ThaiPublica > คอลัมน์ > ดรามา เรื่อง PM2.5 ตอน ๙ : ปิดโรงเรียน หนีฝุ่น

ดรามา เรื่อง PM2.5 ตอน ๙ : ปิดโรงเรียน หนีฝุ่น

11 กุมภาพันธ์ 2020


รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล,ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อจากตอนที่8

เมื่อกลางเดือนมกราคม 2563 ฝุ่น PM2.5 ได้กลับเข้ามารุนแรงในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครอีกครั้ง ผู้คนพากันบ่นและก่นด่าภาครัฐว่าเหตุใดจึงไม่จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ปัญหามันหมดไป เพราะพวกเขานอกจากจะกริ่งเกรงเรื่องปัญหาสุขภาพทางกายแล้วยังเกิดความเครียดจนทำให้มีผลต่อสุขภาพจิตด้วย สุดท้ายกรุงเทพมหานครทนต่อแรงกดดันจากสังคมไม่ได้จึงได้สั่งปิดโรงเรียน 400 กว่าแห่ง โดยมีจุดประสงค์ที่จะให้เด็กนักเรียนไม่ต้องเดินทางไปโรงเรียน และหวังว่าเด็กๆ จะได้ไม่ต้องเผชิญกับฝุ่น PM2.5 รวมทั้งจะได้ลดปริมาณจราจรบนถนน อันจะช่วยส่งเสริมให้จราจรคล่องตัวขึ้นและความเข้มข้นฝุ่นจิ๋วจะลดลง

แต่มันเป็นเช่นนั้นหรือไม่ และเราควรใช้มาตรการนี้ในโอกาสครั้งต่อๆ ไปที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 รุนแรงขึ้นอีกหรือไม่ เรามาดูเหตุและผลของเหตุการณ์นี้กัน

ลดปริมาณการจราจรได้จริงไหม ตรงนี้มีหลายบริบทที่ต้องพิจารณา เช่น (ก) ถ้าเป็นกรณีผู้ปกครองมีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีรถยนต์ส่วนตัวใช้ ส่งลูกไปโรงเรียนเอกชน มาตรการนี้ก็คงได้ผลถ้า (ถ้าตัวโตๆ) ผู้ปกครองยอมเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถจากการใช้รถส่วนตัวไปส่งลูกไปโรงเรียน ไปเป็นการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ (เพราะไม่ต้องไปส่งลูกไปโรงเรียนแล้ว) แต่คงไม่มีสักกี่คนที่จะทำเช่นนั้น ดังนั้นความคาดหวังที่จราจรจะเบาบางลงก็คงไม่บรรลุวัตถุประสงค์ (ข) กรณีผู้ปกครองไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล และต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์ รถตุ๊กตุ๊ก ฯลฯ ส่งลูกไปโรงเรียนก่อนที่จะเดินทางต่อเพื่อไปทำงาน ผู้ปกครองกลุ่มนี้มักมีบุตรหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนในสังกัดของ สพฐ. หรือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นนักเรียนกลุ่มใหญ่ของนักเรียนทั้งหมดใน กทม. ผู้ปกครองกลุ่มนี้เมื่อไม่มีและไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว การที่จะลดความหนาแน่นของจราจรก็จะไม่บรรลุผลอีกเช่นกัน

หันมาดูเรื่องปัญหาของฝ่ายผู้ปกครองบ้าง เมื่อโรงเรียนต้องถูกสั่งปิดชั่วคราว ลูกเล็กๆ ที่เรียนอยู่ชั้นประถมไม่ได้ไปโรงเรียน ลูกต้องอยู่บ้าน ถ้าที่บ้านมีปู่ย่าตายายคอยดูแลก็คงไม่กระไร ปัญหาไม่มาก แต่ด้วยภาวะการณ์ปัจจุบันของสังคมคนกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนจากครอบครัวใหญ่เป็นครอบครัวเล็ก อยู่ด้วยกันเพียงพ่อ แม่ และลูก ทำให้ไม่มีคนคอยดูแลเด็กเมื่อเด็กต้องอยู่บ้านโดยลำพัง หรืออาจมีพี่เลี้ยงในบ้านอีกคนแต่พ่อแม่ก็อาจไม่ต้องการให้พี่เลี้ยงเป็นคนดูแลเด็กโดยลำพังอีกเช่นกัน จึงเป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิตทั้งส่วนตัวและการงานอย่างมาก เกิดเป็นความอึดอัดและเครียดได้มากสำหรับหลายๆ ครอบครัว

ส่วนในกรณีที่เด็กโตแล้วและดูแลตัวเองได้และอยู่บ้านโดยลำพังได้ ก็มีคำถามเชิงพิษวิทยาตามมาอีกว่า แล้วอยู่บ้านจะได้ฝุ่นน้อยกว่าที่โรงเรียนได้อย่างไรถ้ากรณีเป็นบ้านเปิดเหมือนที่โรงเรียน และยิ่งถ้าโรงเรียนมีห้องแอร์ มีเครื่องกรองฝุ่นในห้อง จะไม่เป็นการดีกว่าหรือหากจะให้เด็กได้ไปโรงเรียน และเราต้องทำความเข้าใจให้เด่นชัดด้วยว่าฝุ่นจิ๋วนั้นไม่ใช่ไวรัสและไม่เป็นสาเหตุของโรคติดต่อเหมือนไข้หวัด การไปโรงเรียนและอยู่ร่วมกันหลายคนจึงไม่ได้เพิ่มปัญหาสุขภาพในส่วนนี้แต่ประการใด

นี่จึงเป็นปัญหาทางสังคมที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทางรัฐศาสตร์อันเป็นผลมาจากมลพิษที่เป็นปัญหาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทางแก้ที่ถูกต้องจึงต้องแก้ที่ต้นทางและด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อย่างที่นักวิชาการหลายๆ ท่านได้ออกมานำเสนอแล้วเป็นระยะๆ แต่ไม่ใช่เพียงการปิดโรงเรียนหนีฝุ่นแน่นอน

สำหรับกรณีเมื่อปล่อยให้เด็กอยู่บ้านโดยลำพังไม่ได้ ผู้ปกครองก็ต้องเอาลูกกระเตงไปทำงานด้วย หรือบางคนอาจต้องพาไปฝากญาติหรือคนอื่นดูแลให้ จะด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือด้วยระบบขนส่งสาธารณะก็ตาม ความหนาแน่นจราจรจึงเลวลงกว่าเดิมเสียอีก หรืออย่างเก่งก็ได้เพียงเหมือนเดิม ปัญหาฝุ่น PM2.5 จึงไม่ได้ลดลงไปจากเดิมด้วยมาตรการปิดโรงเรียนนี้ นอกจากนี้เมื่อเอาเด็กไปฝากคนอื่นดูแล เด็กก็ต้องเดินทางออกจากบ้านเหมือนเดิม ไปรับฝุ่น PM2.5 ที่ทำงานหรือที่บ้านญาติแทนที่จะเป็นที่บ้าน การรับฝุ่นเข้าร่างกายจึงเหมือนเดิมและไม่ลดลงตามที่ได้ตั้งใจไว้

ดังนั้น ในฐานะนักวิชาการด้านมลพิษ เราจึงเชื่อว่าการแก้ไขต้องแก้ที่ต้นเหตุโดยเร็ว ไม่ใช่ปิดโรงเรียน แต่เปิดโรงงาน อันเป็นคำคมที่นักพิษวิทยาระดับปริญญาเอกท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ เมื่อไม่นานมานี้