ThaiPublica > คอลัมน์ > 7 วาระประเทศไทยในโลกหลังโควิด : 2|7 ปู 4 ฐานราก ปัก 7 เสาหลักประชาธิปไตย

7 วาระประเทศไทยในโลกหลังโควิด : 2|7 ปู 4 ฐานราก ปัก 7 เสาหลักประชาธิปไตย

14 มกราคม 2021


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ระดับรายได้และความเป็นอยู่ของชนชั้นล่างดีขึ้นในระดับหนึ่ง เกิดการขยับชั้นทางสังคม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภค social media ในรูปแบบต่างๆ ทำให้ประชาชนเกิดการรับรู้และมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ข้อต่อตัวสำคัญที่ยังขาดหายไป ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมา คือ “กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง” (Democratization Process) ทั้งในส่วนโครงสร้างและวัฒนธรรมประชาธิปไตย
โครงสร้างประชาธิปไตยเปรียบเสมือน “ฐานราก” ที่สำคัญ ส่วนวัฒนธรรมประชาธิปไตยเปรียบเสมือน “เสาหลัก” ที่ค้ำประชาธิปไตยไว้

ระบอบประชาธิปไตยในสังคมสมัยใหม่ ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ที่ยอมรับการปกครองของรัฐบาล เพราะมี “สัญญาประชาคม” ร่วมกัน โดยมอบหมายให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้บริหารจัดการแทน เพื่อประโยชน์ของสมาชิกทั้งหมดในสังคม

หากรัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่ตามสัญญาประชาคม ประชาชนก็มีสิทธิ์ดื้อแพ่ง ไม่เชื่อฟัง สามารถเข้าชื่อยื่นถอดถอน คัดค้าน ต่อต้านหรือเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบ “สันติวิธี”

กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง จะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญในการเปิด “พื้นที่ร่วม” และสร้าง “เจตจำนงร่วม” ของผู้คน เพื่อรองรับโอกาสและภัยคุกคามที่เกิดขึ้น ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

ปู 4 ฐานรากประชาธิปไตย

โมเดลการปกครองที่เหมาะสมกับสังคมไทย หลังจากล้มลุกคลุกคลานมามากกว่า 80 ปี ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 น่าจะเป็น “ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม” โดยการผสมผสานของ 4 ฐานราก ประกอบไปด้วย

ฐานรากที่ 1| ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy)
ฐานรากที่ 2| ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy)
ฐานรากที่ 3| ประชาธิปไตยปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy)
ฐานรากที่ 4| ประชาธิปไตยตรวจสอบรอบด้าน (Counter-Democracy)

ประชาธิปไตยทั้ง 4 ฐานราก เสริมซึ่งกันและกัน กล่าวคือ

    1. ประชาธิปไตยแบบตัวแทน เป็นตัววางฐานเชิงสถาบันให้กับระบบการเมืองในภาพใหญ่ ทำหน้าที่เชื่อมโยงการเมืองระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับพื้นที่เข้าด้วยกัน
    2. ประชาธิปไตยทางตรง จะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนสร้างความเข้มแข็ง เพื่อเปลี่ยนผ่านจาก “พลเมืองที่เฉื่อยชา” เป็น “พลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ”
    3. ประชาธิปไตยปรึกษาหารือ จะเปิดพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ
    4. ประชาธิปไตยตรวจสอบรอบด้าน จะทำหน้าที่ท้าทายกฎเกณฑ์ต่างๆที่ทั้ง 3 ฐานรากประชาธิปไตยข้างต้นสร้างขึ้น ว่าตอบโจทย์สังคม ดำเนินการด้วยหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด

หากประชาธิปไตยทั้ง 4 ฐานรากนี้ทำงานประสานสอดคล้องกัน จะเกิดพลวัตเชิงบวกขึ้นในระบบการเมืองไทย เพราะจะเป็นหลักประกันให้เกิด “สังคมที่เป็นธรรม” “สังคมแห่งโอกาส” และ “สังคมที่เกื้อกูลแบ่งปัน” ขึ้น อีกทั้งเป็นกลไกสำคัญในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง จาก “รัฐที่กำกับควบคุมสังคม” ซึ่งเป็นโครงสร้างอำนาจแนวตั้ง เป็น “สังคมที่กำกับดูแลกันเอง” ซึ่งเป็นโครงสร้างอำนาจแนวนอน ในที่สุด

ปัก 7 เสาหลักประชาธิปไตย

วัฒนธรรมประชาธิปไตยเป็นตัวกำกับโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตย หากปราศจากวัฒนธรรมประชาธิปไตย ระบอบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ก็จะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้

วัฒนธรรมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างน้อยต้องมี 7 เสาหลักสำคัญ

เสาหลักที่ 1| เคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
เสาหลักที่ 2| มีการปกครองโดยกฎหมาย
เสาหลักที่ 3| มีกระบวนการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม
เสาหลักที่ 4| มีขันติธรรมทางการเมือง
เสาหลักที่ 5| มีความโปร่งใสและความรับผิดรับชอบต่อประชาชน
เสาหลักที่ 6| มีระบบคานอำนาจ
เสาหลักที่ 7| เน้นการกระจายอำนาจ

วัฒนธรรมประชาธิปไตยที่สะท้อนผ่าน “ 7 เสาหลักประชาธิปไตย” ต้องไปด้วยกัน หากขาดเสาหลักใดเพียงเสาหลักหนึ่ง ต่อให้มีฐานรากประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง ความเป็นประชาธิปไตยก็จะไม่สมบูรณ์

เปลี่ยนประเทศไทยด้วยพลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ

ในโลกศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยความสุดโต่ง ย้อนแย้ง ซับซ้อน และไม่แน่นอน การเป็นพลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ (Engaged Citizen) จะทำให้ผู้คนสามารถค้นหาความสัมพันธ์ และความหมายระหว่างตัวเขากับสังคม ตัวเขากับรัฐ รวมถึงตัวเขากับโลก

ในทางตรงกันข้าม หากประชาชนเหล่านี้ยังเป็นพลเมืองที่เฉื่อยชา (Passive Citizen) พวกเขาจะตกอยู่ในสภาวะสับสน ไม่เข้าใจบทบาทของตนเอง ไม่มีหลักยึด เพราะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร มีความสัมพันธ์กับคนอื่น สังคม และรัฐ อย่างไร

หัวใจสำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตย 4 ฐานรากและ 7 เสาหลักประชาธิปไตยทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ต้องเริ่มต้นจากภารกิจในการปรับเปลี่ยน พลเมืองที่เฉื่อยชา เป็น พลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ โดยเป็นพลเมืองที่

    1. “รักชาติ รักสถาบัน” ไม่ใช่ “คลั่งชาติ คลั่งสถาบัน”
    2. ใส่ใจเรื่องที่ “ถูกต้อง” มากกว่าเรื่องที่ “ถูกใจ”
    3. เคารพความคิดเห็นที่ “แตกต่าง” มากกว่ามองความแตกต่างเป็นความ “แตกแยก”
    4. มองเรื่อง “ระยะยาว” มากกว่า “ระยะสั้น”
    5. เน้นเรื่อง “ส่วนรวม” มากกว่า “ส่วนตัว”
    6. อยาก “มีส่วนร่วม”ในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นมากกว่า “ธุระไม่ใช่”
    7. เน้น “สิทธิ” ที่พึงมี พร้อมๆกับ “หน้าที่” ที่ต้องรับผิดชอบ

พลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ จะปฏิเสธ “สังคมพึ่งพิงรัฐ” เพราะไม่ต้องการให้รัฐเข้ามายุ่งวุ่นวายกับชีวิตประจำวันของตนมากจนเกินควร และจะปฏิเสธนโยบาย “ประชานิยม” ไปด้วยโดยปริยาย เพราะไม่มีความจำเป็น และจะค่อยๆปรับเปลี่ยนจาก “รัฐที่กำกับควบคุมสังคม” (Government) สู่ “สังคมที่กำกับดูแลกันเอง” (Self Governance) ที่สอดรับกับพลวัตโลกในนศตวรรษที่ 21 มากขึ้น

…ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็น “ประชาธิปไตยเทียม” โดยเป็นการต่อสู้ระหว่าง “อำมาตยาธิปไตย” กับ “ธนาธิปไตย” ซึ่งทั้งคู่ขาดความชอบธรรมในการมีสิทธิอำนาจในการปกครองประเทศ

…ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะปู “4 ฐานราก 7 เสาหลักประชาธิปไตย” ร่วมกัน เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อย่างแท้จริง

ดูเพิ่มเติมได้ใน
– อานันท์ ปันยารชุน “ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน”
– ลิขิต ธีรเวคิน “การเมืองการปกครองของไทย”