ThaiPublica > คอลัมน์ > 7 รอยปริ ปั่นป่วนโลก

7 รอยปริ ปั่นป่วนโลก

20 ธันวาคม 2020


ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์

เรากำลังอยู่ในโลกที่อยู่ยากขึ้น !!

หลายสิ่งรอบตัวเรากลายเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก มีความสุดโต่ง ความย้อนแย้ง ความไม่แน่นอน และความซับซ้อนในระดับที่สูง
สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ “อนาคตที่ไร้ความชัดเจน” เราไม่สามารถคาดเดาว่า เหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นจะนำพาเราไปสู่เหตุการณ์อะไรตามมา เหตุการณ์ 9-11 การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน หรือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ล้วนแต่เป็นตัวอย่างที่บ่งชี้ถึงอนาคตที่ไร้ความชัดเจนที่ได้เกิดขึ้น หรือกำลังจะเกิดขึ้นในหลากมิติในระดับที่เข้มข้นขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงที่กว้างขึ้น

อนาคตที่ไม่ชัดเจน เกิดขึ้นจาก “โลกที่ไร้สมดุล” (Imbalanced World) โดยเป็นความไร้สมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ

ความไร้สมดุลดังกล่าว มีปฐมบทมาจาก “7 รอยปริในระบบ” (7 Systemic Divides) จนก่อเกิดเป็น “วิกฤติซ้ำซาก” และ “วิกฤติซ้อนวิกฤติ” ที่ปั่นป่วนโลกและประเทศไทยของเราอยู่ ณ ขณะนี้

1) ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมากเกินไป ใช้ศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดน้อยเกินไป

ทรัพยากรธรรมชาตินั้นใช้แล้วหมดไปแต่กลับถูกนำมาใช้อย่างไม่จำกัด เกิดเป็นปัญหามลพิษ การขาดแคลนทรัพยากร และความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ในขณะที่ศักยภาพทุนมนุษย์นั้นมีอยู่อย่างไม่จำกัดกลับถูกละเลย ขาดการพัฒนา ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามศักยภาพและความสามารถของแต่ละคน

2) เห็นแก่ผู้คนในปัจจุบันมากเกินไป คิดเผื่อคนรุ่นหลังน้อยเกินไป

ทรัพยากรในโลกปัจจุบันถูกใช้ไปเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนในยุคปัจจุบันโดยไม่คำนึงถึงการขาดแคลนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนรุ่นหลังเท่าที่ควร

3) เน้นหนักการบริโภคมากเกินไป เน้นหนักคุณภาพชีวิตน้อยเกินไป

เราอยู่ในโลกที่ผู้คนเสพติดการบริโภคสินค้าและบริการ เป็นความต้องการที่ปั้นแต่งจากภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอิทธิพลของการตลาดและกระแสสังคม แทนที่จะมุ่งเน้นการมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง มีคุณภาพ และการใช้ชีวิตให้เหมาะสมตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงจากภายใน

4) ตอบสนองต่อความต้องการที่ล้นเกินของคนรวยมากเกินไป ตอบสนองต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานของคนจนน้อยเกินไป

กระบวนทัศน์การพัฒนาที่มุ่งสู่ความทันสมัย ซึ่งเป็นฐานความคิดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ได้ถ่างช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น คนรวยมีสิ่งที่ต้องการจนล้นเกิน หากแต่คนจนกลับขาดซึ่งสิ่งที่จำเป็นอีกมากมายต่อการดำรงชีวิต

5) ให้ค่ากับความชาญฉลาดในการดำเนินธุรกิจมากเกินไป ให้ค่ากับคุณธรรมจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจน้อยเกินไป

เราอยู่ในสังคมที่ให้ค่าความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ ความสามารถในการทำกำไร การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ไม่ค่อยชื่นชมธุรกิจที่มีการเกื้อกูลและแบ่งปัน มีความยุติธรรม การเคารพกฎกติกา และการไม่เอารัดเอาเปรียบสังคม

6) เรียนรู้จากความสำเร็จมากเกินไป ถอดบทเรียนจากความผิดพลาดและความล้มเหลวน้อยเกินไป

เรามักจะชื่นชมและเรียนรู้จากความสำเร็จแต่มองข้ามคุณค่าการเรียนรู้จากความผิดพลาดและความล้มเหลว ทั้งๆที่ความสำเร็จและความล้มเหลวเป็นความจริงของเหรียญเดียวกันแต่คนละด้าน

7) ให้ความสำคัญกับปัญญาประดิษฐ์มากเกินไป ให้ความสำคัญกับปัญญามนุษย์น้อยเกินไป

ด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าทำให้เกิดการใช้งานปัญญาประดิษฐ์อย่างกว้างขวาง หากแต่ต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาปัญญามนุษย์ควบคู่ไปด้วย

ที่ผ่านมา พวกเราไม่เคยคิดเข้าไปแก้ไขที่รากเหง้าของปัญหา เพื่อเชื่อมประสานทั้ง 7 รอยปริในระบบอย่างจริงจัง จนทำให้เกิดโลกที่ไร้สมดุล เกิดความเสี่ยงและภัยคุกคาม จนก่อตัวเป็นวิกฤติซ้ำซาก และวิกฤติเชิงซ้อน อย่างที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน