ThaiPublica > คอลัมน์ > เปลี่ยน “สังคมของพวกกู” เป็น “สังคมของพวกเรา” ก้าวข้ามกับดัก พ้นจากชาติที่ล้มเหลว

เปลี่ยน “สังคมของพวกกู” เป็น “สังคมของพวกเรา” ก้าวข้ามกับดัก พ้นจากชาติที่ล้มเหลว

16 ธันวาคม 2020


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ความสุดโต่ง ความซับซ้อน ความผันผวน และความไม่แน่นอน

ประเด็นท้าทายคือ พวกเราจะอยู่อย่าง “ปกติสุข” – ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง (Hope) ความสุข (Hapiness) และความสมานฉันท์ (Harmony) -ใน “โลกที่ไม่ใช่ใบเดิม” นี้ได้อย่างไร ?

พวกเราได้แต่พูดถึงวิถีใหม่ (New Normal) แต่ไม่เคยเลยที่จะคิดต่อว่า จะสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ทางสังคม (New Social Ecosystem) เพื่อรองรับวิถีใหม่ดังกล่าวได้อย่างไร ?

ระบบนิเวศน์ของความเป็น “ปกติสุข” ในโลกศตวรรษที่ 21 สะท้อนผ่าน

1) สังคมที่เป็นธรรม (Clean & Clear Society)
2) สังคมแห่งโอกาส (Free & Fair Society)
3) สังคมที่เกื้อกูลแบ่งปัน (Care & Share Society)

โดยทั้ง 3 สังคมนี้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างแนบสนิท เพราะหากมีสังคมที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น ก็จะไม่เกิดความเท่าเทียม แล้วจะไปเพรียกหาสังคมแห่งโอกาสให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ? และเมื่อโอกาสตกอยู่กในมือของคนเพียงหยิบมือเดียวในขณะที่ผู้คนอีกหลายกลุ่มซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ยากจนของประเทศไม่ได้รับโอกาส พวกเราจะไปเรียกหาสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปันให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ผู้คนในโลกที่ไม่เหมือนเดิม จึงเรียกหาความเป็นปกติสุข ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเราต้องช่วยกันสร้างระบบนิเวศน์ทางสังคมขึ้นใหม่ เป็นสังคมที่เป็นธรรม ที่เปิดโอกาสอย่างเท่าเทียม และเป็นสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปันซึ่งกันและกัน

ด้วยความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะปรับเปลี่ยน “สังคมของพวกกู” (Me-Society) เป็น “สังคมของพวกเรา” (We-Society) ผ่านการร่วมสร้างสังคมที่เป็นธรรม สังคมแห่งโอกาส และสังคมเกื้อกูลแบ่งปัน เท่านั้น ที่จะทำให้สังคมไทยเป็น สังคมที่เป็นปกติสุขอย่างยั่งยืน ได้ในศตวรรษที่ 21

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/drsuvitpage

1) ร่วมสร้างสังคมที่เป็นธรรม (Clean & Clear Society)

  • เปลี่ยน Rule by Law เป็น Rule of Law
  • Rule by Law เป็นการปกครองประเทศโดยใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือในการเอื้อประโยชน์ หรือให้แต้มต่อกับคนบางกลุ่ม หรือเป็นเครื่องมือที่เป็นอุปสรรคหรือสร้างความเสียเปรียบให้กับคนอีกบางกลุ่ม

    ในทางตรงข้าม Rule of Law เป็นการปกครองโดยกฎหมายที่สมาชิกในสังคมทุกคนจะได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันและในการบังคับใช้กฎหมายก็จะบังคับใช้ให้เสมอเหมือนกัน

    ในขณะที่ Rule by Law ส่งเสริมการสร้างสังคมของพวกกู Rule of Law เป็นปฐมบทของการสร้างสังคมของพวกเรา

  • กำจัด/ลดทอนส่วนเกินปกติทางเศรษฐกิจ (Economic Rent)
  • ในสังคมของพวกกู ส่วนเกินปกติทางเศรษฐกิจ ถูกสร้างขึ้น เพื่อเอื้อสิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มอภิสิทธิ์ชน

    ในทางตรงกันข้ามในสังคมของพวกเรา ส่วนเกินปกติทางเศรษฐกิจ ถูกลดทอนหรือถูกทำลายลงโดยการเปิดโอกาสให้มีลู่วิ่งสำหรับทุกคน ส่วนแต่ละคนจะวิ่งได้ไกลแค่ไหนเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของคน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแต้มต่อจากความเป็นอภิสิทธิ์ชน

    หากสามารถกำจัด/ลดทอนส่วนเกินปกติทางเศรษฐกิจลงมากขึ้นเท่าไหร่ สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้นเท่านั้น

    2) ร่วมสร้างสังคมแห่งโอกาส (Free & Fair Society)

  • จากมาตรฐานทางกฎหมาย (Legal Standard) สู่ มาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรม (Moral Standard)
  • มาตรฐานทางกฎหมาย เป็นเพียงเงื่อนไขที่จำเป็นแต่ไม่เพียงพอ (Necessary but not Sufficient Condition) ที่จะสร้างสังคมแห่งโอกาส

    ผู้คนในสังคมของพวกกู อาจใช้กฎหมายเป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมของตนเพื่อสร้างสังคมแห่งโอกาส พวกเราจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของผู้คนในสังคมมากกว่าเพียงมาตรฐานทางกฏหมาย ทั้งนี้เพราะคนที่มีคุณธรรมจริยธรรม ย่อมรู้จักความพอดี ความลงตัว ความพอประมาณ เป็นคนที่รู้จักเติมเมื่อขาด รู้จักหยุดเมื่อพอ และรู้จักปันเมื่อเกิน

    สังคมของพวกเรา จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้คนในสังคมนั้นเป็นคนที่รู้จักเติม รู้จักพอ รู้จักปัน ซึ่งเป็น 3 คุณลักษณ์สำคัญของการสร้างสังคมแห่งโอกาส

  • จากการจำกัดการเข้าถึง (Limited Access) และ ความเป็นอภิสิทธิ์ชน (Personal Privilege) สู่การเปิดกว้างการเข้าถึง (Open Access) และสิทธิที่เท่าเทียมของคนทุกคน (Impersonal Rights)
  • ในสังคมของพวกกู การเข้าถึงทรัพยากรและสิทธิประโยชน์ต่างๆถูกจำกัดอยู่จำเพาะกลุ่มเฉพาะราย ต่างกับในสังคมของพวกเราที่ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและสิทธิประโยชน์ต่างๆที่พึงได้รับได้อย่างเท่าเทียม

    ในสังคมของพวกเรา การปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชน เป็นวาระที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ ด้วยการเพิ่มอำนาจต่อรองของส่วนที่ขาด จำเป็นต้องมีการหาดุลยภาพใหม่ (New Equilibrium) ภายใต้ระบบนิเวศน์ใหม่ทางสังคม ด้วยการเน้นการกระจายอำนาจการบริหาร การจัดการทรัพยากร และกลไกที่จำเป็นในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและสังคมแห่งโอกาส ด้วยการเปิดกว้างใน การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ (อาทิ ที่ดินทำกิน ทรัพยากรป่า น้ำ) ทรัพยากรเศรษฐกิจ (อาทิ เงินทุน แรงงาน ตลาด พลังงาน) ทรัพยากรสังคม (อาทิ การศึกษา การเรียนรู้และภูมิปัญญาวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ ระบบสาธารณสุข คุณภาพชีวิต ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน) ตลอดจนทรัพยากรทางการเมือง(อาทิ เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดและการพูด การกระจายอำนาจ การกระจายงบประมาณกระบวนการยุติธรรม การเปิดเผยโดยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร) เป็นต้น

    สังคมของพวกกู เน้นการเพิ่มส่วนแบ่งของพาย (Share of Pie) โดยการผูกขาด เอารัดเอาเปรียบ เบียดบังผู้อื่น บางครั้งก็ใช้ข้ออ้างของกลไกตลาด และกฎเหล็กของความมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Efficiency) ที่สะท้อนผ่านกำไร การเติบโต และการสร้างอำนาจควบคุมเหนือตลาด

    ผิดกับสังคมของพวกเรา ที่เน้นการเพิ่มขนาดของพาย (Size of Pie) เพื่อปันสุขให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม เน้นเน้นประสิทธิภาพทางสังคม (Social Efficiency) ที่สะท้อนผ่านความหวัง ความสุข และความสมานฉันท์ของผู้คนในสังคมเป็นสำคัญ

    3) ร่วมสร้างสังคมเกื้อกูลแบ่งปัน (Care & Share Society)

  • จากสังคมแห่งการแบ่งแยก (Social Exclusion) เป็นสังคมแห่งการมีส่วนร่วม (Social Inclusion)
  • ในสังคมของพวกกูเป็นสังคมที่เน้นการแบ่งแยกชนชั้น (Social Hierarchy) โดยเป็นการจำแนกชนชั้นทางสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมไม่ว่าจะโดยนิตินัยหรือพฤตินัยก็ตาม

    ผิดกับสังคมของพวกเรา ที่เป็นสังคมที่เปิดพื้นที่ร่วม(Common Ground) เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อแสวงหาเจตจำนงร่วม (Common Goals)

    สังคมของพวกเราจะส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนไหวขยับชั้นของผู้คนในสังคม (Social Mobility) อย่างเป็นอิสระโดยการขยับปรับเปลี่ยนสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคม จะเป็นไปตามความรู้ความสามารถ ศักยภาพ บนหลักคิดของความเท่าเทียมที่ถ้วนทั่ว เดินหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

    พร้อมๆกับการยอมรับและเคารพความหลากหลายของชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ คุณค่า และความเชื่อที่แตกต่างของผู้คนในสังคม

  • จากการเพิกเฉย ละเลยพลังของประชาชน การควบคุมแกมบังคับ (Detachment & Enforcement) สู่ การเติมอำนาจและปลดปล่อยศักยภาพ (Encouragement & Empowerment) ของประชาชน
  • สังคมของพวกกู เชื่อใน State Power / Corporate Power เน้นสังคมพึ่งพารัฐ พึ่งพาบริษัทขนาดใหญ่ เน้นความเป็นคุณพ่อผู้รู้ดี เน้นประชานิยม ใช้อำนาจตลาดที่ไม่สมมาตร หรืออำนาจหน้าที่โดยอ้างกติกาหรือตัวบทกฎหมายเป็นสำคัญ

    ผิดกับสังคมของพวกเรา ที่เน้น People Power / Community Power ด้วยการเติมอำนาจและปลดปล่อยศักยภาพของประชาชนและชุมชน เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน มากกว่าเป็น “สังคมที่พึ่งพารัฐ/ บริษัทขนาดใหญ่” เพื่อปรับเปลี่ยนสังคมแนวตั้ง (Vertical Society) เป็นสังคมแนวระนาบ (Horizontal Society) ปรับเปลี่ยนพลเมืองที่เฉื่อยชา (Passive Citizen) เป็นพลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ (Engaged Citizen) รองรับการเผชิญกับประเด็นท้าทายร่วมกันในโลกศตวรรษที่ 21