ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ย้ำยังไม่ถึงขั้น “ล็อกดาวน์”-ไม่ห้ามเดินทางปีใหม่–มติ ครม. กู้เงิน 1.1 หมื่นล้าน รับมือโควิดฯรอบใหม่

นายกฯ ย้ำยังไม่ถึงขั้น “ล็อกดาวน์”-ไม่ห้ามเดินทางปีใหม่–มติ ครม. กู้เงิน 1.1 หมื่นล้าน รับมือโควิดฯรอบใหม่

29 ธันวาคม 2020


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯย้ำยังไม่ถึงขั้น “ล็อกดาวน์” ไม่ห้ามเดินทางปีใหม่ –วอน ปชช.มาจากพื้นที่เสี่ยงให้กักตัว 14 วัน-สั่งลงโทษทุกคนที่เกี่ยวข้อง “บ่อนพนัน”-มติ ครม.กู้เงิน 1.1 หมื่นล้าน รับมือโควิดฯรอบใหม่ -พาณิชย์ฯลดค่าธรรมเนียม 50% ช่วยผู้ประกอบการ 5 จว.ชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งการประชุม ครม. ในวันนี้ถือเป็นนัดสุดท้ายของปี ซึ่งได้มีการเปิดเผยเมนูอาหารในที่ประชุม ครม. ได้แก่ ต้มยำกุ้ง กุ้งเผา กระเพรากุ้ง ปลาหมึกผัดไข่เค็ม ปลากระพงทอดน้ำปลา ปลาหมึกผัดกะปิ ข้าวผัดปู เพื่อการันตีว่าอาหารทะเลนั้นปลอดภัย ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังคงอยู่ระหว่างกักตัว และปฏิบัติงานที่บ้านพัก

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติงานที่บ้านพักขณะอยู่ในระหว่างการกักตัว 14 วัน
เมนูอาหารในที่ประชุม ครม. วันนี้ ได้แก่ ต้มยำกุ้ง กุ้งเผา กระเพรากุ้ง ปลาหมึกผัดไข่เค็ม ปลากระพงทอดน้ำปลา ปลาหมึกผัดกะปิ ข้าวผัดปู

และภายหลังการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการ ณ จังหวัดระยอง เพื่อตรวจเยี่ยมหน่วยตรวจคัดกรองเชิงรุก ณ เนินอุไร พร้อมให้กำลังใจบุคลากรสาธารณสุข ณ โรงพยาบาลระยอง ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ก่อนเดินทางกลับ กทม.

วางแผนปีหน้า ครม. ทำงานเชิงรุก ยึดหลักโปร่งใส

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการชี้แจงในเว็บไซต์ของรัฐบาล เว็บไซต์ไทยคู่ฟ้า วันนี้ไม่ใช่การสัมภาษณ์โดยตรงจากสื่อมวลชน

ทั้งนี้ตนอยากจะเล่าให้ฟังว่าการประชุม ครม. นัดสุดท้ายของปีนั้นตนได้วางแนวทางในการดำเนินงานในปีข้างหน้าไว้อย่างไร ซึ่งตนได้เคยกล่าวไปแล้วว่าจะต้องทำงาน 3 อย่างด้วยกัน คือ ทำงานเพื่อลดปัญหาอุปสรรคในช่วงที่ผ่านมา ในปัจจุบัน และในอนาคตก็ต้องเตรียมการไว้ด้วย พร้อมกันนี้ได้ขอความร่วมมือจาก ครม. ทั้งคณะให้ทำงานเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้น บูรณาการกันให้มากขึ้น และขอให้ยึดหลักความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้เสมอ

“ถือว่าเราอยู่ด้วยกันเราต้องร่วมมือกันในการทำงาน เราบังคับเขาไม่ได้มากนัก แต่เราต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับกฎหมายกับกฎกติกาต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน สถานการณ์โลกนั้นเปลี่ยนกันไปตลอดเวลา อาจจะเรียกได้ว่าทุกวันทุกเวลาทุกนาที ก็ได้เราไม่สามารถบังคับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือพัฒนาตัวเองให้พร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ตลอดเวลา อันนี้เป็นสิ่งที่ผมกราบเรียนให้ทุกท่านทราบด้วยเราต้องร่วมกันฟันฝ่าต่อสู้ไปด้วยกันทั้ง ครม. รัฐบาล และประชาชนทุกภาคส่วน ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน หรือที่เรียกว่า รวมใจสร้างชาติ”

ไม่ห้ามเดินทางปีใหม่ วอน ปชช.มาจากพื้นที่เสี่ยงให้กักตัว 14 วัน

ต่อคำถามถึงมาตรการดูแลผู้กลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้ห้ามเดินทาง แต่ผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนานั้น ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างจริงจัง ทุกคนต้องสร้างวินัยให้กับตัวเอง ขอให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดระหว่างการเดินทางทั้งครอบครัวและเพื่อนฝูง และปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ที่เดินทางไป

“ในช่วงเทศกาลเราไม่ได้หมายความว่าจะห้ามเดินทาง แต่ก็มีมาตรการเฉพาะพื้นที่อยู่ ซึ่งคนที่อยู่ในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดในขณะนี้ต้องระมัดระวังตัวเองด้วย ระมัดระวังให้คนอื่นเขาไปด้วยแล้วกันถือเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม เพราะเราก็ไม่รู้ว่าบางคนมีเชื้ออยู่หรือเปล่า ถ้าสงสัยตัวเองว่าไปในที่ที่มีความเสี่ยงมา ขอให้กักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หากมีอาการอย่างไร ก็ขอให้ไปพบแพทย์ นี่คือ สิ่งที่ผมอยากจะขอร้องพวกเราในช่วงนี้ เพราะทุกคนต้องทำเพื่อส่วนรวมด้วยกันทั้งสิ้น”

สั่งลงโทษทุกคนที่เกี่ยวข้อง “บ่อนพนัน”

ต่อกรณีการเอาผิดกับบ่อนการพนัน พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ในส่วนของบ่อนการพนันนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ต้องแก้ไขต่อไป และตนในฐานะที่ดูแลฝ่ายความมั่นคงก็ต้องดูแลและลงโทษทุกคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเบื้องต้นในเรื่องของการปล่อยปละละเลยตนได้สั่งการให้ลงโทษไปแล้ว และต่อไปเป็นเรื่องของการพิสูจน์ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยในตอนนี้ได้มีการโพสต์ให้ข้อมูลในโซเชียลจำนวนมากว่ามีบ่อนเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ และมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง พร้อมยืนยันไม่แก้ตัวให้ใครทั้งสิ้น

“ผมก็ขอเตือนว่าถ้ามีการเผยแพร่เรื่องนี้ออกมาจะมีความผิดหรือเปล่า ผมก็ไม่ทราบ เรื่องของการที่รู้ข้อมูลการกระทำทุจริตผิดกฎหมายแล้วไม่แจ้งความดำเนินคดี ไม่ให้หน่วยงานรับทราบ ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง ก็ต้องพิสูจน์ทราบต่อไป ผมจะไม่แก้ตัวให้ใคร เพราะตราบใดที่มีปัญหาอยู่ ผมก็ต้องแก้ ขอให้เข้าใจรัฐบาลตรงนี้ด้วย”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวไปถึงผู้ปฏิบัติงานที่ที่ดูแลงานได้เป็นอย่างดีในทุกเรื่องว่า ตนขอชื่นชมให้กำลังใจให้ท่านทำงานต่อไป นี่คือสิ่งที่จะได้รับสิ่งตอบแทนเป็นสิ่งที่ดีในอนาคต ปรากฏในชีวิตการรับราชการของท่าน ทั้งการเมืองและในส่วนของข้าราชการประจำ

ตรวจราชการระยองให้กำลังใจ จนท.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบราชการที่จังหวัดระยองในวันนี้ พร้อมขอบคุณประชาชนที่ห่วงใย โดยตนให้คำมั่นว่าจะระมัดระวังตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาตนได้มีการตรวจโควิดฯ อยู่เป็นระยะๆ อยู่แล้ว ซึ่งตนไม่ต้องการป่วยเพราะยังต้องทำงาน เกรงว่างานจะไม่ต่อเนื่อง ที่ผ่านมานายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอาสาสมัครในนามรัฐบาลได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครไปแล้ว เวลานี้ตนก็จะลงพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อแบ่งเบาภาระกันไป

“ขอขอบคุณประชาชนที่เป็นห่วงผมเป็นหัวหน้ารัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องไปบ้างไปดูในบางพื้นที่ วันนี้ผมจะระวังตัวให้มากที่สุด สิ่งแรกคือใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา สองหลีกเลี่ยงการติดต่อพูดคุยใกล้ชิด ตามมาตรการเว้นระยะห่าง และในเรื่องของการล้างมือการใช้แอลกอฮอล์ต่างๆ ตลอดเวลา ผมไม่อยากเป็นคนไปแพร่เชื้อ เพราะผมต้องทำงาน ไม่อยากป่วย ไม่อยากเจ็บ เพราะจะทำให้การทำงานของผมไม่ต่อเนื่อง ประชาชนก็รอรับการทำงานของรัฐบาลอยู่ ผมก็จำเป็นต้องรักษาตัวให้ได้มากที่สุด”

นายกฯ บอกด้วยว่า ในวันนี้ ตนจะเดินทางไปให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ พร้อมตรวจดูว่าเขาทำงานได้ครบถ้วนหรือยัง พร้อมย้ำว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ก็อย่าการ์ดตก ซึ่งตนไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะทำ แต่อาจจะเกิดจากความไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ หากติดเชื้อขึ้นมาก็จะลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่ของเรามีจำนวนไม่มากนัก

ย้ำยังไม่ถึงขั้น “ล็อกดาวน์” ชี้เวลานี้ไม่ใช่เวลาทำงานการเมือง

ต่อคำถามถึงการล็อกดาวน์ทั้งประเทศหลังปีใหม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การจะล็อกดาวน์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของทุกคน และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ ถ้าหากทุกคนปฏิบัติตามมาตรการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ชี้แจงไปตนคิดว่าคงไปไม่ถึงจุดนั้น โดยยืนยันว่าจนจะปฏิบัติงานอย่างเต็มที่เพื่อให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นในทุกมิติ

“เราต้องคาดหวังเรา ต้องมีศรัทธาร่วมกัน ไม่ใช่ฝ่ายรัฐหรือเจ้าหน้าที่อย่างเดียว เราต้องมีศรัทธาร่วมกันว่าเราจะทำอย่างไร เพื่อให้ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นั่นคือ สิ่งที่ทุกคนจะต้องมุ่งหวังไปตรงนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำทำอะไรก็แล้วแต่ เวลานี้ไม่ใช่เวลาทำงานการเมือง เป็นเวลาที่จะต้องดูแลประชาชนไปด้วยกัน ก็ขอฝากไว้ด้วยและผมคาดหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นถึงขั้นนั้นอขอขอบคุณความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วน”

พร้อมกันนี้ได้ฝากไปถึงประชาชนว่า สำหรับผู้ไปเที่ยวสถานบันเทิงต้องดูแลตัวเอง รัฐบาลไม่สามารถควบคุมประชาชนทุกคนให้ทำตามได้ทั้งหมด ซึ่งตนคิดว่าทุกคนต้องมีวิจารณญาณของตนเอง โดยขอความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วน รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ

“พรรคการเมืองต่างๆ ที่หลายคนออกมากล่าวโทษในทางที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง มีการใช้ประโยชน์ทางการเมือง อันนี้ผมคิดว่าไม่ใช่เวลา เวลานี้เป็นเวลาที่ทุกคนต้องช่วยกันให้มากที่สุด”

ขู่นายจ้างใช้แรงงานต่างด้าวผิด กม. ไม่แจ้ง-จับได้ขึ้น “บัญชีดำ”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานต่างด้าว ว่า ขณะนี้กำลังหามาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนี้ว่าจะทำอย่างไร เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้ โดยวันนี้ต้องขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจเอกชนที่ต้องใช้แรงงาน เปิดเผยข้อมูลว่าต้องการแรงงานจำนวนเท่าไร เป็นแรงงานมีฝีมือหรือไม่มีฝีมือ เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมมีจำนวนมากนับแสนโรง ซึ่งที่จังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานใหญ่ใหญ่อยู่จำนวนกว่า 7,000 โรง เจ้าหน้าที่ไม่สามารถลงไปตรวจสอบให้ครบถ้วนได้ในเวลาอันสั้น

“เป็นความร่วมมือของผู้ประกอบการที่จะต้องรายงานมาว่าต้องการแรงงานจำนวนเท่าใด และคนเหล่านี้ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ก็ได้มีนโยบายในการผ่อนผัน เพื่อให้ไปขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อย เพื่อที่จะตรวจสอบได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นผมถือว่าอันนี้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของโรงงาน ถ้าหากตรวจสอบพบภายหลังว่าไม่มีการแจ้ง ไม่มีการให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง และใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายจะต้องถูกขึ้นบัญชีดำต่อไป”

“ผมต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการทุกคน อย่ามองว่าต้องทำให้คุ้มแล้วไม่ดูแล และสุดท้ายผลกลับมาที่คนไทยทั้งประเทศ ท่านต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยนอกจากการประกอบการหวังผลกำไรของท่านอย่างเดียวไม่ได้ ขอบคุณทุกคนขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงปีใหม่และระมัดระวังอย่างที่สุดที่จะทำให้สถานการณ์โควิดฯ หมดสิ้นไปได้โดยเร็ว ขอบคุณอีกครั้งนะครับเป็นกำลังใจให้กันและกันสวัสดีครับ”

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)

กู้เงิน 1.1 หมื่นล้าน รับมือโควิดฯรอบใหม่

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ จำนวน 10 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 1.13 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

1. กลุ่มเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค วงเงินงบประมาณรวม 4.33 พันล้านบาท ประกอบด้วย 5 โครงการ ได้แก่

    1.1 โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 1.05 ล้านคน ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2564 วงเงิน 1.57 พันล้านบาท
    1.2 โครงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขวงเงิน 419.84 ล้านบาท
    1.3 โครงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรคและห้องปฏิบัติการ วงเงิน 503.89 ล้านบาท
    1.4 แผนเร่งรัดการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 วงเงิน 1.81 พันล้านบาท และ
    1.5 โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรคในเขตภาคเหนือ วงเงิน 24 ล้านบาท

2. กลุ่มรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ วงเงินงบประมาณรวม 6.96 พันล้านบาท ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

    2.1 โครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ ฯวงเงิน 2.037 พันล้านบาท
    2.2 โครงการจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ฯ วงเงิน 1.92 พันล้านบาท และ
    2.3 โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 2.99 พันล้านบาท

3. กลุ่มสนับสนุน วงเงินงบประมาณรวม 27.2 ล้านบาท ได้แก่

    3.1 โครงการจัดซื้อจัดหาเครื่องมือตรวจสอบระบบการแพร่กระจายเชื้อในห้องแยกโรค และอุปกรณ์การคัดกรองโรคโควิด-19 วงเงิน 17 ล้านบาท และ
    3.2 โครงการพัฒนาระบบปกติใหม่ฯ วงเงิน 9.7 ล้านบาท

ปรับเงื่อนไขจ้าง นศ.จบใหม่–ขยายเวลาถึงสิ้นปี 64

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติปรับปรุงเงื่อนไขโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 รายละเอียด ดังนี้

    1. ปรับคุณสมบัติผู้จบการศึกษาใหม่เป็น (1) ผู้มีสัญชาติไทย (2) มีอายุไม่เกิน 25 ปี กรณีที่อายุเกิน 25 ปี ต้องจบการศึกษาปี 2562 เป็นต้นไป
    2. เงื่อนไขสำหรับนายจ้าง ปรับใหม่ให้เป็นไปตามข้อตกลงการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนเงินเดือน ไม่เกินร้อยละ 50 ต่อคนต่อเดือน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนเป็นไปตามวุฒิการศึกษา ได้แก่ ปริญญาตรี ไม่เกิน 7,500 บาท ปวส. ไม่เกิน 5,750 บาท ปวช. ไม่เกิน 4,700 และ ม.6 ไม่เกิน 4,345 บาท
    3. เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ลูกจ้าง ปรับใหม่เป็น รัฐจ่ายเงินอุดหนุน 3 ครั้งต่อเดือน จากเดิมที่กำหนดให้ นายจ้างจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1 ครั้ง
    4. ขยายระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการ โดยขยายไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีนักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 จำนวน 4.27 แสนคน แต่โครงการดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง 2.6 แสนอัตรา วงเงิน 1.94 หมื่นล้านบาท

พณ.ลดค่าธรรมเนียม 50% ช่วยผู้ประกอบการ 5 จว.ชายแดนใต้

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติ ร่างกฎกระทรวงลดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ พ.ศ. ….) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ ลดอัตราค่าธรรมเนียมลงกึ่งหนึ่ง สำหรับค่าธรรมเนียมทุกรายการที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย) ออกไปอีก 3 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ตัวอย่าง เช่น ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน ลดเหลือ 500 บาท (จากเดิม 1,000 บาท) ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท ลดเหลือ 2,500 บาท (จากเดิม 5,000 บาท) ทั้งนี้ ในปี 2563 มีการยื่นคำขอจดทะเบียน จำนวน 3,826 คำขอ เพิ่มจากปี 2562 ที่มีจำนวน 3,716 คำขอ

กระทรวงเกษตร ฯแจงผลงาน 1 ปี

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. ได้รับทราบผลการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรอบ 1 ปี ดังนี้

1. การให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิต โดยช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้แก่กลุ่มเกษตรกร 1,152 แห่ง ผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว 60,524.20 ตัน เพิ่มศักยภาพและพัฒนาการผลิต 853,457.65 ไร่ เชื่อมโยงตลาด 13 แห่ง เชื่อมโยงระบบการปลูกพืชหลากหลาย 6,930 ไร่ แก้ไขปัญหายางพารา ส่งเสริมการใช้ยางพารา 3,197.03 ตัน

ด้านการช่วยเหลือยังมีมาตรการต่างๆ เช่นโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร 1.31 ล้านราย รวมเป็นเงิน 24,166.78 ล้านบาท, สนับสนุนมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2562/63 จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร 1.10 ล้านราย รวมเป็นเงิน 19,409 ล้านบาท, สนับสนุนโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-2563 จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร 3.7 แสนราย รวมเป็นเงิน 7,184.81 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบที่ดินทำกินเกษตรกร โดยจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรทำประโยชน์ (ส.ป.ก.4-01) จำนวน 45,755 ราย ตรวจสอบสิทธิ์การเข้าทำประโยชน์ที่ดิน 4,928,541 ไร่ และจัดทำพื้นที่เกษตรตาม Agri-Map โดยปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมจำนวน 210,421 ไร่ รวมถึงช่วยกระจายสินค้าให้เกษตรกรในช่วงโควิด-19 มีมูลค่าการจำหน่าย 703.27 ล้านบาท

2. การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย และส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เช่น 1) มาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย โดยเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เป็น 33.79 ล้านไร่ มีปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ 82,457 ล้านลูกบาศก์เมตร ปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุม 230 ล้านไร่ เติมน้ำในเขื่อนได้ร้อยละ 84.86 ช่วยพื้นที่เกษตรกรที่ประสบภัยแล้งได้ร้อยละ 78.50 และ 2) ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 58,250 ไร่ ก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ 76,029 ไร่ พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำเสีย 12 แห่ง ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ 10แห่ง

3. การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันด้านเกษตร เน้นการส่งเสริมการทำปศุสัตว์ ผลิตสัตว์พันธุ์ดี 1.09 ล้านตัว ผลิตพืชอาหารสัตว์ 50,760.12 ตัน สนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำจืด 6.72 ล้านตัว ผลิตและปล่อยลูกพันธุ์สัตว์น้ำ 572.94 ล้านตัว ส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้แก่เกษตรกร 26,532 ราย ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกร 47,311 ราย รวม 7,395 ศูนย์ และส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้เกษตรกร 320,007 ราย

4. การจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร เช่น พัฒนาระบบฐานข้อมูลการเกษตร (Big Beta) จัดตั้งศูนย์ National Agricultural Big Data ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร 6,234,024 ครัวเรือน ทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ 3,682,024 ราย ทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 455,977 ฟาร์ม

5. จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมในสถานศึกษา 77 จังหวัด

ประกาศวันหยุดปี 64 เพิ่ม 4 วัน พร้อมวันหยุดประจำภูมิภาค

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ และการกำหนดวันหยุดราชการประจำภูมิภาครวม ทั้งการเลื่อนวันหยุดชดเชยวันหยุดราชการประจำปี 2564 โดยกำหนดให้วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันตรุษจีน , วันจันทร์ที่ 12 เมษายน 2564 ให้เป็นวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ , วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม 2564 ให้เป็นวันหยุดชดเชยวันเข้าพรรษา และวันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2564 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ เนื่องในวันมหิดล

ส่วนวันหยุดราชการประจำภูมิภาคมี 4 วัน ได้แก่ วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 เป็นวันหยุดราชการประจำภาคเหนือ ซึ่งอยู่ในช่วงประเพณีไหว้พระธาตุประจำปี , วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2564 เป็นวันหยุดราชการประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประเพณีงานบุญบั้งไฟ , วันพุธที่ 6 ตุลาคม 2564 เป็นวันหยุดราชการประจำภาคใต้ ซึ่งมีประเพณีสารทเดือนสิบ และวันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม 2564 เป็นวันหยุดราชการประจำภาคกลาง ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลออกพรรษา

นอกจากนี้ยังให้เลื่อนวันหยุดชดเชยวันปิยมหาราช จากเดิมวันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม 2564 เป็นวันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม 2564 ซึ่งในกรณีที่หน่วยงานใดมีภารกิจในการให้บริการประชาชนหรือมีความจำเป็นหรือราชการสำคัญในวันหยุดดังกล่าวที่ได้กำหนด หรือ นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว หากยกเลิก หรือ เลื่อนไปจะเกิดความเสียหาย หรือ กระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร โดยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ และกระทบต่อการให้บริการประชาชน โดยในส่วนของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงาน พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดเป็นวันหยุดให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณี

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลเชิงบวก รวมทั้งส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นอย่างมาก

เปิดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ 15 ม.ค.-13 ก.พ.64

น.ส.ไตรศุลี กล่าวต่อว่า วันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบ การผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ กัมพูชา , ลาว และเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ระลอกใหม่ โดยมีแนวทางการดำเนินการดังนี้

กลุ่มเป้าหมายคือ คนต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่อยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด หรือ หลบหนีเข้าเมือง โดยกลุ่มที่มีนายจ้าง หรือ สถานประกอบการ ประสงค์จ้างงาน รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ให้นายจ้างแจ้งรายชื่อลงทะเบียนคนต่างด้าวตามวิธีการที่กรมการจัดหางานกำหนดในระหว่างวันที่ 15 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 และให้คนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด -19 และโรคต้องห้ามตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 เมื่อผ่านการตรวจคัดกรองโควิด-19 และโรคต้องห้ามแล้ว ให้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวตามวิธีการที่กรมการจัดหางานกำหนดภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 และให้คนต่างด้าวไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตรตามวิธีการที่กรมการปกครองกำหนดภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564

ส่วนคนต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงาน รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรอายุไม่เกิน 18 ปี ให้แจ้งแบบข้อมูลบุคคลตามวิธีการที่กรมการจัดหางานกำหนด ระหว่างวันที่ 15 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 และเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด-19 และโรคต้องห้าม และประกันสุขภาพระยะ 2 ปี ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 พร้อม จัดทำประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เมื่อผ่านการตรวจคัดกรองโควิด-19 แล้ว ให้นายจ้าง ที่ประสงค์จะรับเข้าทำงานยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 จากนั้นให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานไปปรับปรุงทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตร ตามที่กรมการปกครองกำหนด

สำหรับผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ให้แจ้งรายชื่อหรือแบบข้อมูลบุคคลระหว่างวันที่ 15 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด-19 และทำประกันสุขภาพระยะเวลา 2 ปี ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 และจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564

กำหนดโควตานำเข้าหอมหัวใหญ่-มันฝรั่ง ตามกรอบ WTO ปี 64 –66

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ตามกรอบความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2564 – 2566 สำหรับสินค้าเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ หอมหัวใหญ่ หัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป แยกเป็นรายละเอียดดังนี้

  • เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ปริมาณในโควตา 3.15 ตันต่อปี อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 0 นอกโควตาร้อยละ 218
  • หอมหัวใหญ่ ปริมาณในโควตา 764 ตันต่อปี อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 27 นอกโควตาร้อยละ 142
  • หัวพันธุ์มันฝรั่งปริมาณในโควตาไม่จำกัดจำนวน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 0 นอกโควตาร้อยละ 125
  • หัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปปริมาณในโควตาปี 2564 จำนวน 63,000 ตัน ปี 2565 จำนวน 71,000 ตัน และปี 2566 จำนวน 80,000 ตัน อัตราภาษีในโควตา ร้อยละ 27 และนอกโควตาร้อยละ 125

ทั้งนี้การเปิดตลาดสินค้าดังกล่าว ตามกรอบ WTO จะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ผลิตภายในประเทศ และยังเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์นำเข้าในราคาที่เหมาะสม โดยสินค้าหอมหัวใหญ่ที่นำเข้าจะเป็นชนิดแห้งเป็นผงและไม่เป็นผง ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้ ส่วนสินค้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปมีผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และเป็นการให้สหกรณ์ ซึ่งมีเกษตรกรเป็นสมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย โดยเมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่จะให้ชุมนุมสหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่แห่งประเทศไทย จำกัด เป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว

ส่วนหัวพันธุ์มันฝรั่งจะให้มีการพิจารณาจัดสรรการนำเข้าปีละ 3 ครั้ง เพื่อนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ให้นิติบุคคลเป็นผู้นำเข้าและให้ผู้นำเข้าทำหนังสือรับรองพื้นที่เพาะปลูก โดยผู้นำเข้าต้องจำหน่ายหัวพันธุ์มันฝรั่งให้แก่เกษตรกรไม่เกินกิโลกรัมละ 35 บาท และรับซื้อหัวมันฝรั่งสดจากเกษตรกรในราคาดังนี้ ในช่วงฤดูฝนช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14 บาท ในช่วงฤดูแล้ง เดือนมกราคม-มิถุนายน ในปีเพาะปลูก 2564/2565 และ 2565/2566 ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10.80 บาท และในปีเพาะปลูก 2566/2567 ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 11 บาท ส่วนหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปผู้นำเข้าต้องเป็นนิติบุคคล และต้องรับซื้อหัวมันฝรั่งสดจากเกษตรกรในราคาเดียวกับผู้นำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งและให้นำเข้าได้ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคมของทุกปี

แก้ กม.จ่ายค่าธรรมเนียมต่ออายุใบอนุญาต แทนยื่นคำขอฯ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาไม่ได้มีมติทักท้วง ให้นำร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขึ้นทูลเกล้า ฯถวาย เพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา มีดังนี้

    1. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตสามารถชำระค่าธรรมเนียมในการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้นๆ ได้แก่ พระราชบัญญัติและประเภทของใบอนุญาตที่กำหนดในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ (พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 , พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 , พระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ. 2528 , พระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. 2533 , พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 , พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 (เฉพาะกรณีที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมประมง กรมปศุสัตว์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559
    2. กำหนดให้การชำระค่าธรรมเนียมแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ชำระค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในกฎหมายนั้นๆ ณ สถานที่ทำการของผู้อนุญาต หรือ ผ่านช่องทางหนึ่งช่องทางใด ได้แก่ จุดบริการรับชำระค่าธรรมเนียม ธนาคาร ศูนย์บริการร่วม หรือศูนย์รับคำขออนุญาต ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ช่องทางอื่นใดที่เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

มอบ “อาคม” รักษาราชการแทน รมว.พลังงาน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่ง ดังนี้

  • รับทราบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอรายชื่อผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา (ปคร.) ของรองนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการ (จำนวน 9 ราย) ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) เนื่องจากในช่วงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (เดือนกันยายน 2563) ปคร. ของรองนายกรัฐมนตรีและส่วนราชการดังกล่าวที่ได้รับการแต่งตั้ง มีการแต่งตั้งใหม่ เกษียณอายุราชการ และโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่ง ซึ่ง สลค. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของ ปคร. ทั้ง 9 ราย ดังกล่าวแล้วว่า เป็นไปตามข้อ 5 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา พ.ศ. 2551 ดังนี้
    1. รองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) รายชื่อ ปคร. นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง กระทรวงการต่างประเทศ
    2. กค. รายชื่อ ปคร. นายจำเริญ โพธิยอด รองปลัดกระทรวงการคลัง
    3. วธ. รายชื่อ ปคร. นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
    4. สขช. รายชื่อ ปคร. นายปิยะ คงขำ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
    5. สคก. รายชื่อ ปคร. นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
    6. สทนช. รายชื่อ ปคร. นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
    7. สำนักงาน ป.ย.ป. รายชื่อ ปคร. นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป.
    8. สำนักงาน ปปง. รายชื่อ ปคร. พลตำรวจตรี ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองเลขาธิการ ปปง. คนที่ 2
    9. สำนักงาน ป.ป.ส. รายชื่อ ปคร. นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส.
  • มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายพิชิต อัคราทิตย์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ลาออก และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในครั้งต่อๆ ไปให้กระทรวงการคลังดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 (เรื่อง การดำเนินการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย)
  • มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จำนวน 8 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้
    1. นายเธียรชัย ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม
    2. นายจักรกฤษณ์ ศิวะเดชาเทพ (ภาคเอกชน) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุขและสุขภาพ
    3. นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรป่าไม้และนิเวศวิทยา
    4. นางสาวลดาวัลย์ คำภา (ภาคเอกชน) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม
    5. นายยงธนิศร์ พิมลเสถียร (ภาคเอกชน) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านอนุรักษ์ศิลปกรรม/ภูมิสถาปัตย์และสิ่งแวดล้อมเมือง
    6. นายสันติ บุญประคับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    7. นางประกายรัตน์ สุขุมาลชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมและการมีส่วนร่วม
    8. นายธเรศ ศรีสถิตย์ (ภาคเอกชน) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

  • มีมติเป็นหลักการมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในกรณีที่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
  • มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอแต่งตั้ง ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2563 เพิ่มเติม