รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต่อจากตอนที่ 3
ขอย้ำอีกครั้งว่า แม้จะเขียนจั่วหัวเรื่องไว้ในตอน 1 ว่าเป็นเรื่องดราม่า อันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานครที่เลวมากในช่วงปลายมกราคมต่อต้นกุมภาพันธ์เมื่อต้นปี 2561 โดยดูหรือวัดเอาจากค่าสารมลพิษอากาศหรือ PM2.5 แต่เมื่อเวลาผ่านไปสภาพลมฟ้าดีขึ้น ลมร้อนเริ่มมาและพัดแรงขึ้น มลพิษทั้งหลายซึ่งจริงๆ ไม่ได้มีแค่เพียง PM2.5 ก็ถูกพัดพาให้กระจายออกไป ปัญหามลพิษอากาศจึงน้อยลง และดราม่าเรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับเรื่องอื่นๆ คือจางหายไปกับสายลม แต่ในกรณีนี้มันหายไปกับสายลมจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่การเปรียบเปรย แต่เราจะต้องมาทำตัวแบบ “รู้ให้ไว ไหวให้ทัน” เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที โดยต้องเรียนรู้ในรายละเอียดที่จะกล่าวถึงต่อไป ดังนี้
เรื่องแรก: เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก ซีเรียสจนต้องรู้ให้ไว ไหวให้ทัน คือองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ที่ปัจจุบันกำหนดให้ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของคุณภาพอากาศในรูปฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มาตรฐานของไทยเราอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมถึงค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปี PM2.5 ของ WHO ก็อยู่ที่เพียง 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีของไทยเป็น 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งก็ได้มีเสียงเรียกร้องและสอบถามว่าเหตุใดไทยเราจึงไม่ลดค่ากำหนดนี้ให้ลงมาเท่ากับของ WHO
กับเพียงแค่มาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงปัจจุบันที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เราก็ยังทำไม่ได้ในทุกๆ ปี ถ้าลดไปเป็น 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตาม WHO ก็คงไม่ได้มาตรฐานกันเกือบทุกวันในช่วงเดือนเสี่ยง (ฤดูลมสงบ) และกรุงเทพมหานครรวมทั้งอีกหลายเมืองในประเทศไทย ถ้าดูเฉพาะจากตัวเลขก็จะกลายเป็นเมืองที่มีอากาศหายใจไม่ได้เอาทีเดียว และดราม่าก็จะมาอย่างรุนแรงกว่าเมื่อต้นปี 2561 นี้อีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย ก็อย่างที่บอกแหละว่าต้องรู้ให้ไว ไหวให้ทัน และจัดเตรียมนโยบายและแผนงาน รวมทั้งมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เอาไว้สำหรับรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
เรื่องที่ 2 มาตรการเด็ดขาด: ค่าฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ปกติไม่ได้สูงตลอดปี ค่านี้จะลดลงเมื่อภูมิอากาศมีสภาพลมแรง และสารมลพิษถูกพัดพาให้กระจายตัวไปได้มากและเร็ว ค่า PM2.5 จะสูงเป็นบางวันในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม และเมื่อมีค่าสูงในบางวันนั้นภาคราชการก็จะออกประกาศเตือนให้ประชาชนอยู่ในบ้าน (ไม่น่าเวิร์ก เพราะคนมันต้องออกจากบ้านไปทำธุรกิจและภารกิจ รวมทั้งคุณภาพอากาศในหลายบ้านแย่กว่าอากาศภายนอกเสียอีกด้วยซ้ำ), ให้ประชาชนใช้หน้ากากป้องกันมลพิษแบบ N95 ที่ละเอียดมาก (ไม่เวิร์ก เพราะหายใจไม่สะดวกเรียกว่าไม่ได้เลยก็คงไม่ผิดนัก), งดการออกกำลังกายนอกบ้าน (ข้อนี้อาจพอได้ แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาจริง) ฯลฯ
รวมทั้งภาครัฐก็จะขอความร่วมมือไปยังผู้ก่อมลพิษอากาศทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การขับรถยนต์ การเผาเชื้อเพลิงในโรงงาน การเผาในที่โล่ง ซึ่งปรากฏว่าที่ผ่านมาหลายปีนั้นไม่มีผู้ใดให้ความร่วมมือเลย ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่รุนแรงนี้จะมามัวขอแต่ความร่วมมือจากคนอื่นไม่ได้ รัฐนั่นแหละที่ต้องใช้มาตรการเด็ดขาดมาบังคับสถานเดียว จึงจะเวิร์ก
เรื่องที่ 3 มาตรการระยะสั้น: จากการที่ได้พูดคุยและรับฟังเจ้าหน้าที่รัฐ พอจะสรุปได้ว่ามาตรการระยะสั้นที่ภาครัฐวางแผนไว้สำหรับต่อกรเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน คือค่า PM2.5 เกินมาตรฐาน มีดังนี้
-
1) ควันพิษจากรถยนต์จะสูงขึ้นถ้าความเร็วของรถยนต์ต่ำลง (ดูรูปที่ 1) ดังนั้น ถ้าต้องการจะลดปัญหามลพิษอากาศ เราต้องทำให้การจราจรคล่องตัวและรถวิ่งได้เร็วขึ้น
2) ห้ามจอดในที่ห้ามจอด, ตรวจจับรถควันดำอย่างเข้มงวด, ห้ามรถควันดำวิ่งบนท้องถนน, รถบรรทุกต้องมีผ้าใบคลุมมิดชิด ฯลฯ
3) ประกาศให้รถเลขทะเบียนเลขคู่วิ่งได้เฉพาะวันคู่ และรถทะเบียนเลขคี่วิ่งได้เฉพาะวันคี่
4) ประกาศสั่งห้ามรถดีเซลวิ่ง
5) ควบคุมและกำกับดูแลการก่อสร้าง มิให้มีการปล่อยฝุ่นออกมาเกินมาตรฐานที่กำหนด
6) ทำความสะอาดถนน
7) เพิ่มพื้นที่สีเขียว
8) รณรงค์ให้ผู้ขายอาหารปิ้งย่างใช้เตาลดมลพิษ
9) ใช้มาตรการสั่งหยุดก่อสร้างทันที
10) ควบคุมกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งโรงไฟฟ้าที่มีการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล และระบบควบคุมมลพิษ มิให้ปล่อยสารมลพิษเกินมาตรฐาน
11) สั่งลดหรือหยุดการผลิต เมื่อเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นๆ
12) ประกาศห้ามประชาชนเผาขยะ สิ่งเหลือใช้หรือของเสียจากการเกษตร ฯลฯ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ในมาตรการต่างๆ เหล่านี้ มีข้อสังเกตคือ ส่วนใหญ่มีกฎหมายรองรับและต้องปฏิบัติอยู่แล้ว แต่บางข้ออาจมีปัญหาที่เจ้าหน้าที่รัฐอาจมิกล้าสั่งการทันที เช่น ข้อ (3) ให้รถวิ่งวันคู่วันคี่, ข้อ (4) ห้ามรถดีเซลวิ่ง, ข้อ (9) สั่งหยุดการก่อสร้าง, ข้อ (11) สั่งโรงงานลดหรือหยุดการผลิต และข้อ (12) ห้ามประชาชนเผาขยะ เพราะติดที่ตัวบทกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของทางราชการ ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาให้ได้ทันท่วงทีก็จำเป็นต้องมีกฎระเบียบใหม่มารองรับ ให้เจ้าหน้าที่รัฐมีหลังพิง และกฎระเบียบรวมทั้งขั้นตอนสั่งการที่เด่นชัดเหล่านี้ต้องเตรียมไว้ตั้งแต่บัดนี้ หากต้องอาศัยอำนาจบริหารของรัฐบาล เช่น จัดเป็นมติคณะรัฐมนตรี ฯลฯ ก็ต้องทำ เพราะมิฉะนั้น เมื่อถึงเวลานั้น เราก็จะมาพูดถึงมาตรการสิบกว่าข้อนี้กันอีกครั้งและอีกครั้ง ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอย่างไรและปอดคนกรุงเทพฯ ก็ต้องพังกันต่อไป
โปรดสังเกตว่าผู้เขียนไม่ได้เอ่ยถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เลยในเรื่องมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา เพราะ สธ. ก็เหมือนภาคประชาชน คือเป็นผู้ถูกกระทำ ไม่ใช่เป็นผู้กระทำ ดังนั้น หากเราแก้ปัญหาโดยให้ผู้กระทำนั้นรับผิดชอบในการแก้ปัญหาจนสำเร็จได้ ผู้ถูกกระทำก็ไม่มีอะไรจะต้องทำอีกต่อไป และเราเชื่อในมาตรการป้องกันปัญหาแต่ต้นเหตุมากกว่ามาตรการการป้องกันปัญหา (ส่วนบุคคล) ที่ปลายเหตุ
เรื่องที่ 4 มาตรการระยะยาว: มาตรการพวกนี้เป็นมาตรการระดับนโยบาย จึงจะขอเอ่ยถึงไว้เพียงสั้นๆ ในที่นี้ว่ามีอะไรบ้างดังนี้
-
1) ต้องเปลี่ยนให้น้ำมันรถยนต์มีคุณภาพดีขึ้น โดยเปลี่ยนจากมาตรฐานยูโร 4 เป็นยูโร 5 และยูโร 6 ในที่สุด
2) รับรถขนส่งมวลชนทุกคัน ทั้งของรัฐและของเอกชน เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
3) จัดให้มีระบบ NMT หรือ Non-Motorized Transportation ที่เป็นจริง ใช้งานได้ และสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้งาน จนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม ลดหรือเลิกการใช้รถยนต์ส่วนตัวที่ใช้เครื่องยนต์มาใช้รถที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน
4) จัดทำผังเมืองที่บูรณาการ เอาประเด็นลดมลพิษอากาศเข้าไปในกระบวนการคิดและกระบวนการการทำงานรวมทั้งจัดวางผัง
5) จัดเก็บภาษีมลพิษจากผู้ก่อให้เกิดมลพิษ
ซึ่งถ้าเราทำได้จริงทั้งหมด ทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาวที่กล่าวมานี้อย่างเด็ดขาดและทันท่วงที เราก็คงจะมีอากาศที่มีคุณภาพที่เราสามารถหายใจกันได้เต็มปอด เหมือนที่เคยทำกันมาได้ในอดีต และเราภาวนาขอให้เป็นเช่นนั้นได้จริงในเร็ววัน