วยตาเพียงอย่างเดียว ว่าหากฟ้า “ขุ่น” แล้วค่า PM2.5 จำต้องสูงตามไปด้วย เพราะความ “ขุ่น” ของฟ้านั้นอาจมาจากหมอกหรือความชื้นในอากาศก็ได้

มาคราวนี้เราจะพาไปดูข้อมูลในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ของต้นปีนี้ (พ.ศ. 2564) ซึ่งเป็นช่วงอากาศหนาวที่อากาศปิดอยู่เป็นประจำทุกปี และช่วงนี้แหละเป็นช่วงที่ค่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ในบางวันจะขึ้นสูงจนเกินค่ามาตรฐานอยู่ในหลายปีที่ผ่านมา

ช่วงต้นปี 2564 ดังกล่าวเป็นช่วงที่มีวิกฤติโควิด-19 สูงจนมีการล็อกดาวน์กรุงเทพมหานครเป็นบางส่วน และมีการกำหนดให้ทำงานที่บ้านหรือ work from home กันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนคนที่ไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศอยู่เดิมก็ไม่ค่อยออกจากบ้านไปไหนมาไหนด้วยเกรงการติดเชื้อไวรัสที่ ณ ขณะนั้นดูยังหาทางออกหรือคำตอบไม่ได้ ผลที่ตามมาคือจราจรบนท้องถนนเบาบางมากจนรถไม่ติด ไปไหนมาไหนได้สะดวก และเมื่อรถไม่ติด จราจรคล่องตัว การปล่อยฝุ่นจากรถยนต์น้อยลง ค่า PM2.5 ในอากาศจึงควรน้อยลงเป็นเงาตามตัวด้วย

จริงๆ แล้วเราควรเอาค่าความหนาแน่นจราจรมาเทียบเคียงกับค่าฝุ่นที่วัดได้ในจุดหรือสถานที่ต่างๆ ว่าถ้าจราจรคล่องตัวแล้วค่าฝุ่นจะลดลงเป็นสัดส่วนกันหรือไม่ ทว่าเรื่องนี้พูดได้แต่ทำยากเพราะท้องฟ้าเป็นอากาศเปิด การจราจรที่หนึ่งจะมีผลไปยังที่อื่นได้มาก รวมทั้งแรงลมตลอดจนอาคารทั้งสูงและเตี้ยก็มีส่วนที่ทำให้ค่า PM2.5 เปลี่ยนไปจากที่ควรเป็นได้มากเช่นกัน

เราจึงอยากชวนคุยแบบชาวบ้านๆ ว่า สภาพอากาศในรูปแบบฝุ่นบนฟ้า ที่ดูเอาจากตาในช่วงเดือนฤดูหนาวที่ไม่มีความชื้น (moisture content หรือ MC) ในอากาศแบบหน้าฝนมาเกี่ยวข้องด้วยมากนักนั้น มันจะสัมพันธ์กับค่า PM2.5 ในอากาศได้หรือไม่อย่างไร

พูดง่ายๆ คือในบทความตอนที่ 12 เราบอกว่าความชื้นในอากาศในหน้าฝนอาจทำให้ค่า PM2.5 ที่วัดได้มันสูงเกินจริงก็ได้

มาคราวนี้เราจึงได้ทดลองในหน้าหนาวที่ไม่มีความชื้นในอากาศมารบกวน หรือหากมีก็มีแต่น้อย โดยเราได้เอาภาพถ่าย (ที่ใช้แทนการมองเห็นท้องฟ้าด้วยสายตาของคนทั่วไป) มาเทียบกับค่า PM2.5 ที่ตรวจวัดได้ด้วยวิธีมาตรฐานว่าสอดคล้องกันไหมด้วย คือ หากตาเห็นฟ้ามัวหรือขุ่นในสภาพที่ความชื้นในอากาศต่ำนี้มันหมายถึง PM2.5 ต้องสูงด้วยหรือไม่

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกนิดก็คือ ในตอนที่ 12 เราพูดถึงผลกระทบของความชื้นในอากาศที่อาจทำให้ค่าอ่าน PM2.5 สูงเกินจริง แต่มาในตอนที่ 13 นี้เราจะตรวจสอบในสภาพที่ (1) ความชื้นในอากาศต่ำ จึงไม่ควรมีผลกระทบจากความชื้น และ (2) จราจรเบาบาง

รูปที่ 1 เป็นภาพถ่ายบนทางด่วนขาเข้า ใกล้กับด่านบริเวณงามวงศ์วาน ในวันที่ 2 มกราคม 2564 เวลา 16.00 น. ในขณะที่รูปที่ 2 ถึง 4 เป็นภาพถ่ายบนถนน ณ บริเวณสวนจตุจักรและทางด่วนใกล้ดินแดงตามลำดับ โดยทั้ง 4 ภาพนี้ชี้ให้เห็นสภาพฟ้าขุ่นมัวซึ่งค่า PM2.5 น่าจะอยู่ในเกณฑ์สูงพอสมควร ส่วนตารางที่ 1 แสดงค่า PM2.5 เฉลี่ยรายชั่วโมงและรายวัน ในวัน-เวลาต่างๆ ณ สถานที่ 3 แห่งดังกล่าว

รูปที่ 1 เป็นภาพถ่ายบนทางด่วนขาเข้า ใกล้กับด่านบริเวณงามวงศ์วาน ในวันที่ 2 มกราคม 2564 เวลา 16.00 น. (ธงชัย พรรณสวัสดิ์, มกราคม 2564)
รูปที่ 2 สภาพอากาศขุ่นมัวที่ซอยราชครู ใกล้กรมควบคุมมลพิษ เวลา 07.30 น.
วันเสาร์ที่ 16 มกราคม 2564, จราจรเบาบาง (ธงชัย พรรณสวัสดิ์, มกราคม 2564)

จากภาพและค่า PM 2.5 ในตารางดังกล่าวนั้น เราพอจะวิเคราะห์ได้ว่า สำหรับข้อมูลในลำดับที่ 1 หรือที่งามวงศ์วาน นนทบุรีนั้น แม้ภาพถ่ายจะชี้ให้เห็นสภาพอากาศขุ่นมัว แต่ตัวเลข PM2.5 (ตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษ หรือ คพ.) ณ ชั่วโมงนั้นกลับต่ำเพียง 18 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเท่ากับ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจเพิ่มอีกนิด คือ มาตรฐานที่ว่านั้นเป็นตัวเลขค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงหรือทั้งวัน ซึ่งในแต่ละ 24 ชั่วโมงนั้นฝุ่นอาจมีมากบ้างน้อยบ้างตามเวลาต่างๆ เช่น กลางวันหรือกลางคืน ทีนี้ความเป็นพิษของฝุ่นต่อสุขภาพของคนเรานั้นเป็นพิษแบบสะสม นั่นคือต้องวัดที่การสูดดมเอาฝุ่นเข้าไปตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนหรือ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมากบ้างน้อยบ้างไปตามสภาพอากาศขณะนั้น แล้วเอามาหาค่าเฉลี่ย เพื่อดูว่าในวันหนึ่งๆ ตลอด 24 ชั่วโมงนั้น เราสูดเอาฝุ่นเข้าไปมากน้อยเพียงใด ถ้ามากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานของประเทศไทย ก็แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเรา แต่ค่าที่จะเอามาวินิจฉัยว่าเป็นพิษหรือไม่นั้นต้องไม่ใช่ค่าวัดที่นาทีนั้นหรือชั่วโมงนั้นแน่ๆ

รูปที่ 3 สภาพจราจรเบาบางมากและอากาศขุ่นมัว บริเวณตลาดนัดจตุจักร
เย็นวันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม 2564 (ธงชัย พรรณสวัสดิ์, มกราคม 2564)
รูปที่ 4 สภาพอากาศขุ่นมัว จราจรเบาบางมาก บนทางด่วนขาเข้า ใกล้ดินแดง วันมาฆบูชา 26 กุมภาพันธ์ 2564 เวลาเที่ยง (ธงชัย พรรณสวัสดิ์, กุมภาพันธ์ 2564)

ทีนี้ (อีกครั้ง) แล้วทำไมเราไม่เทียบกับมาตรฐานรายนาทีหรือรายชั่วโมงเล่า คำตอบคือมาตรฐานนี้ไม่มีให้เราเทียบ แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ไม่มี และถ้าจะพยายามให้มีตัวเลขนี้ขึ้นมาจริงๆ ตัวเลขนี้ก็จะสูงกว่าค่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เช่น อาจเป็น 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือ 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรก็ได้ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครกำหนด และที่ตัวเลขนี้จะต้องสูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็เพราะมันจะถูกถือว่าเป็นพิษเฉียบพลัน (ไม่ใช่สะสม) ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์และพิษวิทยาตัวเลขรายชั่วโมงต้องสูงกว่าราย 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว

นั่นคือ ตัวเลข 18 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรนั้นยิ่งต้องถือว่าต่ำมากและไม่สอดคล้องกับภาพท้องฟ้าขุ่นมัวที่เห็น กล่าวแบบชาวบ้านๆ ก็คือสายตาหลอกเรา ความเสี่ยงมันไม่ได้สูงเท่ากับที่ตาเราฟ้อง นอกจากนี้ หากมองค่าตรวจวัด 24 ชั่วโมง (ในตารางดังกล่าว) ในลำดับที่ 1 ที่นนทบุรี ตัวเลขเฉลี่ย 24 ชั่วโมงก็มีค่าเพียง 24 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งก็ต่ำกว่ามาตรฐานของประเทศไทยถึงครึ่งหนึ่งอีกด้วย แสดงว่าคุณภาพอากาศดีมาก ย้อนแย้งกับที่ตาเห็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงกรณีเดียว เราไม่สามารถเอาข้อมูลเดียวนั้นมาสรุปทางสถิติหรือเชิงวิทยาศาสตร์ว่าหากมองเรื่องฟ้าขุ่นมัวสัมพันธ์กับค่า PM2.5 นี้แล้วไซร้ อย่าได้เชื่อสายตาที่เรามองเห็น เพราะมันอาจหลอกตาและคิดวาดภาพไปเองได้ เราจึงอยากชวนให้มาดูตัวเลขเพิ่มอีก 4 ค่าในตารางนั้น ยกกรณีแขวงพญาไท จตุจักร มาเป็นกรณีศึกษาถัดไป ตัวเลขในลำดับที่ 2 และ 3 ชี้ให้เห็นชัดว่าค่า PM2.5 ณ ชั่วโมงนั้นเท่ากับ 68 และ 81 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับในช่วงเช้าของวันที่ 16 ม.ค. 64 และเท่ากับ 46 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในช่วงเย็นของวันที่ 17 ม.ค. 64 ซึ่งตัวเลขนี้กลับค่อนข้างสอดคล้องกับภาพที่ตาเห็น (ภาพที่ 2 และ3) ซึ่งไม่ตรงกับข้อสรุปที่ได้จากกรณีแรกหรือที่นนทบุรีในวันที่ 2 ม.ค. 64 (ลำดับที่ 1) ดังที่ว่ามา

มองต่อไปที่ลำดับที่ 4 หรือที่ดินแดง ซึ่งภาพถ่ายที่ 4 ก็ชี้ให้เห็นว่าฟ้าขุ่นมัว และตัวเลขก็บ่งบอกว่าค่า PM2.5 รายชั่วโมงนั้นก็สอดคล้องกัน คือสูงจริง ซึ่งตรงกับข้อสรุปของกรณีจตุจักรและพญาไทเช่นกัน

สรุปในสรุป คือ การดูด้วยตาแม้ในช่วงความชื้นในอากาศต่ำแบบในฤดูหนาวต้นปี 2564 ก็ยังยืนยันไม่ได้ 100% ทีเดียวนักว่าหากเราใช้ตามองและเห็นท้องฟ้าขุ่นมัวตัวเลข PM2.5 จะต้องสูงตามไปด้วย แต่แนวโน้มก็น่าจะเป็นเช่นนั้น

ข้อสังเกตที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถดึงมาได้จากข้อมูลและภาพที่ 1 ถึง 4 ดังกล่าว คือ ในช่วงนั้นสถานการณ์โควิด-19 วิกฤติมาก คนในสังคมทำงานที่บ้านและลดการใช้รถยนต์อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งค่า PM2.5 ควรจะต้องต่ำเพราะจราจรต่ำมากโดยเฉพาะในวันมาฆบูชา 26 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ตัวเลขมันกลับฟ้องว่ามันก็มิได้ต่ำตามไปด้วย ซึ่งนี่นำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า…

ถ้าเช่นนั้นที่บอกๆ กันว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 มาจากการจราจรในเมืองเป็นหลักใหญ่นั้น ก็อาจจะไม่จริงสิ

นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรทางภูมิอากาศต้องเร่งหาคำตอบมาให้เราและผู้บริหารประเทศ เพื่อที่จะนำความรู้นั้นมากำหนดมาตรการที่ถูกต้องมาใช้กำกับดูแลกันต่อไป